31 ตุลาคม 2556 - เริ่มประท้วงร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน
สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค อาทิ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ร่วมเวทีปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสน ช่วงถนนกำแพงเพชร 5 ตัดถนนเศรษฐศิริ โดยสุเทพเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ถ้าไม่ถอนจะสู้จนกว่าจะชนะ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
1 พฤศจิกายน 2556 - ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
มติสภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย วาระ 3 ด้วยเสียง 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เดินออกจากที่ประชุมก่อนลงมติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
29 พฤศจิกายน 2556 - เปิดตัวแกนนำ กปปส. ค้านนิรโทษกรรม-ต้านระบอบทักษิณ
ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณเปิดตัวแกนนำ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. ชูจุดยืนต้านนิรโทษกรรม ขจัดระบอบทักษิณ และปฏิรูปประเทศ และจะอ่านแถลงการณ์ประกาศชัยชนะในวันที่ 1 ธันวาคม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
9 ธันวาคม 2556 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา
2 กุมภาพันธ์ 2557 - วันเลือกตั้งทั่วไป
มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ท่ามกลางการชุมนุมขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง และการขัดขวางการเลือกตั้ง โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. แถลงสรุปสถานการณ์ว่า จากจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย คิดเป็น 89.2% จาก 77 จังหวัด มีการงดลงคะแนน 18 จังหวัด แบ่งเป็นงดทั้งจังหวัด 9 จังหวัด งดบางส่วน 9 จังหวัด จากการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งหมด 375 เขต แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งที่ไม่มีการลงคะแนนรวม 69 เขต แบ่งเป็นงดทั้งหมด 37 เขต และงดบางหน่วย 32 เขต (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
21 มีนาคม 2557 - หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงมติ ศาล รธน. 6 ต่อ 3 ตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
"เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไปแล้ว ปรากฏยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครการเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้ง วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.2557 ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2"
7 พฤษภาคม 2557 - ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านวินิจฉัยคำร้องสถานภาพของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกร้อง ในคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 10 ราย ที่ร่วมมีมติโยกย้ายนายถวิล สิ้นสภาพรัฐมนตรี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
20 พฤษภาคม 2557 - ผบ.ทบ. ประกาศกฎอัยการศึก ตั้ง กอ.รส.
ตั้งแต่เช้ามืด มีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลและผ่านดาวเทียม ต่อมามีการเชื่อมสัญญาณไปที่ช่อง 5 เพื่อแพร่ภาพประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และมีการตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. และยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศอ.รส. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
22 พฤษภาคม 2557 - รัฐประหาร โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ตั้งแต่เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมด้วยผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ในนาม "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. ออกประกาศการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เพื่อเป็นการดูแลความสงบ รวมถึงเพื่อดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนเกิดความรักความสามัคคี และเพื่อการปฏิรูปให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตำแหน่งใน คสช. ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 3. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 4. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 5. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 6. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ในวันเดียวกัน มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่องการสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยกเว้นหมวด 2 วุฒิสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ ศาลทั้งหลายมีอำนาจพิจารณาอรรถคดี องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมาวันเดียวกันมี ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
3 กรกฎาคม 2557 - ร่างธรรมนูญการปกครอง และหมวดนิรโทษกรรม
วิทยุ จส.100 ระบุว่าร่างธรรมนูญการปกครองปี 2557 ที่คณะทำงานยกร่าง รธน.ชุด นายวิษณุ เครืองาม ส่งถึง คสช. จะมีเรื่องนิรโทษกรรม คสช. ไว้ที่ 2 มาตราสุดท้าย โดยมาตรา 44 จะระบุว่า ให้คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช. ที่ออกมา ทุกฉบับ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหมดทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังโดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา ขณะที่มาตราสุดท้ายคือมาตรา 45 จะเขียนไว้ว่า ทุกบรรดาการกระทำ ทั้งหลายที่ คสช. ได้กระทำในการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตลอดจนการกระทำ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คสช.หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการรับผิดโดยสิ้นเชิง อันเป็นการเขียนไว้เพื่อคุ้มครองสิ่งที่ คสช. ได้ทำมาทั้งหมด ไม่ให้มีการนำไปเอาผิดหรือฟ้องร้อง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ระบุว่าในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว จะยังคงอำนาจ คสช. คู่ขนานไปกับคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)