วันอังคาร, มิถุนายน 30, 2558

มารู้จักกับ ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่ท้าให้คุณร้อง อีกครั้ง จาก "ประชาไท สัมภาษณ์"


คุยกับ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่ท้าให้คุณร้อง

ที่มา ประชาไท
ตีพิมพ์ครั้งแรก 2014-09-22

รายงานบทสัมภาษณ์ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ เพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้ เพื่อมอบให้กับผู้ถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ กับปรากฏการณ์ท้าให้ร้องผ่านยูทูบ

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีกระแสโดยเฉพาะในบรรดานักกิจกรรมทางสังคมออกมาร้องเพลงที่มีชื่อว่า “บทเพลงของสามัญชน” ในหลากหลายรูปแบบและมีการท้าส่งต่อให้คนอื่นร้องตาม พร้อมเผยแพร่ผ่านทางยูทูบ กว่า 50 คลิป

โดยครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เพลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โพสต์โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ ซึ่งในการเผยแพร่ครั้งแรกนั้นยังไม่มีชื่อเพลง ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ในแบบร้องหมู่พร้อมชื่อบทเพลงอีกครั้งเมื่อวันที 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ โดยเนื้อเพลงเป็นการให้กำลังใจกับคนที่ถูกคุกคามเสรีภาพ



การร้องหมู่ คนซ้ายสุดคือแก้วใส 1 ในผู้แต่งเพลงนี้

ประชาไท สัมภาษณ์ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาปริญญาโทสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ แก้วใส สามัญชน 2 ผู้แต่งเพลงดังกล่าว เพื่อดูถึงที่มาและความหมายของบทเพลง รวมทั้งมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่มีการร้องต่อผ่านยูทูบ


00000

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

ประชาไท : ทำไมถึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา?

ชูเวช : ตอนนั้นเพื่อนของเราถูกเรียกตัวหลังจากรัฐประหารไม่กี่วันแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเผชิญกับอะไรบ้างด้วยความเป็นห่วงเราก็เริ่มแต่งเพลงที่อยากจะให้เพื่อนเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในนั้นอย่างเข้มแข็งแต่สุดท้ายก็แต่งไม่ทันจบคนที่เราแต่งให้ก็ได้รับการปล่อยตัวมาเสียก่อน

พอเหตุการณ์เริ่มบานปลายมีการคุกคาม กุมขังนักกิจกรมรุ่นใหม่จำนวนมาก บุกค้นบ้านเรือนพร้อมอาวุธครบมือยามวิกาล ยึดทรัพย์สิน หรือ ขับไล่ที่อยู่อาศัยชาวบ้านไปก็มาก ความกลัวเริ่มแผ่ขยายปกคลุมไปทั่ว เราก็คิดว่าสิ่งที่เราน่าจะทำได้ดีที่สุดคือแต่งเพลงเพื่อมอบให้ทุกคนที่กำลังถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยกันโดยเฉพาะคนที่ยังอยู่ในกรงขัง

ทำไมถึงคิดว่าปัญหาการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ?

ชูเวช : หากเราฝันถึงสังคมที่ทุกคนเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกันและกัน แต่เราเลือกทำให้เสียงของใครที่เราไม่อยากได้ยินหายไป เราก็คงไม่มีวันที่จะสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมาได้ และหากเราตีความความหมายของความมั่นคงแห่งรัฐนั้นคือความมั่นคงในคุณภาพของประชาชน แต่เรากลับสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่บังคับให้ซุกปัญหาต่างๆของประชาชนไว้ใต้พรม ทำให้แม้แต่เสรีภาพที่จะพูดถึงปัญหาของตัวเองยังกลายเป็นเรื่องผิดบาป ลดทอนความสำคัญของปัญหาให้กลายเป็นเรื่องตลก อันจะนำไปสู่การบ่มเพาะความขัดแย้งในระดับวัฒนธรรมที่ซึมลึกเรื้อรังก่อตัวเป็นความรุนแรงในที่สุด ดังนั้นเราคงจะอ้างความชอบธรรมของปฏิบัติการดังกล่าวในนามของความมั่นคงแห่งรัฐคงไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่คนที่อ้างเรื่องมาตรการความมั่นคงต่างๆ นานาควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้


แก้วใส สามัญชน


ทำไมถึงชื่อ 'บทเพลงของสามัญชน' ?

