ถ้าทุกอย่างยึดตามหลักของกฏหมาย ประเทศมันก็ย่อมเดินไปได้
ไม่ใช่ไปเอื้อพวกพ้อง สนับสนุน ส่งเสริมให้ทำผิด และไม่อยู่ในกติกา อย่ามาอ้างเลยว่าต้องให้ สว.ลากตั้ง มาช่วยควบคุมประเทศ 5 ปี
เพราะมันก็ไม่ต่างจากการให้เผด็จการเข้ามาชูคอในสภาหรอกครับ เพราะสว.ที่ลากตั้งกันเข้ามา มันก็คือคนที่ท่านคัดสรรกันเองไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะรู้อยู่แล้วว่า เลือกตั้งกี่ครั้งกี่หน ฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นฝ่ายชนะทุกครั้ง!!!
#โจรสลัด
http://www.matichon.co.th/news/61547
ที่มา มติชนออนไลน์
7 มี.ค. 59หมายเหตุ – นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงเนื้อหาและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
– มองภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประวัติศาสตร์ ถ้าร่างมาดีก็ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อย ได้จารึกในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าร่างแล้วนำไปสู่ปัญหาอย่างเช่นที่เคยเกิดเมื่อปี 2535 ประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอย ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นก็ผิดแล้ว เริ่มด้วยการบอกว่าจะปราบคนโกง รัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ปราบคนโกง แต่สร้างกติกาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน คนโกงคือคนแหวกกติกา ต้องมีกลไกอย่างอื่นในการตรวจสอบ ไม่ใช่ปราบโกงทั้งฉบับ ถ้ามุ่งแบบนี้ก็เริ่มจากข้อเท็จจริงที่ไม่ไว้วางใจคนบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญจะเล่นงานคนกลุ่มเดียวไม่ได้ การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความเข้าใจในเรื่องระบอบ รู้ประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตย และต้องรู้ความเป็นมาของประเทศต่างๆ ว่ามีอุปสรรคอย่างไร ต้องเข้าใจวิชารัฐศาสตร์ เมื่อเข้าใจเรียบร้อยแล้วจึงร่างออกมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเรื่องของประชาธิปไตย การปกครอง การบริหาร เริ่มต้นก็ผิด ปรัชญาการร่าง ทัศนคติผิดตั้งแต่ต้น ระบอบการปกครองประชาธิปไตยหลักใหญ่คือต้องให้อำนาจกับประชาชน ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
บทบัญญัติต่างๆ เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติคือ ส.ส. ในระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บอกว่า ถ้าพรรคไหนได้คะแนนเยอะ ก็เลิก หยุด ไม่ต้องให้ แต่เฉลี่ยให้พรรคอื่นบ้าง ซึ่งผิด ประชาชนเลือกแล้วไม่ให้ได้อย่างไร ถ้าประชาชนต้องการเลือกพรรคใหญ่ ต้องให้พรรคใหญ่ มิฉะนั้นจะขัดหลักการ ส่วน ส.ว.ที่เลือกจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ยังไม่มีรายละเอียดมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางให้มีการเสนอชื่อนายกฯคนนอก แม้จะบอกว่ามาจากการเสนอโดยพรรคการเมือง ประเทศไทยมีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะแยะไปหมด ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจมหาศาล เป็นอัครองค์กร และการกำหนดกฎเกณฑ์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากเกินไปจะเป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ในอนาคต
– รัฐบาลอยากให้มีกลไกพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ไขวิกฤต
ถ้ามีอย่างมากก็ 3 เดือน ไม่ใช่มาเป็นปีๆ อย่างเช่นที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วลาออกเลย 3-4 เดือน ไม่ใช่เปลี่ยนผ่าน 5 ปี บอกตรงๆ ว่าเสี่ยง มันไม่สามารถไปถึง 5 ปีได้ เพราะฉะนั้นที่อ้างว่าเปลี่ยนผ่านนั้นใครเป็นคนตัดสิน คิดเอาเองทั้งนั้น เอาอะไรมาประกันว่าเปลี่ยนผ่านตั้ง 5 ปี แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้วภายใน 2-3 เดือน เลือกตั้งทันที เลือกตั้งเสร็จแล้วจะมาเปลี่ยนผ่านอะไรอีก ไม่ต้องมี ไม่ต้องมาคุมอะไรทั้งสิ้น คนไทยไม่ใช่เด็กทารก คนไทยเป็นผู้ซึ่งเติบโตแล้ว รัฐธรรมนูญผ่านมา 82 ปี ล้มลุกคลุกคลานเพราะมีหลายตัวแปร ไม่ใช่อยู่ๆ มาอ้างว่าไม่พร้อม จึงต้องอยู่อีกตั้ง 5 ปีเพื่อเปลี่ยนผ่าน ที่บอกว่าป้องกันปัญหาเมื่อมีวิกฤต ก็วิกฤตสร้างกันมาเองทั้งนั้น ผมไม่ได้ต่อต้านใคร ผมพูดโดยสัจธรรมว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ตกลงหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อรออีก 5 ปี แล้วจึงมีรัฐธรรมนูญตัวจริง บทเฉพาะกาลเขียนเผื่ออนาคต 3 เดือน 6 เดือนนั้นพอไหว แต่รัฐบาลกลับบอกว่า ต้องเผื่อแก้ไขปัญหาวิกฤต 2 ช่วง นั่นเท่ากับตบตากัน พูดตรงๆ เหมือนกับว่ารัฐธรรมนูญดีแล้วแต่ไม่ใช้ เหมือนผมให้เงินคุณ 1 ล้าน แต่จะให้หลังจาก 10 ปีผ่านไป แล้วจะมีประโยชน์อะไร เมื่อคุณไม่ได้เงินล้านนั่นอยู่ดี ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจต้องการ ส.