วันเสาร์, มิถุนายน 20, 2558

7 นักศึกษาดาวดิน กับภูมิหลัง ทัศนคติ และ"จุดยืน"ที่ไม่เคยเปลี่ยน


ฉายแล้ววันนี้ทั่วประเทศ‬!!!

ที่มา เวป ILAW
19 มิถุนายน 2015

ภาพนักศึกษานั่งคุกเข่าตากฝนกันไม่ให้ตำรวจเข้าไปทำร้ายผู้ชุมนุมที่ประท้วงคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 เป็นภาพได้ได้รับการส่งต่อไปในเว็บบอร์ด และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มีคนจำนวนมากเข้ามาคอมเมนท์แสดงความชื่นชม นักศึกษาในภาพ คือนักศึกษากลุ่มดาวดาวดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังการรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 ปัญหาเรื่องผลกระทบของการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อชาวบ้านทวีความตึงเครียดขึ้น บางพื้นที่มีทหารเข้ามาแสดงตัวแสดงบทบาทเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการต่างๆ รวมทั้งจำกัดไม่ให้ชาวบ้านใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิชุมชนในการจัดการพื้นที่

เดือนพฤศจิกายน 2557 "ดาวดิน" ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังสมาชิกกลุ่ม 5 คน แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว คัดค้านการรัฐประหาร ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชน ขณะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น หลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มกระแสวิจารณ์ว่า ดาวดิน อาจเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน

ขณะที่นักศึกษากลุ่มดาวดินเห็นว่าการรัฐประหารกับปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน พวกเขาออกมารวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง ด้วยการชูป้ายไม่เอารัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร เป็นเหตุให้นักศึกษา 7 คน ถูกจับและดำเนินคดี ฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกโดนอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44

8 มิถุนายน 2558 จากเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 8 มิถุนายน 2558 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น นัด 7 นักศึกษากลุ่มดาวดิน เข้ารายงานตัว แต่กลุ่มดาวดินเห็นว่าการถูกจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม จึงประกาศจะไม่ไปรายงานตัว และจัดกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แทนการเข้ารายงานตัว

18 มิถุนายน 2558 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีในวันที่ 18 มิถุนายนเป็นวันสิ้นสุดการผ่อนผันการเข้ารายงานของนักศึกษากลุ่มดาวดินตามหมายเรียก หากไม่มารายงานตัว (ตามกำหนดวันที่ 19 มิถุนายน 2558) เป็นไปได้ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเพิ่มระดับเป็นการออกหมายจับ

ภายใต้สถานการณ์ที่การแสดงออกทางการเมืองถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และสถานการณ์ที่พวกเขาอาจจะถูกจับเข้าคุกเมื่อไรก็ได้ ไอลอว์จึงขอเปิดมิติและมุมมองอื่นๆ ว่าด้วย ปูมหลัง ประสบการณ์ ในรั้วมหาวิทยาลัยและความรู้สึกนึกคิดของคนหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ที่มีต่อสังคมที่เขาอยู่อาศัยและพบเจอกับมันทุกวัน โดยทั้งเจ็ดยืนยันเหมือนกันว่า “ถ้าจะติดคุก เพราะชูป้ายก็ให้มันรู้กันไป”





อาร์ตี้ - ศุภชัย ภูครองพลอย นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 หรืออีกฉายาที่เพื่อนๆ เรียก “ชูศรี” เพราะหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับนักแสดงตลกชื่อดัง และมีบุคลิกท่าทียียวน ตลกโปกฮา

อาร์ตี้เป็น ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวข้าราชการ โดยทั้งพ่อและแม่เป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในชั้นมัธยม อาร์ตี้เลือกเรียนสายวิทย์ เพราะอยากเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพในมหาวิทยาลัย อดีตเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าตอบปัญหาวิชาการบ่อยครั้ง เคยเข้าร่วมแข่งขันตอบคำถามภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์ ของ กสทช. และยังเป็นผู้สอบแอดมิดชั่นเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยคะแนนสูงสุดในปี 2554 อีกด้วย

