อองซาน ซูจี เสร็จสิ้นการเยือนประเทศไทยครั้งที่สองเมื่อวันวาน (๒๔ มิถุนา) โดยทิ้งรอยต่างบนทางเหมือนระหว่างสองชาติใกล้เคียง ไว้อีกครั้งบนประวัติศาสตร์ที่อยากลืมกลับจำ ด้วยข้อสังเกตไม่เบาโดยสื่อตะวันตก
ในความประทับใจจากการต้อนรับของชุมชนชาวพม่าในไทย ยืนกรำฝนรอการเดินทางไปถึงตลาดทะเลไทยที่มหาชัย สมุทรสาคร อย่างล้นหลามเช่นเดียวกับการมาเยือนเมื่อปี ๒๕๕๕ ขณะที่ตอนนั้นประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทว่าพม่าของนางซูจียังถูกบงการเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร
การเยือนวันนี้กับวันนั้นมันไม่ต่างกันในสภาพ ‘สลับชะตากรรม’ ดังที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กชี้ไว้ว่าเป็น ‘reversal of fortunes’
“ประเทศไทยได้นำเอาโมเดลเมื่อไม่นานนี้ของเมียนมาร์มาใช้ กลับกันพม่าก็เข้าสู่แบบบทของไทยยุครุ่งเรืองในทศวรรษ ๑๙๘๐” บลูมเบิร์กอ้างคำของนาย กอปสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารด้านวิจัยของธนาคารกสิกรไทย
“หลังจากที่เฝ้าดูประเทศไทยพัฒนาในขณะที่ตนเองแห้งแล้งอยู่กับการปิดประเทศ เดี๋ยวนี้เมียนมาร์ได้รับการทำนายว่าจะเป็นชาติที่เจริญทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในหมู่ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยอัตราการเติบโต ๘.๔ เปอร์เซ็นต์”
ในเวลาเดียวกันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในหมู่ชาติที่เศรษฐกิจโตช้า ด้วยอัตราความเจริญ ๓ เปอร์เซ็นต์ จากการที่เศรษฐกิจซบเซาเนื่องเพราะทหาร ครองเมือง
“เมื่อการลงทุนต่างประเทศในพม่าพุ่งกระฉูดถึง ๙,๔๐๐ ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทว่าประเทศไทยกับพบกับการหดตัวอย่างฮวบฮาบถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว”
ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับสองของพม่ารองจากจีน ด้วยมูลค่าทางการค้า ๘,๑๐๐ ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ไทยยังคงตะเกียกตะกายเพื่อกลับไปสู่การปกครองโดยพลเรือน หลังจากทหารยึดอำนาจเอาไปได้สองปีกว่าๆ
“พวกนายพลไทยใฝ่ฝันถึงอนาคตแบบเดียวกับเมียนมาร์อย่างแน่นอน” พอล เชมเบอร์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันกิจการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เชียงใหม่คาดคะเน
“ฝ่ายทหารพม่าประสพความสำเร็จในการดึงเอาออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นดีแอลของเธอเขามาร่วมปันอำนาจที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ประคบประหงมกองทัพไว้จากการควบคุมจริงจังโดยพลเรือน”
(http://www.bloomberg.com/…/myanmar-s-suu-kyi-courts-thai-mi…)
นางซูจีมีกำหนดลงนามข้อตกลงหลายอย่างกับไทยในการเยือนเป็นเวลาสามวันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในไทยที่มีจำนวนระหว่าง ๑.๔ ล้านคน ถึง ๔ ล้านคน
โดยเฉพาะการจดทะเบียนแรงงานพม่าที่อยู่อย่างผิดกฎหมายและลักลอบเข้าไทยระลอกใหม่ จำนวน ๑-๒ ล้านคน กับให้ไทยบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาท ต่อนายจ้างไทยอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยังปรากฏว่านายจ้างไทยจำนวนไม่น้อยจ่ายค่าแรงพม่าต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
ประการสำคัญขอให้ทางการไทยดูแลลูกหลานแรงงานข้ามชาติพม่า ในด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยมีการเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างไทยกับพม่าด้วย
แต่จะไม่มีการเจรจาในปัญหาสิทธิมนุษยชนของชนชาวมุสลิมจากแคว้นยะไข่ในพม่า ที่เรียกกันว่า ‘โรฮิงญา’ ซึ่งรัฐบาลใหม่ของพรรคเอ็นแอลดีเพิ่งประกาศไม่ให้ใช้ชื่อนี้ แต่อย่างใด
ปัญหาโรฮิงญาเป็นประเด็นที่นางซูจีถูกดจมตีอย่างหนักจากสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชนตะวันตก นับตั้งแต่เธอและพรรคเอ็นแอลดีเริ่มรณรงค์เพื่อแข่งขันรับเลือกตั้ง นางซูจีปฏิเสธที่จะแสดงจุดยืนใดๆ ในกรณีโรฮิงญา เนื่องจากชาวพุทธพม่าถือว่าเป็นชุมชนอพยพรกประเทศ
ไม่แต่เท่านั้น มีเสียงครหาจากกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ติดตามทำข่าวการเยือนไทยของนางซูจี ว่ามีการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดมาก โดยการคัดเลือกนักข่าวที่จะเข้าไปในงานพิธีต้อนรับนางซูจีเพียงส่วนน้อยจำนวนหนึ่ง
ยิ่งในวันที่สามของการเยือน (เสาร์ที่ ๒๕ มิถุนา) อันมีกำหนดให้นางซูจีเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพชาวพม่าในภาคอีสาน นอกจากมีนักข่าวได้รับอนุญาตให้ติดตามไปทำข่าวได้ไม่กี่คนแล้ว ยังมีการตรวจตรากระเป๋าหิ้วของนักข่าวอย่างละเอียด ห้ามใส่สิ่งของมากไป ซึ่งเป็นปัญหาต่อช่างภาพและตากล้องทีวีซึ่งต้องพกพาแบตเตอรี่สำรองกับอุปกรณ์หลายชิ้น
ประเด็นหนึ่งซึ่งตกเป็นขี้ปาก ‘เม้าท์’ กันมากในหมู่ผุ้สื่อข่าวต่างประเทศ อยู่ที่การกำหนดให้นักข่าวต้องแต่งกายชุดสูทสำหรับงานราตรีสโมสรในงานเลี้ยงที่รัฐบาลไทยจัดรับรองนางซูจีในคืนวันศุกร
สตี๊ฟ เฮอร์แมน หัวหน้ากองบรรณาธิการเสียงอเมริกาภาคพื้นเอเชีย เปิดเผยข้อครหาแปลกสำหรับรัฐบาลพลเรือนใหม่ของพม่า ที่นางซูจีมีหลายตำแหน่งรวมทั้งที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ
(http://www.voanews.com/…/aung-san-suu-kyi-thai…/3385223.html)
พวกนักข่าวต่างประเทศกล่าวหาว่ารัฐบาลซูจีออกอาการเจ้ายศเจ้าอย่าง และนางซูจีมักแสดงท่าทีรำคาญนักข่าว
อีกทั้งหลังชัยชนะเลือกตั้งแล้วมักจะสงวนปากสงวนคำไม่ค่อยยอมให้สัมภาษณ์ ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา