Posted on October 19, 2015 by pokpong
Source: Pokpong.org
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถนนหนังสือ และช่อการะเกด ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาแสดงปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอตัดตอนเนื้อความของปาฐกถาอันยอดเยี่ยมมาให้อ่านกันสัก 5 ตอน ดังนี้
………..
ตอนที่ 1: “ท่าเต้นรำ” ของอาจารย์ป๋วย
ผมเห็นภาพๆ หนึ่งของอาจารย์ป๋วยในโปสเตอร์แผ่นหนึ่ง เป็นภาพถ่ายเก่าก่อน “6 ตุลา” ผมมองภาพนี้กี่ครั้งกี่หนก็เห็นเหมือนเป็น “ท่าเต้นรำ” ในพิธีอะไรบางอย่าง อาจารย์ป๋วยกางแขนสองข้างออกไปสุดแขน และภาพต่อมาก็เช่นกัน คือยกสองแขนไปทางซ้ายที ขวาที คล้ายจะบอกอะไรบางอย่างว่า ทั้ง “ซ้ายจัด” “ขวาจัด” นั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร “ซ้ายจัด” และ “ขวาจัด” ที่ไร้เดียงสานั้นก็เหมือนกำลังเป็น “แนวร่วมด้านกลับ” ให้กันและกันในเวลานั้น อาจารย์ป๋วยเหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดความเลวร้ายบางอย่าง
ภาพในจินตนาการต่อมาของผมจึงเหมือนเห็นอาจารย์ทำท่าหมุน หมุน หมุน หมุนคว้างไปในสายลมแรงที่ทั้ง “ซ้ายจัด” และ “ขวาจัด” ต่างก็ไม่เอาท่าน ภาพที่เป็นเหมือน “ท่าเต้น” ของอาจารย์ป๋วยนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณลานโพธิ์ ถ่ายไว้เมื่อตอนบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการเล่นละครล้อเลียนการแขวนคอของกลุ่มนักศึกษาไปแล้ว และต่อจากนั้นอีกไม่นาน ทางสถานีวิทยุยานเกราะ ภายใต้การปลุกระดมของ พท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็ได้เปิดฉากกล่าวร้ายอาจารย์ป๋วยและกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาชุมนุมในธรรมศาสตร์ ชักชวนให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ออกมาปกป้องสถาบันอะไรทำนองนั้น โดยอ้างว่าเป็นการเล่นละคร “หมิ่นพระบรมราชานุภาพ” จนเรื่องนี้ก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นในธรรมศาสตร์ เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ความห่วงใยและเหมือนจะรู้ว่าอาจมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ทำให้อาจารย์ออกไปห้ามออกไปทำ “ท่าเต้น” เพื่อขอร้องให้นักศึกษาเลิกการชุมนุมในช่วงนี้เสียเถิด
………..
ตอนที่ 2: สุชาติ-รังสรรค์-ป๋วย กับ “ชีวิตทางวัฒนธรรม”
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถนนหนังสือ และช่อการะเกด ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาแสดงปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอตัดตอนเนื้อความของปาฐกถาอันยอดเยี่ยมมาให้อ่านกันสัก 5 ตอน ดังนี้
………..
