สันติวิธีของมนุษย์ดาวดิน : จันจิรา สมบัติพูนศิริ
ที่มา มติชนออนไลน์
โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
"สันติวิธีช่วยยกระดับความเป็นมนุษย์ของทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ เวลา (ประท้วง) โดนหัว แล้วเราตีเขากลับมันง่าย แต่มันมีนัยทางการเมืองกว่าเวลาที่เรานั่งเฉยๆ เวลาโดนตีหัว"
ประโยคข้างต้นไม่ได้มาจากนักสันติวิธีสำนักไหน แต่เป็นบทสรุปจากกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติ พวกเขาคือ "ดาวดิน"นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเริ่มทำกิจกรรมกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองในจังหวัดเลยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
จากจุดนี้เอง สันติวิธีของดาวดินได้ถูกทดลองใช้ โดยปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนช่วงกลางปี 2556 เมื่อตำรวจเข้าสลายกลุ่มชาวบ้านจากตำบลนาโป่ง จังหวัดเลย ขณะจัดเวทีสาธารณะอภิปรายเกี่ยวกับเหมืองทอง นักศึกษาใช้ตนเองเป็นโล่มนุษย์กั้นระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาเกี่ยวแขนกันและนั่งลงขอเจ้าหน้าที่มิให้ทำร้ายชาวบ้านท่ามกลางสายฝน
สื่อบางสำนักถึงกับชี้ว่ากลุ่มดาวดินเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่ "ยืนเคียงข้างชุมชน"ขณะเดียวกันความเห็นในห้องสนทนาแห่งโลกออนไลน์อย่าง Pantip ถึงกับลงข่าวนี้ซ้ำ ทั้งยังชื่นชมกิจกรรมของนักศึกษาว่าหาญกล้าต่อสู้กับ "ทุนใหญ่อันทรงอิทธิพล" (http://pantip.com/topic/30967340)
ในปลายปี 2556 กลุ่มดาวดินได้รับรางวัล "เยาวชนต้นแบบ" จากรายการคนค้นคน ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี คอมเมนต์ส่วนใหญ่ในหน้าเฟซบุ๊กของรายการเห็นตรงกันว่าดาวดินคือ "ฮีโร่" ของคนรุ่นใหม่
ดาวดินเริ่มฝึกปฏิบัติการสันติวิธีแบบมวยวัด คืออาศัยดูภาพยนตร์เรื่องคานธี (1982) จากนั้นได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังจากนักปฏิบัติการและครูสันติวิธี
จนเข้าใจพลังของปฏิบัติการในฐานะเครื่องมือต่อรองกับอำนาจกลุ่มทุนและเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสื่อสารปัญหาของชาวบ้านกับสาธารณชน
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือดาวดินเป็นขบวนการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม คล้ายกับขบวนการชุมชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิตนในหลากหลายพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีถึงฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ดถึงตรัง ชัยภูมิถึงชุมพร น่านถึงบุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ถึงลำปาง เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมใน "รวมสถานการณ์: เมื่อทหารคืน "ความสุข" ในชุมชน," ประชาไท (11 มีนาคม 2558)) ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารต่างทำสัญญาปีศาจ ร่วมมือกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งทำมาหากินและวิถีชีวิตของชุมชน หากประชากรราวร้อยละ 46 ของประเทศอยู่ในชนบท (ตัวเลขจากกรมการปกครอง ณ ปี 2555) และต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตน
กลุ่มดาวดินและขบวนการชุมชนอื่นๆ กำลังยืนยันสิทธิของประชากรเกือบครึ่งเหล่านี้ ดาวดินคือ "คนใน" พวกเขาเป็นผลิตผลของระบบเศรษฐกิจอยุติธรรมในสังคมไทย มิใช่นักประท้วงโดยอาชีพที่ถูกว่าจ้างหรือชักจูงมา
ปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านทรัพยากรผูกติดกับปัญหาการเมือง พวกเขามิได้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์เท่านั้น แต่ในระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง กลุ่มนักศึกษายังป้องกันการใช้กำลังเกินขอบเขตของรัฐได้บ้าง ทว่าภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ได้มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายทหาร ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นจนมิอาจตรวจสอบได้ ทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าทหารในพื้นที่จะปลอดอิทธิพลจากกลุ่มทุน ด้วยเหตุนี้กลุ่มดาวดินจึงเห็นว่าประชาธิปไตยสำคัญต่อการพิทักษ์สิทธิชุมชน โดยมีสันติวิธีเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิของชาวบ้าน