แก้วใส : ก็อยากให้เพลงนี้เป็นเพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้เพื่อถ่ายทอดสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกอย่างไม่ต้องใครมาจำกัด

ชูเวช : เดิมทีผมกับพี่แก้วใสยังไม่ทันได้ตั้งชื่อเพลงเลย แต่ส่วนหนึ่งเราเองก็ตั้งใจแต่งเพลงเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ตามเจตนารมณ์ของพรรคสามัญชนที่เชื่อว่าคนธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ วันหนึ่งมีคนเอาเพลงเราไปร้องต่อเรื่อยๆ แล้วมีคนโพสว่า “บทเพลงของสามัญชน” ไม่รู้ใครเริ่มเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายทุกคนก็จำชื่อนี้ไปแล้ว เราเองก็เห็นดีด้วยไม่ได้ซีเรียสเรื่องพวกนั้นเท่าไหร่สำคัญที่คนที่ร้องได้ร่วมกันส่งต่อเรื่องราวความรู้สึกในบทเพลงนี้ถึงสามัญชนด้วยกันก็เพียงพอแล้ว

คำว่า "สามัญชน" ในมุมมองของคุณคืออะไร?

ชูเวช : คนธรรมดาทุกคน ไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ การศึกษา ฐานะ ชื่อเสียง ความเชื่อวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือ ภูมิภาค

มันเกิดการร้องที่กระจายไปทั่วได้อย่างไร และมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

แก้วใส : ตอนแรกก็เริ่มจากการที่เราอยากร้องเพลงนี้ให้กับคนที่โดนจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพและทั้งทางความคิดและก็ร้องเพลงนี้ลงอินเทอร์เน็ต และก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ ชอบและเราก็ทำคลิปอีก ลงอินเทอร์เน็ตอีก จนมีเพื่อนเห็นว่าน่าจะให้คนอื่นๆ ร้องเพลงนี้เพื่อส่งข้อความนี้ออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ประกอบกับกระแส ice bucket challenge กำลังมา ก็เลยมีคนคิดและถ้าให้เพื่อนคนอื่นๆ ร้องกัน เราเองก็ชวนคนอื่นร้องเล่นไปเรื่อยๆ

ผมเองก็ไม่รู้มีใครบ้างบางทีบางคนก็ไม่รู้จักเขา ถ้าถามว่ามองปรากฏการณ์นี้ยังไง ผมก็คงบอกว่าก็คงมีคนคิดและรู้สึกเหมือนเราอยู่ไม่ใช่น้อยและอยากสื่อสารข้อความนี้ต่อออกไปอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าข้อความที่สื่อออกไปนั้นจะเข้าใจตรงกับสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารออกไปตอนแรกหรือเปล่า แต่คงไม่ได้ซีเรียสหรือห้ามอะไรได้ว่าสารมันจะเพี้ยนไป สุดท้ายอย่างที่บอกไปเพลงนี้มันคือเพลงของสามัญชนทุกคนที่อยากจะสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ต่อเหตุการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันมาจำกัดสิทธิกดทับผู้คนให้อยู่ภายใต้อำนาจใครก็ไม่รู้มากระทำกับเราสามัญชน



Cover โดย สหาย Romeo

คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่มีคนเอาเพลงที่คุณแต่งไปร้องต่อกัน?

ชูเวช : การบันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชน แน่นอนว่าคงรอให้กระทรวงศึกษาธิการมาบันทึกเข้าไปในหนังสือเรียนคงไม่ได้ คงต้องเป็นการเขียนบันทึกประวัติศาสตร์โดยน้ำพักน้ำแรงของพวกเราสามัญชนด้วยกันเอง หลายๆ เวอร์ชั่นผมก็ชอบมากๆ เลยครับเปิดฟังบ่อยๆ รู้สึกเป็นเกียรติมากที่เพลงที่เราแต่งมีความหมายกับใครหลายๆคน เราจำวันที่เราแต่งเสร็จได้ว่าตอนที่ร้องท่อนฮุกว่า “กี่ลมฝันที่พัดละออง....” ตอนนั้นเราเป็นห่วงเพื่อนๆ พี่ๆ เราจริงๆ นะ และเชื่อว่าคนที่ร้องเพลงนี้ก็คงมีความรู้สึกบางอย่างที่อยากจะถ่ายทอดเช่นกัน หวังว่าสักวันเราจะได้มีโอกาสร้องเพลงนี้จากทั่วทุกสารทิศด้วยกันสักครั้ง

ท่อนที่ว่า "ปลูกผู้คน ปลูกฝันสู่วันของเรา" ฝันที่ว่านั้นคืออะไร?

