โดย ทีมการเมือง
ที่มา ประชาไท
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศทางโทรทัศน์เรียกบุคคลต่างๆ ให้เข้ามารายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่ทหารอย่างต่อเนื่อง จนถึงบัดนี้ รวมแล้วหลายร้อยคนที่ถูกเรียกมาอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในต่างจังหวัด กลับปรากฏกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ต่างๆ เข้าควบคุมตัว หรือการเรียกบุคคลต่างๆ ที่ล้วนไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในประกาศหรือคำสั่งของคสช.อย่างเป็นทางการ ให้เข้าไปให้ข้อมูล หรือนำไปกักตัวเอาไว้
สถานการณ์ลักษณะนี้ปรากฏทั่วไปในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน หลายกรณีไม่ปรากฏเป็นข่าวในทางสาธารณะแต่อย่างใด หรือแม้แต่คนในพื้นที่เอง ก็ยังไม่ทราบว่ามีการควบคุมตัวบุคคลใดไว้อยู่หรือไม่ มีจำนวนเท่าใดกันแน่ ด้วยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่มีการประกาศรายชื่อของกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ติดตามอย่างเป็นทางการ ทำให้การพยายามติดตามตรวจสอบทำได้ค่อนข้างยากยิ่ง
จังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงหลากหลายกลุ่มเคยเคลื่อนไหวอยู่จำนวนมาก ทำให้มีรายงานการถูกควบคุมตัวของแกนนำค่อนข้างมาก นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักวิชาการ-ปัญญาชนอีกหลายคนที่ถูกติดตามตัวจากเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ในช่วงแรก
รายงานชิ้นนี้พยายามสรุปภาพรวมของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองเชียงใหม่เท่าที่ปรากฏข้อมูล ทั้งในด้านการควบคุมตัวบุคคล การเรียกรายงานตัว และการบุกตรวจค้นสถานที่ต่างๆ จนถึงช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ภาพรวมของการควบคุมตัวคนเสื้อแดง-คนต้านรัฐประหาร
จากการสำรวจในเบื้องต้น มีคนเสื้อแดงจากกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารมาแล้ว อย่างน้อย 28 ราย (ไม่นับกรณีที่มีภูมิลำเนาในเชียงใหม่ แล้วถูกประกาศคสช.อย่างเป็นทางการให้ไปรายงานตัวที่ส่วนกลาง)
ในจำนวนนี้ครอบคลุมแกนนำแทบทุกกลุ่มเสื้อแดงในเมืองเชียงใหม่ ทั้งกลุ่มรักเชียงใหม่ 51, กลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่, กลุ่มดีเจตามสถานีวิทยุเสื้อแดงต่างๆ, กลุ่มเสื้อแดงอิสระต่างๆ, กลุ่มคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ (เป็นกลุ่มเสื้อแดงระดับอำเภอที่มีมวลชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก) เป็นต้น ขณะที่แกนนำในระดับอำเภอต่างๆ ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดนัก ว่ามีใครเคยถูกควบคุมตัวไว้บ้างหรือไม่ และมีจำนวนเท่าใด
นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ถูกติดต่อให้เข้าไปพูดคุยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวเอาไว้แต่อย่างใด โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่มีการนำทะเบียนรายชื่อสมาชิกของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ยึดได้มาจากบุกเข้าไปค้นในโรงแรมแกรนด์วโรรสพาเลซ มาเลือกบุคคลจำนวนหนึ่ง และติดต่อให้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในค่ายทหาร
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มประชาชนที่ถูกควบคุมตัวจากการทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารอีกอย่างน้อย 8 คน จากเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณประตูช้างเผือกในช่วงแรกหลังรัฐประหาร (วันที่ 24-25 พ.ค.57 ดูรายงานข่าวเพิ่มเติม) ในกรณีเหล่านี้เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปที่ค่ายกาวิละ ทำการตรวจสอบหรือจัดทำประวัติเพิ่มเติม แล้วปล่อยตัวคนที่ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวมาก่อนมากนักออกไป ขณะที่จะคุมตัวบางคนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อไว้อีกหลายวัน โดยเท่าที่มีรายงานยังไม่มีกรณีใดที่ถูกดำเนินคดี แตกต่างจากกรณีจังหวัดเชียงราย ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร
เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเชียงราย มีกรณีแกนนำคนเสื้อแดงเชียงรายกลุ่มต่างๆ ถูกเรียกไปรายงานตัวและควบคุมตัวไว้อย่างน้อย 7 ราย และมีผู้ถูกควบคุมตัวจากการทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารอย่างน้อย 8 คน (ดูรายงานข่าว) ทั้งยังมีการออกหมายจับผู้ทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหารเพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ในจังหวัดเชียงรายขณะนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.โดยทำการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคน รวมแล้วจำนวน 10 ราย