อาร์ตี้บอกว่าที่บ้านมีส่วนผลักดันให้เขาเรียนนิติศาสตร์ แม่ของเขาถึงขนาดบอกว่า ให้เป็นผู้พิพากษาให้ได้

“ที่บ้านมีความตื่นตัวทางการเมือง แต่ตัวผมไม่ได้สนใจการเมือง จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นก็อ่านข่าวบ้างแต่ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว รุ่นพี่ดาวดินซึ่งอยู่ชมรมฟุตบอลเป็นผู้แนะนำให้อาร์ตี้รู้จักกับดาวดิน แรกๆเขาก็แค่เข้าไปสังสรรค์ แต่ต่อมาก็เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นปัญหาต่างๆ”

อาร์ตี้ไปลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มดาวดินครั้งแรกที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่การลงพื้นที่ที่เขาประทับใจที่สุด คือการลงพื้นที่ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ครั้งนั้นเขาเข้าไปกินอยู่ร่วมกับชาวบ้านในที่ชุมนุมเป็นอาทิตย์ ได้ซึมซับเอาความโรแมนติกของการต่อสู้ ได้ร่วมเป็นกำแพงมนุษย์กันไม่ให้กันไม่ให้ตำรวจปะทะกับชาวบ้านในวันที่ 8 กันยายน 2557

อาร์ตี้เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าการทำกิจกรรมของตนจะนำไปสู่การถูกตั้งข้อหา เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ทำได้โดยอิสระ แต่เมื่อมีการรัฐประหารทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตอนแรกก็สงสัยว่าการรัฐประหารกับเรื่องในพื้นที่มันเกี่ยวกันยังไง แต่พอเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวก็พบว่าการรัฐประหารกับเรื่องในพื้นที่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะปัญหาในพื้นที่ก็มาจากนโยบายของส่วนกลาง

ที่บ้านก็เคยติงเรื่องการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง อยากให้เคลื่อนแค่เรื่องในพื้นที่ ก็เลยพยายามอธิบายให้คนในครอบครัวฟังว่า ปัญหาในพื้นที่กับการรัฐประหารเกี่ยวพันกัน วันที่ออกไปชูป้ายแล้วถูกจับที่บ้านก็บ่นว่าทำไมต้องไปเคลื่อนเป็นแนวหน้า แต่ที่บ้านก็เข้าใจและเคารพการตัดสินใจ สำหรับทิศทางในอนาคตก็จะทำกิจกรรมและสู้ต่อไป จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข แม้ว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่หากปัญหาในพื้นที่ยังมีอยู่ก็คงจะต้องสู้ต่อ



น้อย - อนุรักษ์ สุนทรารักษ์ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 อายุ 22 ปี เด็กหนุ่มตัวเล็กแต่รอยยิ้มกว้างใหญ่ จากจ.ร้อยเอ็ด สมาชิกใหม่ของกลุ่มดาวดินเล่าถึงพื้นเพทางบ้านว่า พ่อของเขารับราชการครู แม่ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

น้อยเล่าถึงเรื่องการเรียนมหาวิทยาลัยของเขาว่า ครั้งแรกเขาเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ อยู่หนึ่งปี แต่ทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี จึงย้ายไปเรียนคณะวิศวะฯ แต่ด้วยความที่เขาสนใจการเมือง การเรียนวิศวะจึงไม่อาจตอบโจทย์ความสนใจของเขา น้อยจึงวางแผนที่จะกลับไปเรียนนิติศาสตร์อีกครั้ง

น้อยเล่าถึงความฝันวัยเด็กของเขาว่า เขาเคยดูสารคดีรายการหนึ่ง เกี่ยวกับตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งเรื่องการทำงานและการไปสอนหนังสือเด็กในพื้นที่ห่างไกล น้อยรู้สึกว่าเมื่อเขารู้สึกหัวใจพองโตและอยากทำงานเป็นตำรวจตระเวนชายแดน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปตามฝัน
สำหรับความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการเมือง น้อยดูข่าวการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แต่มาเริ่มทำกิจกรรมจริงๆจังๆ ก็เมื่อได้รู้จักกับกลุ่มดาวดินโดยบังเอิญเพราะมีรุ่นพี่ชวนไปสังสรรค์ที่บ้านดาวดิน ครั้งแรกที่รู้จักคนในกลุ่มนี้ น้อยคิดว่าคนที่นี่คุยกันเรื่องแปลกๆ เช่น เรื่องของ เช กูวารา แต่เมื่อได้รู้จักมากขึ้น เขาก็รู้สึกเหมือนได้เปิดโลกใบใหม่

เมื่อน้อยมีโอกาสไปลงพื้นที่ที่มีปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เขารู้สึกมีแรงบันดาลใจว่า การเรียนรู้จากชาวบ้านเพียงอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว เขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมทำอะไรสักอย่าง หลังจากไปลงพื้นที่ น้อยก็เริ่มทำกิจกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น

น้อยเล่าว่า ก่อนการรัฐประหาร การเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมเป็นไปอย่างอิสระและไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่หลังการรัฐประหาร ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มีทหารเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากนัก

ปัจจุบันตำแหน่งหน้าที่ในกลุ่มดาวดิน น้อยเป็นฝ่ายข้อมูลประจำพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล ประเด็นปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม อำเภอ ท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งหนึ่งบริษัทที่มาทำโครงการพัฒนาจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ กลุ่มนักศึกษาก็จัดเวทีคู่ขนาน ปรากฎว่าในวันงาน มีรถเครื่องเสียงเข้ามาในพื้นที่ที่กลุ่มนักศึกษาจัดงาน พร้อมประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านไปร่วมเวทีของฝ่ายรัฐแทน เมื่อเห็นว่ามีรถเครื่องเสียงเข้ามารบกวน น้อยก็ออกมาถ่ายรูปทหารที่มากับรถ เขาจึงถูกทหารคนหนึ่งในนั้นกระชากคอเสื้อ แล้วสั่งห้ามถ่ายรูป

น้อยเล่าว่า เพื่อนๆของเขาส่วนใหญ่ รวมทั้งเพื่อนที่ไม่ใช่นักกิจกรรม ยังคงให้กำลังใจเขา เพื่อนบางคนบอกกับเขาว่า เห็นด้วยกับเรื่องที่เขาเคลื่อนไหว แต่ไม่กล้าเคลื่อนไหวเอง อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเขา กลับแสดงความกังวล แม่ของน้อยตัดพ้อว่า เคลื่อนไหวตอนนี้ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา แต่ก็ยังเคารพการตัดสินใจของเขาอยู่



ไนซ์ ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 อายุ 20 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์เล่าว่า เขาเพิ่งมาเริ่มสนใจการเมืองหลังเข้ามหาวิทยาลัย สมัยเป็นเด็กเขายังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ตอนรัฐประหารปี 49 เขายังดีใจอยู่เลยเพราะได้หยุดเรียน

ตอนเด็กๆ ไนซ์ฝันจะเป็นนักบิน แต่สุดท้ายต้องเรียนนิติศาสตร์ เพราะที่บ้านเชียร์ให้เรียน การเรียนคณะนิติศาสตร์ทำให้เขาได้มาสัมผัสประเด็นปัญหาทางสังคมการเมืองมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไนซ์เคย เป็นนักกีฬาแฮนด์บอลตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และมาเริ่มรู้จักกลุ่มดาวดินเพราะเพราะมีเพื่อนแนะนำเลยแวะไปสังสรรค์กับพี่ๆ กลุ่มดาวดินบ้างตามโอกาส แรกๆ เขาก็ไม่เข้าใจว่ากลุ่มดาวดินทำอะไร รู้แค่ว่าประเด็นที่กลุ่มดาวดินทำงานดูจะไม่เกี่ยวกับกฎหมาย หรือวิชานิติศาสตร์สักเท่าไหร่ การเข้ามาอยู่กับดาวดิน ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างทางการเมือง ที่ในห้องเรียนไม่ได้สอน

