โดย ทีมข่าวการเมือง
โลกวันนี้
June 20, 2016
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
“มองรัฐธรรมนูญที่ตรงเนื้อหา
กรธ. เขาบอกมาว่าน่าชื่นชม
ฉบับปราบโกงหลุดพ้นโคลนตม
ใครเห็นต้องนิยมยกมือโมทนา
นักการเมืองขี้โกงต้องไล่ให้ตกเวที
สิทธิ์การเมืองไม่ให้มีจนถึงชาติหน้า
ผมก็ว่าดีแต่นึกสงสัยขึ้นมา
หรือที่โกงชั่วช้ามีแต่นักการเมือง
ข้าราชการโกงกินมีมั้ย
เผด็จการน้อยใหญ่บ้างกังฉินวางเขื่อง
ถ้าจะปราบโกงพาชาติรุ่งเรือง
ต้องพูดให้ครบทุกเรื่อง ต้องทำให้ครบวงจร”
เนื้อเพลงท่อนหนึ่งใน “เพลงแหล่ประชามติ” ที่แต่งและร้องโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีน้ำเสียงและลีลาไม่แพ้นักร้องอาชีพ ทำให้บรรยากาศประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ตึงเครียดเหมือนเพลง “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาดูถูกและแบ่งแยกคนใต้กับคนเหนือและคนอีสาน ทำให้ต้องปรับปรุงเนื้อหาใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะภาคเหนือกับภาคอีสาน
เพลงแหล่ประชามติเป็น 1 ใน 6 เพลงที่ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” จัดทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายศูนย์ปราบโกงฯทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ ซึ่งนายณัฐวุฒิหวังว่า กกต. จะเปิดกว้างให้นำเพลงไปเผยแพร่ในเวทีชี้แจงเนื้อหารัฐธรรมนูญและเป็นคู่มือประกอบการอธิบายของครู ก. ข. ค. เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านประกอบการพิจารณาลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ที่นักการเมืองกลัว รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกลุ่มต่างๆที่สนับสนุนรัฐประหารก็ออกมาสนับสนุนว่าจะทำให้นักการเมืองเลวพ้นเวทีการเมือง
“ประวิตร” ไม่ให้ตั้งศูนย์ปราบโกงฯ
ประเด็นนักการเมืองโกงหรือทุจริตคอร์รัปชันเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ แต่คนโกงไม่ได้มีแค่นักการเมืองอย่างเพลงแหล่ที่นายณัฐวุฒิถามว่า “…ข้าราชการโกงกินมีมั้ย เผด็จการน้อยใหญ่บ้างกังฉินวางเขื่อง…” การปราบโกงจึงต้องปราบทุกฝ่าย ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือพ่อค้านักธุรกิจ ไม่ใช่เลือกปฏิบัติหรือปราบเฉพาะฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม
การออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติถูกตั้งคำถามกับผู้ที่ออกมาต่อต้านว่า กลัวอะไร กลัวทำไม ถ้าไม่โกงทำไมจึงต่อต้านการปราบโกง โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ประกาศไม่ให้ นปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ
“ถ้า นปช. เดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงฯต่อ ผมไม่ให้เดิน พอแล้ว หยุดเถอะ ผมขอร้อง ไม่เอา หากยังเดินหน้าต่อผมก็มีมาตรการทางกฎหมายดำเนินการ ไปดูว่าผิดอะไรหรือไม่ หากผิดก็ว่าไปตามนั้น แต่ตอนนี้ผมขอร้องก่อน หากจะตั้งแบบนี้ใครๆก็ตั้งขึ้นมาได้ แบบนี้ประเทศก็วุ่นวาย ไม่เช่นนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีไว้ทำไม ยุบและตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาแทนเลยไหม ในทางกลับกันผมขอให้เชื่อมั่นว่าเราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งผมดูแลเรื่องความมั่นคงในประเทศ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นผมว่าผมจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้”