รูปแบบการควบคุมตัวและการกักตัว
สำหรับรูปแบบการเข้าควบคุมตัวแกนนำเสื้อแดงในเชียงใหม่นั้น มีทั้งการโทรศัพท์ไปเรียกให้มารายงานตัว โดยติดต่อไปที่แกนนำของกลุ่มต่างๆ แล้วให้ประสานงานแกนนำคนอื่นๆ ที่อยู่ในรายชื่อของเจ้าหน้าที่ให้เข้ารายงานตัว หรือติดต่อไปยังบุคคลที่อยู่ในรายชื่อของทหารโดยตรง รวมทั้งการบุกไปควบคุมตัวที่บ้านในบางกรณี โดยยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่าเจ้าหน้าที่จะเลือกใช้วิธีใดกับบุคคลแบบไหน
โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่จะให้แกนนำเข้าไปรายงานตัวที่ค่ายกาวิละ (มณฑลทหารบกที่ 33) ก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นรถไปควบคุมไว้ที่บ้านพักในบริเวณค่ายขุนเณร (กองพลทหารราบที่ 7) บริเวณอำเภอแม่ริม ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 10 กว่ากิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีแกนนำเสื้อแดงบางคนจากอำเภอฝาง ถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่ค่ายพิชิตปรีชากร (กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 7) อำเภอเชียงดาว โดยยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดของผู้ที่ถูกนำตัวไปที่ค่ายแห่งนี้
ระยะเวลาการควบคุมตัวนั้น มีตั้งแต่ 2 วัน ไปจนถึง 7 วัน โดยยังไม่ปรากฏรายงานว่ามีกรณีใดที่มีการควบคุมตัวเกินกว่า 7 วัน
สภาพความเป็นอยู่ขณะควบคุมตัว หลายคนบอกว่าได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อย่างดี มีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง โดยมีการใช้บ้านพักรับรองของทหารในบริเวณค่ายขุนเณรเป็นสถานที่ควบคุมตัว มีการแยกผู้ชายและผู้หญิง บ้านพักมีเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และห้องน้ำในตัว โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับล่างที่เข้าเวรดูแลประมาณ 2-3 คน มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพในแต่ละวัน แต่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกยึดเครื่องมือสื่อสารเอาไว้ ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้
ส่วนการพูดคุยสอบสวนมิได้เข้มข้นเหมือนในส่วนกลาง มีเจ้าหน้าที่สองถึงสามนายมาพูดคุยด้วยในวันก่อนปล่อยตัว โดยมีการสอบสวนถึงประวัติพื้นฐาน ประวัติการเคลื่อนไหว สอบถามทัศนคติ และความสัมพันธ์กับกลุ่มหรือบุคคลต่างๆ ขณะที่บางคนก็ไม่ได้ถูกสอบสวนมากนัก ลักษณะจึงเป็นการควบคุมตัวแกนนำไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองหลังการรัฐประหารใหม่ๆ และให้ทำข้อตกลงภายหลังปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่จะพยายามชี้แจงถึงเหตุผลการรัฐประหาร และการขอร้องให้หยุดเคลื่อนไหว เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนบางคนที่มีประวัติเคยแสดงออกในเรื่องที่สุ่มเสี่ยง เช่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จะถูกทหารนำเรื่องดังกล่าวมาสอบถามในลักษณะว่าจะตั้งข้อกล่าวหา รวมถึงบางคนจะถูกเข้าดูการใช้เฟซบุ้คและตรวจสอบถึงเครือข่ายบนโลกออนไลน์ด้วย
ข้อตกลงหลังการปล่อยตัว
ก่อนการปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดง เจ้าหน้าที่จะให้แต่ละคนเซ็นเอกสารข้อตกลง ซึ่งจัดทำขึ้นมาเฉพาะพื้นที่ โดยหากละเมิดข้อตกลงดังกล่าว เจ้าหน้าที่อาจใช้เป็นหลักฐานในดำเนินคดีได้ ข้อตกลงมีลักษณะที่แตกต่างจากผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวในกรุงเทพฯ อยู่บ้าง (ดูเงื่อนไขการปล่อยตัวของส่วนกลางที่รายงานข่าว) โดยในกรณีของจังหวัดเชียงใหม่มีข้อตกลงทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่
1. การให้ความร่วมมือกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มทบ.33 ทุกประการในการที่จะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย
2. จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือให้มีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
3. หากมีการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องรายงานให้กับกองบัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มทบ.33 ได้ทราบทุกครั้ง
4. จะต้องไม่ให้ข่าวสารแก่ประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย
5. จะปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของคสช.
