วันศุกร์, กรกฎาคม 11, 2557

วันนี้มีเรื่องใกล้ตัวมาเล่า เกี่ยวกับเฟชบุ๊คทั้งนั้น




๑. เดวิด สเต๊าท์ แห่งนิตยสารไทม์ออนไลน์ เขียนถึงการนำตัว ธนาพล อิ๋วสกุล ไปปรับทัศนคติเป็นหนที่สองฐานที่วิพากษ์พวกผู้นำชาติบนเฟชบุ๊ค เขาบอกว่าคณะทหารผู้ปกครองประเทศไทย "set another disturbing precedent". เขาอ้างนายแบร๊ด แอดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์เอเซีย ที่บอกว่า "คณะทหารไม่มีทางจับกุมคนที่โจมตีได้หมด หรือไม่อาจจินตนาการให้พวกเขาเหล่านี้อันตรธารหายไปได้หรอก"

http://time.com/2968680/thailand-junta-editor-facebook-thanapol-eawsakul-fah-diew-khan/

๒. ไล แวง แห่งสื่อออนไลน์ มาเธอร์โจนส์ เขียนถึงพฤติกรรมอำพรางของคณะรัฐประหารไทยในการปลอมแปลงแอ็พพลิเกชั่นลงเฟชบุ๊ค เพื่อใช้เป็นกับดักเก็บข้อมูลส่วนตัวชาวเฟชบุ๊คไว้ดำเนินคดี เป็นส่วนหนึ่งในการกวาดล้างสื่อสังคมให้สะอาด เขาลงท้ายว่า "จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าไฉนพลเมืองไทยจึงได้ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระดานสื่อสารทางสังคมมากกว่าผู้ปกครองของตนเอง"

http://www.motherjones.com/mixed-media/2014/07/facebook-thailand-military-false-login

คำแปลเต็มตามนี้

รัฐบาลทหารไทยแอบดูดข้อมูลเฟชบุ๊ค

แม้นว่าเฟชบุ๊คเองจะไม่ยี่หระกับมาตรฐานการเคารพสิทธิส่วนบุคคลหลายอย่าง ดังเช่นการทดลองเมื่อเร็วๆ นี้เรื่องอารมณ์ของผู้ใช้กว่า ๗ แสนราย โดยเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการลงข้อความข่าวสารทั้งในด้านบวกและด้านลบ แต่บริษัทนี้ก็ยังไม่เคยยินยอมให้ฐานข้อมูลกับพวกผู้ปกครองที่กดขี่ใดๆ แต่นั่นก็ไม่อาจยับยั้งคณะรัฐประหารไทยได้ เมื่อเฟชบุ๊คปฏิเสธที่จะสนองคำเรียกร้องขอฐานข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จากรัฐบาลทหารชุดที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ คณะทหารก็จัดทำแอพพลิเกชั่นลวงขึ้นมาใช้ดักจับรายละเอียดส่วนตัวเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่อีเมลของผู้ใช้เฟชบุ๊ค

ถ้าจำกันได้เมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากมีการประท้วงรัฐบาลเกลื่อนท้องถนนติดต่อมาหลายเดือน คณะทหารไทยก็ก่อการรัฐประหารขึ้น พอได้อำนาจแล้วก็ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ กำหนดเวลาห้ามออกนอกบ้านยามค่ำคืนเมื่อสี่ทุ่ม ห้ามชุมนุมกันเกินห้าคนขึ้นไป และดำเนินการกดดันผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งสมาชิกเฟชบุ๊คชาวไทย ๒๘ ล้านคน ซึ่งเท่ากับหนึ่งในสามของประชากรในประเทศ ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม คณะรัฐประหารเรียกบรรดาบริษัทสื่อสารสังคมรวมทั้งเฟชบุ๊คไปคุยเพื่อจะขอให้ทำการเซ็นเซอร์พวกต่อต้านรัฐประหารในประเทศไทย แต่ปรากฏว่าไม่มีบริาษัทไหนเลยไปร่วมประชุมด้วย

แต่กระนั้นคณะรัฐประหารไทยก็มิได้ล้มเลิกความพยายามเข้าไปดูดใช้พลังของสังคมสื่อสาร หากแต่คณะรัฐประหารไทยเข้าไปใส่ปุ่มล็อกอินเฟชบุ๊คตามหน้าเว็บต่างๆ ที่ถูกคณะรัฐประหารปิดกั้นไว้ ตามรายงานของมูลนิธิพรมแดนอีเล็คโทรนิค เปิดเผยว่าเว็บที่ถูกปิดกั้นกว่า ๒๐๐ แห่ง รวมทั้งฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ ถูกดูดข้อมูลผู้ใช้ผ่านทางล็อกอินลวงที่คณะรัฐประหารนำไปแปะเหล่านั้น