พล.อ.ประวิตรกล่าว และไม่เห็นด้วยที่ นปช. จะเชิญองค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และสถานทูตต่างประเทศในไทย มาร่วมสังเกตการณ์ประชามติ เป็นเรื่องภายในประเทศ ทำไมต้องเอาใครเข้ามาวุ่นวาย เพราะมีทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กกต. ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องห่วง เราไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเสียหาย
ส่วนกรณีแกนนำ นปช. ยื่นหนังสือสอบถามเหตุผลการห้ามตั้งศูนย์ปราบโกงฯนั้น พล.อ.ประวิตรก็ถามกลับว่า ที่ นปช. แสดงเจตนารมณ์เช่นนี้หวังสร้างความขัดแย้ง ต้องการให้เกิดความขัดแย้งหรืออย่างไร ซึ่งตนขอร้องแล้ว บอกแล้ว หากมีอะไรก็ต้องว่ากันตามกฎหมายทุกเรื่อง ฉะนั้นอย่าตั้งเลย เพราะมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่แล้วทั้ง กกต. ป.ป.ช. แล้วยังเอาประชาชนมาร่วมดำเนินการอีก หากใครอยากทำก็ให้ไปขอ กกต. ช่วย กกต. ทำ
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรยังให้สัมภาษณ์หลังจากแกนนำ นปช. ยืนยันจะเดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า ขณะนี้มีมาตรการทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ก่อนหน้านี้ได้ขอร้องแล้วว่าอย่าเปิด ไม่จบสักที หากตั้งมาแล้วทำให้เกิดความขัดแย้งเดือดร้อนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่จะไม่ใช้มาตรา 44 ปิดศูนย์ปราบโกงประชามติตามที่ นปช. ท้า เพราะกฎหมายอื่นมีบังคับใช้อยู่
ส่วนการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติที่ลำปางนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ให้ตั้ง หากตั้งก็จะไปจับ ให้ตำรวจ ทหารดูแลในส่วนภูมิภาค “ยืนยันว่าผมดูแลสถานการณ์ได้ไปจนกว่าจะถึงวันลงประชามติ ขอให้ประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลและ คสช. ร่วมมือกันที่จะทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยใช้กฎหมายปรกติดูแล”
อย่าทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
หลังจาก พล.อ.ประวิตรแสดงท่าทีชัดเจนไม่ให้ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ช่วงบ่ายวันที่ 14 มิถุนายน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิและแกนนำ นปช. ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร โดยมี น.อ.ปัญญา ไทยภักดี หัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนมารับหนังสือ โดยนายจตุพรกล่าวว่า ต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงว่าศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ได้มีความขัดแย้ง แต่เป็นองค์กรของประชาชนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำประชามติ ที่ผ่านมามีองค์กรภาคประชาชนที่ตรวจสอบการทุจริต เช่น องค์กรของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชันของนายประมนต์ สุธีวงศ์ ไม่เห็นมีใครกล่าวหาว่าสร้างความขัดแย้ง ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากองค์กรของ นปช.
นายจตุพรยังยกคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์และถือเป็นผู้บังคับบัญชา พล.อ.ประวิตรว่า ไม่ได้ห้ามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ หาก พล.อ.ประวิตรไม่ให้ตั้งก็เท่ากับขัดคำสั่งรัฏฐาธิปัตย์ ที่สำคัญศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ได้เป็นภัยคุกคามชาติ ไม่มีปัญหากับ คสช. แต่กลับเป็นการการันตีให้กับการทำประชามติว่ามีการทุจริตหรือไม่ จึงขอให้เปิดใจกว้าง และขอร้อง พล.อ.ประวิตรอย่าทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวและสร้างความกดดันให้กับทหารในพื้นที่แล้วไปกดดันประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย
นายจตุพรยังบอกว่า จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการดำเนินการของพวกตนเป็นความลับ และจะส่งเรื่องไปยัง กกต.
