วันจันทร์, กรกฎาคม 07, 2557

แก้รธน.เสร็จ!ไม่ต้องทำประชามติ “วิษณุ”เตรียมทูลเกล้าฯคสช.เทียบเท่ารัฐบาล ม.44 มีอำนาจเบ็ดเสร็จม.45นิรโทษรัฐประหาร


ที่มา นสพ.บ้านเมือง

“ธรรมนูญชั่วคราว” เสร็จแล้วเตรียมทูลเกล้าฯ เผย มี 45 มาตรา คงอำนาจ คสช.เท่ารัฐบาล ป้องซ้ำรอยยุคบิ๊กบังคุมรัฐบาลไม่ได้ พร้อมบัญญัติ ม.44-45 เป็นเกราะป้องกัน คสช. ให้มีอำนาจตามคำสั่ง-ประกาศทุกฉบับเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และนิรโทษกรรมการรัฐประหาร วางปฏิทินสภาปฏิรูป 60 วัน ต้องสรุปแนวทางปฏิรูปประเทศ ก่อนชง กมธ.ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จใน 120 วันติดปมสรุปไม่ได้ต้องทำประชามติ รธน.หรือไม่ ขณะที่ “ปลัด กห.” คาดโผทหารเสร็จ ส.ค. ปัดตอบต่ออายุ เก้าอี้ 4 บิ๊ก คสช. ด้าน “หญิงหน่อย” หนุนทำประชามติ รธน. ชี้ลดภาวะเสี่ยงรัฐประหารซ้ำรอย ส่วน “บัวแก้ว” ถอนพาสปอร์ตอีก 3 โจกแดง ผิดหมิ่นเบื้อสูง “สมศักดิ์เจียม-โกตี๋-จรรยา”

“บิ๊กตู่” ดูรายละเอียด รธน.ก่อนทูลเกล้าฯ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.57 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พ.อ.ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ได้เป็นประธานการประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งเป็นตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่ได้มีรายงานเหตุการณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเข้าสู่ที่ประชุม มีเพียงรายงานความคืบหน้าการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนของหน่วยทหารต่างๆ ที่รับผิดชอบเท่านั้น ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานภายในกองบัญชาการกองทัพบก โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. พร้อมคณะทำงาน คสช.ด้านกฏหมายเข้าร่วมหารือติดตามงานต่างๆ ที่ยังคั่งค้างให้ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้คาดว่ามีการหยิบหยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ตามที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ด้านกฎหมาย ขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ทาง พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ และโครงการบริหารจัดการน้ำ ได้เลื่อนการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงบประมาณปี 2557 ที่เร่งลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำออกไป เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้เชิญปลัดกระทรวงพาณิชย์และนักธุรกิจค้าข้าวเข้าพบเป็นการส่วนตัว เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการระบายข้าวในสต็อกที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

รธน.ชั่วคราวเสร็จแล้ว

มีรายงานว่าขณะนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ด้านกฏหมาย นำไปปรับแก้ละเอียดเล็กน้อย พร้อมนำกลับมาเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. พิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเร็วๆ นี้