“เคยไปค่ายกับกลุ่มดาวดิน ไปลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำปิโตเลียม การเข้าค่ายครั้งนั้น ทำให้ได้เข้าใจปัญหาชาวบ้าน เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน และคิดว่าจะต้องทำอะไรให้มากขึ้นกว่าเดิม การทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน ทำให้โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น พัฒนาตัวเองมากขึ้น ต้องแบ่งเวลาเรียนและทำกิจกรรม ทำให้เวลาเที่ยวเล่นมีน้อยลง มีเวลาให้เพื่อนนอกแวดวงกิจกรรมน้อยลง” ไนซ์กล่าว



โต้ง - วสันต์ เสตสิทธิ์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 อายุ 23 ปี หนุ่มอุบลรูปร่างผอมเรียว น้ำเสียงสุภาพอ่อนน้อม เล่าถึงภูมิหลังครอบครัวว่า พ่อของเขาเป็นชาวนา แต่ก็ทำอาชีพเสริมอื่น เช่น รับจ้างไถนา รับจ้างเลื่อยไม้ เผาถ่านขาย ไปจนถึงเป็นช่างก่อสร้าง พ่อของโต้งมีความตื่นตัวทางการเมืองพอสมควร นอกจากจะติดตามข่าวสารจากสื่อแล้ว ยังเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลด้วย แต่ไม่ได้รับเลือก

เมื่อโต้งมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2553 โต้งไปลงพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งมีกรณีชาวบ้านคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ร่วมกับกลุ่มดาวดินและนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนหนึ่ง โต้งเล่าว่า การลงพื้นที่ทำกิจกรรมครั้งนั้น ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรียนไปเพื่ออะไร จะทำอะไรต่อไปหลังเรียนจบ ขณะเดียวกันการได้คลุกคลีกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนก็ทำให้เขาได้เรียนรู้มุมมองและวิธีคิดของคนที่มาจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มีต่อประเด็นปัญหาเดียวกัน

เมื่อถามถึงผลกระทบของการทำกิจกรรมกับการเรียน โต้งบอกว่า แรกๆ เขาก็แบ่งเวลาได้อย่างดี แต่พอขึ้นปี 4 เขาก็เริ่มล้ากับการเรียน และผลการเรียนก็ต่ำลง แต่เขาก็ตั้งใจว่าจะเอาให้จบในปีนี้ อย่างไรก็ตามคงต้องดูเรื่องคดีด้วย เพราะหากถูกดำเนินคดีเพราะไปชูป้ายต้านรัฐประหาร และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก ก็คงต้องไปดร็อปเอาไว้ก่อน

ที่บ้านเองก็มีความกังวลเรื่องที่โต้งทำกิจกรรมจนอาจจะถูกดำเนินคดีเหมือนกัน โต้งบอกว่าพ่อกับแม่อยากให้รีบเรียนให้จบและบวชให้ ซึ่งเขาก็ตั้งใจอย่างนั้น

โต้งวางแผนอนาคตของตัวเองไว้ว่า อยากทำงานในแวดวงงานพัฒนา หรืองานด้านสื่อ นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะเขียนหนังสือ โดยโต้งเคยทำ หนังสือทำมือชื่อ “ กวีซีล๊อก” ออกขายในราคาหนึ่งบาท และเขียนกวีที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันโต้งรับบทบาทเป็นฝ่ายข้อมูลในพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์โคกหินขาว ประเด็นปัญหานิคมอุตสาหกรรม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวารสาร “ดาวดิน” เป็นวารสารที่ทำการเองเพื่อเผยแพร่ประเด็นปัญหาที่ทำงานและเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงออก



ไผ่ จตุรภัทร บุญภัทรรักษา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 บ้านอยู่ที่อ. ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ไผ่เติบโตในครอบครัวที่มีแม่เป็นทนายความ ส่วนพ่อก็เป็นทนายความสายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับทีมทองใบ ทองเปาว์ ความตื่นตัวทางการเมืองส่วนหนึ่งได้มาจากพ่อ เพราะตั้งแต่เด็กๆ ก็ตามพ่อไปตลอด ไปว่าความให้ชาวบ้าน ไปอบรมสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาไผ่เคยเป็นนักดนตรีพื้นเมืองสามารถเล่นดนตรีได้หลายชนิดเช่น พิณ โหวต แคน เคยเข้าร่วมแข่งขันดนตรีได้รางวัลอันดับหนึ่งภาคอีสานทั้งรุ่นประชาชนและเยาวชนมาเเล้ว

เมื่อเริ่มบทสนทนา เขาเล่าถึงชีวิตตอนเด็กๆ ที่เห็นภาพทนายความด้านสิทธิมนุษยชนว่า “ผมเกลียดพ่อด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านั้นเรามีฐานะ มีรถ มีบ้านหลังใหญ่ แต่พอพ่อทำแบบนี้ รับคดีชาวบ้านคนจนมา รับเขามาหมด เลยต้องขายทุกอย่าง แต่ก็ได้ความรู้สึกว่า เติบโตกับชาวบ้าน”

ไผ่พูดถึงจุดเริ่มของการที่อยากเข้าเรียนนิติศาสตร์ เพราะอยากเป็นผู้พิพากษา เงินเดือนเป็นแสน จะมีรถดีๆ ขับ แอร์เย็นๆ บ้านดีๆ เพราะเห็นพ่อเป็นทนายสิทธิแล้วจน จากคนที่เคยรวยเเล้วมาอยู่กะท่อม

กระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ไผ่เคยดูหนังเรื่องหนึ่ง เป็นหนังเกี่ยวกับนักศึกษาแนวแบคแพค ที่ออกไปทำกิจกรรมทางสังคม แต่พอเข้ามาในมหาวิทยาลัยจริงๆ มาเจอการรับน้องแบบเต้น “ไก่ย่างถูกเผา” เลยรู้สึกว่าผิดหวัง มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

ไผ่เล่าว่า เขามาเข้าใจพ่อจริงๆ ตอนอยู่ปี 1 เมื่อได้มาทำงานกับชาวบ้าน มาอยู่กลุ่มดาวดิน รู้จักดาวดินเพราะพี่เขาชวนไปที่บ้าน พี่รู้จักพ่อ เพราะพ่อเป็นทนายเกี่ยวกับคดีในที่ดิน เหมือนรุ่นพี่เคยได้ยินมาว่า ลูกของทนายอู๊ดนะ เรียนอยู่นิติศาสตร์ มข. พี่เขาเลยชวนไปสังสรรค์ที่บ้าน

“ก่อนหน้านี้รับรู้ทุกอย่าง แต่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ความรับรู้ตอนเป็นเด็กคือ ช่วยชาวบ้านเเล้วจนไง ช่วยชาวบ้านเเล้วไม่มีกินไง แต่ตอนนี้ลงรอยกับพ่อเเล้ว ภูมิใจมากเลย คุยกันถูกคอ"

ปัจจุบันไผ่รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักของของกลุ่มดาวดิน พื้นที่ที่รับผิดชอบหลักคือพื้นที่ปัญหาพิพาทพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัด ชัยภูมิ

“ช่วงลงพื้นที่กับชาวบ้านที่มีมีปัญหาพิพาทกับนายทุน ไม่รู้สึกว่าอันตราย เพราะเราไม่ได้ทำผิด เราจะไปกลัวอะไร มันเป็นเรื่องที่เราทำเพราะความคิดความเชื่อ ถ้าเราติดคุกก็อยู่ในคุก ถ้าไม่ติดคุกก็สู้ต่อ ติดคุกค่อยออกมาเเล้วสู้ต่อ ให้ติดยาวก็ติด ติดก็ดี ไม่ติดก็ดี ได้หมด” ไผ่กล่าวด้วยความฮึกเหิม



