วันจันทร์, มิถุนายน 29, 2558

มติชนวิเคราะห์การเมือง: "ยาแรง" ออกฤทธิ์ ท่าทีจาก "มหามิตร" ปฏิกิริยาต่อ "เกมยาว"



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์การเมืองไม่สะดวกสบาย ชวนให้ "หุดหิด" ในอารมณ์อยู่พอสมควร

"ข่าวดี" ในภาพรวมก็คือ ไม่มีการชุมนุมประท้วงแบบเผชิญหน้า ไม่มีปิดถนน ไม่มีการ์ดมาเดินข่มขวัญผู้คน ไม่มีเวทีที่โหมกระหน่ำความเกลียดชังระหว่างคนในชาติเดียวกัน ฯลฯ

แต่ "ข่าวร้าย" ก็คือ "การเมืองรูปแบบพิเศษ" ที่เชื่อกันว่าจะเป็น "ยาแรง" ใช้แก้ปัญหา ช่วยในการปฏิรูปประเทศ กำลังออกฤทธิ์ในทางตรงข้าม

และจะเป็น "ผลโดยตรง" หรือ "ผลข้างเคียง" ก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ มันได้กลายเป็น "เงื่อนไข" ให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้าง ในการจำกัดความร่วมมือ การช่วยเหลือ

ความจำกัดเหล่านี้ ขยายตัวและแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยเคยมีภาพเป็นประเทศเสรีนิยม เปิดกว้างต่อมิตรสหาย ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก

สงครามสีภายใน รัฐประหาร 2 ครั้งในรอบไม่ถึง 10 ปี เขยื้อนประเทศไทย จนเป็นอย่างที่เห็น

การเมืองพลิกเปลี่ยน เป็นการเมืองภายใต้การควบคุม รวมศูนย์อยู่ที่ คสช. มีกลไกสำคัญคือ "แม่น้่ำ 5 สาย" มาจากการแต่งตั้ง สรรหา

ความยุ่งเหยิงภายใน อย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลก่อน ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างถูกละเลย ไม่มีการบริหารจัดการ ไม่มีคนดูแล

กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นชาติที่มีปัญหาค้ามนุษย์ มีปัญหาการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบิน

เศรษฐกิจดำดิ่ง แม้ทีมเศรษฐกิจปลุกพระท่องคาถาว่าฟื้นแล้วๆ แต่หาคนเชื่อได้ยากเต็มที

เกิดปัญหา "ภัยแล้ง" ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเกษตรกรรมชั้นนำของภูมิภาค ประเทศส่งออกข้าว มีระบบชลประทาน คู คลอง ส่งน้ำทั่วถึง มีเขื่อน ฝาย มากมาย

กลับต้องมาแห่นางแมวขอฝน แย่งกันสูบน้ำจนคลองแห้งเป็นสายๆ อยู่ๆ น้ำหมดเขื่อน

ข้าวเป็นล้านๆ ไร่ ยืนต้นแห้งรอฝน

ทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้น ไม่มีกลไกรับรู้ที่รวดเร็วพอ บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแก้ไข ก็โดนมองเป็นเรื่อง "การเมือง"

เป็น "ผลด้านลบ" ที่เกิดขึ้น และเป็นภาระหนักยิ่งกว่าหนักของ "คสช."

ขณะที่ในทางการเมือง การจำกัดสิทธิ ข้อห้ามการแสดงออก แม้จะเป็นที่ชื่นชมของผู้สนับสนุนการรัฐประหาร

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารก็มีไม่น้อย

โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่า ปัญหาบ้านเมืองแก้ไม่ได้ด้วยการยกอำนาจให้คนกลุ่มเดียว

แต่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุน ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่าง

ทำให้วันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นวันเริ่มต้นของประชาธิปไตยในประเทศไทย ของปีนี้ มีความหมายมากเป็นพิเศษ

ขณะที่นักการเมืองส่วนมากปิดปาก ระวังตัวแจ เพราะไม่อยากถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติ สนทนาปัญหาบ้านเมือง