ชั่งใจทำประชามติ รธน.ฉบับใหม่

มีรายงานข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 นั้น กำลังรอสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะเห็นชอบร่างทั้งหมดที่นายวิษณุเสนอไปที่มี 45 มาตรา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ หรือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะขอให้พิจารณาปรับอีกครั้งก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากให้ปรับคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ไม่น่าเกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ติดปัญหาต้องทำประชามติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ร่างที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ มีประเด็นสำคัญที่สุดที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจก็คือ เรื่องทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือฉบับปี 2558 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะในส่วนคณะทำงานบางส่วนเห็นว่าสมควรต้องทำประชามติ แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยืนยันมาตลอดว่าไม่เอาประชามติ ดังนั้นคณะทำงานจึงเสนอไป 2 ส่วนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกว่าจะเอาแบบไหน คือให้เอาแบบไม่มีประชามติ ก็จะไม่มีรายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไร คือจะเขียนแค่ว่า หลังสภาปฏิรูปประเทศลงมติเห็นชอบแล้วให้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย แต่หากจะทำประชามติก็จะมีรายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนยังไง ต้องทำภายในกี่วันหลังสภาปฏิรูปประเทศลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งหมดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจ รธน.ปี58ใช้เวลาร่างไม่เกิน120วัน อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนญฉบับชั่วคราวดังกล่าวได้บัญญัติถึงเงื่อนเวลาในการทำงานของสภาปฏิรูปประเทศ (สปร.) ไว้เบื้องต้นว่า หลังมีสภาปฏิรูปประเทศแล้ว ให้เวลา สปร.ประมาณ 45-60 วัน ในการส่งบทสรุปรายงานที่เป็นการรวบรวมความเห็น-ข้อเสนอแนะ-รายงานการวิจัยและมุมมองเรื่องการปฏิรูปประเทศ การแก้ไขปัญหาประเทศที่เป็นการรวบรวมจากฝ่ายต่างๆ ส่งไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35คน จากนั้นพอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้วและเริ่มนัดประชุมครั้งแรก ให้นับระยะเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.รวมแล้วต้องไม่เกิน 120 วัน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 จากนั้นพอเสร็จแล้วก็ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งไปให้สภาปฏิรูปประเทศลงมติว่า จะเห็นชอบหรือไม่ โดยสภาปฏิรูปประเทศไม่มีอำนาจแก้ไขได้ ให้ลงมติแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น พร้อมเปิดฟังความเห็นทุกภาคส่วน

ยกร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน

รายงานข่าวระบุต่อว่า สำหรับรายละเอียดว่า ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่สภาปฏิรูปประเทศจะส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ เป็นอย่างไร มาจากหน่วยงานไหน จะไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคาว เพราะเป็นเรื่องที่สภาปฏิรูปประเทศและ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะไปคุยกันอีกที เนื่องจากเป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะไม่มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่แล้ว แต่ให้สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศไปตกลงรายละเอียดอีกที เช่น อาจเป็นความเห็นจากสถาบันอุดมศึกษา องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความเห็นคณะทำงานด้านปรองดองและปฏิรูปประเทศของ คสช.เป็นต้น เรื่องระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน ก็มีบางส่วนบอกว่า จะน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะปกติควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 180 วัน แต่ที่นับไม่เกิน 120 วัน เพราะมีการบวกเวลาเรื่องการรับฟังความเห็น การรวบรวมข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ที่ให้เวลประมาณ 60 วันไปแล้ว โดยการรับฟังความเห็นดังกล่าว ก็จะมาจากหลายส่วน เช่น การรับฟังความเห็นตัวสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ ที่จะมาจากการเลือกทางอ้อมจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน แล้วมาแสดงความเห็นในที่ประชุมสภาปฏิรูปประเทศ จนสภาปฏิรูปประเทศส่งไปให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า 120 วันก็ค่อนข้างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว โดยร่างที่ส่งไปสรุปแล้วสภาปฏิรูปประเทศจะมีเวลาในการทำหน้าที่ประมาณคร่าวๆ 9 เดือน

คสช. “นิรโทษกรรม” ตัวเอง

รายงานข่าวยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะมีเรื่องนิรโทษหรือการคุ้มครอง คสช.ไว้ด้วย โดยจะอยู่ใน 2 มาตราสุดท้ายของ 45 มาตราดังกล่าว คือมาตราที่ 44 จะเขียนไว้ว่า ให้คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช.ที่ออกมาทุกฉบับ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหมดทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย แหล่งข่าวจาก คสช.อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เหตุที่เขียนไว้เช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้เพราะอย่าง เช่นการที่ คสช.สั่งโยกย้าย นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งโดยปกติแล้วการโยกย้ายข้าราชการอัยการ จะต้องทำโดยผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้อำนาจทางบริหารปกติมาย้ายได้ ดังนั้นใน รธน.ฉบับชั่วคราวมาตรา 44 จะเขียนไว้ว่า ให้ทุกคำสั่งและทุกประกาศรวมถึงสิ่งที่ คสช.ได้ทำไปให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ไม่สามารถเอาผิดอะไรได้ ขณะที่มาตราสุดท้ายคือมาตรา 45 จะเขียนไว้ว่า ทุกบรรดาการกระทำทั้งหลายที่ คสช.ได้กระทำในการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ตลอดจนการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คสช.หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการรับผิดโดยสิ้นเชิง อันเป็นการเขียนไว้เพื่อคุ้มครองสิ่งที่ คสช.ได้ทำมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น จนถึงวันที่ รธน.ฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ไม่ให้มีการเอาผิดใดๆ เช่น การฟ้องร้อง เป็นต้น

