วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2558

#FreeYuyee เรื่องสลดในการบังคับใช้กฏหมายไทย ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก

หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นการถอดเนื้อหาและเรียบเรียง จากบทความตีพิมพ์ในภาคส่วนของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ชื่อ Spectrum ฉบับประจำวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ เขียนโดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์

#freeyuyee เป็นป้ายบันทึก (hashtag) บนหน้าทวิตเตอร์อันหนึ่งที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีดารา นักร้อง นักกีฬา คนสำคัญระดับนานาชาติจำนวนมาก อาทิ ชากิร่า นักร้องหญิงเลือดโคลัมเบียน อาเลฮานโด แซ้งซ์ นักร้องชื่อดังของสเปน ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชั้นนำของโลก เชื้อสายสเปน ไลโอเนล เมสซี ดาวฟุตบอลของอาร์เจ็นติน่า นำไปใช้ขยายต่อกันอย่างพรั่งพร้อม

แต่อาจไม่ค่อยได้รับการใส่ใจมากนักในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสลดกระทบต่อสวัสดิภาพเด็กน้อยลูกครึ่งสเปน-ไทย ๓ คน อายุ ๑๑ ขวบ ๘ ขวบ และ ๓ ขวบ ผู้ที่มารดาวัย ๔๒ ปี อดีตนางแบบชื่อดังของไทย ชัชชยา ยู่ยี่ เกสตา รามอส ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในทัณฑสถานหญิงไทยมาแล้วหนึ่งปีเต็ม ในข้อหายาเสพติดที่ไม่ปรากฏหลักฐานของกลาง หากแต่จำเลยเซ็นรับสารภาพเมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าเสร็จแล้วจะปล่อยตัว

ที่ซึ่งลูกชายคนโตอายุ ๑๑ ขวบ เสาะหาข่าวและเรื่องราวเกี่ยวกับคดีของมารดาทางอินเตอร์เน็ตอ่านแล้วพิมพ์เก็บไว้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา 

วันหนึ่งเด็กชาย Sarit ตั้งคำถามกับพ่อว่า “ถ้าเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพบยาเสพติด (ในครอบครองของมารดา) ที่สนามบิน แล้วทำไมแม่ยังติดคุกอีกล่ะ”

กับอีกคำถามจาก Sahapol ลูกชายคนกลางอายุ ๘ ขวบ ที่ทำให้ผู้เป็นบิดาต้องอึ้ง ว่า “ปาป้า ใครล่ะจะช่วยพ่อได้ ถ้าหากตำรวจเป็นคนไม่ดี แล้วเราจะไปพึ่งใคร”

ใครล่ะจะช่วย ฟรานซิสโก รามอส ฉายา แฟร้งค์แห่งป่าสัตวแพทย์หนุ่มผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ของช่อง ดิสคัพเวอรี่ชื่อ ‘Wild Frank’ ซึ่ง ๒๔ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยแพร่ภาพประจำ สามีของยู่ยี่

เขาบอกว่าเขาพาลูกๆ ไปเยี่ยมแม่ที่ทัณฑสถานหญิงทุกวัน กระนั้นสภาพของยู่ยี่ดูไม่ได้ เธอหดหู่มากจนเชื่อว่าสักวันเธออาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย

ท่ามกลางความมืดมนในระบบกฏหมายและการบังคับใช้ของไทย มีแต่การได้เล่าความนัยแห่งคดีของยู่ยี่ผ่านออกสื่อฟ้องต่อทั่วโลกเท่านั้น จึงจะพอมีความหวังต่อการร้องเรียนให้ศาลนำคดีมารื้อพิจารณาใหม่

อีกทั้งเมื่อสองเดือนที่แล้วคุณแฟร้งค์ได้เริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ ๕ แสนรายบนเว็บ Change.org สำหรับการร้องเรียนให้ทางการรัฐบาลไทยนำคดีของยู่ยี่กลับมาพิจารณาใหม่ การรณรงค์ได้รับการตอบรับสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวสเปน และขณะนี่ได้มีคนเข้าร่วมลงชื่อแล้ว ๓๕๗,๗๐๐ ราย

คดีของยู่ยี่เริ่มเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ขณะยู่ยี่อยู่บนเครื่องบินจากเวียตนาม ๒๐ นาฑีก่อนร่อนลงสู่ท่าอากาศยาน แฟร้งค์ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งบอกให้รีบไปยังสนามบินโดยด่วน เพราะยู่ยี่มียาเสพติด

แฟร้งค์ไปถึงสนามบิน ๑๐ นาฑีหลังจากเครื่องลง ถามเจ้าหน้าที่ว่าขอดูยาเสพติดที่ว่ายู่ยี่มีมาได้ไหม ตำรวจบอกว่าไม่ได้ ยาได้ผ่านการตรวจสรรพคุณของเจ้าหน้าที่แล้ว กองบรรณาธิการสเป็คตรัมได้เห็นเอกสารการจับกุมยู่ยี่ที่แอร์ปอร์ต ระบุว่าเธอมียาเสพติดโคเคนในครอบครอง ๕ มิลลิกรัม มูลค่าตามท้องถนนแค่ ๑๒ บาท

