++ถ้อยแถลงการไต่สวนฝากขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่จากห้องพิจารณาคดี++
ถอดความจากบันทึกของทนายความ
ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง 13 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่รณรงค์ประชามติ
คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.21/2559 วันที่ 24 มิถุนายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพ
เวลาประมาณ 15.30 น.
- นายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่ 1 ขอแถลงคัดค้านการฝากขังด้วยวาจา
ประเด็นแรก พลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร และเรื่องของพวกเราเป็นเรื่องรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ ไม่เป็นความผิดกฎหมาย
รังสิมันต์ยืนยันว่า เรารณรงค์ให้คนไปออกเสียง ไม่ได้รณรงค์ให้คนไม่ไปออกเสียง ดูจากเอกสารที่มีการแจกเอกสารไปใช้สิทธินอกเขตจังหวัด ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ดาวโหลดมาจากเว็ปไซด์ของกกต. และเอกสารเรื่องการ ลงทะเบียนประชามติออนไลน์
การกระทำของพวกเราเป็นการรณรงค์อีกแง่มุมหนึ่งให้ประชาชนตัดสิน ไม่ได้เป็นการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งเท่านั้น เรารณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้มากที่สุดและเป็นการให้ความรู้ต่อประชาชน การกระทำของพวกเราจึงไม่ทำผิดอะไรเลย
ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารยอมให้จัดกิจกรรมได้ แต่ให้จัดที่บริเวณสะพานเท่านั้น เราก็ปฏิบัติตาม แต่พอจัดได้ประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ก็มาขอให้ยุติกิจกรรม แล้วมาจับพวกเรา การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความรุนแรง ไม่แจ้งว่าทำอะไรผิด บอกแค่ว่าจะเชิญตัวมาเฉย ๆ
ข้อหาผิดประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ขอเรียนว่า ประกาศ คมช. สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 50 เมื่อ คสช. มีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 เนื่องจาก ม.309 รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง การกระทำของ คมช. ดังนั้นเมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ม.309 ก็ถูกยกเลิกไปด้วย ประกาศคมช.ที่ 25/2549 จึงไม่มีผลบังคับใช้อีก
ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ต้องเป็น กกต. มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เราจัดกิจกรรมที่สำโรง เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการให้เราแจกใบปลิวจนแล้วเสร็จ ไม่มีการดำเนินคดี
หลักกฎหมาย ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด การดำเนินคดีและนำตัวพวกเรามาฝากขังคดีนี้ และคัดค้านการปล่อยชั่วคราว จึงขัดกับหลักดังกล่าว
พวกเราเป็นนักศึกษาและแรงงาน ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และไม่มีความจำเป็นต้องให้เสรีภาพของเราสูญสลายไป การปล่อยเราไปในระหว่างสอบสวนจะไปกระทบกับรูปคดีอย่างไร
- นายวรวุฒิ บุตรมาตร ผู้ต้องหาที่ 11 ขออนุญาตแถลง
การลงประชามติทั่วโลกจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เปิดพื้นที่รณรงค์เรื่องประชามติได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่พวกเราทำคือส่งเสริมให้คนไปลงประชามติ มิได้ต้องการไม่ให้คนไปลงประชามติ
อ่านข้อซักถามของทนายความเพิ่มเติมที่
http://www.tlhr2014.com/th/?p=742
ที่มา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน