องค์รัฎฐาธิปัตย์ ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่จะใหญ่กว่านายกรัฐมนตรี
ที่มา
...
เรื่องเกี่ยวเนื่อง...
ไม่สืบทอดแต่ต้องคุมอำนาจ
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
“คสช.ไม่ได้มุ่งหวังจะสืบทอดอำนาจหรือเปลี่ยนกลุ่มผลประโยชน์แต่ประการใด คสช.พยายามแก้ไขเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริต คอร์รัปชันซึ่งเป็นการยากที่จะคัดสรรคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมัยใดยุคใดเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินได้เลย”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.ประกาศเจตนารมณ์ถึงการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ใช่ต้องการได้อำนาจแต่อย่างใด
ก็มีคำถามว่าในการดำเนินการตามโรดแม็ปในระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศนั้น คสช.จะวางบทบาทอย่างไร
คำตอบจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ที่ระบุว่า คสช.จะคงอำนาจคู่ขนานไปกับรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปประเทศโดยจะดำเนินการควบคู่กันไปจนกว่าจะหมดหน้าที่
นั่นก็หมายความว่า คสช.จะคงอยู่ต่อไปไม่มีการสลายตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวก็จะต้องกำหนดบทบาทอำนาจและหน้าที่ของ คสช.เอาไว้อย่างชัดเจน
พูดง่ายๆเป็นไปได้ว่ารูปแบบการดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะที่มีการกำหนดให้ คสช.อยู่บนยอดพีระมิดคือยังมีอำนาจสูงสุดเหนือรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูป
มีอำนาจที่จะควบคุมรัฐบาลในทุกมิติเพื่อทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การทหารและคุ้มครองรัฐบาลทางด้านการเมือง
และมีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะคุมอำนาจในส่วนของ คสช.และเป็นนายกฯโดยการเสนอชื่อของ สนช.
เป็นการสวมหมวก 2 ใบในเวลาเดียวกัน
ในส่วนของรัฐบาลก็จะทำหน้าที่บริหารประเทศได้อย่างอิสระไม่ต้องพะวงกับปัญหาการเมือง และความมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและปัญหาอื่นๆที่รอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ คสช.ได้มีการกวาดบ้านมาก่อนหน้านี้เพื่อให้เป็นแนวทางส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปให้ลุล่วง
เมื่อ คสช.ยังคงอำนาจเต็มๆไว้การแต่งตั้งบุคคลให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีของทหารที่จะเข้ามาคงจะมีไม่มากนัก มีความเป็นไปได้จะมีการดึงบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต ได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาทำหน้าที่เป็นส่วนใหญ่
ซึ่งจะทำให้หน้าตาของคณะรัฐมนตรีจะมีภาพลักษณ์ที่ดี ได้รับการยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะเวลาที่มีการกำหนดกรอบเอาไว้
แม้ว่าการคงอำนาจของ คสช.เอาไว้จะถูกมองในแง่ลบโดยเฉพาะจากต่างประเทศบ้าง แต่การมีรัฐบาล มี สนช.และสภาปฏิรูปก็เท่ากับว่าเป็นการคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องการ
เพียงแต่ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะนำไปสู่บทสรุปเท่านั้น
การที่ คสช.ยังคงอำนาจเอาไว้ก็คงจะศึกษาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองว่าด้วยการรัฐประหารหลายครั้งที่ประสบความล้มเหลว ทำให้ “เสียของ” ซึ่งนั่นเป็นเพราะวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่ต้องการเข้ามามีอำนาจเสียเอง
หรือการจัดการหลังจากยึดอำนาจโดยการโยนอำนาจให้รัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแล้วถอนตัวออกไปสุดท้ายก็เจ๊งไม่เป็นท่า
รูปแบบจึงต้องออกมาในลักษณะที่ คสช.ยังคงอำนาจต่อไปและมีรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดล้มเหลวที่ส่งผลต่อ คสช.โดยตรง
ไม่ต้องปฏิวัติเพื่อปฏิวัติซ้ำสองอีกครั้ง.
“สายล่อฟ้า”