คง คสช.อำนาจเทียบเท่ารัฐบาล

รายงานข่าว ระบุอีกว่า ร่าง รธน.ฉบับชั่วคราว จะมีมาตราเรื่องการให้อำนาจ คสช.มีอำนาจเท่ารัฐบาลรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันมาเป็นปกติทุกครั้งเมื่อมีการใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวหลังทำรัฐประหาร เพื่อให้คณะรัฐประหารสามารถควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลที่เกิดจากคณะรัฐประหารได้ เพียงแต่ รธน.ชั่วคราวปี 2549 ได้ฉีกธรรมเนียมนี้ทิ้งไป ซึ่งก็ทำให้ คสช.เห็นแล้วว่า การไม่มีมาตราดังกล่าวทำให้การทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ที่ พล.อ.สนธิ แต่งตั้งขึ้น มีปัญหา เพราะ คมช.ไม่สามารถควบคุมรัฐบาลได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ครั้งนี้ คสช.จึงมีการปิดจุดอ่อนดังกล่าวด้วยการให้เขียนให้ คสช.มีอำนาจเทียบเท่ารัฐบาลไว้ด้วย ทั้งหมดคือหัวใจสำคัญของร่าง รธน.ฉบับชั่วคราวปี57 ซึ่งก็ยังมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่เห็นด้วยในบางเรื่องกับที่เสนอไปแล้ว อาจขอให้แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำบางส่วน แต่ส่วนใหญ่หลายเรื่องได้ข้อสรุปไปหมดแล้ว คุยกันมาก่อนแล้ว ก่อนจะส่งร่างไป ดังนั้นการปรับอะไรคงไม่มาก ยกเว้นบางเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจอยากทราบเหตุผล เช่น เรื่องทำประชามติว่า ทำไม คณะทำงานบางส่วนจึงเสนอมาว่า ควรให้ทำประชามติ แต่ที่ผ่านมาฝ่าย คสช.ก็บอกตลอดว่า ไม่เอาประชามติ

ระดมความเห็นปฏิรูปประเทศ

วันเดียวกัน ที่ห้องพินิตประชานาถ กระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น “การปฏิรูปประเทศไทย” ในหัวข้อ “การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบ” โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีการเชิญผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ ประมาณ 500 คน โดยวันนี้จะแบ่งกลุ่มเป็น 12 กลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็น โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประธานการสัมมนา กล่าวเปิดงานว่า ที่ผ่านมามีคณะทำงานรวบรวมข้อเสนอด้านการปฏิรูปประเทศ โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงกว่า 368 เล่ม เปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. ก็ได้ข้อเสนอกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งทีมงานนักวิชาการได้สังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปได้ทั้งหมด 11 ประเด็น โดยประเด็นที่จะต้องปฏิรูปเร่งด่วนที่สุดคือ การปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องปฏิรูปหลายหัวข้อ ทั้ง การเข้าสู่อำนาจของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่งจะต้องมาคิดหาวิธีการว่าจะออกแบบการเลือกตั้งอย่างไรให้ได้คนดีมีความรู้เข้ามาทำงาน รวมถึงต้องออกแบบวิธีการถอดถอนบุคคลที่ทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในส่วนของการปฏิรูปการเมือง ยังมีหัวข้ออื่นๆ อีก ทั้งประเด็นปฏิรูปพรรคการเมือง โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าจะต้องกำจัดพรรคการเมืองที่มีเจ้าของคนเดียวที่ควบคุมโดยนายทุน และให้มีพรรคการเมืองที่เป็นของมหาชน รวมถึงประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจที่จะต้องทำการศึกษาอีกมาก ในกระบวนการประชาธิปไตย คสช.ไม่ได้น่ารัก แต่เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นจะต้องเร่งทำงานตามโรดแม็พที่หัวหน้า คสช.กำหนดไว้ โดยข้อมูลการปฏิรูปทั้งหมดจะรวบรวมให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ เพื่อส่งให้สภาปฏิรูป พิจารณาต่อไป

ปัดวางคนเพื่อสืบทอดอำนาจ

ภายหลังการกล่าวเปิดงาน พล.อ.สุรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คสช. ไม่มีการวางคนเพื่อสืบทอดอำนาจ ส่วนการปฏิรูปนั้นคงไม่เสร็จในเร็ววัน ทั้งนี้ระยะเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือการปกครองที่ให้ประชาชนมีความสุข ส่วนเรื่องการปรับย้ายนายทหารในปีนี้นั้น แต่ละเหล่าทัพก็จะพิจารณาและเสนอมาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลตามปกติ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อถึงวันประชุมคณะกรรมการปรับย้ายจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีตนก็พร้อมจะทำหน้าที่แทนในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อถามว่าการปรับย้ายข้าราชการต่างๆ จะดำเนินการหลังจากที่มีรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละส่วนราชการที่รับผิดชอบ ส่วนการปรับย้ายข้ามหน่วยต้องมาพิจารณาร่วมกัน ผู้สื่อข่าวถามว่าตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพจะว่างลงในปีนี้ จะมีการต่ออายุราชการหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นไปตามวงรอบ เมื่อถามย้ำว่าแล้วตำแหน่ง ผบ.ทบ.จะว่างหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ.

“หญิงหน่อย” แนะตั้งสภาธรรมาธิปไตย

ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างอนาคตไทย กล่าวในการเสวนาวิชาการ “ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยธรรม” ครั้งที่ 2 เรื่อง “พุทธวิถีเชิงบูรณาการแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบัน” ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ตามหลักสูตรพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า วิกฤติการเมืองไทยในรอบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรก ตลอด 82 ปีการเมือง มีการรัฐประหาร 20 ครั้ง เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว 18 ฉบับ และรัฐธรรมนูญมีการปัญหามาตลอด เกิดจากการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่ 200-500 คน โดยเรามองว่า คนเหล่านี้เป็นเทวดา เป็นคนดี รู้ทุกปัญหา เมื่อคลอดรัฐธรรมนูญออกมากลายเป็นปัญหา อยากเสนอว่าการจัดทำร่างธรรมนูญฉบับถาวร ควรให้มี “สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน” ควบคู่ จัดตั้งขึ้นก่อนมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนความต้องการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งคงไม่เสียเวลามาก ใช้เวลาแค่ 6 เดือน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.ประกาศใช้เวลาปีครึ่งในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 58 และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ อยากให้มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนด้วยว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

หนุนทำประชามติ รธน.ฉบับใหม่

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ จึงไม่ควรซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมอีก โดยควรอาศัย “สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน” เป็นเครื่องมือระดมความคิด ประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างธรรมนูญที่เหมือนเป็นการทำสัญญาประชาคม ใหม่ของคนไทยทั้งประเทศ แบบ “Bottom Up” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2517 ที่ให้อาศัยประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านเป็นรากฐานรองรับประชาธิปไตยขั้นประเทศ ซึ่งถ้าคนไทยรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ที่ตนเองมีโอกาสร่วมคิดร่วมทำร่วมลงประชามติรับรองก็จะเกิดการยอมรับ และเคารพหวงแหนในกติกาที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้การทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญต่อไปทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนจะออกมาต่อต้าน และการทำรัฐประหารก็จะหมดไปจากประเทศไทย อีกทั้งจะส่งผลให้มีการคัดเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน จะเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตยของคนไทยทั้งประเทศ จำลองรูปแบบการถ่วงดุล “อำนาจธิปไตย” ระดับประเทศไปไว้ที่หมู่บ้านชุมชน ให้คนในหมู่บ้านชุมชนส่งตัวแทนบ้านละ 1 คนมาร่วมออกเสียงในการประชุมสภาหมู่บ้านชมนุม แล้วเลือกประธานสภามาทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม (เหมือนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร) จากนั้นเลือกคณะกรรมการหมู่บ้านชุมชน (เหมือนเลือกรัฐบาล) สภาหมู่บ้านชุมชนจะทำหน้าที่สร้างนโยบายสาธารณะ กติกาหมู่บ้านชุมชน ทั้งนี้ การพิจารณาใช้งบประมาณตามโครงการที่รัฐบาลจัดสรรให้ เช่น งบกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล ถ้าคณะกรรมการทำงานไม่โปร่งใสให้ตัวแทนแต่ละบ้านเข้าชื่อเปิดประชุมสภา หมู่บ้านชุมชน เพื่ออภิปรายตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการได้ เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และถ้ามีปัญหาการตีความกฎระเบียบต่างๆ ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาตัดสินชี้ขาด (เหมือนการใช้อำนาจตุลาการ)

