ทีมา มติชนออนไลน์
3 มี.ค. 59
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในจังหวะที่การเมืองไทยแหลมคม เข้าสู่ช่วงโค้งอันตราย เรื่องรัฐธรรมนูญ ปริศนาการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เมื่อการเมืองอยู่ในช่วงที่แหลมคมที่สุด ถูกจับตามองจากการเมืองทั่วโลกมากที่สุด
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” นักรัฐศาสตร์การทูต จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ให้สัมภาษณ์น้อยที่สุด-ยากที่สุด เพื่ออ่านท่าทีไทยในเกมการเมืองโลก และวิเคราะท่าที “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล
– สถานะรัฐบาลไทยที่เป็นรัฐบาลทหารในสายตาเวทีโลกเป็นอย่างไร
ข้อแรก บริบทต่างประเทศเปลี่ยนไป ต่างจากบริบทเมื่อ 20-30 ปีก่อน เพราะแต่ก่อนไทยมีรัฐประหารอยู่เรื่อยๆ สหรัฐอเมริกาและหลายๆ ประเทศในยุโรปไม่ได้มาวิจารณ์อะไรมาก เพราะสมัยสงครามเย็นเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีน โซเวียต ดังนั้น สมัยนี้เวลาทำการทูตจึงมีข้อจำกัด มีการตอบรับที่ไม่ได้ดั่งใจรัฐบาล
ข้อสอง ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดศูนย์กลางจะพัฒนาเอเชียตะวันออกโดยข้ามหน้าข้ามตาไทยไปแทบไม่ได้ ทำให้รัฐบาลทหารได้อานิสงส์อยู่มาก สามารถไปอิงกับจีน ใช้จีนต่อรองกับสหรัฐ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ในตัว เพราะไทยไม่สามารถเหยียบเรือหลาย ๆ แคมเชิงยุทธศาสตร์ในเวลาเดียวกันได้
ข้อสาม ปัจจัยภายในเปลี่ยนแปลง เพราะมีประชาธิปไตยแบบละเมิดสิทธิ์ กักตัวคนไปปรับทัศนคติ แรงกดดันจากประเทศตะวันตกก็ยังเห็นได้ชัดอยู่ แต่หากไทยมีประชาธิปไตยครึ่งใบ การตอบรับอาจจะคลายความกดดันไปได้ระดับหนึ่ง เพราะการกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน
– ไทยจะเดินบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนอย่างไร
เป็นภาวะที่ทุกฝ่ายอึดอัด หงุดหงิดกันถ้วนหน้า สหรัฐอยากให้ไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติ อยากให้ไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญในเอเชีย แต่ตราบใดที่ไทยยังจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในไม่ได้ ก็จะมีข้อจำกัดเรื่อยๆ ไทยจะไม่ถูกละเลย แต่น้ำหนักของเราจะลดลงไปตามลําดับ ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
– รัฐบาลทหารใช้ยุทธวิธีเศรษฐกิจนำการเมืองคือวิธีที่ถูกต้อง เพราะไทยมีประโยชน์ทางภูมิภาคหรือไม่
มันควบคู่ไปกับการทูต การเมือง การทหาร เรื่องการใช้ปากท้องเศรษฐกิจเป็นหัวหอกดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่ทำอย่างนี้ อินโดนีเซีย เวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์ใช้เศรษฐกิจเป็นหัวหอกยิ่งกว่าอีก สหรัฐถึงมีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP กับบางประเทศในอาเซียน เพราะอาเซียนกำลังโต แต่ปัญหาเศรษฐกิจไม่โตหรือชะลอตัว รัฐบาลจะเสียความชอบธรรม อาจจะอยู่ไม่ได้โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีกลไกให้ออกมาทำให้อ่อนไหวในด้านเศรษฐกิจ จึงออกไปโรดโชว์รัฐบาล
– รัฐบาลมีแนวโน้มทอดเวลาบริหารประเทศ อะไรคือความกังวลที่จะลงจากอำนาจ