ตอนที่ 1: “ท่าเต้นรำ” ของอาจารย์ป๋วย
ผมเห็นภาพๆ หนึ่งของอาจารย์ป๋วยในโปสเตอร์แผ่นหนึ่ง เป็นภาพถ่ายเก่าก่อน “6 ตุลา” ผมมองภาพนี้กี่ครั้งกี่หนก็เห็นเหมือนเป็น “ท่าเต้นรำ” ในพิธีอะไรบางอย่าง อาจารย์ป๋วยกางแขนสองข้างออกไปสุดแขน และภาพต่อมาก็เช่นกัน คือยกสองแขนไปทางซ้ายที ขวาที คล้ายจะบอกอะไรบางอย่างว่า ทั้ง “ซ้ายจัด” “ขวาจัด” นั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร “ซ้ายจัด” และ “ขวาจัด” ที่ไร้เดียงสานั้นก็เหมือนกำลังเป็น “แนวร่วมด้านกลับ” ให้กันและกันในเวลานั้น อาจารย์ป๋วยเหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดความเลวร้ายบางอย่าง
ภาพในจินตนาการต่อมาของผมจึงเหมือนเห็นอาจารย์ทำท่าหมุน หมุน หมุน หมุนคว้างไปในสายลมแรงที่ทั้ง “ซ้ายจัด” และ “ขวาจัด” ต่างก็ไม่เอาท่าน ภาพที่เป็นเหมือน “ท่าเต้น” ของอาจารย์ป๋วยนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณลานโพธิ์ ถ่ายไว้เมื่อตอนบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการเล่นละครล้อเลียนการแขวนคอของกลุ่มนักศึกษาไปแล้ว และต่อจากนั้นอีกไม่นาน ทางสถานีวิทยุยานเกราะ ภายใต้การปลุกระดมของ พท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็ได้เปิดฉากกล่าวร้ายอาจารย์ป๋วยและกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาชุมนุมในธรรมศาสตร์ ชักชวนให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ออกมาปกป้องสถาบันอะไรทำนองนั้น โดยอ้างว่าเป็นการเล่นละคร “หมิ่นพระบรมราชานุภาพ” จนเรื่องนี้ก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นในธรรมศาสตร์ เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ความห่วงใยและเหมือนจะรู้ว่าอาจมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ทำให้อาจารย์ออกไปห้ามออกไปทำ “ท่าเต้น” เพื่อขอร้องให้นักศึกษาเลิกการชุมนุมในช่วงนี้เสียเถิด
………..
ตอนที่ 2: สุชาติ-รังสรรค์-ป๋วย กับ “ชีวิตทางวัฒนธรรม”
ว่าไปแล้วคนที่เหมาะจะพูดเรื่อง “ชีวิตทางวัฒนธรรม” ของอาจารย์ป๋วยน่าจะเป็นอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ช่วงหนึ่งอาจารย์รังสรรค์ได้ทุนไปเรียนต่อที่เคมบริดจ์ ถ้าผมจำไม่ผิดคือประมาณในช่วงปี 2513-2515 เป็นช่วงเดียวกับที่อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ผมเข้าใจว่าอาจารย์รังสรรค์นี่แหละที่ได้เห็นและได้อ่าน “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง” ก่อนใครๆ ครั้งหนึ่งอาจารย์รังสรรค์เคยอภิปรายว่า ได้บอกอาจารย์ป๋วยหลังจากอ่านจดหมายจบว่า เขียนเบาไป น่าจะเอาให้หนักกว่านั้น แต่ต่อมาอาจารย์รังสรรค์จึงเข้าใจว่าอาจารย์ป๋วยเขียนแบบเพื่อนถึงเพื่อน เขียนแบบนั้นเหมาะสมแล้ว คือให้เกียรติและให้ความเมตตาแก่จอมพลถนอมในฐานะที่เคยเป็นเพื่อนนักเรียน วปอ. รุ่นเดียวกัน ไม่ใช่ในฐานะที่จอมพลถนอมเป็นเผด็จการที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร …
… (ในช่วงเตรียมปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ผมได้เขียนจดหมายสั้นๆ ไปถาม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ว่า “อาจารย์ป๋วยใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างไร มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ที่พอจะทราบอย่างไรบ้าง”อาจารย์รังสรรค์ตอบมาอย่างรวดเร็วว่า
——————-