ทูตเกาหลีเชื่อมั่นโรดแม็พ คสช.

วันเดียวกัน นายชอน แจ-มัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยได้เข้าพบหารือกับนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี สถานการณ์การเมืองของไทย และสถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งนี้ นายสีหศักดิ์ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินการตามโรดแม็พ ของ คสช. 3 ขั้นตอน เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าทั้งสองประเทศจะร่วมกันสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน ในด้านต่างๆ ต่อไป ขณะที่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า สาธารณรัฐเกาหลีได้ติดตามสถานการณ์การเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด และมีความเข้าใจในความซับซ้อนของปัญหาในประเทศไทย โดยหวังว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืนในอนาคต ส่วนความร่วมมือในด้านทวิภาคีนั้น เกาหลีใต้จะยังคงสานต่อความร่วมมือที่มีกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค.นี้ เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ณ กรุงโซล ในฐานะประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี และความร่วมมือต่างๆ ในกรอบอาเซียนอีกด้วย

ถอนพาสปอร์ตอีก 3 โจกแดง

ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของผู้ที่ถูกหมายจับในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 รวมทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ และนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือเดินทางของบุคคลทั้ง 3 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวจริง โดยเป็นการดำเนินการตามกระบวนการหลังได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“องค์กรเสรีไทย” อ้างพบ กมธ.ยูเอ็น

ขณะเดียวกัน องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้เผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก “แนวร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คณะขององค์กรเสรีไทยฯ นำโดยนายจรัล ดิษฐาภิชัย ผู้ประสานงานองค์กรเสรีไทยฯ ประจำยุโรป ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการด้านต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อรายงานสถานการณ์ทางการเมือง และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังจากกองทัพไทย ได้ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยองค์กรเสรีไทยฯ ได้เสนอบันทึกรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมทั้งขอคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด โดยนายจรัล กล่าวว่า องค์กรเสรีไทยฯ ได้ขอบคุณอียูที่ได้ยกเลิกการเดินทางของข้าราชการระดับสูงของไทยมายังอียู และยกเลิกการเป็นคู่สัญญาทางการค้ากับไทย ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างมาก ส่วนกระแสข่าวที่ว่าอียู ได้ยกเลิกหนังสือเดินทางข้าราชการของไทยนั้น ทางอียูยืนยันว่าเป็นเพียงข่าวลือ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

สาวไส้คนไทยด้วยกัน

นายจรัล กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการด้านต่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนของอียูได้สอบถามถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า ได้ดำเนินการอย่างไรกับปัญหานี้ ซึ่งผมตอบว่า ไม่ได้ทำอะไรมาก อาจจะเป็นเพราะกรรมการสิทธิฯ ในประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ อีกทั้งกรรมาธิการฯ ของอียู ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการที่รัฐบาลทหารไทยผลักดันแรงงานกัมพูชากลับประเทศเป็นจำนวนมากว่าเป็นข้อต่อรอง และเป็นการกดดันรัฐบาลกัมพูชามากกว่าที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แทนที่จะแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย” นายจรัล กล่าว และว่า คณะกรรมาธิการฯ ของอียู ยังได้สอบถามคณะขององค์กรเสรีไทยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ คสช.จะเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับคนไทย ซึ่งตนได้อธิบายว่า คงเป็นไปได้ยากในระยะเวลาอันสั้น เพราะ คสช.ยังไม่สามารถจัดระบบทางการเมืองในประเทศไทยที่จะป้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ที่ผ่านมา ต้องการกำจัดอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยส่วนการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ความผิดพลาดของการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา โดยใช้วิธีรายงานตัว ไม่ใช้วิธีการอุ้มหรือการฆ่า และต้องการปราบปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอย่างรุนแรงด้วยซึ่งกรรมาธิการฯ ของอียูได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้อย่างมาก และแสดงความเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามองค์กรเสรีไทยฯ มีกำหนดการที่จะเข้าพบเอกอัครราชทูตด้านสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสในวันที่ 10 ก.ค.นี้ด้วย.

