วันอังคาร, กันยายน 15, 2558

ความเก่า เล่าใหม่... เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์: จาก "เทียนวรรณ" "นรินทร์กลึง" ถึง "สมยศ" กบฏบรรณาธิการ




เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์: จาก "เทียนวรรณ" "นรินทร์กลึง" ถึง "สมยศ" กบฏบรรณาธิการ

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คอลัมน์ปริศนาโบราณคดี มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2556

ผลการตัดสินของศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาให้จำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "วอยซ์ออฟทักษิณ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี บวกกับโทษกรณีหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมเป็น 11 ปีนั้น

"ความผิดอันสืบเนื่องมาจากความคิด ควรได้รับการลงทัณฑ์เยี่ยงอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์หรือไม่"? กลายเป็นประเด็นคำถามร้อนแรงของสังคมไทย

แม้กระทั่งบอ.กอ. เครางาม "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" และคณะยังได้จัดทำ "คำแถลงการณ์จากผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการ" ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ครั้งนี้เป็นตัวอย่างการสาธิตการขยายขอบเขตการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

รวมถึงการไม่ควรสร้าง "บรรยากาศแห่งความกลัว" ต่อบรรณาธิการทุกค่ายทุกสีที่มีความเห็นต่างหรือเห็นพ้อง ในฐานะที่ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในอารยประเทศ

ตัวอย่างเหตุการณ์ของ "กบฏบรรณาธิการ" หรือการที่บรรณาธิการถูกกล่าวหาปรักปรำให้เป็น "กบฏต่อแผ่นดิน" เคยมีมาแล้วหลายครั้งหลายหน ในที่นี้ดิฉันจะขอหยิบยกเพียงกรณีของ "เทียนวรรณ และ "นรินทร์กลึง" มาเป็นอุทาหรณ์



เทียนวรรณ ฝันเห็น "ฟรี" และ "ปาลิเมนต์"

คําว่า "ฟรี" ในสมัยที่เทียนวรรณมีชีวิตอยู่ (ระหว่างปลายสมัยรัชกาลที่ 3-6 พ.ศ.2385-2458) นั้นยังไม่มีคำแปลเป็นไทยว่า "เสรีภาพ" ทำให้บทกวีหรือบทความของเทียนวรรณจึงใช้คำว่า "ฟรี" ทับศัพท์แทนความหมายของ "เสรีภาพ" ทุกแห่ง

อาจกล่าวได้ว่าเทียนวรรณเป็นบุคคลรายแรกๆ ของสยามที่กล้าคิดกล้าฝันถึงคำว่า "เสรีภาพ" ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งราษฎรยุคนั้นยังเต็มไปด้วยทาสและไพร่ แต่เทียนวรรณก็กล้าฝัน

"การให้พลเมืองได้เรียนรู้มาก กับการให้พลเมืองมี "ฟรี" จะเป็นเครื่องชักนำส่วนหนึ่งให้ชาติไทยผูกมิตรกับนานาประเทศได้ง่ายเข้า" เป็นข้อเรียกร้องของเขาที่ขอให้ประชาชนได้มีเสรีภาพ (มีฟรี) ในการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่

ข้อเขียนอีกชิ้น เป็นเสมือนปณิธานของเขา "ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็จะบากบั่น เขียน พูด เพื่อชาติบ้านเมืองไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ จนกว่าจะโปรดให้ราษฎรเป็นฟรีแล้ว"

บรรยากาศแห่งการเรียกร้อง "ฟรี" ของปัญญาชนสยามโดยมี "เทียนวรรณ" เป็นหัวหอกนั้น สุดท้ายก็นำไปสู่การบัญญัติศัพท์คำว่า "เสรีภาพ" ขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6

"เสรีภาพ" มีขึ้นใช้ในภาษาไทยเนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติคำนี้ขึ้นเพื่อแปล Freedom จากภาษาอังกฤษขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง "เสรีภาพแห่งทะเล" ภายใต้พระบรมนามาภิไธย "รามจิตติ"

กล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย "เสรีภาพ" ในการเดินเรือของทุกชาติที่เป็นคู่สงครามกันในทะเลหลวงอันไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ ว่าต่างฝ่ายต่างได้รับเสรีภาพในการคุ้มครองดูแลเท่าเทียมกัน

นี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่า "เสรีภาพ" ที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางแทนคำว่า "ฟรี" ที่เทียนวรรณเรียกร้องมาทั้งชีวิต แม้เพิ่งจะมาบัญญัติขึ้นภายหลังจากที่เขามรณกรรมไปแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับคำว่า "ปาลิเมนต์" เป็นอีกคำที่ชาวสยามยุคเขายังไม่รู้จัก และไม่เคยมีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยจนกว่าจะถึงสมัยรัชกาลที่ 7