“การกดดันให้ยุบศูนย์ปราบโกงประชามติจะสร้างความสงสัยว่าอาจมีการทุจริตมากยิ่งขึ้น ถ้าศูนย์เราไม่สามารถจับใครได้ก็ถือเป็นเครื่องการันตีให้ คสช. ว่าไม่มีการโกง ถ้าพวกท่านไม่คิดจะโกงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะขัดขวาง ผมไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอของท่านได้ที่จะยุบศูนย์ หากท่านจะจับพวกผมก็ไม่รู้ว่าจะจับข้อหาอะไร แต่วิธีที่จะหยุดศูนย์นี้ได้ก็ต้องมาจับพวกผม หรือใช้มาตรา 44 แต่ก็สวนทางกับคำสั่งนายกฯที่ให้เปิดศูนย์ได้” นายจตุพรกล่าว และยังกล่าวถึงการไปเชิญองค์การสหประชาชาติและสหภาพยุโรปว่าเพราะถูกคุกคามทั้งวาจาและการกระทำ
ด้านนายณัฐวุฒิกล่าวว่า ศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ใช่กระบวนการนอกกฎหมาย การดำเนินการอยู่ภายในกรอบ พ.ร.บ.ประชามติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี วัตถุประสงค์การจัดตั้งก็ไม่ได้สุ่มเสี่ยงหรือเป็นภัยความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย จึงยืนยันจะเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ท้าทายอำนาจ พล.อ.ประวิตร เพราะไม่คิดจะสู้รบปรบมือด้วย แต่ไม่สามารถทำตามที่ร้องขอได้ ส่วนการให้ทหารไปเก็บป้ายที่ติดตามบ้านประชาชนก็เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ชายชาติทหารทำกัน เพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย
“ผมไม่มีอะไรต้องเดิมพันนอกจากอิสรภาพของตัวเอง ถ้ามีประชามติแล้วไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งศูนย์ก็ไม่ได้ แล้วผลประชามติจะมีความหมายอย่างไร ผมไม่คิดว่าตัวกฎหมายผิด แต่ผิดที่กระบวนการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพราะการไม่ยอมรับให้ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติเหมือนกับผลของประชามติไม่มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่า นปช. จะไม่มีการเดินขบวน ตั้งเวทีปราศรัย และถ้าไม่พบว่ามีการทุจริตก็ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร เพราะฉะนั้นอย่ากังวลต่อการตั้งศูนย์นี้เลย”
ยูเอ็นชี้ประชามติต้องเสรี
การแสดงท่าทีของรัฐบาลและ คสช. มีความสำคัญอย่างมากกับการทำประชามติครั้งนี้ เพราะรัฐบาล คสช. หรือ กกต. มีหน้าที่ทำให้การทำประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อย ยุติธรรม และเป็นธรรม ไม่ใช่เป็น “คู่ขัดแย้ง” กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนไทยทั้งประเทศจะจับตามองว่าการทำประชามติครั้งนี้จะออกมาอย่างไร แม้แต่ประชาคมโลกก็แสดงความเป็นห่วงการทำประชามติภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ซาอิด รออัฎ อัลฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมว่า ย้อนแย้งหลักการทำประชามติ เพราะทางการไทยจำกัดการแสดงความคิดเห็นหรืออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน แม้แต่การโพสต์ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก็อาจถูกควบคุมตัวและแจ้งข้อหาว่า “ยุยงปลุกปั่น”
อัลฮุสเซนยังกล่าวว่า หากประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประชาชนไทยต้องมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรีและเป็นธรรม
บรรยากาศมืดดำ
ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปี 2550 มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นครั้งแรก รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มีกติกาว่าถ้าผ่านก็ให้บังคับใช้ ถ้าไม่ผ่านให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดมาประกาศใช้เลย ตอนนั้นถูกทักท้วงว่าให้บอกเลยเอาฉบับไหน แต่ร่างใหม่ขณะนี้ คำถามคือ คสช. คิดอย่างไรที่ให้ทำประชามติ คงมาจากการเปรียบเทียบที่ฉบับปี 2550 จบลงด้วยดี เพราะมีการทำประชามติ แตกต่างจากฉบับปี 2534 ที่จบด้วยการนองเลือด แต่ปัญหาขณะนี้คือกติกา หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นข้อบกพร่องรุนแรงที่สุดในการทำประชามติครั้งนี้ บทความต่างประเทศเรียกการทำประชามติวันที่ 7 สิงหาคมว่าทางเลือกของฮอบส์สัน คือถ้าถูกใจก็รับไป ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น
