วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2558

กสม.ยุบทิ้งเถอะ!




ที่มา ข่าวสดออนไลน์
19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตบหน้าฝรั่งฉาดใหญ่ ใครว่าประเทศไทยมีรัฐประหารแล้วไม่เคารพสิทธิมนุษยชน โห ดูสิ คนดีเด่นดังสมัครเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติล้นหลาม 121 คน มีตั้งแต่ทหาร ตำรวจ หมอ ครู อาจารย์ ข้าราชการเกษียณ เมียอดีต ผู้ตรวจการ ไปยันหมอดูเลข 7 ตัว และนักสืบเอกชน เดี๋ยวพอผ่านการสรรหาของบรรดาประธานศาล ก็จะผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ คสช.แต่งตั้ง รับรองว่าเลือกได้สอดคล้อง “หลักการปารีส” ทุกประการ ฮิฮิ

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่คิดยุบกสม. เอาตัวให้รอดซะก่อนเหอะ ไม่รู้ใครไปก่อนใคร

คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล ที่คิดจะลดเกรด กสม.จาก A เป็น B รอบนี้ต้องให้ A+ นะครับ เพราะไม่เคยมีประเทศไหนทำรัฐประหารแล้วยังให้กรรมการสิทธิฯ กินเงินเดือนอยู่ หมดวาระก็ยังตั้งใหม่ เอาลงกินเนสส์บุ๊กได้เลยนะ

อ้าว ก็รัฐประหารไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ตราบใดที่เชื่อฟังคำสั่ง ไม่ต่อต้าน ไม่คัดค้าน ไม่ชู 3 นิ้ว ก็ยังมีเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชนครบถ้วนทุกประการ

การสรรหากสม.รอบนี้เผลอๆ จะแก้ปัญหาคาราคาซังมา 14 ปี นั่นคือความขัดแย้งพัลวัน ตั้งแต่กรรมการชุดแรก 11 คน ที่มาจากนักสิทธิทั้งนั้น ก็ยังแยกเป็น 2 ก๊ก กรรมการชุดสอง 7 คนก็ 7 Way แถมทั้ง 2 ชุดยังตั้งเลขาธิการคนเดียวกัน แล้วขัดแย้งและปลดเลขาธิการคนนั้น คือหมอชูชัย ศุภวงศ์ ที่ได้เป็นรองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ครั้ง

คุยได้เหมือนกันว่าสิทธิเสรีภาพล้นหลาม กระทั่งทางใครทางมัน

โดยธรรมชาตินักสิทธิมนุษยชนมีความเป็นตัวของตัวเองสูงอยู่แล้ว โครงสร้างกสม.ยิ่งขับเน้น เพราะให้ตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นดูแลเรื่องร้องเรียน โดยกรรมการแต่ละคนเป็นประธาน แล้วกรรมการจะเอาใครเป็นอนุละครับ ถ้าไม่ใช่คนทำงานเข้าขากัน แล้วก็มีข้าราชการเป็น “เบ๊”

นี่พูดจริงๆ นะ ข้าราชการเป็นเบ๊ แต่ไม่ใช่บอกให้ยกฐานะศักดิ์ศรี เพราะมันผิดที่ความเป็น “ข้าราชการ” ต่างหาก สำนักงาน กสม.มีฐานะเป็นข้าราชการรัฐสภา ทั้งที่คนทำงานสิทธิมนุษยชนควรมีสถานะกึ่งอิสระ ไม่ติดขัดกฎระเบียบ กสม.จึงใช้ข้าราชการทำงานได้ไม่มาก ต้องใช้อนุกรรมการที่เข้าขา (พวก) กัน

14 ปีที่ผ่านมาก็เละไปหมด ทั้งอนุ ทั้งข้าราชการ ที่ดึงมาจากหน่วยงานต่างๆ สายใครสายมัน เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จำได้ไหมเมื่อ 3 ปีที่แล้วข้าราชการแต่งดำประท้วงคำสั่งตั้งรักษาการรองเลขาฯ ซึ่งปรากฏว่าเคยโดนไล่ออกไปที แต่อยู่ได้อยู่ดีจนเกษียณ

อันที่จริงกสม.ชุดแรกที่ขัดแย้งกันแม้เป็นเซอร์ไพรส์ของพวก “หัวดำ” รุ่นหลัง แต่การทำงานก็ยังพอรับได้ แม้จุดยืนเป๋ไปบ้างในช่วงท้ายๆ ก็ยังไม่ตกต่ำเท่ากสม.ชุดสอง ซึ่งมีปัญหาทั้งที่มา จุดยืน และผลงานสะท้านโลก นั่นคือรายงานสลายการชุมนุมปี ’53

11 กสม.ชุดแรกมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากกรรมการสรรหาที่มีทั้งประธานศาล อัยการ ฝ่ายการเมือง มหาวิทยาลัย องค์กรสิทธิ และสื่อ แต่ 7 กสม.ชุดหลังมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ที่ศาลฎีกาเลือก และผู้ที่ศาลปกครองสูงสุดเลือก รวม 7 คน (ครั้งนี้เหลือ 5 คนเพราะไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสนช.ถือเป็นประธานรัฐสภา)

เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า สิทธิมนุษยชนนะ ไม่ใช่จะเข้ามาใช้อำนาจเปาบุ้นจิ้นปราบโกง ถึงต้องให้ศาลเลือก

ผลก็คือเราได้คุณป้าคณบดี ตัวแทนสิทธิตำรวจ ตัวแทนสิทธิพ่อค้า ข้าราชการองค์กรอิสระ นักสังคมสงเคราะห์ และเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งไม่ได้ว่าไม่ดีนะครับ แต่งานกสม.มีอะไรเยอะกว่า “เมาไม่ขับ” ลูกเดียว

ใน 7 คนมีหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คนเดียวที่มีพื้นฐานงานสิทธิมนุษยชน นี่ไม่พูดเรื่องสี แม้พี่หมอจะพา “ทนายนกเขา” กษิต ภิรมย์ ไปทัวร์ ICC แต่ก็เป็นกสม.คนเดียวที่ดูเรื่องเสื้อแดงติดคุก

ในผู้สมัคร 121 คนก็มีแกนนำม็อบนกหวีด (และอีแอบเพียบ) แต่ปัญหากสม.ครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่เลือกสีไหน อยู่ที่กรรมการ 5 คนจะเลือกคนเข้าใจสิทธิมนุษยชน หรือเลือก “คนดี” ของรัฐราชการ

แน่ละ ผมไม่เอาวีระ สมความคิด แต่ถ้าเลือกตำรวจ ทหาร ข้าราชการเป็นกสม. ก็ให้วีระเป็นยังดีกว่า “กรรมการสิทธิมนุษย์ราชการ” ซึ่งคงจะทำงานเป็นเอกภาพ ไม่ขัดแย้งกัน อย่างที่บอก แต่สิทธิต่างๆ จบเห่

ทางที่ดีใช้ ม.44 ยุบหรือพักงานชั่วคราวดีกว่า อย่าจริตประชาธิปไตยกันนักเลย