วันอาทิตย์, สิงหาคม 07, 2559

'วรเจตน์' ให้กำลังใจ ทางทวงประชาธิปไตยอีกยาว ชี้จับตาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ





'วรเจตน์' ให้กำลังใจทางทวงประชาธิปไตยอีกยาว ชี้จับตาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ผลคะแนนการลงประชามติครั้งนี้ผิดคาดนิดหน่อย ตอนแรกคิดว่าคะแนนจะสูสีกว่านี้ ประเด็นที่สำคัญคือมันเหมือนให้อำนาจกับคสช. อย่างไรก็ตาม กติกาที่กำหนดเรื่องประชามติทุกคนก็ทราบว่าไม่ได้เสมอภาคเท่าเทียม ทุกคนที่ต่อสู้เรื่องโหวตไม่รับเสียเปรียบมากในทุกมิติ

"ผมประเมินเบื้องต้น คิดว่าส่วนหนึ่งคนไปโหวตรับน่าจะอยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว พวกเขาอาจสนใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญน้อยกว่าเรื่องอยากกลับไปสู่ระบบเลือกตั้ง อีกส่วนคือคงไม่ได้ทราบมากนักถึงเนื้อหา เอกสารที่ไปถึงบ้านประชาชนเป็นเอกสารสีฟ้าๆ ซึ่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเขียนส่วนดีของรัฐธรรมนูญ สารที่่ฝ่ายโหวตไม่รับไปไม่ถึง สารที่ผมส่งก็ไปไม่ถึงคนจำนวนมาก" วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์กล่าวต่อว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้นเป็นเรื่องน่ากังวลจริงๆ ดังที่หลายคนกล่าวไว้ แต่ในระยะอันใกล้อยากให้จับตาการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเกิดตามเวลาที่เคยกำหนดไว้หรือไม่

"อย่าลืมว่าทุกอย่างยังไม่จบ โลกยังไม่แตกสลาย ความพยายามในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยแท้จริงก็ต้องพยายามกันต่อ แต่ข้างหน้าคงยากเพราะกติกาล็อคว่าคงขยับอะไรยาก" วรเจตน์กล่าว

เขากล่าวขยายความเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า หลังจากนี้ กรธ.จะต้องเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับในระยะเวลาประมาณ 8 เดือน เช่น กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายสำคัญ เรื่องพรรคการเมืองต้องดูว่าเขาจะทำอย่างไรกับพรรคการเมืองต่อ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไหม หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ.ก็จะร่างต่อไป ถ้าเขาทำกฎหมายไม่เสร็จก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งก็ไม่ได้ 100% ตามโรดแม็พ แต่ตรงนี้คงเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องกดดันหรืออะไรกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรต่อข้อเรียกร้องที่ นปช.ต้องการให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมผู้ทำผิดกฎหมายประชามติ วรเจตน์กล่าวว่า ถ้าจะถือหลักประชาธิปไตยก็ควรเดินไปทางประชาธิปไตย ตอนนี้ด้านหนึ่งก็อ้างประชาธิปไตยแต่วิธีการในหลายกรณีก็ไม่ใช่ประชาธิไตย ดังนั้น เรื่องอะไรที่สามารถให้ผ่านไปได้ก็ควรให้ผ่านไป แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการออกเสียงประชามติไม่ได้แหล่งกำเนิดเดียวของความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า การออกเสียงประชามติที่ฟรีและแฟร์เป็นแหล่งความชอบธรรมที่สำคัญ แต่ที่เป็นอยู่ก็ไม่ฟรีและแฟร์ การที่ลงไปร่วมในกระบวนการโหวตเราก็รู้ว่ากติกาไม่แฟร์ไม่ฟรี ไม่เสมอกัน มันคงยากจะบอกว่าเป็นแหล่งความชอบธรรมที่สำคัญ แต่เมื่ออกมาว่าแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้แต่แพ้ในกติกาที่ไม่เสมอกัน แม้กระนั้นรัฐธรรมนูญจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าผ่านประชามติ เวลาเอาไปบังคับใช้จริงนั่นแหละ ตรงนั้นจะเป็นตัวบอกว่ามันจะดำรงอยู่ได้ไหม ต่อให้ตัวอักษรเขียนว่าแก้ยากก็ตาม ถึงคราวใช้จริงถ้ามีลักษณะไม่เป็นธรรมในทางโครงสร้างอย่างมากมันย่อมสร้างปัญหา นอกจากนี้การโหวตครั้งหนึ่งความผูกพันก็ใช่ว่าจะชั่วฟ้าดินสลาย ใช่ว่าผูกพันทุกเจนเนอเรชั่นข้างหน้า

"ผมเชื่อว่ามันเป็นชนวนความขัดแย้งข้างหน้าแน่นอน แม้ว่าตอนนี้ยังเร็วไปที่ประเมิน" วรเจตน์กล่าว

https://www.facebook.com/Prachatai/photos/a.376656526698.158748.108882546698/10153809356326699/?type=3&theater


Prachatai