“บรรยากาศตอนนี้คือความมืดดำ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะมีผลต่อความชอบธรรมและความยั่งยืนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติที่ดีคือต้องเป็นธรรม รู้ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ต้องมีเสรีภาพ ประธาน กกต. อาจทำให้เกิดเสรีภาพในคูหาได้ แต่กระบวนการก่อนลงประชามติ ประชาชนจะมีสิทธิพูดได้มากแค่ไหน หากจะให้เป็นประชามติที่สมบูรณ์ต้องให้สองข้างแสดงความเห็นตามสมควร”
นายปริญญายังกล่าวว่า เราสามารถแสดงออกได้มากกว่านี้หรือไม่ คำตอบคือ ได้มากกว่านี้ พ.ร.บ.ประชามติก็เอามาจากกฎหมายเลือกตั้งและของเดิมที่เพิ่มขึ้นมาคือ มาตรา 61 วรรคสอง แต่คำว่า “ปลุกระดม” กลับคลุมเครือที่สุดในการตีความ ซึ่งไม่ควรมีอยู่ในกฎหมายนี้ เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ทำให้การออกเสียงประชามติกระทบต่อหลักเสรีภาพ เพราะคำหลายคำของมาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ตีความตามมาตรานี้บนเสรีภาพที่ประชาชนมีอำนาจตามอธิปไตย ตีความให้แคบที่สุด อย่าตีความกว้าง ถ้าไม่แก้ไขเรื่องพวกนี้ให้มีเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ไม่ยั่งยืน ซึ่ง คสช. คงไม่ต้องการให้เหมือนปี 2534 คสช. ถลำลึกกับการมีส่วนว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านมากไปแล้ว อยากให้ถอยออกมาและยอมรับผลการตัดสินจากประชาชน
กกต. ไม่เป็นกลาง?
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เสนอให้ผู้จัดรายการทีวีเชิญผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญบางคน รวมถึงตนไปออกรายการร่วมกับอีกฝ่าย เช่น กรธ. ว่า เป็นการแก้เกี้ยวกลบเกลื่อนความจริงที่ กกต. ไม่เป็นกลางและกำลังทำหน้าที่รณรงค์ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รณรงค์ให้คนไปลงประชามติกันมากๆอย่างที่ใช้เป็นข้ออ้างบังหน้า เป็นการกล่าวหาที่แรงที่สุดที่จะสามารถสรรหาคำพูดมาได้ และแรงกว่าการใช้คำหยาบคายใดๆ ซึ่งตนไม่เคยใช้กับใครอยู่แล้ว ไม่ใช่กลัวว่าจะผิดกฎหมาย
หน้าที่ของ กกต. คือจัดให้มีการลงประชามติให้ลุล่วงไปด้วยดี ไม่ให้มีใครมาขัดขวางก่อกวน ไม่ทำประชามติโดยทุจริต เมื่อการลงประชามติเป็นเรื่องที่คนเห็นต่างกันในเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากตัดสิน จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ กกต. ทำอยู่คือ ใช้งบประมาณจัดเวทีให้ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญและผู้สนับสนุนทั้ง กรธ. สนช. และรัฐบาล ไปชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการแสดงความเห็นชี้นำว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีอย่างไร ซึ่งก็คือชี้นำให้ประชาชนรับร่างนั่นเอง ขณะที่ กกต. คอยชี้แจงในทางจับผิดและข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างในเวทีนั้น ทั้งหมดนี้มีการเผยแพร่ทางสื่อประเภทต่างๆไปทั่วประเทศ ตนจึงได้บอกว่า กกต. ไม่เป็นกลาง และทำตัวเป็นผู้รณรงค์ให้ผ่านร่างเสียเอง
ปราบ(ศูนย์)ปราบโกง
บรรยากาศก่อนถึงวันลงประชามติ 7 สิงหาคม จึงถูกบางฝ่ายเปรียบเทียบว่าเหมือน “วันเสียงปืนแตก” ที่เป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทั้งที่การทำประชามติควรเป็นบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่บรรยากาศขณะนี้กลับอึมครึม เพราะใครที่แสดงความคิดเห็นอาจถูกตีความว่ายุยงปลุกปั่นและอาจติดคุกถึง 10 ปี แม้แต่การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. แม้ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่ยังมีมาตรา 44 ของ คสช. ที่มีอำนาจครอบจักรวาล
เหมือนการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ลำปาง ไม่ทันข้ามวันก็ถูกสั่งให้ปลดป้ายออก หรือกรณีพีซทีวีของ นปช. ที่มีข่าวว่าอาจถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สั่งระงับใบอนุญาตประกอบการอีกครั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการปิดกระบอกเสียงทีวีดาวเทียมของ นปช. หรือไม่?