แม้การประท้วงภายใต้รัฐบาลทหารลำบากและเสี่ยงอยู่แต่ก็กลายเป็นทุนแห่งความคิดสร้างสรรค์ให้กลุ่มหลายคนคุ้นภาพนักศึกษาดาวดินชูสามนิ้วประท้วงในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รวมถึงข่าวคราวการถูกดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่ที่คุ้นน้อยหน่อยคือกิจกรรมประท้วงแบบตลก พวกเขาเห็นว่าภายใต้การเมืองแบบปิดของรัฐบาลทหาร จำเป็นต้องคิดค้นรูปแบบกิจกรรมประท้วงใหม่เพื่อลดบรรยากาศความกลัวและการเมืองแบบอนุรักษนิยม "อารมณ์ขัน" และ "ความกวนประสาท" กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะสามารถแหย่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องคงภาพลักษณ์อันเคร่งขรึมไว้ ให้ตอบกลับแบบเกินเลย พวกเขาเห็นว่า "ผู้มีอำนาจไม่ค่อยกลัวคนที่ใช้กำลัง เพราะเขามีกำลังเยอะกว่าอยู่แล้ว พวกเราคิดว่าสิ่งที่เขากลัวที่สุดคือการทำให้ (เจ้าหน้าที่รัฐ) กลายเป็นตัวตลก...เพราะทำให้อำนาจเขาเล็กลง"
ตัวอย่างกิจกรรมเช่นนี้ได้แก่ การแต่งตัวเป็นคนป่าเพื่อประท้วง "ความล้าหลัง" ของการเมืองช่วงปี 2556 เป็นต้นมา หรือตอนช่วงรัฐประหารใหม่ๆ กลุ่มดาวดินไปยืนหน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่กลางเมืองขอนแก่น แล้วตะโกนถามกันเองว่า "รัฐประหารดีอย่างไร?" คนที่เหลือก็ให้เหตุผลเพี้ยนๆ กลับไป เพื่อสะท้อนให้คนที่เดินผ่านไปมาเห็นว่าการสนับสนุนรัฐประหาร "ไร้เหตุผล"
ล่าสุดเจ้าหน้าที่เรียกให้กลุ่มดาวดินไปรายงานตัวหลังจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กลุ่มดาวดินจงใจฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่โดยไม่ไปรายงานตัว ทว่าพร้อมยอมรับโทษ
คำประกาศอารยะขัดขืนแบบพิสดารปรากฏในวิดีโอคลิปเต้นประกอบเพลง "รอฉันรอเธออยู่" เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าพวกตนยินยอมให้มาจับกุม
ปฏิบัติการสันติวิธีข้างต้นของกลุ่มมีนัยสำคัญสามประการ
ประการแรกกิจกรรมของดาวดินสะท้อนนวัตกรรมการประท้วงแบบสร้างสรรค์ของขบวนการเยาวชน โดยพยายามข้ามพ้นรูปแบบการประท้วงเดิมๆ ที่เน้นสื่อสารข้อความโจมตีตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณี กลุ่มพยายามชี้ให้สังคมโดยรวมเห็นปัญหาของการเมืองแบบอำนาจนิยมภายใต้รัฐบาลทหาร กิจกรรมเล็กๆ ที่หลายครั้งดูเหมือนแหย่เล่นกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในสายตารัฐ จนต้องไล่จับกระทั่งนักศึกษาเพียงไม่กี่คน
ลักษณะเช่นนี้ใกล้เคียงกับกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาในยุโรปตะวันออก บางส่วนของโลกอาหรับ และแอฟริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21
ประการที่สอง หลายฝ่ายเห็นว่าอารยะขัดขืนของดาวดินอาจไม่สัมฤทธิผลนัก เพราะอารยะขัดขืนมุ่งฝ่าฝืนกฎหมายที่ถือว่าไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ยอมรับบทลงโทษจากการไม่เชื่อฟังของตน นี่อาจช่วยโน้มน้าวให้คนในสังคมเห็นความอยุติธรรมของผู้ปกครองได้ อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์เช่นนี้เกิดขึ้นภายใต้สังคมที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยอยู่บ้าง ดังนั้นจึงอาจไม่ได้ผลในสังคมไทยที่ผู้คนบางส่วนยังสนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เรียกว่าอารยะขัดขืนของกลุ่มดาวดินอาจคือ "ปฏิบัติการต้านอำนาจนิยม" (anti-authoritarianism) มากกว่า กิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาไม่กี่คนรบกวนมายาคติที่ว่าขณะนี้บ้านเมืองสงบ ไม่มีของผิดแปลก "กิจกรรมกวนประสาท" เปิดเผยให้เห็นความผิดปกติของสังคมภายใต้ความพยายามทำให้สังคมปกติมีสุข และช่วยให้กระบวนการที่บอกเราว่าอะไรเป็นจริง/ไม่จริง อะไรดี/ไม่ดี อะไรรักชาติ/ทำลายชาติ ฯลฯ ทำงานแบบติดขัด (detotalisation of truth claims) หรือกระทั่งฟังเพี้ยนๆ
ประการสุดท้าย ปฏิบัติการสันติวิธีของดาวดินช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงของความเป็นธรรมด้านทรัพยากร สิทธิชุมชน และประชาธิปไตย ไม่ควรหลงลืมว่าครั้งหนึ่งกลุ่มกลายเป็น "ฮีโร่" ของคนรุ่นใหม่เพราะต่อสู้เคียงข้างชุมชน
ผู้ที่เคยเห็นชอบกับกิจกรรมของดาวดินและต่อมาเชื่อว่ากลุ่มประท้วงรัฐบาลทหารเพียงเพราะถูกจ้าง ควรตั้งคำถามกับความเชื่อตน หากกลุ่มดาวดินยังเหมือนเดิม (คือสู้กับทุนภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยอย่างไร ก็สู้กับทุนภายใต้รัฐบาลทหารเช่นนั้น) อาจเป็นไปได้ว่าปัญหามิได้อยู่ที่นักศึกษา แต่คือชนชั้นนำทางการเมืองที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนในการฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังยอมรับการประท้วงได้บ้าง แต่ภายใต้รัฐบาลทหาร การประท้วงเรื่องเดิมกลายเป็นประเด็นความมั่นคงไปเสีย
จะดีจะชั่วระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมตัดสินชะตากรรมของตน โดยไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความสุขของคนในชาติ