มติเอกฉันท์ ๙ ต่อ ๐ ของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่ามาตรา ๖๑ ของกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗
ไม่เพียงแต่ยืนยันอำนาจรัฐบาลคณะรัฐประหารในการผลักดันให้ประชาชนจำยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
แต่เป็นการวางรากฐานอำนาจพิเศษของคณะทหาร (คสช. และผู้สืบทอด) เหนือการเมืองการปกครองประเทศไทย อย่างเป็นรูปธรรมชัดแจ้งเป็นเวลาอีกยาวนาน ผ่านทางบทเฉพาะกาล ๕ ปี และยุทธศาสตร์ชาติอีก ๒๐ ปี
โดยที่วรรค ๒ ของมาตรา ๖๑ อันเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการรณรงค์โดยฝ่ายประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติร่าง รธน.
“เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย...
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้
ในกรณีเป็นการกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี”
(http://www.matichon.co.th/news/193640)
ในเมื่อการร้องเรียนเพื่อตีความตั้งอยู่บนฐานความถูกต้องทางกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา ๔ ที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุในมาตรฐานสากล คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ต่างไปจากตรายางคอยประทับรับรองอำนาจเผด็จการของ คสช. สมดังเจตนาของร่าง รธน. ฉบับที่นำออกมาให้ผ่านประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมทางกฎหมาย
กระทั่งองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอาเซียนก็ยังมองเห็นผลการตัดสินเช่นนี้ว่า “เป็นการเชิดชูบทบัญญัติกฎหมายที่วางขอบข่ายกว้างเกินไป ซึ่งได้นำออกมาใช้ทำการจับกุมและข่มขู่นักกิจกรรม และกำจัดข้อโต้แย้ง
ชี้ให้เห็นการถอยหลังอีกครั้ง ของเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย”
นายชาร์ล ซานติเอโก สมาชิกสภาผู้แทนของมาเลย์เซีย ซึ่งดำรงตำแน่งประธานองค์การ สมาชิกรัฐสภาแห่งอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นต่อกำหนดการออกเสียงประชามติในประเทศไทยวันที่ ๗ สิงหาคมนี้
“ข้อจำกัดในการรณรงค์เรื่องประชามติ ในทางเทคนิคอาจไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะทหารผู้ใช้กำลังยึดอำนาจประเทศได้จัดร่างขึ้น
แต่ไม่มีข้อสงสัยใดเลยว่ามันละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการปกป้องโดยกฎหมายระหว่างประเทศ”
(http://aseanmp.org/…/asean-mps-call-thai-authorities-allow…/)
สมาชิกรัฐสภาอาเซียนยังได้แสดงความกังวลถึงการจับกุมนักกิจกรรม ๑๓ คน เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ที่ไปแจกแผ่นปลิวที่สมุทรปราการชักชวนประชาชน ‘โหวตโน’ ต่อร่าง รธน. (๖ คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังประกัน อีก ๗ คนไม่ยอมรับเงื่อนไขการประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ที่เรือนจำพิเศษกระทั่งบัดนี้)
“การจับกุมเช่นนี้แสดงถึงความเหลวไหลของกฎระเบียบต่างๆ รายล้อมการออกเสียงประชามติ คนเหล่านั้นเพียงแต่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะ ชี้แจงถึงเนื้อหาของร่างฯ และแสดงความห่วงใยในใจความของบทบัญญัติเหล่านั้น
สำหรับพวกเขา การถูกจับกุมและควบคุมตัวไม่เพียงแต่เป็นการประพฤติก้าวร้าวต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน มันเป็นความแล้งน้ำใจขาดความใยดี
ถึงที่สุดแล้วมันชี้ให้เห็นเจตนาของคณะทหาฮุนต้าที่จะปิดประตูการถกเถียงใดๆ และจับรัฐธรรมนูญยัดใส่ปากประชาชนนั่นเอง”
องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ ยังระบุด้วยว่า กฎหมายที่ใช้ในการดำเนินคดีกับ ๑๓ ผู้ต้องหารณรงค์ประชามติไม่รับร่าง รธน. นี้ละเมิดหลักการสิทธิแสดงออกและชุมนุมอย่างเสรี เป็นละเมิดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมหาชนและการเมือง (ICCPR)
นายซานติเอโกกล่าวอีกตอนหนึ่งด้วยว่า “การออกเสียงประชามติที่จะมีขึ้น ถ้าหากจะมีความชอบธรรมอยู่บ้างสักนิด ทางการไทยจะต้องเปิดให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับร่างฯ อย่างเสรีและเปิดเผยก่อนจะมีการลงคะแนน
หากคณะฮุนต้ายังคงสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ด้วยการจับกุมและข่มขู่คนที่แสดงออกตามสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ของตน
ย่อมเป็นผลในทางต่อต้านประชาธิปไตยเหนียวแน่น จนนำไปสู่การสั่นคลอนทางการเมือง ในอีกไม่ช้าไม่นานนัก”
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งยื่นคำร้องคัดค้านมาตรา ๖๑ วรรค ๒ ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แสดงปฏิกิริยาต่อการตัดสินของศาล รธน.ว่า
“มาตรา ๖๑ วรรคสอง มีข้อความที่ไม่เคยปรากฏในกฎหมายประชามติที่ใดในโลก...ภาษาที่ใช้มีการตีความยาก อะไรคือการผิดจากข้อเท็จจริง อะไรคือข้อความที่ก้าวร้าว หยาบคาย อะไรคือปลุกระดม
ผมได้ยินคำว่าปลุกระดมมาตลอดชีวิต แต่ผมไม่รู้ว่าปลุกระดมคืออะไร ถ้าผมบอกว่าช่วยกันไปลงคะแนนประชามติ รับประชามติ แบบนี้เรียกว่าปลุกระดมไหม”
ในการเสวนาเรื่อง ‘ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ’ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ยังพูดกันถึงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าไปไม่ไกลเท่า กกต. ที่มีประกาศออกมาขยายใจความของ ม.๖๑ วรรคสอง
(https://www.facebook.com/prachamati.org/photos/a.444295472396428.1073741828.442692199223422/616023431890297/?type=3&theater)
“จะจัดประชุมเสวนาเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีหน่วยงานของรัฐร่วมจัดด้วยหรือสถานศึกษา อันนี้ไม่ได้เขียนไว้ในมาตรา 61 วรรค 2 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไปตั้งเป็นกฎขึ้นมา
ถ้าหากว่าชาวบ้านเขาอยากจะคุยกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็คุยไม่ได้หรือถ้าเขาจะคุยเขาก็ต้องไปหาโรงเรียนที่จะร่วม และเขาจะคุยเรื่องข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ผมว่าไม่มีสถาบันศึกษาที่จะมาร่วม”