เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "หลักนิติธรรมกับวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 ผลกระทบต่อประเทศไทย" โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ศาลเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงต้องมีความเป็นอิสระจากการถูกกดดันของอำนาจอื่นๆ และอิสระจากอคติของตัวเอง แต่ตนเห็นองค์กรอิสระไทยและศาลไทย บางเรื่องยังมาไม่ถึงหรือยังไม่ได้วินิจฉัย ก็มีการแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งแสดงว่าไม่ได้เป็นอิสระจากตัวเอง ถือเป็นส่วนที่ทำให้คนไม่เชื่อถือคำวินิจฉัยที่ออกมา บ้านเราเมื่อมีวิกฤติ แล้วมองว่าสามารถล้มรัฐธรรมนูญได้เพื่อแก้วิกฤติ ทำให้ยุ่งไปเรื่อย ปัญหาอย่างหนึ่งคือนิสัยคนไทยที่ดัดจริตไม่พูดตรงไปตรงมา ชอบพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น สร้างวาทกรรมเสียดสีถากถาง แต่ไม่พิจารณาตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่คิดว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่มองว่าปัญหาอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง แล้วคิดว่าจะแก้ไขตรงนั้น ทั้งที่ต้องแก้ไขทั้งระบบ
“ปัญหาต่างๆไม่ใช่อยู่ๆจะเปลี่ยนไปได้เลย เช่น ภาษีมรดก มันต้องมีระบบกลไกที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป มิฉะนั้นจะเกิดความขัดแย้งทั่วประเทศ สังคมไทยจะไม่พูดตรงไปตรงมา ถ้าบอกว่าฉันเป็นคนดี มีคุณธรรมสูง เธอเป็นคนไม่ดี อย่ามาบริหารบ้านเมือง วัดจากอะไรยังไม่รู้เลย ลัทธิเต๋าบอกว่าคนที่พูดถึงคุณธรรมตลอดเวลาคือคนไม่มีคุณธรรม เพราะคนมีคุณธรรมจะไม่พูดให้คนอื่นรู้"นายโภคิน กล่าว
นายโภคิน กล่าวต่อว่า เรื่องการนิรโทษกรรมให้ตนเองนั้นเป็นเรื่องที่แปลกมาก และรู้สึกผิดหวังต่อศาลไทย เพราะการอภัยโทษครั้งแรกเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการการล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจะขอยกโทษให้ตนเอง ไม่ต้องรับผิดใดๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะขัดหลักนิติธรรมหรือไม่ เราต้องช่วยกันคิดว่าเราจะเลือกอะไร ระหว่างความมั่นคงของชาติกับหลักนิติธรรม ถ้าบ้านเมืองมีปัญหาแล้วจะล้มรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมไปก่อน แล้วสร้างใหม่ หรือจะให้กฎหมายที่มีอยู่แก้ปัญหาของตัวมันเอง ถ้าต้องเริ่มนับใหม่เหมือนที่ทำกันมา ตนมองว่าจะยิ่งสร้างปัญหา จึงขอให้การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย.
ที่มา
PEACE TV