วันอาทิตย์, มิถุนายน 26, 2559

ความพยายามของสุเทือกในการผลักดันให้คนไปออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วยการพูดทุกวันถึงความดีของร่างฯ ในบริบทอันสวยหรู แต่ไม่ต้องตรงกับความจริง ก็อาจก่อให้เกิดแรงถีบกลับ หรือ backfires แบบ Brexit ได้ไม่ยาก





‘สลิ่ม’* ได้ฟังคลิป ‘สดบ่ายสอง’ ของสุเทือกต้องสำลักโอเลี้ยง

แกบอกว่า “ผมอ่านคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วผมถูกใจมาก เขียนดีมากครับ คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย...”

นั่นคือการปกครองระบบประชาธิปไตยชื่อยาวตามคำปรารภ ฉะนั้น “ถ้ามีใครหรือประเทศไหนมากล่าวหาเรา บอกว่าเราเป็นพวกที่ต่อต้านการเลือกตั้ง เราไม่นิยมประชาธิปไตย ผิด ใช้ไม่ได้...”

ถ้างั้นไอ้พวกเวรตะไลที่ไปขัดขวางการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๕๗ นั่นเป็นแค่นักปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่ไม่ไม่ใช่ กปปส. (มั้ง)

มีอีก ถ้อยถลุยของสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชน และอดีตเลขาธิการ กปปส. LIVE ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ อ้างว่า

“ที่แล้วมา ที่การปกครองบ้านเมืองของเราไม่มีเสถียรภาพ ไม่ราบรื่นนั้นเพราะว่ามีคนบางคนบางกลุ่มไม่เคารพกฏเกณฑ์การปกครอง ไม่ยอมรับไม่ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์การปกครอง”

พวกสารเลวที่ทำแบบนั้นต้องไม่ใช่ ‘นกหวีด’ กับ ‘ป็อปคอร์น’ แน่ๆ เพราะอะไรรู้ไหม นายสุเทือกมีคำตอบ

“การเลือกตั้งที่ดีต้องสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างอิสระ ว่าเขาจะไว้วางใจให้ใครไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเขา

แต่ว่าถ้าการเลือกตั้งยังมีการซื้อสิทธิขายเสียง ยังมีการใช้อิทธิพลข่มขู่ชี้นำ ยังมีการใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ ยังมีการใช้ กกต. ช่วยโกงเลือกตั้ง อย่างนี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

(http://prachatai.org/journal/2016/06/66505)

นั่นทั่นผู้นำมวลมหาประชาชนพูดแต่ความชั่วของ ‘เลือกตั้ง’ ไม่ได้หมายรวมถึงการออกเสียงประชามติครั้งนี้ด้วยนะ แต่ก็เอามาพูดให้ดูดีไว้ก่อน เพื่อชักนำมวลมหาประชาชนไปช่วยกันผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

ทำไขสือไม่สนว่าวิธีการ ซื้อสิทธิ อิทธิพลขู่ ข้าราชการเป็นเครื่องมือ และใช้ กกต. ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ คสช. กำลังทำอยู่ทั้งนั้น นับแต่แจกเครื่องแบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน อุ้มจับนักศึกษาที่รณรงค์ไม่รับร่างฯ อบรมนักศึกษา รด. และครู กขค ลงพื้นที่โฆษณาข้อดี รธน. และมี กกต.ไล่บี้ฟ้องคดีละเมิด พรบ.ประชามติ





นี่จึงต้องขอต่อยอดเพิ่มเติมจากคุณสุเทือกแกหน่อย ประเด็นที่ ‘ประชามติ’ กับ ‘เลือกตั้ง’ ต่างกันอยู่นิด แม้จะเป็นแนวทางประชาธิปไตยเหมือนกัน

ตรงที่อันแรกเป็นแบบทางตรง ส่วนอันหลังแบบตัวแทน ซึ่งผลของแต่ละแบบให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน

ประชามติจะมีลักษณะฟันธง ขวานผ่าซาก หากพลาดก็เจ็บก่อนทันที ดังกรณี ‘เบร็กสิท’ สหราชอาณาจักรลงมติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ก่อผลกระทบค่าเงินปอนด์สเตอลิงตกฮวบ ตลาดหุ้นร่วงพรวด

ทว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา จะเต็มไปด้วยกระบวนการขัดเกลา จากการถกเถียงอภิปราย หยั่งเสียง คัดกรอง และประชาพิจารณ์ อันทำให้การตัดสินใจใดๆ ไม่ผลีผลาม รุ่มร่าม และหักหาญ

ประชามติในยูเคให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียูเมื่อสองวันก่อน เป็นตัวอย่างของการที่ประชาธิปไตยแบบหักหาญก่อให้เกิดผลสะท้อน ‘บ่มิสม’ เมื่อเกิดการ ‘บรีเก็ต’ (Britain Regrets) ขึ้นแล้ว

คนที่ไปโหวต ‘ลี้ฟ’ ออกจากยุโรปเพื่อประท้วงการดำเนินนโยบายนุ่มนิ่มของนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมรอน บังเกิดเกิดความอัดอั้นเสียใจที่ผลลัพท์เฉพาะหน้าขณะนี้ ทำให้สภาพเศรษฐกิจมหภาคเกิดการสั่นคลอนอย่างหนัก

นอกเหนือจากนั้นยังจุดติดขึ้นใหม่ให้แผนแยกตัวเป็นอิสระของสก็อตแลนด์เกิดประกายขึ้นอีก แม้กระทั่งกระแสที่มหานครลอนดอนซึ่งจำนวนคนโหวต ‘รีเมน’ ท่วมท้น ได้เริ่มมีการรณรงค์เพื่อที่จะแยกตัวลอนดอนออกจากการปกครองของสหราชอาณาจักร เพื่อที่จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกอียูได้

ด้วยคะแนนเสียงที่ต่างกันเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์ระหว่างโหวต Leave กับ Remain ทำให้มีการเรียกร้องทำประชามติใหม่อีกครั้ง การตั้งกระทู้เรียกร้องทางอินเตอร์เน็ต (ขณะเขียนนี้) ได้รับการสนับสนุนแล้วกว่า ๑ ล้านรายชื่อ

“อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคแรงงาน โทนี่ แบลร์ ให้ข้อคิดว่า กองรณรงค์ให้คงอยู่กับอียูต่อไปผิดพลาดที่ไม่ได้แสดงให้ประชาชนเห็นชัด ว่าประชามติไม่ใช่การออกเสียงเพื่อประท้วงต่อรัฐบาลหรือชนชั้นนำ”

(http://www.independent.co.uk/…/brexit-anger-bregret-leave-v…)

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ไล่หลังเบร็กสิทว่า “ถ้าเป็นรัฐสภาเรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดขึ้น” ในเมื่อท้องที่ซึ่งจะได้รับความเสียหายจากเศรษฐกิจตัดขาดกับอียูเป็นถิ่นที่ออกเสียงถอนตัวส่วนใหญ่

การตัดสินถอนตัวจากอียูหมายถึง การยุติข้อตกลงทางการค้าต่างๆ กับทั่วยุโรป ย่านอุตสาหกรรมตั้งแต่ไฮแลนด์และสก็อตแลนด์ตะวันออกผ่านเซอเรย์และยอร์คเชียร์ไปถึงแลงแคสเชียร์และลีสเชสเตอร์เชียร์ เป็นถิ่นที่รายได้หลักมาจากการส่งออกสู่อียู

