การคุมขังนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ๗ คนที่ไม่ยอมยื่นประกันตัวเพื่อขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร
เป็นตัวอย่างล่าสุดของเจตนาครองอำนาจเผด็จการโดย คสช. ต่อไปไม่มีกำหนด นอกเหนือจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหารซึ่งยึดอำนาจการปกครองมาเกินกว่าสองปี ที่ตอบนักข่าวเมื่อเช้าวาน (๒๗ มิถุนายน)
ต่อคำถามว่าถ้าหากประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ ไม่ผ่านการรับรองแล้วจะยินดีลาออกเหมือนกับที่นายเดวิด แคเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศสละตำแหน่ง หลังจากพ่ายแพ้ประชามติเรื่องการถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือไม่
“ผมไม่ออก ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม เขาไม่ได้มาแบบผม บ้านเมืองเขาไม่ได้มีปัญหาแบบบ้านเรา”
(http://www.matichon.co.th/news/190094)
มันแสดงแจ้งชัดว่าการคืนอำนาจแก่ประชาชนและนำประชาธิปไตยกลับไปสู่ประเทศไทย ดังที่สหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในฟากประชาธิปไตยเรียกร้องต่อประเทศไทย และรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะตัวหัวหน้าเที่ยวไปพูดหลายแห่งหลายครั้งในเวทีระหว่างประเทศ ว่ามุ่งมั่นสู่ประชาธิปไตยยั่งยืนตามแผนผังเส้นทางเดินซึ่งคณะรัฐประหารกำหนดไว้
นั้นล้วนโป้ปดตอแหล ผิดวิสัยการเป็นผู้นำที่ดี หรือแม้แต่ในวุฒิภาวะส่วนบุคคล
นักศึกษาทั้งเจ็ดซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาโท ๕ คนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกคนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกจองจำอยู่ในแดนหนึ่ง เรือนจำพิเศษ เป็นเวลา ๑๒ วัน ก่อนจะถูกนำตัวไปขอฝากขังระหว่างดำเนินคดีต่อศาลทหาร ในราววันที่ ๔ หรือ ๕ กรกฎาคม
นั้นได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนักโทษที่พิพากษาความผิดแล้ว ถูกตัดผมสั้น ให้ใส่ชุดนักโทษสีปูน และใช้งาน “ถูห้องน้ำ บางคนเก็บขยะ” ดังจดหมายของนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องขังคนหนึ่งส่งออกมาแจ้งแก่คนภายนอก
“ใช้แรงงานเหมือนอย่างเป็นนักโทษที่ตัดสินแล้ว ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะนักโทษฝากขังต้องสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ไม่ควรปฏิบัติกับเราอย่างนักโทษที่ถูกตัดสินแล้ว แบบนี้ไม่ถูกต้อง ขอเรียกร้องให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาดูแล”
(https://www.facebook.com/300084093490011/photos/a.300103950154692.1073741828.300084093490011/610330742465343/?type=3&theater)
นี่แน่นอนย่อมขัดแย้งกับคำอ้างของพล.อ.ประยุทธ์ที่ว่าได้แจ้งแก่เลขาธิการสหประชาชาติบัน คี มูน ว่ารัฐบาลของตนปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะสมาชิกอย่างสมบูรณ์ โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติจะแถลงผลการตรวจสอบพฤติกรรมของไทยในวันที่ ๒๘ มิถุนายนนี้
“ผมอยากให้ UN ดูแลเรื่องนี้ ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิ ไม่สน UPR (Universal Periodic Review)” จดหมายนายรังสิมันต์กล่าวอีกตอนหนึ่ง
“เมืองไทยกับเรือนจำไม่แตกต่างกัน เพราะไม่มี ‘กฎหมาย’ ไม่รู้ว่าเราต้องเจออะไร ข้างในต้องก้มหัวให้ผู้คุม ข้างนอกต้องก้มหัวให้ คสช. เรือนจำกับประเทศไทยเป็นสิ่งเดียวกัน ต่างกันตรงกำแพงขังแคบกว่ากับกำแพงขังกว้างกว่า”
โรมอ้างเปรียบเปรยด้วยว่า “ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’ ผ่าน ไม่ใช่แค่ผมเท่านั้นที่ติดคุก แต่คนทั้งประเทศก็ติดคุกด้วย”