พายุ บุญโสภณ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 อายุ 20 ปี พื้นเพ เป็นคนอ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พ่อกับแม่แยกทางกัน พายุจึงอยู่กับตายาย ตาเป็นข้าราชการตำรวจเกษียน ยายเป็นแม่บ้าน

พายุเล่าว่า ตอน ม.4-5 ไปเรียนไฮสคูลที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาไปอาศัยอยู่กับแม่ ตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็ไตร่ตรองดูว่า มีวิชาอะไรที่เรียนเเล้วจะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จบไปไม่ได้ทำงานสายตรงก็น่าจะเป็นกฎหมาย ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่เคยรู้จักการทำกิจกรรมทางการเมือง หรือกลุ่มดาวดินมาก่อน

“ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก ก็เที่ยวไปตามประสาวัยรุ่น ทำกิจกรรมด้านกีฬาบ้าง (เป็นสมาชิกชมรมมวยสากลสมัครเล่น คณะนิติศาสตร์ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะของทางมหาลัยได้รางวัลรองชนะเลิศ) กระทั่งมาเจอรุ่นพี่ที่มาจากชัยภูมิเหมือนกัน พี่เขาเลย แนะนำว่า มีบ้านหลังหนึ่งที่มีรุ่นพี่ชัยภุมิอยู่เยอะ เลยมีโอกาสได้ไปอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นแวะไปส่งเพื่อน เเล้วเจอกลุ่มรุ่นพี่ชวนให้ร่วมวงสังสรรค์และสนทนากัน รู้สึกแปลกใจที่คนกลุ่มนี้ คุยเรื่องประเด็น ทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องปัญหาสังคม และหนังสือพวกแนวสังคมนิยม”

พายุเล่าความประทับใจครั้งแรกของการลงพื้นที่กับกลุ่มดาวดิน คล้ายกับเพื่อนคนอื่น คือ ไปรู้จักกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.เลย ได้เห็นปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า ก็รู้สึกหดหู่ เเละคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

“เดือนพฤศจิกายน 2557 ตอนนั้นที่ไปชูสามนิ้ว เพราะรู้ข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ที่ขอนแก่น และเคยอ่านข่าวที่นายกเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไปที่ไหนก็ได้ไม่มีใครต่อต้าน"

“ถือว่าเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งในชีวิต สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ผมชอบ การได้ช่วยเหลือคนอื่น และการไปชูป้ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ก็เพื่อพี่น้อง เราทำงานกับชาวบ้าน เราต้องการเปิดพื้นที่ให้สังคมเห็นว่า 1 ปีหลังรัฐประหารมันมีผลกระทบอย่างไรกับชาวบ้านบ้าง ในภาพฝันคิดว่าการที่เรายอมให้เขามาจับ เพื่อชูปัญหาประเด็นสิ่งแวดล้อมให้สังคมได้รับรู้ ได้คิดร่วมกัน ว่า ทำไมนักศึกษาที่ทำงานกับชาวบ้าน และชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ถึงโดนจับ !! เราอาจจะเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนได้ลุกฮือ ว่านี่คือเราอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นธรรม”

 



