ภาพจาก Inn News |
ที่มาเรื่อง Thai Publica
8 มิถุนายน 2015
บรรยง พงษ์พานิช
สองประโยคข้างบนนั้น เราได้ยินกันจนเบื่อ ตั้งแต่ปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาถึงเดือน พ.ค. 2557 ท่านกำนันนำตะโกนก้องเรียกร้องปฏิรูปตามท้องถนนเสียจนได้รับการประทาน “ปฏิวัติ” มาให้แทน เขาว่าปฏิวัติเพื่อมาปฏิรูป สร้างแม้น้ำห้าสาย วางโรดแมปชัดเจนว่าจะใช้เวลาปีเศษ ไม่เกินสองปี วาง “แนว” ปฏิรูป แล้วเราก็จะได้กลับสู่ “ประชาธิปไตย” (ในรูปแบบอ่อนแก่ตามที่แม่นำ้จะวางไว้ให้) แต่อย่างน้อยก็จะมีการเลือกตั้งผู้ที่จะมาบริหารประเทศเสียที
ล่วงเลยมาได้ปีเศษ ถนนทำท่าจะไม่ราบรื่นตามที่เคยวาดฝัน แม่นำ้ไหลไม่ราบเรียบ ก็เลยมีผู้รวมกลุ่มกันเสนอว่า น่าจะต่ออายุการสร้างถนนไปอีกสักสองปี โดยใช้เหตุผลอ้างว่าควรรอให้การปฏิรูปเสร็จลุล่วงเสียก่อน เสียงเรียกร้องตะโกนก้อง ให้ “ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง” จึงกลับมาดังกระหึ่มเมืองอีกครั้งหนึ่ง
ผมไม่อยากคาดเดากล่าวหาว่า ผู้ที่ลุกขึ้นมาริเริ่มเรื่องนี้มีประโยชน์ทับซ้อนใดๆ หรือไม่ ท่านได้รับประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จนถวิลหาไม่อยากให้สิ้นสุดไปเร็วๆ หรือว่าท่านหวังดีต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงยอมที่จะเหนื่อยที่จะสละเวลามานั่งเป็น สนช. สปช. กันต่ออีกตั้งสองปี …เอาเป็นว่า ผมเชื่อว่าเป็นอย่างหลัง คือ เจตนาดีจริงๆ
แต่ผมอยากจะถามว่า ที่เรียกว่า “ปฏิรูปให้เสร็จ” นั้น หมายความว่าอย่างไร ปฏิรูปแปลว่าอะไร จะปฏิรูปอะไรบ้าง ด้านไหนบ้าง แล้วทำไปถึงไหน วัดผลแค่ไหน ท่านถึงจะเรียกว่า “เสร็จ” เพราะถ้าไม่นิยามให้ชัด มันก็เป็นแค่วาทกรรมที่มีเจตนาแอบแฝง หามีความหมายใดๆ ไม่
ขออธิบายคำว่า “ปฏิรูป” อีกสักครั้งนะครับ (อธิบายหลายครั้งแล้ว) อันคำว่า “การปฏิรูป” ซึ่งแปลมาจากคำว่า Reform นั้น มันเป็นคำกลาง ที่อยู่ระหว่าง “พัฒนา” (Development) กับ “ปฏิวัติ” (Revolution) อันว่าพัฒนานั้นก็หมายถึง สร้างสิ่งที่ควรมีให้มี ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่า เพราะสามารถมีสภาพ Win-Win ได้ เพราะว่าจะมีผลิตภาพเพิ่มที่จะไปแบ่งปันกัน …แต่การ “ปฏิรูป” นั้น มันหมายถึงว่า สิ่งที่มี สิ่งที่เป็นอยู่นั้น มันไม่เหมาะสม ครั้งหนึ่งอาจจะเคยดี เคยใช้การได้ แต่มาวันนี้มันต้องปรับใหม่ มันต้องเปลี่ยน ต้องวางกรอบกันใหม่ ซึ่ง การปรับใหม่ ก็เลยมักจะทำให้เกิด “การแบ่งใหม่” ไปด้วย เลยทำให้มีคนได้ มีคนเสีย ไม่เกิดสภาพ Win-Win เลยเป็นเรื่องยากกว่า ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้องสร้างกระบวนการให้มีการต่อรอง ต้องใช้เวลา
ในขณะที่การ “ปฏิวัติ” นั้น หมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน อย่างฉับพลันทันใด เข้าสู่สิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง (ผมหมายถึง การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบ-Revolution นะครับ ไม่ใช่ปฏิวัติรัฐประหาร-Coup) ประวัติศาสตร์บอกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมักมีต้นทุนที่สูงมาก (การพัฒนาประเทศอาจชะงักงันไปได้เป็นช่วงอายุคนเลยทีเดียว) เพราะต้องทำลายรากฐานเดิมๆ ลงไป เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติบอลเชวิกของรัสเซีย การปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุง การปฏิวัติเวียดนาม เขมร หรือพวกอาหรับสปริงส์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดังนั้น “การปฏิรูป” จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการเปลี่ยนแปลง