จากการเปิดเผยของคณะทนายสิทธิมนุษยชนที่ได้เข้าพบนักศึกษาทั้งเจ็ดเมื่อวาน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส เล่าว่าพวกเขายังคงมีกำลังใจต่อสู้คดีเต็มที่ และมั่นใจในข้อต่อสู้ที่ว่า พวกตนรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ โดยชี้ให้เห็นข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างอะไรกับการรณรงค์ของฝ่ายสนับสนุน
อีกทั้งยืนยันว่าคดีของพวกตนไม่ใช่คดีที่จะต้องขึ้นศาลทหาร ยกตัวอย่างข้อกล่าวหาที่ว่ากระทำผิดคำสั่งของคณะรัฐประหาร ๓/๒๕๕๘ นั่นก็เป็นคำสั่งที่ถูกลบล้าง (superseded) โดยการผ่านร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ของ สนช. แล้ว ความผิดของพวกตนจึงต้องไปดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน ซึ่งพวกตนยินดีจะไปต่อสู้ตรงนั้น
แต่ก็อย่างที่มักพูดกันให้ฟังแล้วครื้นเครง “นั่นแหละครับท่านผู้ชม” ทางการและเจ้าหน้าที่ไทยภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. มักบิดพลิ้วหลักเกณฑ์และตัวบท ‘กฎหมาย’ ตามอำเภอใจเสมอ
ข้อกล่าวหาที่ตำรวจสถานีบางเสาธงแจ้งแก่ ๗ นักศึกษา นอกจากการชุมนุมเกิน ๕ คน แล้วยังมีข้อหาไม่มีบัตรประชาชน ข้อหาขัดคำสั่ง คมช. (ใช่แล้ว คมช. หรือคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ซึ่งโดยตัวบุคคลและแกนนำเป็นชุดที่มาทำรัฐประหาร ๒๕๕๗ ร่วมกับบีกตือและบิ๊กตู่)
ข้อหาสำคัญอีกอันหนึ่งคือ ความผิดฐานแจกจ่ายเอกสารล้อเลียนผู้นำ ซึ่งน่าจะเป็นวารสาร ‘ก้าวข้าม’ ที่มีรูปบุคคลสวมหมวกทรงโบวเลอร์ แถมมีหนวดที่ปลายจมูกคล้ายชาลี แช้ปปลิ้น แต่รอยยิ้มเหมือนทั่นผู้นัมพ์
“นั่นแหละครับท่านผู้ชม” อีกที ข้อจำกัดในการใช้วิจารณญานของเจ้าหน้าที่ลิ่วล้อ คสช. น่าจะมีอยู่มากเป็นปฎิภาคอย่างมีนัยยะสำคัญกับรอยหยักในสมอง
แทนที่จะพิจารณาจากเนื้อหาข้างในซึ่งเป็นส่วน ‘ย่อยความ’ ตามข้อโต้แย้งอย่างเป็นหลักวิชาการและเหตุผล ในเอกสาร ‘ความเห็นแย้ง’ ต่อ “คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ :๑๐ เรื่องที่น่ารู้” ที่ทางการได้จัดทำขึ้น “กล่าวอ้างข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญนี้”
(ตามนี้ https://drive.google.com/…/0B8RygtC5ikzSeVdaSmMzbzlQe…/view…)
ดังตัวอย่างคร่าวๆ บางประเด็น เช่นที่เกี่ยวกับการปฏิรูป (ข้อ ๑๐. ปฎิรูปไทยสู่อนาคต) ความเห็นแย้งของ ปชต.ใหม่ บอกว่า “อีกทั้งการปฏิรูปประเทศตามร่างรัฐธรรมนูญนี้มี สว. เป็นผู้ควบคุมสูงสุด
ซึ่ง สว.ชุดแรกนั้นมาจากการเลือกโดย คสช. ทั้งหมด จึงเท่ากับว่าการปกรูปนี้จะกลายเป็นเพียงการปฏิรูปตามความต้องการของ คสช. ไม่ใช่การปฏิรูปตามความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด”
หรือที่เกี่ยวกับสิทธิของพลเมือง “ร่างรัฐธรรมนูญนี้รับรองความชอบของคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นคำสั่งยกเลิกการใช้กฎหมายผังเมือง คำสั่งลัดขั้นตอน EIA
และยังให้ คสช.มีอำนาจตามมาตรา ๔๔ ที่จะออกคำสั่งจำกัดสิทธิเพิ่มเติมได้”
เช่นนี้จึงปรากฏว่าแม้แต่ฝักฝ่ายในทางการเมืองที่เคยให้ความร่วมมือแก่ กปปส. แรงงานรับใช้ คสช. ของสอง ‘สุ’ (เทพ-วิทย์) เป่านกหวีด ติดป็อปคอร์น จนสุกงอมกระทั่งประยุทธ์พูดได้เต็มปากว่า “ถ้างั้นผมยึดอำนาจ” ก็ยังรับไม่ลงกับร่าง รธน. ฉบับมีชัยนี้
ปรากฏการณ์เห็บกระโดดออกจาก คสช. ไม่ว่าอดีต พธม. บางคน นักการเมือง ปชป. สองสามคน เครือข่ายประชาสังคม สสส. หรืออดีต สว. สายปฏิรูปพลังงานบางคน ชี้ให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่หนักหนาจริง คนเหล่านี้คงจะยังไม่ตัดใจกระโดดกัน
นั่นเป็นคำตอบต่อน้ำลายร่วงของผู้นัมพ์ที่ว่า “ทุกคนไม่มีใครรับผิดชอบร่วมกับผมเลยหรือ” ในเมื่อเวลานี้ทุกคนรับผิด คุณรับแต่ชอบ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจาก “อนาคตประเทศอยู่ที่ผมคนเดียว”
ไม่เช่นนั้นทุกคนไม่รอด พวกคุณรอดกลุ่มเดียว