ชูเวช : เพื่อให้เห็นกระบวนการว่าฝันของเราไม่สามารถไปถึงได้ด้วยจำนวนคนที่มีอยู่ เรายังมีภารกิจที่จะต้องขยายแนวร่วมกันไปด้วยวิธีต่างๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ใช้คำว่า “ปลูก” ส่วนที่ว่าความฝันนั้นคืออะไร ก็ขอตอบแบบอุดมคติไปเลยละกัน

ผมฝันว่าเราจะมีประชาธิปไตยแบบถกแถลง ประชาธิปไตยที่จะไม่ทิ้งรอยบาดแผลของสามัญชนไว้ข้างหลังระหว่างที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ทุกปัญหาของทุกคน เจ้าของปัญหาต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไข ลดทอนกลไกจากอำนาจการคิดแทนจากรัฐส่วนกลาง ด้วยรัฐสวัสดิการสามัญชนจะมีความมั่นคงในชีวิต แน่นอนว่ารัฐสวัสดิการดังกล่าวสามัญชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างเสถียรภาพในนโยบายรัฐสวัสดิการนั้นๆ เองด้วย และด้วยการตื่นจากภวังค์สามัญชนจะมีจิตใจที่มั่นคงพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ มั่นคงพอที่จะไม่ถูกมอมเมาโดยโฆษณาชวนเชื่อใน MV เพลงซึ้งๆ สารคดี ฟุตบาธ สะพานลอย ป้ายหน้าสำนักงานราชการ ของนักการเมือง

แน่นอนว่าผมฝันถึงวันที่สามัญชนจะตระหนักว่ามีใครอีกบ้างที่มีสถานภาพความเป็นนักการเมืองแบบหลบซ่อน ใครอีกบ้างที่มีอำนาจในการนำภาษีของเราไปใช้บริหารจัดการกิจการต่างๆ มองให้เห็นถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สวามิภักดิ์ต่อชนชั้นนำทุกฝ่าย และร่วมกันทำลายความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของสามัญชนมาโดยตลอด

ผมฝันว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40-50 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม บังคับสูญหาย ซ้อมทรมาน ขับไล่จากที่พำนักอาศัยและผู้ลี้ภัยไปต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาโดยเฉพาะการตีแผ่ความจริงที่ถูกทำให้หายไปอย่างเป็นธรรม รวมถึงประชาชนมีความเข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเอง

ผมฝันว่าจะเห็นการทบทวนปรับปรุงโครงสร้างของรัฐที่สร้างผลกระทบกับสามัญชนไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ การสัมปทานป่าไม้ที่ดินเหมืองแร่ การกำหนดเขตอุทยาน การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน หลักประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรทางพันธุกรรม การควบคุมมลพิษและการนำเข้าสารพิษในอุตสาหกรรมการเกษตร สิทธิเด็ก สตรี และ คนพิการ รวมไปถึงการปฏิรูปสำนักงานทรัพย์สินฯให้มีสถานภาพเป็นของรัฐชัดเจน

แถมยังฝันต่อไปอีกว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างค่ามาตรฐานทางความคิดความเชื่อวัฒนธรรมแบบไทยๆในอดีต นำไปสู่รัฐโลกวิสัย มีพื้นที่ทางความคิดและความหลากหลายโดยไม่ต้องหวั่นเกรงที่จะกลายเป็นคนผิดบาปตราบใดที่มิได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

ผมอยากเห็นชัยชนะของสามัญชนที่เราจะชนะไปด้วยกัน ผมฝันว่าเราจะไม่พายุคสมัยของพวกเรากลับไปสู่การจับอาวุธเข่นฆ่าสามัญชนกันเอง ฟังแล้วดูอุดมคติใช่ไหม ผมก็คิดอย่างนั้น แต่เราควรไปให้ไกลกว่าชัยชนะทางการเมือง



ร้องโดย 'สามัญชนนักกิจกรรมมูลนิธิโกมลคีมทอง'

สรุปเนื้อเพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า "หาก.." หรือ "อยาก.."