6. รายงานข่าวสารที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้กองบัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มทบ.33 รับทราบทุกครั้ง
นอกจากนั้น ก่อนที่ผู้ถูกควบคุมตัวบางคนจะได้รับการปล่อยตัว มีรายงานว่าได้มีการส่งกำลังทหารเข้าไปรื้อค้นบ้านพักก่อน คาดว่าเพื่อค้นหาสิ่งผิดกฎหมายซึ่งอาจใช้ดำเนินคดี หรือใช้เป็นหลักฐานเพื่อทำการควบคุมตัวต่อไปได้ แต่โดยส่วนใหญ่ยังไม่พบหลักฐานดังกล่าว มีเพียงการยึดเสื้อสีแดง หรืออุปกรณ์สัญลักษณ์สีแดงต่างๆ ไปจากบ้านผู้ถูกควบคุมตัวบางคน ส่วนการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่จะนำรถตู้ไปส่งที่บ้านหรือสถานที่ที่บุคคลนั้นต้องการ
ภายหลังการปล่อยตัว หลายคนยังถูกติดตามตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ แหล่งข้อมูลท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า ภายหลังการเข้ารายงานตัว เขาได้โพสต์เฟซบุ้คแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรศัพท์มาหาเขาทันที และถูกตักเตือนเรื่องการละเมิดข้อตกลง หรือคนเสื้อแดงรายหนึ่งที่ผ่านการถูกคุมตัว และได้โพสต์ภาพแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารส่งกำลังบุกไปยังร้านค้าของเขาบริเวณถนนคนเดินด้วย
หรือกรณีของดีเจสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง แม้จะเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทหารเรียบร้อยแล้ว แต่ในเวลาต่อมา ยังถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย บุกไปที่บ้านพักและสถานที่ทำงาน แต่ไม่พบตัวดีเจท่านนี้ เขาจึงได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ที่ค่ายกาวิละในวันต่อมา โดยได้ถูกขอให้งดการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเอาไว้ก่อนในช่วงนี้
การคุมตัวครอบครัวหรือญาติของเป้าหมาย
ขณะเดียวกันในการคุมตัวแกนนำคนเสื้อแดงดังกล่าว ยังปรากฏอย่างน้อย 3 กรณี ที่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้บุกไปที่บ้านของบุคคลที่ต้องการควบคุมตัวแล้ว ไม่พบบุคคลเป้าหมายดังกล่าว จึงได้เข้าควบคุมตัวครอบครัวหรือญาติของบุคคลนั้นๆ ไปแทน โดยมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าในการออกปฏิบัติการของทหาร จะมีการกำหนดบุคคลเป้าหมายในการปฏิบัติการ เมื่อไม่เจอตัว “เป้าหมายหลัก” ก็จะมีการเชิญตัว “เป้าหมายรอง” ไปแทน
สามกรณีเท่าที่ทราบว่ามีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ กรณีของนายประสิทธิ์ วุฒินันชัย อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 5 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารราว 20 นาย ได้บุกไปบ้านที่อำเภอแม่อายในเย็นวันรัฐประหาร แต่ไม่พบตัวนายประสิทธิ์ จึงได้ควบคุมตัวลูกชายวัย 30 ปีไปแทน โดยนำตัวไปควบคุมที่ค่ายขุนเณร เป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมา ในเวลาต่อมานายประสิทธิ์จึงได้ถูกประกาศเรียกตามคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 65/2557 และได้เข้าไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.57
อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของนายมหวรรณ กะวัง หรือ “ดีเจนก” เจ้าของสถานีวิทยุชุมชน "นกเสรี" คลื่น 105.5 MHz ซึ่งหลังรัฐประหารได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกไปที่สถานีวิทยุและที่บ้านพัก แต่ไม่เจอตัวนายมหวรรณ จึงได้เชิญตัวพี่เขยของเขาไปแทน และได้ถูกคุมตัวไว้นาน 5 วัน ในภายหลังนายมหวรรณจึงได้ติดต่อประสานขอเข้ารายงานตัว และได้ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายขุนเณร ก่อนที่จะมีรายชื่อเขาในประกาศส่วนกลางของคสช. เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้นำนายมหวรรณขึ้นรถตู้เดินทางเข้าไปรายงานตัวในกรุงเทพฯ ต่อไป