เป็นตรรกะและกับดักของอำนาจ เมื่อคุณมีอำนาจแล้วคุณต้องการมีอำนาจเพิ่ม ไม่อยากสละอำนาจ ข้อได้เปรียบของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน คือ มีตารางเวลา วิธีการเปลี่ยน และการขึ้นสู่อำนาจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการยุบสภาหรือลาออกเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจก็จะกระจุกตัวและสะสมมากขึ้น
เมื่อไม่มีกลไกอัตโนมัติที่จะลงจากอำนาจ เขาก็ไม่อยากลง เพราะความเสี่ยงเยอะ อาจจะโดนเอาคืน ล้างแค้น อีกทั้งเมื่อมีอำนาจแล้วมักจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีพ่วงกับผลประโยชน์แอบแฝง ทั้งทางตรง ทางอ้อม เพราะอำนาจอยู่ตรงไหน การแสวงหาผลประโยชน์จะพยายามไปเกาะไปหาตรงนั้น
นอกจากนี้ เรื่องบริบทของกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทย สังคมไทยมีระบบระเบียบอยู่ในตัวที่ก่อร่างสร้างตัวตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ในระบอบนี้คือ สถาบันกองทัพ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันข้าราชการที่เคยปกครองดูแลระบบของไทย และทำให้ไทยรอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์มาได้ ต้องให้เครดิตและยังให้ระบบเศรษฐกิจไทยลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งจำเป็นในยุคสมัยนั้น แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องปรับตัว การปรับตัวเป็นเพราะความสำเร็จของตัวระบบ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจพัฒนาต่อเนื่อง ประชาชนมีความรู้ข้อมูลมากขึ้นก็ทำให้สังคมการเมืองต่างไป ดังนั้น ระบบที่เราต้องการคือเอาทั้งสองอย่าง ข้อดีของระบบเดิมกับความจำเป็นที่จะต้องยึดโยงกับประชาชนในอนาคต แต่รัฐบาลปัจจุบันอาจจะกลัว ในเมื่อระบบเดิมต้องมีการปรับตัว อาจจะมีคนมาฉวยโอกาส หรือมีผลเสียต่อเขาเอง จึงต้องการย้อนเวลากลับไปสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ
– ทางลงแบบไหนที่ คสช. ลงจากหลังเสือแล้วเสือไม่กัด
ต้องศึกษาอดีตสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และบรรดาทหารในสมัยนั้นก็ลงไม่สวย เพราะกับดักคล้ายกัน เมื่อขึ้นหลังเสือแล้ว สวมอำนาจ สะสมอำนาจแล้ว เขาสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยตั้งพรรคสามัคคีธรรม สุดท้ายก็ถูกโค่นล้ม เป็นตัวอย่างว่าพยายามสืบทอดอำนาจแล้วลำบากแต่ในปี 2549-2550 สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน โชคดีเมื่อยึดอำนาจแล้วสามารถลงได้ ผมให้เครดิต พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ถ้าไม่ยืนกรานหลายครั้งหลายคราที่จะทำตามเวลาเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 เพราะตอนนั้นทหารจะเลื่อนเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะยังรู้สึกว่าไม่พร้อม คิดว่าวิธีลงที่ดีที่สุดคือ ตั้งตารางเวลาขึ้นมา
สร้างองค์ประกอบให้พร้อมที่สุดแล้วก็ออกไป อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด พล.อ.สนธิสามารถไปลงเลือกตั้งได้ด้วย เป็นผู้นำรัฐประหารที่ลงหลังเสือในยุคการเมืองไทยร่วมสมัยได้อย่างนิ่มที่สุด ปัจจุบันนี้ก็ไปไหนมาไหนในสังคมได้ แต่ พล.อ.สุจินดาไปไหนมาไหนในที่สาธารณะลําบาก แต่ยังโชคดีที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยได้