ชูเวช : ท่อนแรกร้องว่า “อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้” แต่ยอมรับว่าร้องว่า “หาก” ก็เพราะดีนะ แต่ตอนนั้นเราแต่งเพื่อเพื่อนๆ ของเรา แน่นอนว่าเราอยากใช้คำที่ฟังแล้วรู้สึกสบายๆ กันเองๆ สักหน่อยเพราะเรากำลังคุยกับเพื่อน แต่ยังไงก็ไม่ซีเรียสว่าจะร้องแบบไหนสำคัญที่เนื้อหา

มันสะท้อนว่าวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างมันเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะไปบังคับกำหนดมาตรฐานอะไรให้มันวุ่นวายก็คงต้องเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “บทเพลงของอนุรักษ์นิยม” (หัวเราะ)



ร้องโดย 'ธีร์ อันมัย'

ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรม มองการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมขณะนี้ว่าอย่างไร ในประเด็นที่เกี่ยวกับการถูกจับกุมคุมขัง?

แก้วใส : มองว่าการทำงานหรือกิจกรรมเพื่อสังคมตอนนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าทำอะไรได้ลำบากมาก อย่าว่าแต่นักกิจกรรมเลย แม้แต่องค์กรที่ทำประเด็นเรื่องสิทธิก็ยังถูกจำกัดสิทธิ แต่ผมก็ยังมีความหวัง ส่วนในประเด็นการถูกจับกุมนั้น ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากและหวังว่าสักวันคงพูดเรื่องนี้ได้เต็มปากขึ้น ผมจึงขอพูดผ่านเพลงแล้วกัน(หัวเราะ)

ในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลง อยากให้ใครร้องและอยากให้ใครฟังเพลงนี้มากที่สุด?

ชูเวช : ถ้าแรกเริ่มเลยคือเราแต่งให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังรัฐประหาร ภายหลังมีคนต่อยอดนำไปรณรงค์เพื่อปล่อยนักโทษการเมือง เรื่องนี้เราก็เห็นด้วยเพราะลงชื่อสนับสนุนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนตัวแม้ไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่เข้าใจว่าสถานการณ์นี้คนเสื้อแดงเป็นผู้ที่รู้สึกมากที่สุด จึงเป็นผู้ที่ถ่ายทอดบทเพลงนี้ได้ถึงแก่นมาก รวมถึงหากในอนาคตฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตาสว่างจากเผด็จการแล้วจะนำบทเพลงนี้ไปใช้ปลุกปลอบความบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ของสามัญชนในแนวทางที่คาดหวังต่อชนชั้นนำก็ถือว่าเป็นประโยชน์

 


ร้องโดย 'วงไฟเย็น'

ที่สุดแล้วต้องการอะไรถึงแต่งเพลงและเอามาร้องกันในยูทูบ?

แก้วใส : ที่สุดแล้วต้องการสื่อสารสิ่งที่เราคิดความรู้สึกและส่งต่อให้กับสามัยชนทุกคนได้รับรู้และส่งต่อกันไปและอยากบอกคนที่ถูกจองจำว่าเธอม่ได้อยู่โดดเดี่ยว พวกเรายังไม่ได้ไปไหน รอวันที่เสียงเพลงที่เราเคยร้องให้กันฟังจะกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้ง



ร้องโดย 'กลุ่มลูกชาวบ้าน'

เยาวชนบ้านหนองบัว

เพื่อนเทียนฮักสังคม

กลุ่ม At north

วันใหม่

สามัญชนดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน

ชมรมคนแบกเป้

ooo




[สอนเล่นกีต้าร์] บทเพลงของสามัญชน - วงไฟเย็น version

https://www.youtube.com/watch?v=pn-0cdJBF84




https://www.youtube.com/watch?v=7E9HfrS6MGI&feature=youtu.be