วันจันทร์, มีนาคม 07, 2559

อาการออกสองขั้วเทั่นผู้นัมบ์ ‘ไบโพล่าร์’ จริงๆ หรือ 'ไบตอแล' ออร์ โบทด์?




ไม่ต้องสงสัย ทั่นผู้นัมบ์ ‘ไบโพล่าร์’ จริงๆ แล้วละ ไม่เชื่อต้องฟังที่ไปพูดโพเดี้ยมเปิดงานสัมนา ‘ความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ’ ที่โรงแรมเซ็นทรา ลาดพร้าว

“ยอมรับว่าเหนื่อย แต่สู้ได้ไม่ต้องห่วง อย่าคิดว่าเหนื่อยแล้วจะไปไหน ไม่มีทาง ไม่สำเร็จไม่ไป ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะเข้ามาทำไม

ไหนใครไม่ชอบหน้าผมก็บอกมาเลย จะได้จบๆ สักที ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็จะไม่อยู่แล้ว ผมทำขนาดนี้ ไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425615743)

พูดอย่างนี้เพิ่มปัญหา คนไม่เข้าใจว่าจะอยู่ จะไป เอาไงแน่ แล้วที่มันไม่จบก็เพราะพวกทั่นนั่นแหละ ยืดเวลา

“ขอวันนี้อย่านำทุกอย่างมาตีกัน ไม่เช่นนั้นประเทศก็ไม่ต้องไปไหน มีรัฐธรรมนูญก็ตีกันอีก แล้วจะให้ผมทำอย่างไร”

รู้ละ ที่ออกอาการสองขั้วเพราะ สองวันมานี้รัฐบาลที่อำนาจล้นหลามด้วย ม. ๔๔ โดนทั้ง ‘จวก’ และ ‘อัด’ จากแวดวงสลิ่มที่น่าจะช่วยกันดันสุดลิ่มทิ่มประตู

เมื่อวาน ‘รสนา’ อัด ‘วิษณุ’ ในความขัดแย้ง ‘ตั้งสังฆราช’ ที่ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความเห็นสวนทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเพิ่งชี้ว่าการเสนอชื่อสังฆราชต้องนายกฯ เป็นผู้เริ่ม

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อ้าง พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการฯ ยืดยาวแล้วลงเอยว่า “ทั้งรัฐบาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างก็เป็นภาครัฐด้วยกัน...




หากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระแล้ว หากประชาชนทั่วไปเอาเยี่ยงอย่างรัฐบาลจะเกิดอะไรขึ้น

ขอให้ดูตัวอย่างรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ไม่เคารพคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ ว่ามีวิบากกรรมเช่นไร”

(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)

มาวันนี้ (๗ มีนาคม) ‘วิรัตน์’ อัด ‘วันชัย’ คนแรกเป็นหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนคนหลังเป็นโฆษกคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป หรือ สปท.

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ไม่ชอบใจที่นายวันชัย สอนศิริ เสนอให้วุฒิสภามาจากการสรรหาล้วน และมี ‘ศักดิ์และสิทธิ’ ทัดเทียมผู้แทนราษฎรในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองระยะ ๕ ปี เขาบอกว่า




“วุฒิสภาเป็นเพียงผู้กลั่นกรองกฎหมายหรือสภาที่ปรึกษาเท่านั้น แม้แต่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเองยังมีอำนาจเพียงเท่านี้ ซึ่งจะให้ ส.ว.สรรหาทั้งหมดมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตามที่ใครบางคนเสนอ กรธ. ครม.และ คสช. ต้องคิดทบทวนอย่างถี่ถ้วน

มันผิดหลักการอย่างสิ้นเชิง ประชาธิปไตยบนโลกเขาไม่ทำกัน”

(http://www.thairath.co.th/content/587215)

หนักกว่านั้นนักกฎหมายของ ปชป. พรรคการเมือง ‘กันเอง’ จี้ใจดำว่า “มองดูจากสัญญาณการร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ ที่เปิดช่องให้แม่น้ำ ๕ สายกลับมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีก เป็นข้อพิรุธที่น่าคิด

ขณะที่ กรธ.กลับเขียนบล็อกนักการเมืองท้องถิ่นห้ามกลับมาเป็น ส.ว.๑๐ ปี ยิ่งมีพิรุธเข้าไปใหญ่”

พิรุธกว่านั้น ขณะนี้มีการ ‘ชง’ รายละเอียดแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ฉบับที่ ๒๐) ของไทย

“สำนักข่าวไทยรายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุม สนช. ในวันที่ ๑๐ มีนาคมนี้” โดยจะมีการแก้ไขสี่มาตรา

“ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติ พร้อมกับให้ กรธ. จัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวก” ด้วย

“สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิลงประชามติ” คราวนี้ให้ผู้มีอายุไม่ต่ำว่า ๑๘ ปีเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง และ “ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”

โดยมีประเด็นสำคัญพิเศษอยู่ที่ “หากคะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ”

(http://prachatai.org/journal/2016/03/64455)

นั่นหมายความว่าให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาของผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ก็ถือว่าร่างฯ ผ่านแล้ว

ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงพอสมควรว่าการผ่านร่าง รธน. ควรจะใช้เสียงสองในสาม หรือสามในห้า ดีไหม เพื่อให้ได้ฉันทามติอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญที่ผ่านออกมามีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ผ่านๆ ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง เหมือนรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วก็มาถูกฉีกทิ้ง ร่างใหม่บิดเบี้ยวไปทั้งในฉบับบวรศักดิ์และฉบับมีชัย




นอกนั้นก็มีการกล่าวถึงวิธีการนับคะแนนผ่านไม่ผ่าน ว่าจะกำหนดจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มีสิทธิออกเสียงดี หรือเอาแค่เกินครึ่งผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างที่ สนช. เสนอนี้

หลักการนับคะแนนจากเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น คำนึงถึงกรณีเสียงข้างมากจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่ยอมไปใช้สิทธิเพื่อแสดงการประท้วงหรือคัดค้าน ที่เรียกกันว่า ‘โนโหวต’ นี่เช่นกันก็เพื่อให้ผลประชามติสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่แท้จริง

ประเด็นนี้มีบทเรียนมาจากการเลือกตั้งที่ถูกทำให้ล้มเหลวเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ผู้ต้องการไปใช้สิทธิจำนวนมากถูกอันธพาลฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ไปขัดขวาง กีดกัน สกัดกั้น ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง บัตรลงคะแนน และผู้ต้องการไปใช้สิทธิ

สมมุติว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ มีอันธพาลการเมืองแบบครั้งที่แล้วไปปิดหน่วยเลือกตั้งเฉพาะเขตต่างๆ ที่เชื่อว่าจะมีคนไปออกเสียง ‘ไม่รับ’ ร่างฯ เป็นจำนวนมาก และเปิดให้มีการลงคะแนนอย่างสะดวกเฉพาะ ‘เขตทหาร’

จากบทเรียนที่ผ่านมา คสช. ไม่มีหลักประกันเพียงพอจะทำให้ผู้ไม่เห็นชอบกับร่างฯ ไม่ต้องกังวลกับความปลอดภัยที่จะไปลงคะแนนค้าน หรือนอนหลับทับสิทธิแทนได้

เท่ากับว่าการเสนอวิธีนับคะแนนการผ่านร่างฯ จากผู้ไปใช้สิทธิ เป็นหลักประกันแน่นอนว่าจะต้องผ่าน ไม่ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นเช่นไร พิเรนทร์ หรือ อุจาดแค่ไหน