ว.มาเป็นฐานอำนาจ ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ จึงต้องมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว.
– รัฐบาลอาจต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็เกิดวิกฤตอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ประชาชนต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะอยู่โดยกติกา การชุมนุมที่ไม่มีการสร้างขึ้นมาเราไม่ว่ากัน แต่การชุมนุมนั้นสร้างกันขึ้นมาได้ ดังนั้นประชาชนต้องมีระเบียบวินัยและวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยและความเป็นประชาธิปไตยจะไปไม่รอด เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้องทบทวนแล้วว่าประชาธิปไตยใช้ได้หรือไม่กับประเทศนี้ เมื่อใช้ไม่ได้แล้วมีระบอบทางเลือกหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ต้องกลับไปสู้ระบอบที่เลวน้อยที่สุดคือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดี แต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด หรือเป็นระบอบที่ทำงานได้ผล นี่คือหลักการใหญ่ๆ ผมไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เผด็จการเสียงข้างมาก ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนั้นมี มันอยู่ที่จริยธรรมของนักการเมือง ความรับผิดชอบของประชาชน ที่ต้องมีวัฒนธรรมการเมืองที่ศรัทธาในประชาธิปไตย
ดังนั้น การอยากมีกลไกต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็เพื่อจะรักษาอำนาจเอาไว้ ไม่อยากลงจากอำนาจเพราะยังมีบางอย่างที่สามารถวกกลับมาหาตัวเองได้ แต่อำนาจมีแนวโน้มทำให้คนเสียคน อยู่ในอำนาจถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ไม่อยากลงจากอำนาจ อำนาจอร่อยกินแล้วติดใจ แต่ในสภาวะของสังคมทั้งภายในและต่างประเทศเปลี่ยนไปหมดแล้ว ถ้าไม่ลงอย่างสวยงาม มันก็อาจจะไม่สวยงามไปเลย การทำอะไรที่ทวนกระแสต้องคำนึงให้มาก ผมไม่สงสัยในการตั้งใจดีของผู้มีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ หรือคุมอำนาจก็แล้วแต่ แต่ผมสงสัยในแง่ความรู้ ถ้าขาดความรู้ ข้อมูล มันจะมีปัญหา
– มองเจตนาคนร่างฯอย่างไร
เจตนารมณ์คือต้องการประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 ไม่ต้องการให้คนไม่ดี คนโกงกินเข้ามาสู่การเมือง ในแง่หนึ่งคนโกงก็ต้องมีวิธีป้องกัน แต่วิธีการถูกต้องหรือไม่ อาจทำถูก แต่กลับกระทบกับหลักใหญ่กว่านั้นอีก กระทบหลักการปกครองประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยกับการรักษามะเร็งด้วยคีโม แม้ไปทำลายเนื้อร้าย แต่ในขณะเดียวกันร่างกายพังหมดเลย คือกระบวนการรักษาส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่ามะเร็ง แม้มะเร็งจะหยุด แต่ส่วนอื่นเราพังหมด มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการรักษามะเร็งแต่ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าเดิม ผมสงสัยว่าการรักษาแบบนี้มันสมเหตุสมผลหรือ เราแก้ปัญหาหนึ่ง แต่มีปัญหาอีกหนึ่งตามมา ซึ่งหนักว่าปัญหาที่แก้เสียอีก
บอกตรงๆ ประชาชนต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนเข้าใจถึงประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งจริงๆ หรือไม่ นักการเมือง นักวิชาการเองเข้าใจรัฐธรรมนูญหรือไม่ คนร่างรัฐธรรมนูญเองนอกจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถามว่ามีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ ประวัติประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากนิด้า-จุฬาฯ ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตย รู้รัฐศาสตร์จริงๆ เหรอ
