สื่อนอกคาดทูตสหรัฐฯคนใหม่ กลิน เดวีส์ เพิ่มแรงกดดันไทย ฟื้นคืนประชาธิปไตย หากเลื่อนเลือกตั้งถึงปี 2560 วอชิงตันอาจงัดมาตรการลงโทษ จับตารัฐบาลทหารหันหน้าซบจีน
ที่มา Voice TV
by Sathit M.
11 สิงหาคม 2558
ในวันอังคาร เดอะ ดิโพลแมท เว็บไซต์ข่าวกิจการเอเชีย-แปซิฟิก เผยแพร่บทวิเคราะห์ของฌอน ดับเบิลยู. คริสพิน ผู้สื่อข่าวผู้คร่ำหวอดเรื่องเมืองไทย มีเนื้อหาชี้ว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯกำลังไต่เส้นลวด รัฐบาลวอชิงตันอาจดำเนินมาตรการลงโทษ หากประเทศไทยจัดการเลือกตั้งล่าช้า
ผู้สื่อข่าว Shawn W. Crispin บอกว่า ที่ผ่านมา บรรดาผู้แทนของสหรัฐฯเน้นย้ำว่า ไทยจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กลับสู่ขั้นปกติ อาทิ จัดเวทีหารือทางยุทธศาสตร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ได้ถูกระงับในเวลานี้ จัดการฝึกทางทหารและการอบรมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังที่ผ่านมาได้ถูกลดระดับ และยกเลิกมาตรการระงับการขายอาวุธยุทโธปกรณ์บางชนิดให้แก่ไทย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสภาสหรัฐฯรับรองการแต่งตั้งนายกลิน เดวีส์ อดีตผู้แทนสหรัฐฯด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนใหม่ คริสพินมองว่า ประสบการณ์ด้านการทูตของนายเดวีส์ ที่เคยเล่นบทเผชิญหน้าและโดดเดี่ยวต่อรัฐบาลเปียงยาง ซึ่งวอชิงตันถือเป็นรัฐอันธพาล ส่งสัญญาณว่า นายเดวีส์จะยิ่งเพิ่ม มิใช่ลด แรงกดดันต่อระบอบปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของไทย
คริสพินเขียนในบทวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯได้เปลี่ยนท่าทีต่อประเทศไทยจากการติดต่อกับคณะรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 มาเป็นการแสดงจุดยืนประชาธิปไตยต่อการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา
เขาอธิบายสาเหตุที่คบหากับคณะรัฐประหารชุดก่อน ว่า เป็นเพราะสหรัฐฯต้องการรักษาช่องทางเข้าใช้ฐานทัพต่างๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา สำหรับเติมน้ำมันเครื่องบินที่แวะพักในเส้นทางไปยังอัฟกานิสถานและอิรัก และสถานที่สำหรับซีไอเอที่จะสอบเค้นผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเพื่อรีดเอาข่าวกรอง การตัดสินใจรักษาสัมพันธ์ แทนที่จะโดดเดี่ยว เมื่อปี 2549 เป็นผลจากการผลักดันของทูตสหรัฐฯในเวลานั้น คือ ราล์ฟ บอยซ์ ผู้สานไมตรีกับกลุ่มจารีต
ทว่าทูตคนต่อมา คือ คริสตี เคนนีย์ มีอิทธิพลต่อนโยบายของกระทรวงต่างประเทศไม่แพ้กัน นางเคนนีย์ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ได้เปลี่ยนแนวทางการทูตของสหรัฐฯต่อไทย ประกอบกับสหรัฐฯเองได้เปลี่ยนนโยบายใหญ่ที่มีต่อภูมิภาคนี้ โดยเน้นการถ่วงดุลจีนด้วยการเปลี่ยนย้ายกำลังมายังเอเชีย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไทยไม่สนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
รายงานชิ้นนี้บอกว่า ในวอชิงตัน มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ขอให้สหรัฐฯอ้างการรัฐประหารเป็นเหตุที่จะตัดทิ้งประเทศไทย แล้วหันไปเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่เอาด้วยกับการโยกสรรพกำลังสู่เอเชีย เช่น เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
บรรดานักวิเทโศบายในวอชิงตันยังเรียกร้องให้ใช้ยาแรงกับประเทศไทยด้วย เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) หน่วยงานคลังสมองอันทรงอิทธิพล เสนอข้อแนะนำ 2 ข้อ ระหว่างเข้าให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเมื่อ 11 มิถุนายน
ข้อแนะนำคือ (1) ย้ายหน่วยงานระดับภูมิภาคของสหรัฐฯออกจากประเทศไทย เช่น ยูเสด เอฟบีไอ และปปส.อเมริกัน หากว่ารัฐบาลทหารเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเกินกว่าเดือนกันยายน 2559 (2) แต่งตั้งผู้แทนพิเศษประจำประเทศไทย นอกเหนือจากเอกอัครราชทูต เพื่อพูดจากับเหล่าผู้นำทหาร บางเสียงเสนอให้ราล์ฟ บอยล์ ซึ่งพูดภาษาไทยได้ รับบทบาทนี้
@ ผู้ชุมนุมชาวไทย ชูภาพของเอกอัครราชทูต คริสตี เคนนีย์ ขณะประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐ เมื่อ 6 ธันวาคม 2554 หลังจากรัฐบาลวอชิงตันแสดงความวิตกต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี คริสพินบอกว่า เพนตากอนอยากให้ใช้ไม้นวมกับประเทศไทยมากกว่า ในบทความที่ตีพิมพ์ในวอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเร็วๆนี้ เดสมอนด์ วอลตัน ผู้แทนกระทรวงกลาโหมประจำประเทศไทยเมื่อช่วงปี 2555-2558 วิจารณ์ว่า นโยบายที่มองแต่เรื่องประชาธิปไตยจะส่งผลกระทบต่อนโยบายปรับย้ายกำลังสู่เอเชีย เนื่องจากสร้างความไม่พอใจแก่ไทยซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ทำให้ไทยตอบโต้ด้วยการกระชับความร่วมมือทางทหารกับจีน
บทวิเคราะห์เสนอในตอนท้ายว่า กรณีไทยเล็งที่จะซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ อาจเปิดทางให้จีนเข้าไปมีบทบาทในฐานทัพเรือสัตหีบภายใต้ข้อตกลงด้านบริการหลังการขายและการซ่อมบำรุง การใช้มาตรการลงโทษไทยด้วยเรื่องการขาดประชาธิปไตยอาจผลักรัฐบาลทหารให้หันไปใกล้ชิดจีนยิ่งขึ้น.
Source: The Diplomat
Photos: AFP
by Sathit M.11 สิงหาคม 2558 เวลา 11:28 น.