นอกจากนั้น ยังปรากฏกรณีคนเสื้อแดงอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำกำลังบุกไปที่บ้านพัก แต่ไม่พบตัวเป้าหมาย จึงได้ควบคุมตัวภรรยาและลูกสาวไปแทน ก่อนให้ภรรยาโทรแจ้งคนเสื้อแดงท่านนี้ ให้เขาเดินทางมารายงานตัวที่ค่ายกาวิละ จึงได้มีการปล่อยตัวภรรยาและลูกสาวออกมา แล้วนำคนเสื้อแดงท่านนี้ไปควบคุมตัวไว้ต่อไป
นอกจากการควบคุมตัวแกนนำคนเสื้อแดงในช่วงแรกหลังรัฐประหารแล้ว กลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนในจังหวัดเชียงใหม่อีกอย่างน้อย 18 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวในรูปแบบต่างๆ ทั้งการโทรศัพท์ไปที่บ้านหรือมหาวิทยาลัย และการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปติดตามที่บ้านหรือมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าเป็นการเชิญตัวนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวไปพูดคุยและ “ให้คำแนะนำ” กับทางกองทัพ โดยอาจถือได้ว่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มนักวิชาการถูกติดตามตัวมากที่สุดก็ว่าได้
ในราวช่วงอาทิตย์ที่สองหลังรัฐประหาร มีรายงานว่าทหารได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ติดตามตัวกลุ่มนักวิชาการเป็นหลัก โดยไม่ได้มีการบุกค้นบ้านเหมือนในกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงแต่อย่างใด มีเพียงแต่กรณีการไปเชิญตัวถึงที่บ้าน โดยปัญญาชนกลุ่มหลักๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตามตัว ได้แก่ กลุ่มร้านหนังสือ Book Re:public และกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าบางกรณีในกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว มิได้มีบทบาททางการเมืองหรือเคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทางสาธารณะมาก่อนมากนัก แต่ก็กลับถูกโทรติดต่อมายังมหาวิทยาลัย หรือถูกติดตามตัวด้วย
จากลักษณะการถูกติดตามตัวเป็นจำนวนมากดังกล่าว กลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนจึงได้นัดหมายเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.57 โดยมีกลุ่มนักวิชาการผู้ใหญ่หลายคนที่แม้ไม่ได้ถูกติดตามตัว แต่ก็เดินทางเข้าไปยังค่ายกาวิละพร้อมกันด้วย เพื่อร่วมพูดคุยและเป็นกำลังใจให้เพื่อนนักวิชาการที่ถูกติดตามตัว
เจ้าหน้าที่ทหารได้ขอให้กลุ่มนักวิชาการยุติการจัดงานหรือทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงนี้ และยังมีการพูดคุยตกลงกันว่าหลังจากเข้าพบในครั้งนี้จะไม่มีการติดตามตัวนักวิชาการท่านใดอีก รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการยังร้องขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อที่เป็นเป้าหมายในการติดตามตัวต่อสาธารณะทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้มีการเปิดเผยแต่อย่างใด (ดูรายงานข่าว)
สำหรับกลุ่มนักวิชาการทั้งหมดไม่มีใครถูกควบคุมตัวเอาไว้ และไม่ได้มีการให้เซ็นเอกสารข้อตกลงใดๆ ยกเว้นกรณีของศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่เข้าไปรายงานตัวเพียงลำพังอย่างเงียบๆ และได้ถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 6 วัน (31 พ.ค.-5 มิ.ย.) ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมา เป็นไปได้ว่ากรณีศ.ดร.ธเนศวร์นั้น เขามีบทบาทในการด้านการเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และเข้าไปรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลก่อนหน้า จึงทำให้เขาถูกปฏิบัติแตกต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆ
ในช่วงก่อนสิ้นเดือนที่ผ่านมา (24-25 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ค่ายกาวิละยังได้เรียกตัวนักกิจกรรมด้านศิลปะ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่วางแผนจะจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ 1984 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เข้าไปพูดคุยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในค่ายกาวิละด้วย โดยมีการนำภาพและประวัติกิจกรรมศิลปะในอดีตมาสอบถาม และขอให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมดเช่นกัน (ดูรายงานข่าวเพิ่มเติม)
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่ามีนักข่าวสองคนในเชียงใหม่ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ติดต่อเรียกตัวให้เข้าพบที่ค่ายกาวิละ โดยมีการพูดคุยขอให้ระวังอย่าเสนอข่าวสารที่สร้างความแตกแยกในจังหวัดเชียงใหม่
ความซ้ำซ้อนของการเรียกรายงานตัว
กรณีการติดตามตัวนักวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ ยังชี้ให้เห็นความลักลั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีนักวิชาการหลายคนที่ได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ค่ายทหารตามที่ถูกติดตามตัวแล้ว หากกลับยังถูกเจ้าหน้าที่ไปเชิญตัวที่บ้านซ้ำอีกครั้ง แล้วแจ้งให้ไปพูดคุยที่อีกค่ายทหารหนึ่ง โดยมีนักวิชาการอย่างน้อยสองราย ที่ได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายขุนเณรแล้วในช่วงหลังรัฐประหาร แต่หลายวันถัดมายังมีเจ้าหน้าทีเดินทางไปที่บ้าน เพื่อเชิญตัวไปพูดคุยที่ค่ายกาวิละอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏกรณีแกนนำเสื้อแดงที่ถูกเรียกตัวไปควบคุมหลายครั้ง อย่างกรณีของด.ต.พิชิต ตามูล หรือ “ดาบชิต” แกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ ซึ่งถูกเรียกไปควบคุมตัวถึง 2 ครั้ง คือในเย็นวันรัฐประหาร และในวันที่ 6 มิ.ย. โดยครั้งหลังนี้เจ้าหน้าที่บุกติดตามจากกรณีที่เขาโพสต์ภาพในโลกออนไลน์เรื่องการไปพูดคุยให้ข้อมูลกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยตนเองใส่เสื้อสีแดงสกรีนคำว่า “Stop Coup หยุดรัฐประหาร” ซึ่งเป็นเสื้อเก่าตั้งแต่หลายปีก่อน แต่ถูกเข้าใจว่ากำลังประชุมเตรียมทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหาร
ในเวลาต่อมา “ดาบชิต” ยังมีรายชื่ออยู่ในคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 68/2557 ให้เข้าไปรายงานตัวในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับกรณีนายองอาจ ตันธนสิน และนายนพพร พรหมขัติแก้ว ที่ได้ถูกควบคุมตัวในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่ยังมีรายชื่อถูกเรียกตามคำสั่งของคสช.ดังกล่าวให้ไปรายงานตัวที่ส่วนกลางเช่นเดียวกัน โดยการเรียกรายงานตัวดังกล่าวเกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่ 17 มิ.ย. และให้บุคคลตามรายชื่อเข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบกทันทีในวันที่ 18 มิ.ย. หลายคนจึงต้องออกเดินทางโดยเครื่องบินในตอนเช้าตรู่ เพื่อไปให้ทันการรายงานตัว โดยต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเองทั้งหมด
การบุกเข้าตรวจตราสถานที่เอกชน และจับตากิจกรรมสาธารณะ
นอกจากบ้านพักของผู้ที่เป็นเป้าหมายในการติดตามตัว ที่ถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังบุกไปหลายคนแล้ว เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจยังมีการนำกำลังบุกเข้าไปยังสถานที่เอกชนอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมาก ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย ได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้น และยึดเครื่องส่งของสถานีต่างๆ ไปด้วย โดยขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของสถานีที่ถูกปิดและถูกเข้าตรวจค้น
