สำนักงานคุ้มครองข้อมูลแห่งฮัมบวร์ก ระบุเฟซบุ๊กไม่มีสิทธิเปลี่ยนชื่อที่แสดงในบัญชีผู้ใช้ จากชื่อที่ผู้ใช้เลือกไปเป็นชื่อจริง นอกจากนี้ยังห้ามการขอดูเอกสารยืนยันตัวตนอย่างเป็นทางการด้วย
สำนักงานคุ้มครองข้อมูลจากเยอรมนีทำงานร่วมกับสำนักงานคุ้มครองข้อมูลของเบลเยียม สเปน เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ในการสอบสวนเรื่องดังกล่าว หลังจากมีหญิงรายหนึ่งร้องเรียนว่าเฟซบุ๊กบล็อคบัญชีของเธอ เนื่องจากเธอใช้นามแฝง (pseudonym) ขอดูบัตรประจำตัวของเธอ และยังทำการเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ของเธอไปเป็นชื่อจริงโดยเธอไม่ยินยอม
โดยสาเหตุที่เธอไม่ต้องการใช้ชื่อจริงของเธอ เพราะเธอไม่ต้องการให้คนติดต่อเรื่องธุรกิจกับเธอทางเฟซบุ๊ก
การบังคับให้ผู้ใช้ต้องใช้ชื่อจริงนั้นละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้ใช้ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลแห่งฮัมบวร์กซึ่งกำกับกิจการของเฟซบุ๊กในเยอรมนีกล่าว
ทางเฟซบุ๊กได้แถลงว่า ผิดหวังกับคำสั่งดังกล่าว และการที่เฟซบุ๊กบังคับให้ผู้ใช้ต้องใช้ชื่อที่ผู้ใช้ถูกเรียกจริงๆ (เฟซบุ๊กใช้คำว่า “authentic name”) นั้นก็เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยทำให้พวกเขาแน่ใจว่ากำลังติดต่ออยู่กับใครจริงๆ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังยืนยันว่า สำนักงานใหญ่ของตนนั้นตั้งอยู่ที่ไอร์แลนด์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไอร์แลนด์เท่านั้น
สำนักงานคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์วินิจฉัยนโยบายชื่อจริงของเฟซบุ๊กเมื่อเดือนธันวาคม 2011 และเห็นว่าเหตุผลในการใช้นโยบายดังกล่าว เช่นเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้น เป็นเหตุผลที่ชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม Johannes Caspar กรรมการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารของฮัมบวร์กก็ปฏิเสธข้อแย้งของเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยระบุว่าใครก็ตามที่ประกอบกิจการบนเขตอำนาจศาลของเยอรมนีก็ต้องเล่นตามกฎของเยอรมนี
ที่มา: รอยเตอร์ส http://uk.reuters.com/article/2015/07/28/us-facebook-germany-pseudonyms-idUKKCN0Q21U620150728
#Facebook #privacy #realname #Germany