คิดในทางตรงกันข้ามว่า คสช.เขาต้องคิดหาวิธีสานต่อสืบทอด เพราะถ้าทำดีแล้วก็ต้องการทำต่อ ทำให้เสร็จ สิ่งไหนที่พลาดไปก็อยากจะแก้ตัว รวมถึงกลัวโดนล้างแค้น และอาจจะมีผลประโยชน์ที่ห้อมล้อม
– มีองค์ประกอบอะไรที่จะทำให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อได้
กลไกโครงสร้าง วิธีการที่จะสืบทอดอำนาจ ในที่สุดแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ระบอบที่ยึดโยงกับประชาชนแบบใดแบบหนึ่ง คือ คสช.พยายามคุมผ่านการร่างกติกา ผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการวางกลไกคุมระบบยึดโยงประชาชนผ่านรัฐสภา ผ่านผู้แทนราษฎร หลายขั้นตอน เป็นรัฐธรรมนูญที่กันเหนียวเอามากๆ ไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองเองก็ได้ ถ้าเขียนกติกาไว้ขนาดนี้แล้วผ่านประชามติ ก็จะคุมเชิงระบบรัฐสภาได้โดยไม่ต้องเล่นตรงๆ
– การประชามติรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวชี้ขาดการอยู่ต่อของ คสช.หรือไม่
รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านประชามติก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เงื่อนไข กลไก โครงสร้าง เนื้อหารวมแล้วเพิ่มปมความขัดแย้งในสังคมไทย เพราะเมื่อประชาชน สังคมไทย มีเอี่ยวระบบการเมืองมากขึ้น เปิดโลกมากขึ้น รัฐธรรมนูญที่มาจำกัดการยึดโยงประชาชน ก็จะเดินหน้าลำบาก ไม่รู้จะผ่านประชามติหรือเปล่า ถึงผ่านก็จะเพิ่มปมความขัดแย้ง เพราะตัวแทนที่จะมาเป็นตัวแทนประชาชนก็จะไม่มีน้ำยา มีการตรวจสอบถ่วงดุลจนกระทั่งไม่มีดุล
คนที่ร่างรัฐธรรมนูญกับรัฐบาล คสช.ไปด้วยกัน แม้ไม่ตกลงพร้อมใจกันทุกเรื่อง แต่มีความเข้าใจตรงกัน เขาคงพยายามต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวคุม เป็นตัวสืบทอด ดูแลยุคช่วงเปลี่ยนผ่าน
– เป็นไปได้หรือไม่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อ และต่างชาติจะมองเมืองไทยอย่างไร
เป็นไปได้ เราเคยมีประชามติครั้งเดียวเมื่อ ส.ค. 2550 ตรรกะรอบนั้นนำมาใช้กับประชามติรอบนี้ ถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็จะมีรัฐบาล คสช.ไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการมีการเลือกตั้ง ก็ต้องผ่านประชามติ แต่รอบนี้ด้วยความที่เนื้อหารัฐธรรมนูญค่อนข้างอนุรักษนิยม ผูกมัดตัวแทนประชาชน ผ่านไม่ผ่านประชามติจึงสูสี ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ประชาชน บรรยากาศว่าจะให้มีการลงประชามติแบบเปิดกว้างเสรี หรือมีการข่มขู่ ใช้ทรัพยากรของกองทัพมาบังคับ แต่ตราบใดที่การเลือกตั้งยืดออกไป ประชาคมโลกก็ยังมีข้อกังขาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นจีน อาเซียน
– มองการให้สัมภาษณ์ของคุณทักษิณในสื่อต่างประเทศ ต้องการส่งสัญญาณอะไร
การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีระบบ อยู่ดีๆ ไฟแนนเชียลไทม์ และเดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ไม่โทร.หาคุณทักษิณหรอก คุณทักษิณต้องมีทีมงานที่นัดสื่อมาสัมภาษณ์ ต้องวิ่งเต้น มันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีแผน การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณอาจมีเหตุผลคือ ออกมาเช็กกระแสของตัวเอง ไม่ต้องการให้คนลืม กวนประสาทคู่ต่อสู้ ออกมาให้สัมภาษณ์ที ฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณก็โมโห คุณทักษิณมีอิทธิพลระดับหนึ่งต่อต่างชาติ เพราะระบอบของเขาและเครือข่ายของเขาได้รับความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งโดยตลอด