ท่านสุชาติ…
ผมรู้จักชีวิตส่วนตัวของอาจารย์ป๋วยไม่มาก อาจารย์ป๋วยชอบฟังเพลง ผมได้ยินแต่เพลงไทยเดิม ไม่เคยได้ยินเพลงคลาสสิก หรือแม้แต่สุนทราภรณ์ อาจารย์ป๋วยชอบอ่านหนังสือ ทั้ง Fiction และ Non-Fiction อาจารย์สุลักษณ์อ้างว่า อาจารย์ป๋วยอ่านแต่หนังสือในกระแส อาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้แนะนำให้อาจารย์ป๋วยอ่านหนังสือนอกกระแส
หนังสือพิมพ์ที่อาจารย์ป๋วยอ่านที่อังกฤษ คือ The Guardain ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนว“เสรีนิยมเอียงซ้าย” มากกว่า The Times ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ “อนุรักษ์นิยม”
อาจารย์ป๋วยชอบดูหนัง โดยเฉพาะหนังนอกกระแสและนอกฮอลลีวูด หากอยู่เมืองไทย อาจเป็นแฟน Filmvirus
ที่เคมบริดจ์มี Arts Cinema (โรงหนัง) คู่กับ Arts Theatre (โรงละคร) นักเรียนเคมบริดจ์นิยมออกไปดูหนังดูละคร (รวมทั้งเข้า Pub) ในเย็นวันพุธ เพราะเป็นวันกลางสัปดาห์ เพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดในการเรียน อาจารย์ป๋วยออกไปดูหนังในคืนวันพุธด้วย บางครั้งชวนผมไปดูด้วย ผมจำไม่ได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องอะไร จำได้แต่ว่าเป็นภาพยนตร์ยุโรปตะวันออก อาจารย์ป๋วยกล่าวว่า ยุโรปตะวันออกมีผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือดีหลายคน บางคนเมื่อโยกย้ายไปอยู่ฮอลลีวูดแล้ว ไม่สามารถผลิต “หนังดี” ได้อีก
ผมคงให้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก่อน
รังสรรค์
——————-
จดหมายสั้นๆเพียงเท่านี้ ทำให้ผมเห็นภาพย้อนหลังของอาจารย์ป๋วยในฐานะของ “ผู้รื่นรมย์แสวงหา” ได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคืออาจารย์ป๋วยมีชีวิตทางวัฒนธรรมที่รื่นรมย์กับการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทุกอย่างเป็นไปตามรสนิยมที่ชื่นชอบของตน เยี่ยงสามัญชนคนธรรมดาทั่วๆไป
ที่ถูกใจเกินคาดสำหรับผมก็คือ อาจารย์ป๋วยชอบดูหนังด้วย โดยเฉพาะ “หนังนอกกระแส” และ “นอกฮอลลีวู้ด” ชอบดูหนังยุโรปตะวันออกเป็นพิเศษ [หนังจำพวกนี้มีฉากโป๊ๆเยอะนะครับ มิน่าอาจารย์สุลักษณ์ถึงเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า อาจารย์ป๋วยเคยพูดเปรยๆ ตอนไปอังกฤษว่า “ไปดูหนังโป๊กันมั้ย”]
………..
ตอนที่ 3: ป๋วยในฐานะ “ผู้สร้าง” และ “กวี” รวมถึงภารกิจกระตุกหนวดเสือ
อาจารย์ป๋วยในความเห็นส่วนตัวของผมเอง ก็มีภาพเป็นนักเขียนมากกว่านักวิชาการ นี่มองจากแง่มุมในการใช้ภาษาไทยของท่านที่มีความง่าย ความงาม และความชัด เป็น “นายของภาษา” ใช้คำได้เท่ากับความ มีทั้งสิ่งที่เรียกว่า Poetic Mind และ Critical Mind
อาจารย์ป๋วยเป็นนักเขียนความเรียงในฐานะของ Essayist มากกว่าเป็นนักวิชาการที่เขียนบทความแบบ Academic แต่กระนั้นอาจารย์ป๋วยก็มีข้อมูลทางวิชาการและความคิดที่กระชับ ชัดเจน ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากงานในชั้นเชิงกวีนิพนธ์ เช่น ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
เอาแค่ประโยคว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” อาจารย์ป๋วยก็ให้ภาพชัดเจนแล้ว แม้เข้าใจว่าอาจจะมาจากสำนวนภาษาอังกฤษ Cradle to Grave ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 แต่อาจารย์ป๋วยเอามาใส่ความชัดเจนใหม่ คือไม่ได้มาเริ่มที่ “เปลเด็ก” แต่เริ่มมาตั้งแต่ “จากครรภ์มารดา” และเมื่อ “…ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง” นี่ก็ชัดเจนว่าหมายถึง “เชิงตะกอน” ไม่ใช่ “หลุมฝังศพ”
ในฐานะของ “ผู้สร้าง” หรือในฐานะของ “นักสร้างสรรค์” ผู้มี Creative Mind ไม่แตกต่างไปจากศิลปิน กวี นักเขียน และนักประพันธ์ทั้งหลาย ลึกๆลงไปแล้วผมจึงเห็นว่าอาจารย์ป๋วยเป็นกวี อาจจะไม่ได้เท่ากวีรัตนโกสินทร์ทั้งหลาย แต่เท่าที่เห็นการใช้ภาษาไทยของท่านทั้งในงานร้อยแก้วร้อยกรอง อาจารย์ป๋วยมีชั้นเชิงของ “ความเป็นกวี” อย่างแน่นอน และตรงนี้แหละที่เป็น “ชีวิตทางวัฒนธรรม” ที่ทำให้ท่านแตกต่างไปจากนักวิชาการอื่นๆ …
… มีบทกวีชิ้นหนึ่งของอาจารย์ป๋วยที่ขอแนะนำ บทกวีชิ้นนี้มาแปลก คือเป็นครั้งแรกกระมังที่มีผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวสุนทรพจน์เป็นบทกวี เหตุเกิดในงานเลี้ยงประจำปีของสมาคมธนาคารไทย เมื่อ พ.ศ.2507 คือสิ้นยุคจอมพลสฤษดิ์มาแล้ว 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออำนาจมาจากจอมพลสฤษดิ์ และได้ประกาศคุณธรรมเป็นคำขวัญว่า “จงทำดี จงทำดี และจงทำดี”
สุนทรพจน์มื้อค่ำที่เป็นบทกวีชิ้นนี้มีความยาว 4 หน้ากระดาษพิมพ์ ตอนนั้นป๋วยอายุ 48 ผมจะยกเอามาเฉพาะตอนที่อาจารย์ป๋วยใช้โวหารเหน็บแนม โดยมุ่งจะให้ได้ยินไปถึงจอมพลถนอม เป็นการปรามทำนองว่า คนที่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำพวกนายพลทั้งหลายนั้น พวกนี้ไม่ควรไปมีตำแหน่งเป็นกรรมการตามธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นี่คือการ “กระตุกหนวดเสือ” แบบนิ่มๆ โดยอิงกับคำขวัญ “จงทำดี” ของจอมพลถนอมนั่นเอง
——————
วิสัชนา วาจาขวัญ ท่านนายกฯ
หวังไม่ตก บกพร่อง ต้องแสลง
ขยายความ ตามชอบ ระบอบแบ๊งก์
แม้คำแรง คงไม่ร้าย ระคายเคือง
ยังจนใจ ไม่รู้ อยู่หนึ่งข้อ
จอมพล ถ ท่านแถลง แจ้งเป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ ผมก็เห็น เด่นประเทือง
ว่าใครเฟื่อง เป็นผู้ใหญ่ ในราชการ
ตัวอย่างเช่น เป็นรัฐมนตรี
ไม่ควรมี การค้า มาสมาน
อย่าข้องเกี่ยว เที่ยวรับทำ เป็นกรรมการ
สมาจารย์ ข้อนี้ ดีจริงเจียว
——————
อาจารย์ป๋วยยังเอ่ยสุนทรพจน์เป็นบทกวีด้วยความรื่นรมย์อีกยาว แต่ผมอยากขอจบตรงบทสุดท้ายที่ “กระตุกหนวดเสือ” ว่า
——————
จบสุนทร กลอนสุภาพ เพียงคาบนี้
เหลือแต่โคลง แทนสัพพี และยะถา
แม้เป็นเรื่อง เคืองขัด อัธยา
โปรดเมตตา ด้วยประสงค์ “จงทำดี”
——————
ที่ยกมาก็เพื่อแสดงบทบาทของอาจารย์ป๋วยในฐานะของ “ผู้สร้าง” ความรื่นรมย์ของอาจารย์ป๋วย คือการใช้ภาษาไทยได้อย่างเป็น “นายของภาษา”
อาจารย์ป๋วยมีสิ่งที่นักวิชาการบ้านเราไม่ค่อยมี คือจินตนาการ และการ “กระตุกหนวดเสือ” แบบนิ่มๆ มีคลังคำทางภาษาที่เก็บสะสมมาจากการเป็นนักอ่านวรรณคดีตั้งแต่วัยเด็ก นอกจากนั้นยังมีหัวใจที่ง่าย งาม และแจ่มชัด สื่อคำได้เท่ากับความหมาย อ่านเรื่องจึงได้ภาพ นอกจากนั้นจะเห็นว่าภาษาที่ใช้คือภาษาของกวีมากกว่าภาษาของนักวิชาการ
ผมอยากจะบอกว่าอาจารย์ป๋วยมีความเป็นกวีในตัวเอง ใช้ภาษาไทยได้อย่างมีศิลปะ เวลาอ่านงานเขียนของท่าน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนแบบไหน จะรู้สึกว่าไม่แห้งแล้งแบบงานวิชาการทั่วๆไป มีอารมณ์ขัน มีความหวัง แต่ก็ไม่ทิ้งหลักการ และโครงครอบใหญ่ที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม ทำให้เห็นภาพรวมของประเด็นต่างๆด้วยภาษาร่วมสมัย
………..
ตอนที่ 4: ไขปริศนา ป๋วยอ่านอะไรที่สนามบินในช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ท่านทราบหรือไม่ ตอนที่อาจารย์ป๋วยรีบเก็บของใส่กระเป๋าจะไปขึ้นเครื่องช่วงค่ำของวันที่ 6 ตุลา 19 นั้น อาจารย์ป๋วยเคยเขียนบันทึกไว้ว่า
—————–
“เมื่อถูกกักตัวอยู่นั้น ตำรวจกองปราบฯได้ค้นตัวผู้เขียน ก็ไม่เห็นมีอาวุธแต่อย่างใด มีสมุดพกอยู่เล่มหนึ่ง เขาก็เอาไปตรวจ และผมกำลังอ่านหนังสือ Father Brown ของ G.K.Chesterton อยู่ เขาก็เอาไปตรวจ…”
—————–
นี่ขนาดชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ต้องหนีภัยออกนอกประเทศ เพราะถูกขู่ฆ่าจากกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง [โดยเฉพาะ พท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งสถานีวิทยุยานเกราะ และ นสพ.”ดาวสยาม”ในสมัยนั้น] จากบันทึกดังกล่าวของอาจารย์ป๋วย ทำให้เราทราบว่า แม้จะหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่อาจารย์ป๋วยก็ยังมีแก่ใจหยิบเอานิยายนักสืบชุด Father Brown ของนักเขียนอังกฤษที่ชื่อ G.K.Chesterton ไปด้วย กะว่าคงจะเอาไปอ่านบนเครื่องบิน ผมก็ไม่ทราบว่านายตำรวจที่ชื่อ สล้าง บุนนาค ได้คืนหนังสือนิยายนักสืบที่ค้นได้ในกระเป๋าให้อาจารย์ป๋วยหรือเปล่า
แต่จากตรงนี้เองที่ทำให้ทราบว่าอาจารย์ป๋วยเป็นแฟน “นิยายนักสืบ” [หรือที่เพื่อนผมเขาเรียกว่า“รหัสคดี” ] หนังสือชุด Father Brown เป็นเรื่องของ “พระนักสืบ” ที่เสนอแนวทางสืบแบบพระๆ ในนิกายคาธอลิก นักเขียนอังกฤษที่ชื่อ G.K.Chesterton เป็นนักเขียนที่มีความคิดสายกลาง เป็นเพื่อนกับยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ และ เฮช.จี.เวลลส์ ที่อยู่ใน “ขบวนการสังคมนิยมเฟเบียน” ของอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุควิคตอเรีย และต้นยุคเอ็ดเวิร์ด เป็นนักเขียนกึ่งเสรีนิยม กึ่งอนุรักษ์นิยม ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า ทำไมอาจารย์ป๋วยจึงติดใจเลือกเอาหนังสือ “นิยายนักสืบ” ของนักเขียนอังกฤษคนนี้ไปอ่าน
ในแง่หนังสือต่างประเทศที่อาจารย์ป๋วยอ่านนั้น นอกจากเรื่องวิชาการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว หนังสือแนววรรณกรรมอื่นๆ เท่าที่ตรวจสอบจากข้อเขียนของท่านเองที่อ้างถึงไว้ก้มีตั้งแต่ “โครงโลกนิติ” “กาพย์พระไชยสุริยา” ของ “สุนทรภู่” มาจนถึงงานเขียนของ ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน ซึ่งเป็นนักเขียนและนักปรัชญาสายสันติวิธี และเป็นเพื่อนสนิทของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Civil Disobedience ต้นกำเนิดแห่งคำว่า “อารยะขัดขืน” นอกจากนั้นก็เข้าใจว่าท่านคงจะอ่านทรรศนะความคิดของ ลีโอ ตอลสตอย ด้วย เช่นมีหนังสืออยู่เรื่องหนึ่งของตอลสตอย ใช้ชื่อว่า Calender of Wisdom ทำให้ผมคิดไปถึงคำว่า “ปฏิทินแห่งความหวัง” หรือ Calender of Hope นักคิดนักเขียนสายสันติวิธีเหล่านี้ คงจะมีรวมไปถึงคานธีและไอน์สไตน์ ที่ให้ความบันดาลใจแก่อาจารย์ป๋วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
………..