สถานที่เอกชนหลายแห่งที่เคยเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ส่งกำลังเข้าไปจับตาเช่นกัน เช่น กรณีร้านหนังสือ Book Re:public ซึ่งถูกทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนำกำลังไปที่ร้านหลายครั้ง ทั้งเพื่อติดตามกลุ่มนักวิชาการ และเฝ้าระวังการทำกิจกรรมหรือการประชุมเคลื่อนไหวต่างๆ โดยมีครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ขอเข้าไปดูในอาคารของร้าน และถ่ายรูปบัตรประชาชนของลูกค้าที่อยู่ในร้านขณะนั้นไปด้วย
หรือกรณีร้านอาหาร “สุดสะแนน” ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหนึ่งกองร้อย จำนวนราวหนึ่งร้อยนาย พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าไปในร้านขณะเปิดทำการ เจ้าหน้าที่ได้อ้างว่ามีรายงานว่าจะมีการจัดงานวันเกิด “หม่อมเต่านา” หรือ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล ที่ร้านแห่งนี้ จึงได้ส่งกำลังมาติดตามตัว แต่ก็ไม่ได้มีงานดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ทหารยังได้พูดคุยขอให้เจ้าของร้านไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ในช่วงนี้ด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการติดตามจับตากิจกรรมการเสวนา เวทีสาธารณะ หรือนิทรรศการศิลปะต่างๆ แม้จะไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเลยก็ตาม ก็มีรายงานว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาติดตามกิจกรรม หรือโทรมาสอบถามข้อมูลจากผู้จัดงานในบางกิจกรรมด้วย
ส่วนกรณีกิจกรรมสาธารณะที่เจ้าหน้าที่มองว่าอาจมีความเกี่ยวโยงกับการแสดงออกทางการเมือง ก็อาจถูกกดดันให้ยกเลิก เช่น กรณีการจัดฉายหนัง 1984 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผู้จัดงานตัดสินใจยกเลิกงาน เพราะถูกเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ และกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน หรือกรณีกลุ่มเอ็นจีโอจัดแถลงข่าวเรื่อง “เชียงใหม่จัดการตนเอง” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ก็ได้ถูกทหารบุกเข้ายกเลิกการจัดงาน และควบคุมตัวแกนนำผู้จัดงานไปพูดคุยทำความเข้าใจ ก่อนปล่อยตัวออกมา (ดูรายงานข่าว)
ยังมีรายงานว่าเกิดกรณีร้านค้าเอกชนที่ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวเนื่องจากมีการเปิดทำการเกินเวลาเคอร์ฟิว เช่น กรณีร้านไก่ทอดเที่ยงคืน ซึ่งโดยปกติจะเปิดขายเวลาราว 5 ทุ่มถึงตี 3-4 จนในช่วงหลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ได้บุกไปคุมตัวเจ้าของร้าน ก่อนทำการปรับเป็นเงิน 4 หมื่นบาท เนื่องจากร้านได้ฝ่าฝืนคำสั่งเรื่องการเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานหลังเที่ยงคืน
ล่าสุด (29 มิ.ย.) ยังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารที่ลาดตระเวนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้ชายที่ขายปลาหมึกทอด ย่านทิพเนตร ถอดเสื้อสีแดงที่มีลวดลายเป็นภาพใบหน้านายจตุพร พรหมพันธ์ออก โดยอ้างถึงความปรองดองและการลดความขัดแย้งในชาติ (ดูรายงานข่าว) ก่อนที่ในวันถัดมาทางมทบ.33 จะชี้แจงถึงความคลาดเคลื่อนระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ และได้คืนเสื้อสีแดงดังกล่าวให้กับชายขายปลาหมึกแล้ว
อีกทั้ง ตลอดหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารยังตรึงกำลังโดยตั้งซุ้มอยู่ในจุดสำคัญๆ ของเมือง เช่น ประตูท่าแพ ประตูช้างเผือก อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บริเวณหน้าสวนสุขภาพข้างหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือบริเวณหน้าริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ใกล้ค่ายกาวิละ เป็นต้น โดยแม้จะมีการลดจำนวนกำลังทหารลงบางส่วน แต่จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนก็ยังไม่มีการถอนกำลังทั้งหมดจากจุดต่างๆ แต่อย่างใด