วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2558

ว่าที่ทูตสหรัฐฯประจำไทย Glyn Davies ตั้งปณิธาน ระงับความช่วยเหลือจนกว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตย




ว่าที่ทูตสหรัฐฯประจำไทย ตั้งปณิธาน ระงับความช่วยเหลือจนกว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตย

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เมื่อเวลาประมาณ 9:30 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ( ประมาณ 13:30 น. ในวันนี้ตามเวลาประเทศไทย) นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ อดีตผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่างพ.ศ. 2555–2557 ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าให้คำแถลงต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภา

ภายใต้คำแถลงของนายเกล็น เดวีส์ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้ถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฯ กล่าวถึงประเทศไทยว่า “ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาธำรงมิตรภาพร่วมกันมายาวนาน ไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรคู่สนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย”

“แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยทหารเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ.2557ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ยังคงกว้างขวางและก่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งสองประเทศอย่างที่ความสัมพันธ์อื่นน้อยนักจะเทียบเคียงได้” ซึ่งนายเดวีส์ชี้ว่าการระงับความช่วยเหลือบางประการนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าไทยจะมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ

“ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศไทยถลำลึกลงไปอย่างมาก นำไปสู่การแบ่งขั้วไม่เพียงระดับการเมืองเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปถึงสังคมไทยโดยรวมอีกด้วย” พร้อมเน้นย้ำว่าสหรัฐฯยึดมั่นสนับสนุนหลักประชาธิปไตยและไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้

“การที่สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยกลับไปมีรัฐบาลพลเรือนคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบนั้นมิได้หมายความว่า สหรัฐฯ มุ่งเจาะจงสนับสนุนพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญหรือการเมืองประเด็นใดโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านั้นเป็นคำถามที่คนไทยต้องตัดสินใจโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมอันเอื้อต่อการอภิปรายที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ หากผมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งผมจะดำเนินงานสานต่อในการสนับสนุนปณิธานด้านประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย”

นายเดวีส์ระบุว่านับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารสหรัฐฯเน้นย้ำผ่านทั้งเวทีสาธารณะและการเจรจาส่วนตัวถึงข้อกังวล “ เกี่ยวกับการที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยได้หยุดชะงักลง” รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของพลเมือง

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯและกองทัพไทยนั้นนายเดวี่ส์ชี้สหรัฐฯยังคงยึดมั่นในการรักษาพันธมิตรด้านความมั่นคง “ด้วยตระหนักถึงผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวของเรา” และประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกันของสองประเทศไม่ว่าจะในสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลี ทั้งการฝึกซ้อม กิจกรรมความร่วมมือต่างๆ อาทิ การฝึกคอบร้าโกลด์ ที่ถือเป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่ในสุดในเอเชีย

อดีตผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือแถลงถึงความสัมพันธ์หลากหลายด้านของสองประเทศไม่ว่าจะเป็นการค้า,วัฒนธรรม,กิจการมนุษยธรรม,และความร่วมมือผ่านองค์กรพหุภาคีต่างๆ ในภูมิภาค

ก่อนทิ้งท้ายว่า “เราก็หวังจะเห็นไทยหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเพื่อความพยายามร่วมกันระหว่างประเทศเราทั้งสองจะดำเนินก้าวหน้าได้อย่างเต็มวิสัย สหรัฐฯ เชื่อว่าราชอาณาจักรไทยจะสามารถสร้างความปรองดองสถาปนาประชาธิปไตย และเติมเต็มโชคชะตาบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่และเสรี”

โดยหลังจากสิ้นสุดการแถลงดังกล่าวแล้วคณะกรรมาธิการฯจำเป็นต้องกำหนดวันลงมติรับรองตำแหน่งก่อนส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาซึ่งยังไม่ทราบกำหนดเวลาแน่ชัด

ที่มา: สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย

ooo


คำแถลงของนาย Glyn Davies
ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย
ต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภา
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกคณะกรรมาธิการ

ขอขอบคุณที่ให้โอกาสผมมาแถลงต่อหน้าทุกท่านในวันนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีโอบามาให้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีที่ไว้วางใจในตัวผมและเสนอชื่อผมให้วุฒิสภาพิจารณา อีกทั้ง ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคร์รีที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี รวมถึงขอบคุณสมาชิกคณะกรรมาธิการทุกท่านที่เปิดโอกาสให้ผมได้ชี้แจงคุณสมบัติและเจตนารมณ์ของผม

ผมเริ่มรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2523 และพยายามสั่งสมทักษะประสบการณ์มาตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพื่อเป็นผู้นำการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานในการเสริมสร้างความมั่นคงและเพิ่มพูนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และหากคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจะเป็นจุดสูงสุดของความพยายามตลอด 36 ปีที่ผ่านมานี้

ครอบครัวคือพลังที่เข้มแข็งที่สุดของผม ผมขอกล่าวถึงครอบครัวของผมด้วยความรักและความรู้สึกขอบคุณต่อทั้งแจ็คกี้ภรรยาของผม แอชลีย์และเท็ดดี้ลูกสาวของผม เชปินผู้เป็นลูกเขย รวมถึงโจซีและซิบบี้หลานสาวของผม

ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาธำรงมิตรภาพร่วมกันมายาวนาน ไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรคู่สนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย ประเทศเราทั้งสองทำงานร่วมกันในหลากหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาค ขยายการค้าการลงทุน พัฒนางานด้านสาธารณสุข ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ต่อต้านสิ่งเสพติดผิดกฎหมายและการลักลอบค้าสัตว์ป่า ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยทหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ยังคงกว้างขวางและก่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งสองประเทศอย่างที่ความสัมพันธ์อื่นน้อยนักจะเทียบเคียงได้