อย่างที่บอกแหละครับว่า การ “ปฏิรูป” นั้น มันเป็นกระบวนการ มันควรจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้องได้เสียมีส่วนร่วม มันต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องไปตลอด ยิ่งในโลกปัจจุบันซึ่งมีพลวัตสูง แทบจะบอกได้เลยว่า “การปฏิรูป” นั้นต้องทำต่อเนื่องไปตลอด แล้วมันจะเสร็จได้อย่างไรล่ะครับ แล้วเมื่อไหร่จะได้เลือกตั้งกัน จอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ใช้เวลา 12 ปี ร่าง รธน. ให้เราได้เลือกตั้งกัน คราวนี้ท่าทางจะนานกว่านั้น
เอาเข้าจริงแล้ว “การปฏิรูป” ที่ดี ในความหมายที่เราควรทำในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น มันเป็นแค่การวางกรอบ วางกติกา วางแนวทาง กับริเริ่มเพื่อให้มันเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ต้องการ ไม่ให้มีการบิดเบือน บิดเบี้ยวในสิ่งที่ไม่ต้องการได้อีก และเนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้องไปทั้งหมด กรอบ กติกา แนวทางที่ว่านั้น ก็ต้องมีความยืดหยุ่นให้ผู้คนในอนาคตสามารถปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันคืออนาคตเขา ไม่ใช่อนาคตเรา ยังจำ รัฐธรรมนูญ 50 ได้ไหมครับ เขาบังคับให้ถ้ายุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่ใน 30 วัน เลยไม่ให้รัฐบาลรักษาการณ์มีอำนาจ ทำอะไรไม่ได้เลย เจตนานั้นดี แต่พอเอาเข้าจริงจัดเลือกตั้งไม่ได้ ประเทศเลยเป็นอัมพาต พิการไปเกือบครึ่งปี เสียหายมาก
แล้วเราจะปฏิรูปด้านไหนบ้างล่ะครับ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านประสิทธิภาพรัฐ ด้านต่อต้านคอร์รัปชัน ฯลฯ หลายสิบด้าน จาระไนไม่หมด แล้วจะทำให้เสร็จได้อย่างไร
ในความเห็นของผม การปฏิรูปที่สำคัญที่สุด ก็คือด้านการเมือง แต่ผลที่ออกมาได้ ก็จะเป็นเพียงกฎกติกา การเข้าสู่อำนาจรัฐ กรอบในการใช้อำนาจรัฐ และกลไกตรวจสอบคานอำนาจต่างๆ ผมเห็นด้วยว่าเราต้องวางกรอบ ไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจนำเอาทรัพยากรอนาคตของลูกหลานมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล มาทำประชานิยมซื้อเสียงระยะสั้น ผมเห็นด้วยว่าเราต้องวางกฎ วางระบบ ให้การโกงกิน การคอร์รัปชันเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกนั้น จะทำไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป ผมเห็นด้วยว่า เราต้องจำกัดขนาด บทบาท และอำนาจรัฐลง แต่การจะใส่กรอบ ใส่กฎ ใส่กลไกคาน มากจนเกินไป ย่อมเกิดต้นทุนอนาคต ขาดความยืดหยุ่นในการบริหาร ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญ บางส่วน ยังแทบจะไปคาดการณ์วางนโยบายบริหารให้อนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
อย่างเรื่องสองเรื่อง ที่ผมไปช่วยทำอยู่ คือ เรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ กับการออกมาตรการป้องกันคอร์รัปชันนั้น ขอเรียนยืนยันความเห็นว่า ไม่ได้ต้องการเวลาเพิ่มเลย มาตรการที่เตรียมไว้ ถ้าไม่ได้ทำ ไม่ได้เริ่มในปีนี้ ก็คงไม่ได้ทำตลอดกาลอยู่ดี แถมมาตรการที่ว่าก็เป็นเพียง การวางกรอบ วางระเบียบ วางองค์กร ที่จะใช้ปฏิรูปไปเรื่อยๆ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปกติ ซึ่งหมายถึงเลือกตั้งเมื่อไร ระบบก็ควรจะยังคงอยู่ต่อไป และเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร
ประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ได้สอนเราว่า การปฏิรูปที่ดีนั้น เกิดขึ้นได้ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบที่สามารถสร้างกลไกที่จะกดดัน ส่งเสริม สนับสนุน และควบคุมการปฏิรูปให้ประโยชน์ตกกับคนส่วนใหญ่ได้ดีที่สุด
ภาพจาก พันทิป |
ที่น่ากังวลสำหรับผม มีคนไม่น้อยที่พยายามชี้นำว่า ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนั้นไม่เหมาะกับประเทศไทย เนื่องจากว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอ
ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วจะให้เป็นอะไรล่ะครับ…