มูลเหตุแห่งการเรียกร้อง "ปาลิเมนต์" ของเทียนวรรณ หนุนเนื่องมาจากความไม่พอใจในขบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง ที่ปล่อยให้ศาลสถิตยุติธรรมมีอำนาจมากเกินเหตุในการพิจารณาความอาญาและความแพ่ง โดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบ

จึงทำหนังสือถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ขอให้แต่งตั้งองคมนตรี และเสนาบดี (รัฐมนตรี) เข้าไปช่วยกำกับดูแลถ่วงดุลอำนาจการออกกฎหมายของฝ่ายศาลบ้าง ในรูปแบบที่เรียกว่า "ปาลิเมนต์" ซึ่งอาจจะยังไม่ใช่ระบอบรัฐสภาเต็มรูปแบบดังที่เราเข้าใจกันในยุคปัจจุบัน

ด้วยความคิดหัวก้าวหน้าล้ำยุคสมัยเทียนวรรณจึงถูกฝ่ายอนุรักษ์ประณามว่า "เป็นพวกชอบชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "อย่าเพิ่งฝันถึง "ปาลิเมนต์" เลยตราบที่ประเทศนี้ราษฎรยังขาดการศึกษาและยังยากจนอยู่"

โดยที่บุคคลเหล่านั้นไม่เคยย้อนถามตัวเองกลับว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยถ่วงรั้งให้ราษฎรของประเทศนี้จมจ่อมอยู่กับสภาพไร้การศึกษาและโง่จนเจ็บ!

อาการชิงสุกก่อนห่ามของเทียนวรรณหรือนามจริง "นายเทียน วัณณาโภ" บอ.กอ.นิตยสาร "ศิริพจนภาค" แห่งย่านสี่กั๊กเสาชิงช้า ถนนบ้านตะนาว ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมทาสในสยาม ความไม่เป็นธรรมระหว่างชาย-หญิง และอยากให้ประชาชนมี "ฟรี" กับ "ปาลิเมนต์"

นำไปสู่ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกจองจำกักขัง "ฟรี" อยู่ในคุกนานถึง 17 ปี ทั้งในฐานะนักโทษการเมือง และในฐานะนักเขียน บรรณาธิการที่เป็นกบฏต่อแผ่นดิน




นรินทร์กลึง ถึงจะขวางโลก แต่ก็ต่อสู้เพื่อคนรากหญ้า

อีกหนึ่ง "กบฏ บอ.กอ." ที่โลกต้องจารึกนามไว้ในฐานะคลื่นลูกที่สองของปัญญาชนสยามที่กล้าท้าทายอำนาจแผ่นดินต่อเนื่องจาก "เทียนวรรณ" คลื่นลูกแรก ก็คือผู้ใช้นามว่า "นรินทร์ ภาษิต" แต่ผู้คนเรียกเขาว่า "นรินทร์กลึง"

เหตุที่เรียกว่านรินทร์กลึงก็เพราะชื่อเดิมของเขาคือ "กลึง" เด็กชาวสวนเมืองนนท์ ถือกำเนิดในปีที่ 7 แห่งการครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 เคยรุ่งโรจน์ถึงขนาดเป็นเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ปราจีนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "พระพนมสารนรินทร์" ด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น

แต่ด้วยบุคลิกขวานผ่าซาก พฤติกรรมประหลาดที่ทำท่าคล้ายว่าจะเพี้ยนหรือขวางโลกตลอดเวลานั้น กอปรกับมีฝีปากกล้า ชอบวิจารณ์สิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน ทำให้เส้นทางชีวิตราชการประเภทต้องยอมไหลตามน้ำนั้นต้องสะดุดลงโครม

เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกทางการดำเนินคดีด้วยข้อหา"กบฏภายในที่เขียนข้อความเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ" อันเป็นคดีเดียวกันกับบุคคลร่วมสมัยที่คนล้านนาให้ความเคารพเลื่อมใสอย่างสูงสุดคือ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย"

ทั้งครูบาเจ้าศรีวิชัยและนรินทร์กลึง ต่างก็ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 มาสู่ยุคการปกครองของคณะราษฎร ในสมัยรัชกาลที่ 7-8 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียนรู้แบบอย่างการต่อสู้ของ "กบฏพญาผาบ" นักต่อสู้เพื่อชาวนาแห่งบ้านสันทราย เช่นเดียวกับการที่นรินทร์กลึงได้ศึกษานิตยสาร "ศิริพจนภาค" ตามแนวทางที่เทียนวรรณวางไว้