ก่อนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ผู้ใช้เว็บจะพบแต่เพียงหน้าจอของฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ถูกปิดไว้โดยแผนกปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี่เท่านั้น แต่ภายหลังรัฐประหารผู้ที่พยายามเข้าไปยังเว็บที่ถูกปิดจะพบว่าตนถูกพาต่อไปยังหน้าใหม่ซึ่งมีปุ่มให้กดเลือกสองปุ่ม สีฟ้าสำหรับล็อกอินเข้าสู่เฟชบุ๊ค กับอีกปุ่มสีฟ้าเหมือนกันสำหรับปิดหน้า ทั้งสองปุ่มจะพาผู้ใช้ไปยังแอ็พพลิเกชั่นเฟชบุ๊คที่ทำขึ้นลวงโดยคณะรัฐประหารเหมือนกัน แอ็พพลิเกชั่นนี้เรียกขอข้อมูลส่วนตัวการเป็นสมาชิกเฟชบุ๊คของผู้ใช้คนนั้น เพียงแค่ล็อกอินและคลิก โอเค ในหน้าแรกของแอ็พลวงก็จะเปิดให้แผนกปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี่เข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เช่นอายุ เพศ วันเกิด ได้ทันทีโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้องค์กรไม่ค้ากำไร ไทยเน็ตติเซ็น ได้แถลงคำเตือนเอาไว้

ตามรายงานในหน้าบล็อกของมูลนิธิพรมแดนอีเล็คโทรนิคซึ่งเก็บเรื่องราวจากรายงานของสื่อไทยในท้องถิ่น บอกว่าคณะผู้ยึดอำนาจสามารถโกยข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อีเมลจำนวนหลายร้อยราย เฟชบุ๊คเองได้พยายามที่จะยับยั้งแนวทางประพฤติดังกล่าวตลอดมา ดังรายงานของอีเอฟเอฟ ว่า

“แอ็พเฟชบุ๊คลวงโดยไม่มีนโยบายให้ชัดเจน หรือมีข้อความแทรกอยู่ในแอ็พโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิส่วนตัว ถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดการใช้กระดานสนทนาเฟชบุ๊คอย่างจะแจ้ง แผนกปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี่ของไทยนี้ได้ถูกเฟชบุ๊คถอนสิทธิการใช้ไปแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเครือข่ายไทยเน็ตติเซ็นรายงานความไม่ชอบมาพากลของแอ็พลวงนั้นได้ไม่นาน จากนั้นได้มีแอ็พใหม่เข้ามาลงแทนที่ก็ถูกเฟชบุ๊คถอดสิทธิอีกครั้งหลังจากดำเนินการล่อลวงไปได้เพียงอาทิตย์เดียว”

ในเวลาต่อมาแผนกปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี่ได้ลงข้อความแก้ตัวว่าการแอบดูดเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟชบุ๊คนั้นเป็นการ “หาหลักฐานพยานสำหรับนำไปใช้ดำเนินคดี ในอันที่จะชำระสังคมออนไลน์ให้สะอาด” ความประพฤติเยี่ยงนี้นับว่าเกี่ยวดองกับพฤติกรรมอย่างอื่นของคณะทหารที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ แน่ทีเดียวละ การแอบปลอมเฟชบุ๊คอย่างเงียบๆ มันเงียบเสียยิ่งกว่าการคุกคามชายคนที่ยืนอ่านหนังสือ ๑๙๘๔ ของจ๊อร์จ ออร์เวลล์ ในที่สาธารณะ หรือทำการควบคุมตัวผู้ที่สวมเสื้อทีเชิ้ร์ตบรรจุข้อความส่งเสริมสันติภาพหรือว่าคัดค้านรัฐประหาร หรือทำการปิดเฟชบุ๊คดื้อๆ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง อันก่อให้เกิดการประท้วงกันอึกทึกบนอินเตอร์เน็ต (ซึ่งคำแถลงจากทางการอ้างว่าเป็นแค่การขัดข้องทางเทคนิค) จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าไฉนพลเมืองไทยจึงได้ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระดานสื่อสารทางสังคมมากกว่าผู้ปกครองของตนเอง