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศไทยถลำลึกลงไปอย่างมาก นำไปสู่การแบ่งขั้วไม่เพียงระดับการเมืองเท่านั้นแต่ยังแผ่ขยายไปถึงสังคมไทยโดยรวมอีกด้วย สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้ แต่ขอเน้นย้ำว่า สหรัฐอเมริกายึดมั่นสนับสนุนหลักประชาธิปไตยและมั่นคงในพันธะสัญญาของเราต่อมิตรภาพที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้กับประชาชนชาวไทย

นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร สหรัฐอเมริกาเน้นย้ำตลอดมาทั้งในเวทีสาธารณะและการเจรจาส่วนตัวถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยได้หยุดชะงักลง รวมถึงการจำกัดเสรีภาพของพลเมืองที่ตามมา อันได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ สหรัฐฯ ยืนยันว่า ประชาธิปไตยจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนชาวไทยเลือกผู้แทนและผู้นำของตนเองได้อย่างอิสระและอย่างเท่าเทียมกัน สหรัฐอเมริกาได้ระงับความช่วยเหลือบางประการตามที่กฎหมายกำหนด จนกว่าไทยจะมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเมื่อไทยมีรัฐบาลดังกล่าวแล้ว ประเทศเราทั้งสองจึงจะสามารถกลับไปสู่การมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีได้อย่างเต็มรูปแบบ

การที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยกลับไปมีรัฐบาลพลเรือน คืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบนั้นมิได้หมายความว่า สหรัฐฯ มุ่งเจาะจงสนับสนุนพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญหรือการเมืองประเด็นใดโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านั้นเป็นคำถามที่คนไทยต้องตัดสินใจโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมอันเอื้อต่อการอภิปรายที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ หากผมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่ง ผมจะดำเนินงานสานต่อในการสนับสนุนปณิธานด้านประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย

อย่างไรก็ดี ด้วยตระหนักถึงผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวของเรา สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในการรักษาพันธมิตรด้านความมั่นคงของเรา กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลี อีกทั้งได้ร่วมกันจัดการฝึกซ้อม กิจกรรมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางทหารทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคีจำนวนมาก อันรวมถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้สร้างโอกาสอันล้ำค่าในการขยายการประสานงานและความร่วมมือ อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปฏิบัติการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สหรัฐอเมริกาเป็นเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของไทย และบริษัทสัญชาติอเมริกันก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่ของเราในเชียงใหม่นั้นเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ และยังคงเป็นหนึ่งในสถานทูตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเรา สหรัฐฯ กับไทยทำงานร่วมกันอย่างกว้างขวางในด้านสาธารณสุขอันเป็นหลักสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคีของเรา ซึ่งได้แก่ การวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะประสบความสำเร็จ

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของประเทศเราทั้งสองมีความแข็งแกร่งและขยายมากขึ้นเรื่อยๆ การเชื่อมโยงทางการศึกษาได้ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาชาวไทยและชาวอเมริกันหลายพันคนได้ศึกษาต่อในประเทศของอีกฝ่าย หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกาได้ส่งอาสาสมัครไปทั่วประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี ชาวอเมริกันชื่นชมและเคารพประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกาได้ทรงดูแลพสกณิกรของพระองค์ด้วยพระเมตตาและทศพิธราชธรรมเป็นเวลาเกือบ 70 ปี และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประชาชนไทยมาโดยตลอดอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งและเป็นเสียงหลักขององค์กรพหุภาคีต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) สหรัฐอเมริกาจะยังคงร่วมมือกับไทยและดำเนินงานผ่านองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้เพื่อผลักดันเป้าหมายที่มีร่วมกันในการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาค

สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อยกระดับความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ช่วยดำเนินการระบุอัตลักษณ์และปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว หากผมได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ผมจะส่งเสริมให้ไทยดำเนินมาตรการอย่างเข้มแข็งในการปราบปรามการค้ามนุษย์

ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่สำคัญของสหรัฐฯ ในด้านกิจการมนุษยธรรมมาหลายปีแล้ว ไทยได้สร้างค่ายอพยพให้แก่ผู้ลี้ภัยหลายแสนคนหลังสงครามเวียดนาม และในปัจจุบัน ประเทศไทยยังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่ากว่า 110,000 คนในค่ายผู้อพยพเก้าแห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า รวมถึงชาวโรฮีนจาและประชากรกลุ่มเสี่ยงจากประมาณ 50 ชนชาติ นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยวิกฤตการย้ายถิ่นในทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล สหรัฐฯ ยังคงร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับไทยและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อนด้านการอพยพที่ผิดปกตินี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ช่วยรักษาชีวิตมนุษย์และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้อพยพกลุ่มเสี่ยงอย่างมีมนุษยธรรม อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทยในด้านการรับมือกับภัยธรรมชาติ อาทิ พายุไซโคลนที่สร้างความเสียหายอย่างมากในพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2551 และแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สหรัฐฯ ใส่ใจอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับไทยและต่อชาวไทย หากผมได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ผมจะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการฯ อย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมผลประโยชน์ของเราในไทยอันครอบคลุมหลากหลายด้าน ในขณะที่เราจะร่วมมือกันทำงานต่อไปอย่างมีประสิทธิผล เราก็หวังจะเห็นไทยหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเพื่อความพยายามร่วมกันระหว่างประเทศเราทั้งสองจะดำเนินก้าวหน้าได้อย่างเต็มวิสัย สหรัฐฯ เชื่อว่า ราชอาณาจักรไทยจะสามารถสร้างความปรองดอง สถาปนาประชาธิปไตย และเติมเต็มโชคชะตาบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่และเสรี

ขอขอบคุณอีกครั้งที่กรุณาพิจารณาการเสนอชื่อผม ผมยินดีตอบคำถามของทุกท่านครับ