เพลงแหล่ของนายณัฐวุฒิจึงเกิดข้อน่าฉุกคิดในการทำประชามติครั้งนี้ว่า ทำไมเสียงของประชาชนจึงต้องเสรีและยิ่งใหญ่? กติกาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าหรือถอยหลัง? รวมถึงการยัดเยียดว่าคนโกงและชั่วช้านั้นมีแต่นักการเมืองจริงหรือไม่? ทำไมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกสร้างเป็นวาทกรรมว่ามีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เป็นพวกโกงบ้านโกงเมือง?
คนดี (ที่อุปโลกน์ตนเองว่าเป็นคนดี) นั้นไม่โกงจริงหรือ? คนที่เป็นครู (รูปหล่อมากๆ..ขอบอก) เฟซวิพากษ์เหยียดหน้าตาลูกศิษย์ว่าทำให้อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเก่าแก่เสียหายนั้นเป็นคนดีกว่าคนอื่นแค่ไหน? การใช้อคติ การใช้ความโกรธเกลียดชิงชัง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน เป็นแอร์โฮสเตส เป็นนักบิน เป็นหมอ เป็นผู้นำทางสังคม เป็นครูบาอาจารย์ ฯลฯ เหตุใดจึงวิปริตลุกลามไปทั่วจนลืมหน้าที่ที่แท้จริงของตนไป แล้วเราจะนำสังคมไทยไปสู่ความสงบและความปรองดองได้อย่างไร?
ที่รัฐบาล คสช. และ กรธ. ประกาศว่าเกลียดโกงนั้น เกลียดการโกงจริงๆ หรือเพียงแค่เอาเรื่องการปราบโกงมาเป็นเครื่องมือปราบเฉพาะอีกฝ่าย แต่อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิดหรืออย่างไร?
แม้จะปฏิเสธได้ยากว่า “การตั้งศูนย์ปราบโกงฯ” ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็คือเรื่องการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งและการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การปราบโกงนั้นเหตุใดต้องสงวนลิขสิทธิ์ไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชามติถูกโกงก็เท่ากับสิทธิประชาชนถูกโกงนั่นเอง ซึ่งการโกงสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นถือเป็นการโกงที่ร้ายแรงที่สุดในฐานะความเป็นมนุษย์ ทำไมการออกมาป้องกันปกป้องและช่วยกันเป็นหูเป็นตาแก่ภาครัฐในการจับโกงนั้นจึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้?