ทว่าศาลไทยได้ตัดสินจำคุกยู่ยี่ ๑๕ ปี พร้อมค่าปรับอีก ๑.๕ ล้านบาท ข้อหามียาเสพติดในครอบครอง ๒๕๑ มิลลิกรัม กับความผิดฐานมีสัตว์ป่าไว้ครอบครองเช่นกัน ระวางโทษจำคุกเพิ่มอีกสามเดือน ที่ต่อมาภายหลังเพิ่มข้อหานำเข้ายาเสพติดต้องห้าม ที่ใช้อ้างปฏิเสธการยื่นประกันตัวขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้งด้วย

ที่ท่าอากาศยานนั่นเองเมื่อแฟร้งค์ไปเข้าห้องน้ำก็ได้พบกับชายไทยคนหนึ่งท่าทางเหมือนเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้าไปบอกกับเขาว่า ยังจำได้ไหมว่าเขาไม่ได้จ่ายเงิน ๔ แสนบาท

“เอกสารคำฟ้องในสาลที่สเป็คตรัมได้เห็น เจ้าหน้าที่ตำรวจให้การว่าเพื่อนตำรวจของเขาได้ยินเสียงร้องในห้องน้ำหญิงเขาเลยเข้าไปดู พบยู่ยี่อยู่ในนั้นเขาจึงได้ค้นกระเป๋าถือของเธอ พบยาเสพติดโคเคนอยู่ในห่อช็อคโกแล็ตเอ็มแอนด์เอ็ม

ที่สถานีตำรวจ ยู่ยี่ถูกปฏิเสธไม่ให้ได้พบทนาย และไม่ยอมให้มีการตรวจปัสสาวะ ทั้งที่เธอร้องขอ

เบื้องต้นเอยอมรับสารภาพว่าโคเคนเป็นของเธอ มันตกค้างมาแต่เมื่อตอนไปเวียตนาม เมื่อเธอให้การต่อศาลเมื่อถูกดำเนินคดีเธอบอกว่า ปริมาณโคเคนน้อยมากตำรวจแนะให้เธอเซ็นรับสารภาพเสียแล้วจะปล่อยตัวไป

ต่อมาเธอแก้ไขคำให้การว่า เธอรู้สึกไม่สบายถึงได้เข้าไปในห้องน้ำ ในนั้นมีคนแปลกหน้าผู้หนึ่งเข้ามาช่วยเหลือโดยแนะให้เธอกินช็อคโกแล็ตและยื่นซองเอ็มแอนด์เอ็มให้

ทันทีที่เธอเซ็นรับสารภาพที่สนามบินเธอถูกใส่กุญแจมือแล้วนำตัวไปยังสถานีตำรวจดอนเมือง เธอถูกคุมขังอยู่สองวัน คุณรามอสสามีจ่ายค่าประกันไป ๑ หมื่นบาทเพื่อที่จะได้โทรศัพท์มือถือของเขาคืน จากที่ถูกตำรวจยึดเอาไปเมื่อเขาถ่ายภาพเหตุการณ์จับกุมตัวยู่ยี่บางตอน พอได้คืนก็ปรากฏว่าเม็มโมรี่ค้าร์ดได้หายไปเสียแล้ว

คุณรามอสมีกำหนดจะต้องเข้าให้การในวันที่สองของการพิจารณาคดี ก็ถูกยกเลิกไป ฝ่ายจำเลยมีเพียงยู่ยี่คนเดียวที่ให้การต่อสู้ให้แก่ตนเอง...

หนึ่งอาทิตย์หลังจากที่ยู่ยี่เข้าไปติดคุกแล้ว ทนายของเธอได้ขอถอนตัว ให้เหตุผลว่าเขากลัวและไม่อยากเจอกับปัญหายิ่งกว่านี้ ทนายคนต่อมาก็อยู่ไม่นานขอถอนตัวเช่นกัน อ้างว่าคดีนี้ “ยุ่งยากมาก”

คุณรามอสเชื่อว่าประวัติการติดยาของยู่ยี่ในอดีตถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานปรักปรำเธออย่างง่ายๆ แม้ว่าเขายืนยันว่าเธอเลิกเสพติดมาเป็นเวลา ๑๓ ปีเต็มแล้ว อีกทั้งเธอได้เข้ารับการรักษาในรีแฮบฯ เข้าร่วมโครงการเอเอ (คนติดเหล้านิรนาม) และโครงการยาเสพติดนิรนาม (Narcotics Anonymous)

“ผมไม่ได้บอกว่าในอดีตยู่ยี่เธอเป็นนักบุญนะ” คุณรามอสยืนยัน “แต่ผมประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าในวันที่ถูกจับกุมยู่ยี่ไม่ได้เสพโคเคนเลยแม้แต่นิด”

“วิถีอย่างไทยๆ คุณต้องหุบปาก นิ่งฟังและนั่งรอเท่านั้น แต่นี่มันปีหนึ่งแล้วนะ ลูกๆ ของผมจำเป็นต้องอยู่กับแม่ นี่มันไม่ใช่ระบบยุติธรรมหรอก นี่มันคอรัปชั่น พยายามปกปิดความผิดพลาดของตำรวจ

