วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 18, 2558

อื้ออึงมาถึงวันนี้ รายการสนทนาทางโทรทัศน์เรื่อง ‘๘๐๐ ปีกฏบัตรแม็กนา คาร์ต้า ๘๓ ปีประชาธิปไตยไทย’




อื้ออึงมาถึงวันนี้ รายการสนทนาทางโทรทัศน์เรื่อง ‘๘๐๐ ปีกฏบัตรแม็กนา คาร์ต้า ๘๓ ปีประชาธิปไตยไทย’

น่าทึ่งตรงที่เป็นการเทียบเคียงได้ใกล้กันม้ากมาก หากคำนึงถึงสิ่งพิมพ์ปึกหนึ่งของไทยที่เรียกกันว่า ‘ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๘’

ถ้าตั้งชื่อรายการได้ใหม่ให้ตรงกับอารมณ์ที่ได้รับ จากการสดับฟังเอาเนื้อหา คงได้ว่า ‘๘๐๐ ปีแม็กนา คาร์ต้า ย้อนหลังไปหา ร่าง รธน. เรือแป๊ะไทย’

คือร่างฯ ของไทยโบราณกว่าเยอะในทางแนวคิด




ไม่เชื่อลองดูที่นาย ลี โจนส์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ ควีนแมรี่ มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน บรรยายเอาไว้

“แม็กนา คาร์ตา ถูกเขียนขึ้นในปี ๑๒๑๕ และถูกพระสันตปาปาประกาศให้เป็นโมฆะในทันที

ในทำนองเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญไทย ที่ประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

แน่นอนที่สุดครับ วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่การคงระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ทำให้หมดสภาพไป

การเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ พรรคของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งมาตลอด เพราะได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่

ดังนั้นจุดประสงค์ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการกำจัดเจตจำนงของประชาชน

นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับความนิยมจะถูกลดที่นั่งในสภา

ขณะที่พรรคที่ไม่ได้รับความนิยมจะได้รับที่นั่งมากขึ้น จะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ กลุ่มข้าราชการ องค์กรกำกับจริยธรรม จะมีอำนาจแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง

ฉะนั้นนโยบาย หรือสถาบันใดที่ไม่ได้สนับสนุนชนชั้นนำ จะถูกกำจัด ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปที่นักวิชาการไทยกล่าว ผมไม่คิดว่าจะมีเหตุผลอะไรที่ประชาชนไทยต้องรักษารัฐธรรมนูญที่เนื้อหาส่วนใหญ่เพิกเฉยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ




ต้องย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาจากทหาร และให้สิทธิตัวเองที่จะออกเสียงคัดค้าน

ในทางกลับกัน ขณะที่เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างจัดสัมมนา และมีนักเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย กลับมีทหารคุมตัวและถูกตั้งข้อหาหมิ่นสถาบัน

แสดงว่ากระบวนการโดยรวมไม่เป็นธรรม หนทางเดียวที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้สะท้อนความต้องการ คือการลงประชามติ

ซึ่งบอกได้เพียงว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งคงมีข้อจำกัดมาก และคงจะจำกัดสิทธิผู้ที่รณรงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่ถ้าลงประชามติผลออกมาไม่รับ จะเท่ากับการยืดอายุการทำงานของรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่มีใครอยากเห็น

นี่คือรัฐธรรมนูญที่ยัดเยียดให้คนไทย”

(ขอบคุณ Pruay Saltihead ที่อุตส่าห์ถอดเฟรมจากคลิปออกมา ๑๘ ภาพ ให้เรียงเนื้อถ้อยได้ดังข้างต้นhttps://www.facebook.com/pruaysaltyhead2/media_set…)

ส่วนที่อึงคนึงยิ่งนักแล้ว เห็น (แถวนี้) มีแต่เสียงด่าขรม เป็นการแสดงกึ๋นของนาย เจษฏ์ โทณะวณิก หนึ่งใน ๓๖ ผู้ที่ได้รับบำเหน็ดจากคณะยึดอำนาจให้ไปช่วยนักกฏหมายลองวิชา ‘กูรูเรือแป๊ะ’ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างเอกสารพรรณนามโนธรรมสำหรับปกครองบ้านเมือง ที่กำลังเป็นที่กังขาว่าแท้จริงปฏิเสธ กีดกัน และบ่อนทำลายประชาธิปไตย

นายเจษฏ์พยายาม justify (ปั้นความชอบธรรมให้กับ) ร่าง รธน. ฉบับหมกเม็ด ด้วยการ blame (ใส่ความตำหนิ) ‘คนที่เกิดมาไม่ใช่ชนชั้นนำ’ ว่าเป็นตัวสร้างปัญหาในไทย

“พยายามที่จะเป็น (ชนชั้นนำ) ให้ได้ และนั่นคือส่วนหนึ่งของการคอรัปชั่น เพราะหากไม่ทุจริตก็ไม่มีทางเป็นชนชั้นนำได้เพราะคุณไม่มียศ”

“อย่างที่ผมบอกในการเมืองไทย ถ้าชนชั้นนำเป็นชนชั้นนำ และพยายามให้พื้นที่ทุกฝ่าย คุยกับคนทุกกลุ่ม จะช่วยให้คลี่คลาย แต่ถ้าคนธรรมดาต้องการเป็นชนชั้นนำ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคม จะยังเป็นปัญหาต่อไป”