ดังนั้น การลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นรูปแบบทางการเมือง แม้กระทั่งหย่อนบัตรเลือกตั้งก็เป็นการประกอบพิธีกรรมทางการเมือง นี่ไม่ใช่การต่อต้านประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนจำนวนไม่น้อยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นการประกอบพิธีกรรมการหย่อนบัตร
– จะทำอย่างไรกับปัญหานักการเมือง
นักการเมืองต้องถามตัวเองเหมือนกันว่ามาเป็นนักการเมืองเพื่ออะไร มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มีอุดมการณ์ความรับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมทางการเมือง มีความอิสระในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองมากแค่ไหน ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐหาผลประโยชน์ นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่ถูกต้อง นักการเมืองต้องทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เข้ามาทำงานจริงๆ มีความรู้มีความเข้าใจ และเป็นตัวของตัวเอง รักษาไว้ซึ่งกฎกติกาของสังคม ถ้าเข้าไปแล้วทำผิดๆ ถูกๆ โกงกิน นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่พึงประสงค์ ไม่ต่างอะไรกับคนรับงานแล้วไม่ทำงาน เหมือนรับงานแล้วหาประโยชน์จากงานนั้นโดยไม่สุจริตธรรม
– ประเมินได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่
ผมไม่ทราบ จะมีการลงประชามติหรือไม่ยังไม่รู้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ตัวแปรเยอะมาก ใครจะคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ความขัดแย้งต่างๆ ก็มีหลายส่วน ประเด็นตอนนี้คือ 1.จะมีประชามติหรือไม่ 2.ถ้ามีแล้วจะผ่านหรือไม่ จะนำไปสู่ความสันติหรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมว่าควรใช้รัฐธรรมนูญเดิมไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือ 2540 แล้วประกาศเลือกตั้งให้ทันปี 2560 แต่ฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรนำมาใช้ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบใดๆ เลย เหลือ 2 ฉบับคือปี 2540 และ 2550 แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กระชับกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี สิทธิเสรีภาพดีขึ้นมาก ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเหมาะกว่า ส่วนจะแก้ตรงไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง การแก้นั้นต้องไม่ขัดกับหลักการใหญ่
– มองออกไหมว่าวันหนึ่งมีรัฐบาลเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร
ตัวพิสูจน์คือรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะสามารถทำได้ดีกว่านี้หรือไม่ จะเป็นที่นับถือ ยอมรับ แก้ปัญหาได้จริงๆหรือไม่ ถ้าเลือกแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้จะตอบคำถามอย่างไร ในเมื่อนักการเมืองเรียกร้องสิ่งนี้ แต่ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมหรือไม่ที่เรียกร้อง เพราะฉะนั้นระวังให้ดี ตระหนักเรื่องนี้ไว้ รัฐบาลต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องคัดตัวบุคคลอย่างเต็มที่ ต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ดำเนินการไปตามกฎหมาย ไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำทุกอย่างให้โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล มิเช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ตัวได้เลย เมื่อชี้นิ้ววิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีกว่ากัน นิ้วที่ชี้จึงวกกลับมาหาตัวเอง
– มีอะไรอยากเสนอแนะกรธ.
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหวังจะแก้ปัญหา แต่ถ้าร่างฯเสร็จแล้วจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักกว่าเดิม เกิดปัญหาเหมือนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีคนเสียชีวิต นำปัญหาอันหนักหน่วงกลับมาอีก เป็นการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กรธ.ต้องตั้งสติให้มั่น และมีความคิดแบบว่าถูกต้องหรือไม่ที่ร่างอย่างนี้ สอดคล้องความเป็นจริง มีโอกาสสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะแก้อย่างไร ผมถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประวัติศาสตร์ ถ้าร่างมามีปัญหา เกิดความเสียหายอย่างหนัก ผู้ร่างต้องรับผิดชอบ