หลังจากที่ยื่นคำร้องไปแล้วหกครั้ง และได้เห็นชัดว่าใครคนหนึ่งที่มีอิทธิพลล้นหลามต้องการให้เธอติดอยู่ในนั้นนานๆ เราทำได้อย่างเดียวเวลานี้คือออกมาพูดกับสื่อ แม้มันจะทำให้ผมถูกกระสุนฝังในหัวก็ตาม”

ใครคนหนึ่งที่มีอิทธิพลล้นหลามซึ่งคุณแฟร้งค์พาดพิง น่าจะโยงใยกับการถูกทวงถามเงิน ๔ แสนบาทโดยชายนอกเครื่องแบบในห้องน้ำที่แอร์พอร์ตก็ได้

แฟร้งค์และยู่ยี่ สองสามีภรรยาเป็นนักกิจกรรมกู้ภัยสัตว์ป่าด้วยกันมากว่าสิบปี ด้วยการเป้นอาสาสมัครของสมาคมพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย เขาช่วยกันช่วยชีวิตและปลดปล่อยสัตว์ป่าแล้วกว่าพันตัว

เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ทั้งสองได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ถึงการกักขังลูกเสือดาวตัวหนึ่ง จึงไปช่วยเหลือออกมาแล้วส่งให้กับสวนสัตว์ดุสิต

ลูกเสือดาวมักลักลอบนำส่งยุโรปโดยซ่อนในกระเป๋าสัมภาระทำเงินได้ตัวละ ๑ พันยูโร (ราว ๓๘๐,๐๐๐ บาท) ถ้าเป็นเสือดำ หรือที่ลายจุดสวยงามเป็นระเบียบ สนนราคาจะสูงขึ้นไปอีก ๕ เท่า ราคาลูกเสือดาวพันธุ์อินโดจีนที่ยู่ยี่กับแฟร้งค์ช่วยออกมาได้นั้นอยู่ที่ครึ่งล้านบาท

แต่ปรากฏว่างานนี้ทั้งสองไปขวางทางผู้ยิ่งใหญ่ในไทยคนหนึ่งเข้าโดยไม่รู้ตัว

“ถ้าเรารู้ว่าลูกเสือตัวนี้เขาจับไว้ส่งให้ตามใบสั่งผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เราก็คงไม่ไปช่วยออกมาหรอก” แฟร้งค์เปิดใจ

“หนึ่งอาทิตย์หลังการช่วยปลดปล่อยลูกเสือดาวตัวนี้ มีตำรวจในเครื่องแบบสองนายขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาสองสามีภรรยาที่บ้าน เรียกร้องจะเอาเงิน ๔ แสนบาท โดยไม่แจ้งว่าเป็นค่าอะไร

ต่อมาอีกหลายอาทิตย์ตำรวจยกกำลังเข้าค้นบ้าน ตั้งข้อหาว่ามีสัตว์ป่าต้องห้ามไว้ในครอบครอง มิพักที่ทั้งสองพยายามอธิบายว่าสัตว์ราว ๕๐ ตัวเหล่านั้น ช่วยชีวิตมาจากการบาดเจ็บและอยู่ในระหว่างพักรักษาก่อนปล่อยกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตำรวจไม่ฟัง ยึดเอางูสี่ตัวและนกฮูกหนึ่งตัวไป

เลขาธิการใหญ่สมาคมผู้คุ้มครองสัตว์ป่า รอเจอรื โลหะนันท์ พยายามให้ข้อเท็จจริงแก่ตำรวจว่ายู่ยี่เป็นอาสาสมัครของสมาคม ได้รับการยกเว้นจากกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าให้เก็บสัตว์เหล่านั้นไว้เพื่อเยียวยาได้ ทั้งนี้โดยประสานกับกรมวนอุทยาน

แต่ว่า “ปัญหาของกฏหมายไทยอยู่ที่มันเลือกปฏิบัติกันได้” คุณรามอสบ่น “เจ้าหน้าที่ทำเป็นมองไม่เห็นกับคนที่มีเส้นสายโยงสูง และพวกลักลอบจับสัตว์ป่า”

หนึ่งเดือนหลังการบุกเข้าค้นบ้าน ยู่ยี่กับแฟร้งค์ได้รับการเยือนจากตำรวจอีกครั้ง คราวนี้มานอกเครื่องแบบ สวมบู๊ท เสื้อขาว กางเกงยีน เรียกเงินสี่แสนอีก

“ผมถามว่าทำไมเราต้องจ่ายด้วยล่ะ” รามอสเล่า “เขาบอกว่าคิดหน่อยสิ คิดหน่อย จากนั้นก็บอกว่าลูกเสือดาวตัวนั้นจับไว้เพื่อส่งให้ใคร (ที่สำคัญ) คนหนึ่ง


เงินที่เรียกเก็บเป็นค่าเสียหายจากการที่ปล่อยลูกเสือตัวนั้นไป”