แต่ท้องที่ลอนดอนซึ่งโหวตรีเมนกลับจะไม่โดนผลกระทบมากนัก เพราะเป็นศูนย์การเงินและส่งออกสู่ทั่วโลกนอกเหนืออียู โดยรวมแล้วการตัดขาดจากอียูในระยะยาวจะไม่ทำให้เศรษฐกิจภายในของอังกฤษโดยรวมสะเทือนมากนัก นอกจากย่านที่โหวตลี้ฟ

(https://www.washingtonpost.com/…/why-people-who-really-wa…/…)

ด้วยเหตุนี้กระแสประชามติแก้ตัวจึงก่อหวอดอย่างรวดเร็ว วอชิงตันโพสต์ชี้ว่าหลังทราบผลประชามติปรากฏมีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอียูกันขนานใหญ่ในอังกฤษ รวมทั้งการแพร่หลายของแฮสช์แท็ก ‪#‎regrexit‬

อย่างไรก็ดีฝ่ายรณรงค์เบร็กสิทแจ้งว่าจะไม่รีบร้อนดำเนินการเจรจากับอียูเพื่อถอนตัวออกอย่างทางการ โดยจะเริ่มกระบวนการในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามกฎระเบียบภายในอียูแล้ว คาดว่าจะสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากกันเรียบร้อยได้ คงต้องใช้เวลาสองปี





ขณะที่ทางประชาคมร่วมยุโรปกลับกระตือรือร้นอยากให้อังกฤษเริ่มดำเนินการโดยไว เพื่อปรับยุทธศาสตร์ต่อไปข้างหน้าก่อนที่แรงสั่นคลอนจะยืดเยื้อ

ทั้งที่ตามระเบียบสนธิสัญญากรุงลิสบอน มาตรา ๕๐ อังกฤษต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอแยกตัว สมาชิกอื่นๆ แม้แต่กลุ่ม ๖ ประเทศผู้ก่อตั้งอียูไม่สามารถริเริ่มเองได้

(http://www.theguardian.com/…/eu-emergency-talks-brexit-berl…)

เสียงวิจารณ์ทั้งในยูเคและทั่วโลกหนาหูว่าการโหวตถอนตัวจากอียูเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เสมือนเรือพ่วงตัดเชือกออกจากแถวลากจูง เพราะคิดว่าการออกไปเผชิญกระแสเชี่ยวกรากของน้ำหลากโดยไม่ติดโยงกับขบวน ต้นหนคัดท้ายได้ดีกว่า





ปัญหาของอังกฤษอยู่ที่ เมื่อข้อผูกมัดทางการเมืองทำให้นายแคเมรอนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางแก่ฝ่ายเบร็กสิทเข้าไปบริหารแทน ผู้นำฝ่ายเบร็กสิทสองคนคือนายไนเจล ฟาราจส์ แห่งพรรคอิสระ กับนายบอริส จอห์นสัน ที่ว่ากันว่ารณรงค์ออกจากอียูเพื่อเตะตัดขานายกฯ จากพรรคเดียวกัน ต่างก็ยังเป็นเบี้ยรองบ่อน

โดยเฉพาะนายฟาราจนั้นจำต้องยอมรับว่าการใช้กลเม็ดโจมตีว่าอังกฤษต้องเจียดงบประมาณมหาศาลไปเกื้อหนุนโครงการบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) เป็นประโยชน์แก่อียูนั้น เป็นวิธีหาเสียงบิดเบือนข้อเท็จจริง เพิ่มแรงโกรธาให้แก่กระแสประชามติแก้ตัวยิ่งขึ้น





ฉันใดก็ฉันนั้น ความพยายามของสุเทือกในการผลักดันให้คนไปออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วยการพูดทุกวันถึงความดีของร่างฯ ในบริบทอันสวยหรู แต่ไม่ต้องตรงกับความจริง

ก็อาจก่อให้เกิดแรงถีบกลับ หรือ backfires แบบ Brexit ได้ไม่ยาก

(หมายเหตุ * ไปหาความหมายของ ‘สลิ่ม’ กันได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355546480)