นี่ยังไม่ทันได้ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ดูเหมือนว่าศูนย์ปราบโกงฯของ นปช. จะโดนปราบเสียก่อน!!?
ooo
โดนแล้วที่ราชบุรี! หมายเรียก 10 ชาวบ้านร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง ชุมนุมเกิน 5 คน
Mon, 2016-06-20 22:18
ที่มา ประชาไท
หนึ่งในผู้แจ้งข้อกล่าวหาระบุ แค่ติดป้ายแล้วกินข้าว ไม่มีกิจกรรมใด ชาวบ้านที่โดนหมายกลัว ติดต่อไม่ได้หลายราย ยังไม่มีใครมีทนาย ไม่รู้จะทำอย่างไร ลั่นหากสอดส่องคนโกงไม่ได้ไม่รู้จะไปลงประชามติทำไม เพราะไม่มั่นใจเรื่องการโกง
ภาพเปิดศูนย์ปราบโกง บ้านโป่ง
20 มิ.ย. 2559 จากกรณีที่วานนี้ (19 มิ.ย.59) เป็นวันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าวนั้นถูกเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อปิดศูนย์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนในหลายจังหวัดมีทั้งที่เปิดได้และเปิดไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดหนึ่งที่สามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ คือที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อย่างไรก็ตามวันนี้ (20 มิ.ย.59) ผู้ที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่งกลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
บริบูรณ์ เกียงวรางกูล หนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อหา กล่าวว่า ก่อนเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ได้มีเจ้าหน้าที่โทรมาขอร้องตนล่วงหน้า 1 วันเพื่อขอไม่ให้เปิด วานนี้จึงได้นัดผู้ร่วมเปิดศูนย์เพื่อมาขึ้นป้ายว่าไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า แล้วจากนั้นก็มีการกินข้าวร่วมกันเท่านั้น ใช้เวลาไม่นาน และหลังจากเปิดไม่ถึงครึ่งชั่วโมงทหารตำรวจก็เข้ามาที่ดังกล่าว
สำหรับเป้าหมายของการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ นั้น บริบูรณ์ กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้ประชาชนไปลงประชามติให้มากที่สุด หากคนมาแสดงประชามติมากที่สุดก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเสียงของประชาชนเขาต้องการแบบนี้ และอีกข้อหนึ่งคือเกรงว่าจะเกิดการโกงขึ้น จึงคอยตรวจสอบจับตา เพื่อไม่ให้เสียงที่ลงไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกระบวนการเป็นการสังเกตการณ์เหมือนกับที่ทำกับการเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีการชี้นำแต่อย่างใด
บริบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังปรึกษาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยชุดแรกที่ถูกหมายเรียกมี 10 คน คาดว่าเขาอารูปหมู่ที่ถ่ายมาดูว่าใครเป็นใครแล้วออกหมายเรียก ขณะนี้ตนยังไม่มีทนายความ และยังไม่รู้ว่าข้อหาแบบนี้จะต้องประกันตัวหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่าหากต้องประกันตัวต้องใช้เงินเท่าไร และชาวบ้านแต่ละคนที่โดนเรียกบางคนก็มีเงิน บางคนก็ไม่มี
"ตอนนี้ผมก็รู้สึกว่าสังคมไม่เป็นธรรมกับคน คนที่เหมือนคนกันทุกคน สังคมไม่มีความเป็นธรรมให้กับคนที่เหมือนคน ฉะนั้นพอเจอรูปนี้ ถึงเวลาเราอาจจะต้องบอยคอตนะ ผมคิดอยู่ว่าถ้าเกิดมันถึงขั้นที่สุดแล้ว เกิดมันทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้เราอาจจะต้องบอยคอต ลงประชามติเราเลือกไป เราก็โดนโกง เพราะเขาไม่ให้เราส่องหาคนโกง ถ้าเราไปลงแล้วเราถูกโกงเราจะไปลงเพื่ออะไร แต่ต้องดูพี่น้องเราก่อนที่โดนกัน เพราะตอนนี้ทุกคนกลัวหมด บางคนโดยแล้วปิดบ้านหนีหายไป ติดต่อไม่ได้" บริบูรณ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า 10 คนแรกที่โดนหมายเรียก หายหน้าไป 4-5 คนแล้ว วันนี้โทรหาก็ไม่มีใครรับโทรศัพท์ ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ก็บล็อคหมดเลย เหมือนพวกเขากังวลและกลัวมาก เนื่องจากเขาเป็นเพียงชาวบ้านต่างจังหวัดธรรมดา