วันเสาร์, กันยายน 12, 2558

เฟ้นจุดเดือด สงครามน้ำลาย “บิ๊กตู่ VS ประยุทธ์” .. เช็คน้ำหนัก “คำพูด” นายกฯ คสช.?



ที่มา เวปที่นี่และที่นั่น
September 7, 2015

การ “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คสช.” ของ “สปช.” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ส่งผลให้เกิดคำถามสำคัญตามมา “โรดแมป คสช.” จะยังคงเหมือนเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศเอาไว้หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ว่า “1 ปีปฏิรูปแล้วเลือกตั้ง” หรือไม่ ?

เพราะเมื่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ถูก “คว่ำ” ลง ทำให้ “กระบวนการยกร่าง” ต้อง “เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่” ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่า “ระยะเวลาที่ คสช.” จะ “คืนประชาธิปไตย” ให้คนไทย ก็ต้องยืดยาวออกไปอีกครั้ง!

และสุดท้ายทุกอย่างก็ย้อนกลับไปที่ตัว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เองว่า ที่เคยพูดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น “เงื่อนเวลา” ในการคืนประชาธิปไตย-เลือกตั้ง หรือแม้แต่คำพูดเรื่องการจะไม่อยู่ยาว-ไม่สืบทอดอำนาจ นั้น จะยัง “เป็นจริง” ตามนั้นหรือไม่?

ซึ่งที่ผ่านมา “คำพูด” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็นับเป็นสิ่งที่ “คาดเดาได้ยาก” มากที่สุด … สิ่งหนึ่ง?

ย้อนไปก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะ คสช. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าคณะ…

เมื่อ 9 ธันวาคม 2556 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ.ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยยืนยันว่า “ไม่ว่าเหตุการณ์ในวันนี้ (9 ธ.ค.) จะเป็นอย่างไร ทหารจะไม่ปฏิวัติแน่นอน” พร้อมกับบอกว่า “หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกจะเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง เพราะจะทำให้ปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีก และไม่รู้ว่าสังคมไทยจะยืนอยู่บนสังคมโลกได้อย่างไร ลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร เข้าใจว่าทุกคนรักชาติ แต่ทำไมไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ” จากนั้น 24 กุมภาพันธ์ 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนของกองทัพบกต่อสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ตอนหนึ่งระบุว่า “หากใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เท่ากับว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องถูกยกเลิก ซึ่งหลายกลุ่มอยากให้ทหารใช้วิธีดังกล่าว จึงขอให้ตั้งสติพิจารณาด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้จะยุติได้ด้วยวิธีการอันสงบหรือไม่”

แต่สุดท้าย…ก็เกิดการรัฐประหารโดย คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะพร้อมกับมีการรายงานข่าวหลายสำนักระบุถึงวาทะกรรม “ขอยึดอำนาจ” กลางวงประชุมคู่ขัดแย้ง อีกทั้ง วันที่ 15 กันยายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ระบุว่า“ตอนนี้ทำงานมาถึงระยะที่ 2 จะวางพื้นฐานประเทศต่อไปให้ได้ ผมไม่ได้แย่งอำนาจใครมา แต่เพราะเขาทำไม่ได้ ผมจึงมาทำแทน”

นอกจากนี้ 23 มีนาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครองของรัฐบาลคณะรัฐประหารว่า “ยืนยันว่าวันนี้ เรามีความเป็นประชาธิปไตยถึง 99.99 % เพราะผมไม่ได้ไปล้มล้างประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น” ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นคนที่พูดเอาไว้เองใน เมื่อ 6 มีนาคม 2558 ว่า “วันก่อนเจอนักข่าวถามว่า รัฐบาลมีผลงานอะไร ผมแทบจะชกหน้าคนถาม ทำมาตั้งเยอะแยะไม่เห็นหรืออย่างไร”

อีกครั้ง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเอาไว้ว่า “ผมเป็นคนอารมณ์ดีจะตาย ผมเป็นคนอารมณ์ดีนะ จริง ๆ อะ ผมเป็นคนตลก” แต่ปรากฏว่า ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก วันที่ 29 มกราคม 2558 “เว็บไซด์มติชนออนไลน์” พาดหัวเอาไว้ว่า “ “บิ๊กตู่” ฉุนขาด! หลุดคำผรุสวาทเพียบ ไอ้ห่า ไอ้บ้า ขี้ข้า และทำไมวะ!!!” โดยรายงานข่าวเอาไว้ว่า “การให้สัมภาษณ์ของนายกฯในวันเดียวกันนี้เป็นไปอย่างดุเดือดโดยนายกฯได้แสดงอารมณ์โมโหทุบโต๊ะและเสียงดังหลุดคำสบถออกมาหลายครั้งทั้งคำว่าขี้ข้าไอ้ห่าบ้า ทำไมวะ”

ล่าสุดก็พบว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งให้ ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมีการพูดและการกระทำที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการดำเนินการเรื่องนี้ว่า “ต้องว่ากันตามขั้นตอน โดนยืนยันจะใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติ และไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการดำเนินการเรื่องนี้” แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 26/2558 เรื่องการดำเนินการเพื่อถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ โดยระบุว่า “หัวหน้า คสช.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557”

เหล่านี้เป็นเพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” จาก “คำพูด” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ที่ดูจะ “ขัดแย้ง(กันเอง)” กับ “คำพูด” ของ “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.” อย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายฝ่าย “กังวล” และ “ตั้งคำถาม” ถึง “คำประกาศ” ของ “นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.” ก่อนหน้านี้ ถึง “โรดแมปการคืนประชาธิปไตย” ให้คนไทยว่ายังคงระยะเวลาเหมือนเดิมหรือไม่

หรือ “ยืดยาว..ยืดเยื้อ” ออกไปแบบ “อยู่ยาวอย่างไม่มีกำหนด” !