– ยุทธวิธีของคุณทักษิณเป็นแค่เจตนาสร้างความรำคาญให้กับรัฐบาลไทย หรือหวังผลทางการเมือง
เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องคดีความของตัวเองและเครือญาติ ต้องรวมพวกนั้นแน่นอน แต่โจทย์ของการออกมาเคลื่อนไหวรอบนี้คือ ทำไมเงียบมาตั้งนาน เกิดอะไรขึ้น จึงออกมารณรงค์อย่างเป็นระบบ รับรองได้ว่าเขาต้องไปจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านมีเดีย เพราะผมรู้วิธีการของพวกนี้ มีเครือข่ายในสื่อ ซึ่งเป้าหมายเราจะเห็นเอง ผมไม่แปลกใจที่จะเห็นการเคลื่อนไหวรณรงค์ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ
– จริงๆ แล้วเรื่องรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญเป็นเป้าจริงหรือเป้าหลอก หรือมีวาระอื่นสำคัญกว่า
เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นโจทย์หลักของคุณทักษิณในจังหวะนี้ แต่มีเรื่องพ่วงอีกหลายเรื่อง เรื่องคดีของเขา คดีน้องสาวเขา คงแยกกันไม่ได้ คุณทักษิณเดินไปที่ไหนพูดเรื่องเมืองไทยก็มีองคาพยพของเขาทั้งหมด
– คุณทักษิณมีเครดิตเรื่องประชาธิปไตยจะนำมาบีบให้เกิดการเจรจาได้หรือไม่
รัฐบาลนี้ยังไงก็ไม่ยอมจะไปปิดล้อมยังไงก็ตาม ไทยก็ไม่โดดเดี่ยว เพราะทำเลทำให้ไทยโดดเดี่ยวลำบาก แม้น้ำหนักไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ แต่รัฐบาลไม่สนเรื่องนี้หรอก ต้องเอาสถานการณ์ความมั่นคงภายในให้อยู่ และเขาเสียต้นทุน ยอมที่จะจ่ายต้นทุนเท่าที่จำเป็น คุณทักษิณพูดมารัฐบาลต้องปฏิเสธ ถ้าต่างชาติจะปิดล้อม จะวิจารณ์เพิ่มเขาก็ต้องแบกรับ ถือเป็นต้นทุนเพราะคิดว่าภารกิจสำคัญที่สุด
ภาพที่ต่างประเทศปิดล้อมไทย ไม่ต้องมีคุณทักษิณหรอก แต่มาจากบริบทที่เปลี่ยนไป ปิดล้อมไม่ได้ แถวๆ บ้านเรา ไม่มีใครปิดล้อมไทยเลย มีแต่ต่างประเทศ ถ้าใครปิดล้อมเราได้ แสดงว่าเราต้องแคร์เขา หรือเราต้องพึ่งเขา ภาพของการปิดล้อมคือไทยเป็นประเทศเล็กๆ ถูกเขารังแก แต่จริงๆ เป็นการกระทำของตัวเอง
เมื่อคุณทักษิณออกมาเคลื่อนไหว คนที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่ได้ชอบคุณทักษิณ แต่ไม่มีทางเลือก ก็ต้องไปหนุนคุณทักษิณ เมื่อไปให้ความสำคัญมากก็ไปเพิ่มราคาให้คุณทักษิณ
– วิธีใดที่จะใช้ต่อกรกับคุณทักษิณได้
เอาชนะคุณทักษิณในสนามเลือกตั้ง เป็นวิธีเดียวที่จะออกจากความขัดแย้งได้ คือ ยึดเสียงของประชาชน และต้องชนะระบอบทักษิณผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และทำได้ด้วยถ้าพยายามหน่อย ตัวแสดงที่สมควรทำได้แล้ว คือ พรรคฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์) ที่ผ่านมาด้วยข้อจำกัดปัญหาภายในที่เราเห็น มีอย่างที่ไหนยังไม่มีการเปลี่ยนหัวหน้า หรือตั้งนโยบายขึ้นมาให้ชนะใจประชาชนได้อย่างไร เหมือนกับขี้เกียจ ตัวแสดงที่เป็นทางออกได้ แต่ในที่สุดแล้วต้องหาตัวแทนแบบนี้ที่จะชนะการยึดโยงประชาชนได้ และกำจัดระบอบทักษิณได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นแล้วคุณกลับไปสู่กระบวนการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ระบอบทักษิณก็กลับมา