ถ้าเคลื่อนไหว ก็ออกไปในทางเดินสายไหว้พระ สะเดาะเคราะห์ ชิมมะยงชิด ทุเรียน อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร

กลายเป็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ อย่างกลุ่มดาวดิน หรือนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ กันแบบตรงๆ

หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

ล่าสุด สองกลุ่ม รวมตัวกันในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพยายามก่อนเข้าควบคุมตัว 14 นักศึกษาตามหมายจับในวันที่ 25 มิถุนายน

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่พอใจ กล่าวเตือนหลายครั้ง

น่าสังเกตว่าจำนวนคนออกมาเคลื่อนไหว มีไม่มากนัก แต่มีผลสะเทือนสูง

อาจเป็นเพราะมีผู้คนที่มีความรู้สึกร่วมจำนวนมากที่ไม่แสดงตัว แต่ติดตามข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย และสื่้ออื่นๆ

ภาพการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นประเด็นของการใช้อำนาจรัฐ เข้าจัดการกับฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

ข้อสรุปง่ายๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่คุ้มและไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายที่กุมอำนาจอย่างแน่นอน

ประวัติศาสตร์การเมืองชี้ว่า การรัฐประหารที่ผ่านมา หากเข้าเร็วออกเร็ว การลงจากหลังเสือ ปล่อยวางเปิดทางให้ระบบปกติทำงาน จะไม่มีปัญหามากนัก

เพราะรัฐประหารเป็นวิธีการที่ใช้ได้ชั่วคราว ยิ่งยืดเวลานาน จะยิ่งสร้างความเสียหาย

แต่เมื่อสรุปกันว่า รัฐประหาร 2549 เป็นรัฐประหาร "เสียของ" จึงเกิดแนวคิดที่จะไม่ให้เสียของ นำไปสู่ความพยายามยืดอำนาจ ด้วยข้ออ้าง "ปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง"

ความพยายามดังกล่าว เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ยิ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวขอไฟเขียว คสช.เพื่อตั้ง "กาสิโน" ซึ่งจะมีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีผู้ระบุถึงการตั้งพรรคใหม่ ยิ่งทำให้เกิดคำเล่าลือถึงการสืบทอดอำนาจ

การเคลื่อนไหว 24 มิ.ย. เป็นภาพสะท้อนปฏิกิริยาภายในประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศก็เต็มไปด้วยปฏิกิริยาเช่นกัน

อาทิ คำแถลงของนายเกล็น เดวีส์ ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ต่อกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. บ่งบอกถึงท่าทีของสหรัฐต่อสถานการณ์พิเศษในประเทศไทย อย่างตรงไปตรงมา

โดยย้ำว่าการจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทย การระงับความช่วยเหลือบางประการต่อประเทศไทย จะดำเนินต่อไปจนกว่าไทยจะมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ในหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ยังไม่ชัดเจนว่าคสช.จะเลือกเกมยาวหรือเกมสั้น

ตัวชี้วัดคือ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ในเดือนกันยายนนี้

การเมืองประเทศไทย จะคาราคาซังในลักษณะนี้อีกพักใหญ่

ตราบเท่าที่คนไทยส่วนหนึ่ง ภาคราชการและองค์กรอิสระ ยังหวาดหวั่นว่า การกลับสู่การเมืองปกติ มีการเลือกตั้ง จะทำให้ "ทักษิณ" หรือเครือข่ายกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่พรรคการเมืองเอง ยังไม่ได้ปฏิรูปตัวเอง ไม่ปรับเปลี่้ยนสร้างความหวัง ให้ความเชื่อมั่นแก่สังคมว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

พรรคหลักๆ อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่แข่งขันกันแบบไม่เผาผี แต่เอาเข้าจริงก็ก้าวไม่พ้นการยึดถือในตัวบุคคล

ใครก็ตามที่เข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาที่มี "องค์ประกอบ" ยุ่งเหยิง หากคลำไม่เจอ"ปม" อันเป็นหัวใจ และเริ่มต้นจากจุดนี้

คงจะต้องเดินวน รอเวลาเสียของอีกครั้ง


ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2558