เบส - สุวิชา พิทังกร นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4(อยู่ระหว่างอนุมัติจบการศึกษา) อายุ22 ปี เบสบุคลิกภายนอกดูเคร่งขรึม แต่นั่นก็เป็นเพียงบุคลิกภายนอกจริงๆ เบสมีอีกชื่อที่เพื่อนๆเรียกกันติดปากว่า "สามเหลี่ยม " เนื่องจากบ้านอยู่หมู่บ้านสามเหลี่ยม ต. ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น จบมัธยมจากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น พ่อแม่รับราชการ แม่เป็นพยาบาล พ่อทำงานชลประทาน เบสเล่าว่า อยากมาเรียนคณะนิติศาสตร์ด้วยตัวเอง ความใฝ่ฝันตอนแรกอยากเป็นผู้พิพากษา เเล้วมาเปลี่ยนอยากเป็นนายร้อย แต่ก็สอบไม่ได้ เลยคิดว่าไม่ถนัดวิชาคำนวณ ถนัดอ่านและวิชาแนวบรรยายมากกว่า เลยเบนสายมาเรียนนิติศาสตร์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ด้วย เพราะแม่ก็เรียนจบนิติศาสตร์อีก 1 ใบ ทั้งที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

เบสเล่าว่า แรกเริ่ม รู้จักกลุ่มดาวดิน เพราะป้ายโครงการแนะนำค่าย ชื่อค่าย “นิติศาสตร์เรียนรู้สังคม” ค่ายนั้นไปที่ จ.กาฬสินธฺ์ ประเด็นเรื่องปิโตรเลียม ด้วยความเป็นเด็กที่เติบโตในเมือง จึงยังไม่เคยออกไปรับรู้ปัญหาสังคม ได้ไปเปิดอะไรโลกที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ว่าชาวบ้านโดนเอารัดเอาเปรียบขนาดนี้เลยเหรอ โดยส่วนตัวก็ไม่ชอบให้ใครเอารัดเอาเปรียบอยู่เเล้ว เช่น ระบบเกษตรพันธะสัญญา ที่นายทุนเอาสัตว์มาให้ชาวบ้านเลี้ยง ถ้าเลี้ยงไม่ดี ระบบน้ำไม่ดี ชาวบ้านต้องรับผิด และถ้าผลิตผลไม่ถึงก็ไม่รับซื้อ

ต่อมาขยับมาติดตามเรื่อง มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ "ตอนนั้นยิ่งรู้สึกอินมาก เพราะคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะนอกระบบอยู่เเล้ว ค่าเทอมแพงอยู่เเล้ว อย่างค่าเทอม 18,000 เนี่ย เราเป็นลูกข้าราชการพ่อแม่ยังจ่ายแทบไม่ไหว เเล้วถ้าเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาละ เขาจะมีโอกาสไหม"

ปัจจุบันเบสรับผิดชอบ ทำงานเต็มตัวอยู่ฝ่ายกฎหมายประจำพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล ติดตามประเด็นปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่พวกเขาไปเริ่มเปิด และจัดตั้งชาวบ้าน เบสเห็นจากประสบการณ์ตัวเองว่า หลังการรัฐประหารในปี 2557 การที่มีทหารเข้ามาเกี่วข้องทำให้เป็นอุปสรรคมาก อย่างที่จังหวัดเลย ทหารจะตรวจบัตรประชาชนทุกคนที่ผ่านเข้าออกพื้นที่ ตรวจนั่นตรวจนี่ ไปอยู่ในพื้นที่ไม่ถึงหนึ่งวัน ก็เริ่มมีกระแสคุกคาม

“อยากทำงานเส้นทางกฎหมาย คอยให้ทำปรึกษาประเด็นกฎหมาย อยู่ในระนาบการต่อสู้กับชาวบ้านอยู่ อยากเป็นทนายความทำคดีช่วยชาวบ้าน เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน” เบส เล่าถึงความฝันในอนาคตของเขา

เบสเล่าว่า หลังการออกไปชูป้ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 พ่อเคยบอกว่า มีทหารมาบอกว่า แม้จะทำเรื่องกับทางมหาวิทยาลัยไปแล้วว่าเรียนจบแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะอนุมัติหรือเปล่า เพราะยังเรื่องคตดีความนี้อยู่ พ่อจึงอยากไปเคลียร์ให้จบกับทางทหาร แต่เขายังยืนยันว่า จะขอต่อสู้ต่อไปในมุมของตัวเอง การจะเรียนจบหรือไม่ ไม่ควรจะเอามาเกี่ยวข้องกัน

เมื่อถามถึงความรู้สึกนึกคิดของการยอมเสี่ยงตัวเองมาถึงจุดนี้ เบสทิ้งท้ายว่า "เราในฐานะนักศึกษาและเรียนกฏหมาย และได้ทำงานกับพี่น้องชาวบ้าน หลังจากเกิดการรัฐประหาร การได้มาซึ่งอำนาจต่างๆของรัฐบาลทหารนั้นไม่ทีความชอบธรรม ออกกฏหมายเพื่อผลประโยชน์เพื่อพวกตัวเองและนายทุน และเกิดผลกระทบต่างๆนาๆที่สังคมไม่ได้รับรู้กับประชาชน ที่เราออกมาก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า รัฐประหาร. ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแถมยังกลับเป็นโจร ปล้นชิงทรัพยากรประชาชน เรามาชูป้าย ค้าน รัฐประหาร. ก็เพราะต้องการเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆของรัฐบาล"
ooo

คำประกาศจากใจ 7 ดาวดิน






เหตุที่เลือกมาเมืองเลย เพราะ พวกผมรู้ตัวว่ายังไงก็จะถูกจับแน่ๆ พื้นที่แห่งนี่เป็นพื้นที่แรกที่พวกผมทั้ง 7คนได้เริ่มเรียนรู้ในเรื่องเหมืองแร่ทองคำ (เหมืองแร่เมืองเลย) หากพวกเรา 7 คน ต้องเลือกว่าจะถูกจับที่ไหน พวกเราก็เลือกจะถูกจับที่นี่ ที่ที่พวกเราเรียนรู้ ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา 7 คน ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แต่เพียงพวกเราเป็นเเค่ตัวเเทนของชาวบ้านในการเคลื่อนไหว เป็นกระบอกเสียงในการที่จะป่าว


ประกาศให้สังคมรู้ว่าที่นี่มีการกดขี่ หากพวกเราจะถูกจับเพียงเพราะการชูป้ายแล้วพูดถึงสิ่งที่ชาวบ้านถูกละเมิด พวกเราก็ยินดีจะถูกจับ ถ้าเราไม่ถูกจับ ก็ไม่มีใครได้ยินเสียงของชาวบ้าน โลกใบนี้คงลืมไปแล้วว่ายังมีชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ที่ถูกกดขี่และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยกฎหมายและอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ที่พวกเราแลกกับอิสรภาพครั้งนี้ เพื่อจะทำให้เห็นว่าสังคมไทยไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก เราคือสามัญชนคนธรรมดาที่จะทำการเปลี่ยนแปลง โค่นล้มเผด็จการทหารและเราหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสามัญชนที่ตระหนักว่า แค่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็พอแล้ว ที่จะออกมาประกาศว่า ประสาอะไรกับพวกสามัญชนดาวดิน ฉันก็ทำได้เหมือนกับไอ้เด็กกะเลวกะราดพวกนี้แหละ นี้คือความจริง

เราจะไม่อ้อนวอนให้รัฐบาล คสช. มอบเสรีภาพให้เเก่เรา เราจะไม่ขอร้องพวกนายทุนสามานย์ด้วย เราจะรับประกันเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม ความยุติธรรม สันติวิธี ของเราด้วยตัวเราเอง

ประกาศจาก 7 ปีศาจแห่งดาวดินที่ถูกหมายจับในข้อหาชูป้ายผ้า หากพวกคุณอยากจะจับตัวพวกผม มาหาพวกผมแล้วเอาตัวไป พวกผมไม่ขัดขืนคุณแม้แต่น้อย

7 ดาวดิน
19 มิถุนายน 2558
ooo


กลุ่มเพื่อนดาวดินที่ถูกจับ แต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัว จากการนำรูปวาดของเพื่อนนักศึกษาดาวดินเจ็ดคนไปวางบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น


ขอขอบคุณ : เพจ ดาวดิน และเวป ILAW