“สุนัย” ถล่ม คสช.ไม่เลิก

นายสุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แนวร่วมเสื้อแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ศาลทหารออกหมายจับฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช.ด้วยถ้อยคำรุนแรงอีกครั้ง โดยระบุว่า หลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา แล้วนำกองกำลังทหาร พร้อมอาวุธครบมือและรถหุ้มเกราะไปปิดล้อมสถานทูตประเทศสำคัญหลายประเทศ เช่น สถานทูตสหรัฐอเมริกาและทหารได้ทำการตรวจค้นเจ้าหน้าที่สถานทูตที่เข้าออกทุกคน เพราะเกรงว่าจะมีรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้าไปขอลี้ภัย และขอความปลอดภัยในสถานทูตสหรัฐฯ นอกจากนี้ คสช.ที่มีการควบคุมตัวบุคคลที่เข้ารายงานตัวต่อ คสช.จนทำให้ประธานและรองประธาน คสช.ทุกคนในฐานะผู้บริหารรัฐ ไม่มีใครได้รับเชิญให้เข้าร่วมฉลองวันชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียวซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศมากไปกว่านี้ จึงขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช.ว่า 1. ใครเป็นคนออกคำสั่งให้นำกำลังทหารพร้อมอาวุธและรถหุ้มเกราะ ไปปิดล้อมสถานทูตสหรัฐ และทำไปเพื่อจุดประสงค์ใด ทำไปทั้งหมดกี่สถานทูต 2. นายทหารผู้รับผิดชอบซึ่งนำหน่วยทหารไปปิดล้อมสถานทูตนั้น ชื่อ-ยศ อะไร และสังกัดหน่วยไหน เพราะตามความเป็นจริง ได้มีการปิดชื่อ ยศ และหน่วยสังกัดทั้งหมดเหมือนกับที่ออกไปตรวจค้นบ้าน ส.ส.และประชาชน 3. การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้รับเชิญ เข้าร่วมงานวันชาติสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นผลจากการเข้ายึดอำนาจ รวมถึงปิดล้อมสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ด้วยใช่หรือไม่ และจะแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างไร

“สุเทพ” ทำบุญวันเกิด 65 ปี

วันเดียวกัน เวลา 10.30 น. ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ 50 รูป เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ปีที่ 65 โดยมีแขกมาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยานายสุเทพ พระเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำกปปส. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่มีความใกล้ชิดกับนายสุเทพหลายคน นอกจากนั้น ยังมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เข้าร่วมงานด้วย ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นจากการผ่าตัดไหปลาร้า ทั้งนี้ พระมหาเจริญ สุทฺธิญาณเมธี รักษาการเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ได้มอบหุ่นขี้ผึ้งจำลองพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานให้กับนายสุเทพด้วย โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนมารอร่วมงานตั้งแต่เช้า เพื่อร่วมอวยพรและขอถ่ายรูปคู่กับนายสุเทพเป็นที่ระลึกด้วย นอกจากนั้น ยังมีประชาชนบางส่วนนำซุ้มอาหารคาวหวานมาช่วยเลี้ยงแขกในงานด้วย ทั้งนี้ ภายหลังการทำบุญถวายเพลเสร็จ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ประกาศว่า นายสุเทพ มีความต้องการมอบข้าวสารเวชภัณฑ์ที่เหลือจากการชุมนุมให้กับบ้านคนตาบอดและองค์กรสังคมสงเคราะห์รวม 6 แห่ง
ooo

คลิปเกี่ยวข้อง...

ต่อต้านพรบ นิรโทษกรรม และ รัฐธรรมนูญกบฎ

https://www.youtube.com/watch?v=mrWgRZ3J4II