โลกมีการปกครอง 4 แบบ ราชาธิปไตย เผด็จการเบ็ดเสร็จ (ที่เราเป็นอยู่วันนี้) คณาธิปไตย และประชาธิปไตย แต่ละอย่างก็มีดีกรีอ่อนแก่ไม่เท่ากันอีก
อย่างประชาธิปไตย ซึ่งตามนิยามของลินคอล์น ก็คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ก็มีหลักการสำคัญที่สุด คือ เสรีภาพและเสมอภาค ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ในระยะยาว จะนำความเจริญ มั่งคั่ง มั่นคง และสงบสุข มาให้เหนือกว่าระบบอื่นๆ
ถ้าท่านนำดัชนี 3 ตัว มาเรียงกัน คือ ดัชนีความมั่งคั่งที่วัดโดย per capita GDP ดัชนีความโปร่งใสที่วัดโดย Corruption Perception Index และดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่วัดโดย Democracy Index ของทุกประเทศในโลกมาพลอตกราฟด้วยกัน ก็จะเห็นความสัมพันธ์ (Correlation) กันอย่างสูงของทั้งสามดัชนี ซึ่งหมายความว่า ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ก็ย่อมมีการคดโกงน้อย และมีความมั่งคั่งสูงตามไปด้วย อย่างเช่น นอร์เวย์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ด้านการเป็นประชาธิปไตย ก็ร่ำรวยอันดับ 6 ของโลก และมีคอร์รัปชันน้อยเป็นอันดับ 6 เช่นเดียวกัน มีข้อยกเว้นไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น ในจำนวนประเทศที่รำ่รวยและโกงน้อยที่สุด มีแค่สองประเทศเท่านั้น ที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยต่ำ คือ สิงคโปร์กับฮ่องกง (ซึ่งเราไม่มีทางเอาแบบอย่างได้ ผมว่าถ้า ลี กวน ยู มาเกิดเมืองไทย ท่านก็ยากที่จะได้รับความสำเร็จอย่างนี้) กับมีบางประเทศที่ร่ำรวยทั้งๆ ที่ไม่เป็นประชาธืปไตยกับยังมีโกงกิน แต่ก็เป็นเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ เช่น ประเทศน้ำมันแถบตะวันออกกลาง แต่สมบัติส่วนใหญ่ก็เป็นของชีค ไม่ได้เป็นของประชาชน
ระบบที่อาจยังมีผู้เรียกร้อง ก็คือระบบคณาธิปไตย หรือเรียกอีกอย่างว่า Aristocracy ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่า Rule of the Best หมายความว่า ให้คนดีเท่านั้นได้โอกาสปกครอง ปัญหามันอยู่ที่ว่า “กลุ่มคนดี” นั้น จะคัดสรรจัดหามาได้อย่างไร จะให้ใครมีสิทธิ์ ใครไม่มีสิทธิ์ จะเอาสายเลือดชาติตระกูลอย่างกรีกโบราณก็ไม่น่าจะใช้ได้แล้ว จะเอาระดับการศึกษาก็เป็นเรื่องวัดไม่ได้แล้ว (ผมเห็นนักการเมืองที่พวกท่านเกลียดก็จบดอกเตอร์กันเป็นแถว เช่น ดร.ฉ. ดร.ท.) จะเอาระดับจ่ายภาษีก็เป็นเรื่องเลือกคนรวยและก็ผิดหลักการภาษีนั่นเอง เอาตำแหน่งราชการก็ห่วยแน่ๆ หรือจะเอาระดับคุณธรรมยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเห็นคนโกงแล้วไปสร้างวัด ไปไหนพระสงฆ์องค์เจ้าท่านก็นับหน้าถือตาให้นั่งแถวหน้าเวลาทำบุญทุกที
นี่แหละที่พัฒนาไปพัฒนามาก็เลยมาลงเอยที่ “ประชาธิปไตย” คือ ให้ทุกคนเลือกโดยมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน จะผิดจะพลาดไปบ้างบางเวลา ก็ยังมีเสรีภาพที่จะส่งเสียง ที่จะชักชวนกันแก้ไขในคราวหน้า ถ้ากลัวประชาชนยังไม่มีความรู้ ก็มาแก้กันที่การให้ความรู้ ถ้าเราบอกว่า เขาไม่รู้เลยต้องให้เราปกครอง รับรองว่าจะมีคนพยายามทำให้เขาไม่รู้ตลอดไป
เขียนยืดยาว คงต้องขอสรุปเสียที ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่ทำได้และควรทำคือ วางกรอบ วางแนว วางระบบ ที่จะให้การปฏิรูปเริ่มต้นและจะพัฒนาต่อได้ น่าจะรีบๆ แก้วิกฤติการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วกลับมาสู่โรดแมปกรอบเวลาเดิมให้ได้ “ทำให้น้อย แล้วถอยให้เร็ว” นี่เป็นทางที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อท่านผู้นำเอง และต่อประเทศชาติ
อย่าไขว้เขวไปกับเสียงเรียกร้องให้อยู่ต่อนะครับ พิจารณาให้ดีนะครับ ว่าเขาเรียกร้องเพื่อท่าน เพื่อชาติ หรือ เพื่อสนองประโยชน์ของเหล่าผู้เรียกร้องเอง
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 7 มิถุนายน 2558