ตอนที่ 5: ศิษย์-อาจารย์ บนม้านั่งเหงาๆ
ผมขอปิดท้ายด้วยภาพถ่ายภาพหนึ่ง เมื่อเห็นครั้งใดก็ให้รู้สึกสะเทือนใจและอดคิดไปถึงเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้ ภาพที่ว่านี้เป็นภาพ “อาจารย์ป๋วย” กับ “อาจารย์ปรีดี” นั่งกันอยู่เงียบๆ บนม้านั่งเหงาๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นม้านั่งที่อังกฤษหรือที่ฝรั่งเศส ไม่มีใครทราบว่าทั้งสองกำลังคิดอะไร คนหนึ่งเป็นอาจารย์ คนหนึ่งเป็นศิษย์ ทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างก็มีความใฝ่ฝันแสนงาม หวังอยากเห็นแผ่นดินบ้านเกิดมีความสุขสมบูรณ์ มีเสรีภาพ มีประชาธิปไตย มีความงอกงามทางความคิดสร้างสรรค์ ทั้งอาจารย์และศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยกันบนม้านั่งเหงาๆ ตัวนี้ ดูแล้วก็เหมือนเป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน มีอุดมคติและอุดมการณ์ตรงกันที่ต้องการสร้างดุลยภาพและภราดรภาพให้กับ “บ้านเกิดเมืองนอน” ของตน แต่แล้วในที่สุดกลับต้องไปตายในบ้านเมืองของคนอื่น
เกิดอะไรขึ้น ทำไมโชคชะตาจึงเล่นตลกเช่นนั้น หรือว่าไม่ใช่เรื่องโชคชะตา แต่เป็นเรื่องที่คนทั้งสอง “รักในสัจจะ” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ดังนั้นท่านจึงเจ็บปวด บทเรียนจากประวัติศาสตร์คงจะเล่าถึงความเป็นมาหลายอย่างให้ทราบ เอาเฉพาะเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” ปีหน้าก็จะครบ 40 ปี มีอะไรเคยเกิดขึ้นบ้างกับธรรมศาสตร์
ครั้งหนึ่ง ภายหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยพูดว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกกระเบียดนิ้ว” ซึ่งเป็นความจริง ธรรมศาสตร์เมื่อครั้ง “14 ตุลา” เป็นเหมือน “เขตปลดปล่อย” ที่ให้กรรมกร-ชาวนาได้มาปรับทุกข์ผูกมิตรกับนักศึกษา-ปัญญาชน ผมเองก็ได้พบสาวโรงงานคนหนึ่งแถวๆ นี้
แต่ในปัจจุบัน ถามจริงๆเถอะ ธรรมศาสตร์ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือเปล่า ธรรมศาสตร์เป็นอะไรไปในปัจจุบัน เป็นคุกที่มองไม่เห็น คุกจำลองขนาดใหญ่ ผมคงไม่ขอโทษที่พูดเช่นนี้ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่า มหาวิทยาลัยในชื่อไหนก็ตาม ก็เหมือนเป็น “คุกจำลองขนาดใหญ่” เช่นเดียวกัน คือแทบไม่มีบรรยากาศของคำว่า academic freedom หรือ “เสรีภาพทางวิชาการ” อันเป็นอุดมคติสูงสุดของมหาวิทยาลัย อาจารย์ป๋วยเองก็เคยกล่าวไว้เช่นนั้น และผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะ “ปลดปล่อยตัวเอง” ได้สำเร็จเมื่อไร เพื่อนพ้องน้องพี่คนไหนจะตอบเรื่องนี้ให้ “อาจารย์ปรีดี” และ “อาจารย์ป๋วย” ทราบบ้าง
นี่คือบทเพลงแห่งความเงียบ ความหวัง และความล้มเหลวของทั้งอาจารย์และศิษย์ และสิ่งที่คนทั้งสองล้มเหลว มันคือความล้มเหลวของเราทุกคนด้วย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะหมายถึงเสรีภาพ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ความเป็นพี่เป็นน้อง ความยุติธรรม และความเป็นธรรมในสังคมที่ต้องมีทั้งดุลยภาพ สมรรถภาพ และ “ความรับผิดชอบทางจริยธรรม” [คำของอาจารย์ป๋วย]