เมื่อไม่มีระบบราชการมาค้ำสถานภาพ นรินทร์กลึงก็ประกาศตัวเป็นอิสระจากพันธะทางรูปแบบทั้งมวล เขาโกนผมครึ่งศีรษะเฉพาะด้านขวาด้านเดียว แต่ด้านซ้ายปล่อยยาว ไปไหนมาไหนนุ่งผ้าแดงจนเป็นยูนิฟอร์ม แถมยังเอารูปวาดของพระเจ้าตากสินมาแขวนคออีกด้วย

ชีวิตของนรินทร์กลึงโลดโผนน่าตื่นเต้นจนไม่อาจสาธยายได้หมดในพื้นที่อันจำกัดนี้

ขอยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจยิ่งคือเขาจัดการบวชลูกสาวทั้งสองเป็นสามเณรี แน่นอนว่าย่อมเกิดการงัดข้อกับมหาเถรสมาคม แต่เขาให้เหตุผลว่า เป็นการเรียกร้องสิทธิธรรมให้แก่สตรีเพศมีความทัดเทียมกับชาย แถมยังออกนิตยสารชื่อ สารธรรม ในนามของพุทธบริษัทสมาคม เปิดโปงวงการสงฆ์อันเสื่อมทรามในทำนอง "สอนสังฆราช" จนต้องเข้าไปนอนในคุกอยู่ 2 ปีกว่า

เขาเปิดหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ อาทิ เหมาะสมัย เสียงนรินทร์ ในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการ รวมทั้งตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พระศรีอาริย์" ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ไปในทางคอมมิวนิสต์

ประเด็นสำคัญที่ทำให้นรินทร์กลึงถูกรัฐจับตามองความเคลื่อนไหวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็คือเขาได้เรียกร้องให้มีการคลี่คลายปมปัญหากรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ให้ปรากฏชัดเจน โดยได้เลียนแบบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ที่เคยถือตะเกียงคบเพลิงเข้าไปยังเขตพระราชฐานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลางวันแสกๆ ในช่วงที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึม

เช่นเดียวกับนรินทร์กลึงที่ใช้สัญลักษณ์นี้ ถือตะเกียงเจ้าพายุจุดไฟออกไปเดินตามท้องถนนชุมชนต่างๆ ทั่วเมืองในเวลากลางวัน พร้อมตะโกนว่า บ้านนี้เมืองนี้มันช่างมืดมนจริงโว้ย!

ผลงานที่คนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะคนรากหญ้าเป็นหนี้นรินทร์กลึงก็คือเขายอมอดข้าว 21 วันประท้วงรัฐบาลขอให้ยกเลิกการเก็บภาษีค่ารัชชูปการและการบังคับเกณฑ์แรงงานคนที่ไม่มีเงินไปทำงานแทน อันเป็นการต่อสู้เรียกร้องมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

เมื่อเห็นว่ารัฐบาลยุคคณะราษฎรมีพื้นฐานมาจากประชาชนรากหญ้าเหมือนกัน นรินทร์กลึงจึงหยิบปัญหานี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยการแจกใบปลิว "ไทยไม่ใช่ทาส" ขอให้ยกเลิกการบังคับเก็บเงินรัชชูปการหรือภาษี 4 บาท จากคนยากคนจนเสีย โดยเปรียบเปรยว่าการกระทำดังกล่าวนี้ "เหี้ยมโหดยิ่งกว่ามหาโจร เพราะโจรจะไม่ปล้นคนจน แต่จะปล้นเฉพาะคนมั่งมี"

ข้อความจากใบปลิวแผ่นนั้นทำให้นรินทร์กลึงถูกจับเข้าคุก (ตามระเบียบ) 2 ปีแถมเพิ่มโทษอีก 8 เดือนฐานที่ติดคุกหลายครั้งแล้วไม่ยอมหลาบจำ

"คนเราจับสัตว์มาขังกรงได้ ถึงแม้จะเลี้ยงให้กินดีกว่าอยู่ในป่า สัตว์ก็ไม่รู้สึกขอบคุณหรือชื่นชมยินดีอย่างใด จะมาทุกข์โศกไปไย" นรินทร์กลึงจึงเอาชีวิตเข้าแลกด้วยการอดอาหารนานถึง 21 วัน จนกระทั่งรัฐบาลยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา อดรนทนไม่ไหว จำยอมยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการนั้น

เมื่อทบทวนดูเส้นทางชีวิตของนักคิด นักเขียน บรรณาธิการในสายการเมืองนับแต่ เทียนวรรณ นรินทร์กลึง มาจนถึง สมยศ พฤกษาเกษมสุข เห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยให้ "ฟรี" (เสรีภาพ) แก่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยมุมมองที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจเลย

นอกเหนือไปจากคำพูดเดิมๆ ที่ว่า "สมน้ำหน้า ไอ้พวกนี้มันชอบชิงสุกก่อนห่าม"