ครั้งสุดท้ายที่ผมได้พบอาจารย์ป๋วย คือช่วงก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” เล็กน้อย หลังจากการประชุมครั้งหนึ่ง ท่านขับรถคันเก่าๆ ของท่านมาส่งผมครึ่งทางที่สะพานควาย เพราะเห็นว่ากลับบ้านทางเดียวกัน หลังจากนั้น เมื่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญจนเลือดนองแผ่นดินผ่านไป ผมเข้าใจว่าท่านเองก็คงรู้สึกบอกไม่ถูกกับสังคมไทยที่สวิงกลับไปหา “ขวาจัด” ที่ “โง่ๆ บ้าๆ” อย่างไร้สาระมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมเมืองไทย 2 หรือ 3 ครั้ง ผมรู้สึกสะเทือนใจเกินกว่าจะเข้าไปพบท่าน ได้แต่เก็บรับท่านไว้ในใจ และมองดูท่านอยู่ห่างๆ
ในวาระ 100 ปีชาตกาลของท่านที่ใกล้จะมาถึงในปีหน้า สิ่งที่ท่านต้องการ ผมว่าไม่น่าจะใช่การสร้างอนุสาวรีย์ให้นกมาขี้รด หรือให้นักศึกษาเอาธูปมาปัก
สิ่งที่ท่านต้องการคือสัจจะ – ความจริง ความงาม ความหวัง และความรื่นรมย์ เหมือนเช่นที่ผมได้กล่าวมา
ความรื่นรมย์ของอาจารย์ป๋วย คือความรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นความรื่นรมย์ครั้งแรก หรือครั้งสุดท้าย มันย่อมเป็นความหวังเสมอ
สำหรับอาจารย์ป๋วย ความหวังของท่านก็คือ ท่านต้องการเห็นแผ่นดินเกิดมีความงอกงามสมบูรณ์ บ้านเมืองมีขื่อมีแป ราษฎรทุกระดับ ทุกพื้นที่ มีส่วนร่วมอย่างเสมอกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม อาจารย์ป๋วยไม่ต้องการการปกครองแบบ “คณาธิปไตย” ท่านเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นหนทางแห่งหายนะ และ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” คือทางออกทางเดียวเท่านั้น แต่ท่านเองก็ไม่รู้เสียแล้วว่าลูกศิษย์ลูกหาของท่านหลายคนได้เปลี่ยนไป
ความหวังของอาจารย์ป๋วย ก็คือ “สันติประชาธรรม” และท่านเคยบอกว่าอยากใช้คำนี้แทนคำว่า “ประชาธิปไตย” ด้วยซ้ำ
ความหวังของอาจารย์ป๋วย ก็คือความจริงและความงาม ส่วนความดีนั้นจะตามมาเองเมื่อใครก็ตามมีสองอย่างที่มาก่อนหน้า
ความหวังของอาจารย์ป๋วย ก็คือ “สังคมเปิดที่มีเสรีภาพ” เป็นทั้ง “วิถี” และมี “วิธีปฏิบัติ” ที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า ไม่หน้าไหว้หลังหลอก
ความหวังของอาจารย์ป๋วย ก็คือการออกไปให้พ้นจาก “อำนาจนิยม” ทั้งความคิดแบบ “ขวาจัด” และ “ซ้ายจัด” โดยมีกติกาแห่งคำว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นตัวบ่งชี้การก้าวไปข้างหน้าอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่กับอารยะประเทศ
ภาพถ่ายบนม้านั่งเหงาๆ ของทั้งศิษย์และอาจารย์ที่มาพบกันนี้ มันให้ความเย็นยะเยือกเข้าไปถึงหัวใจ เพราะมันเป็นเหมือนทั้งความหวังและความกลัวของสังคมไทยปัจจุบัน
รักป๋วยจงรักอย่าง “คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” ไม่ใช่รักอย่างเทวดา
………..
ที่มา: เนื้อความบางส่วนของ ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์” โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี 19 ตุลาคม 2558 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ooo
ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 7 : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
https://www.youtube.com/watch?v=zLfougTYYso
PITVFANPAGE
Published on Dec 27, 2015
หัวข้อ“ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์”
โดย คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์