แล้วเจษฏ์ล่ะ ชนชั้นนำ หรือไม่ numb

(ดูนี่ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php… และที่นี่https://www.facebook.com/photo.php…)

ยังมีคนเด่นดังในสังคม (มากกว่าเจษฏ์) ที่สวมคราบ ‘นักวิชาการ’ ด้วยเสื้อกั๊ก หรือสวมศักดิ์ ‘ชนชั้นนำ’ ด้วยสถานะสมรสและ ‘ตำแหน่งพระราชทาน’ ที่อ้างประชาธิปไตยเป็นครั้งคราว แต่ผายลมปากส่งกลิ่นคาวไส้ในออกมาบ่อยไป




ว่าเบื้องลึกเป็นนักวิทยายังชีพหรือชนชั้นได้เปรียบ เมื่อพวกเขาทำตนเป็นผู้ถือหางเผด็จการ แสดงอาการปรามาสความเท่าเทียมกันของคน และก่นด่าหลักสิทธิหนึ่งเสียง

ดังเช่นที่ Thanapol Eawsakul บก. ฟ้าเดียวกัน ปรารภไว้ อาทิ

เมื่อคราครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร ‘ธีรยุทธ บุญมี’ ชี้ คสช. ควรใช้อำนาจพิเศษให้เต็มที่ในสถานการณ์พิเศษ

“คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิดแม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง”

(https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/918460818220758)

กับเมื่อเร็วๆ นี้ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

“สำหรับเรื่องประชาธิปไตย ธีรยุทธตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยนำไปสู่ความสุขจริงหรือไม่ พาชีวิตเราไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า...

เรื่องนี้ผมคิดว่ามีข้อถกเถียง เพราะมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ส่งผลที่ดีกับประเทศกับโลก...

ฉะนั้น ในแต่ละช่วงระบบการเมืองจะต่างกันไปเรื่อยๆ เราอย่าคิดว่าระบบการเมืองอย่างใด อย่างหนึ่งจะแน่นอน ถาวร หรือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดตลอดไป”

อีกคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังรัฐประหาร เป็น precursor (ผู้นำร่องบุกเบิก) ของรัฐบาล ‘ขิงแก่’ ตาอยู่ฉวยไปกิน ที่ต่างก็ไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นอันน่าพอใจเหมือนๆ กัน




นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ เคยพูดถึงการรัฐประหารไว้อย่างอ้อมค้อมกำกวม

“เคยมีคนบอกตนว่า คุณมาเป็นนายกฯ ไม่ชอบธรรม เพราะมาจากการรัฐประหาร ตนไม่เคยเถียง ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แก้ไขไม่ได้”

“ในทางหลักการและทฤษฎีแล้วการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดีแน่นอน แต่การรัฐประหารครั้งนี้ตนเห็นว่ามีเหตุผลจำเป็น ไม่ใช่ว่าตนเห็นชอบ แต่ตนเห็นใจทหาร...

โดยตนมองว่าการรัฐประหารไม่ใช่ต้นเหตุ แต่เป็นปลายเหตุ...การสร้างธรรมาภิบาลในกรอบประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นในยุครัฐประหารได้ ถ้าตั้งใจดี ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม ลืมผลประโยชน์ส่วนตัว”

ต่อมาเมื่อครบ ๖ เดือนของการรัฐประหาร คสช. Thanapol ให้จำกัดความสั้นๆ (synopsis) ว่า “อานันท์ก็เริ่มทำตัวเป็น ‘เห็บ’ พร้อมที่จะ ‘กระโดด’”

“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอึดอัดใจ ผมชักเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่าความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นจริงใจแค่ไหนและจะทำหรือเปล่า...

ถ้ายังสนใจทำเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องแยกให้ถูก การปรองดองเรื่องหนึ่ง การเอาผิดลงโทษเรื่องหนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าควรจะทำอย่างไร การปฏิรูปก็อีกเรื่องหนึ่ง คนชอบถามว่าปฏิรูปก่อนปรองดองหรือปรองดองก่อนปฏิรูป ในใจผมคิดว่าต้องไปพร้อมกัน”

ล่าสุด ๑๖ มิถุนา ๕๘ “อานันท์ได้ออกมา ‘เบรค’ ความพยายามของคณะรัฐประหารที่จะ ‘อยู่ยาว’...

“ผมไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องโรดแมปเพราะสามารถยืดหยุ่นได้ แต่รัฐบาลต้องทำให้ประเทศเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แหกตาเหมือนที่ผ่านๆมา...

ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องจะเสียของหรือไม่ หรือทำไมยังไม่เกิดความปรองดอง แต่ผมคิดว่าเรายังไม่พยายามค้นหาสาเหตุขอความแตกแยกที่แท้จริง...

การที่คนส่วนใหญ่ถูกปิดปาก พูดไม่ได้ ชุมนุมไม่ได้ ได้สร้างความอึดอัดขึ้น ขณะที่ความสงบในประเทศยังคงสงบต่อไปแต่เป็นเพียงความผิวเผิน ถ้าสังคมสงบอยู่อย่างนี้ต่อไปก็คงไม่มีอนาคต”

ทั้งหลายเหล่านี้ ในความเห็นของ Thanapol ว่าเป็นท่าที ‘พริ้ว’ ของอานันท์ “เพราะเขาฝึกฝนการทูตมาตั้งแต่เป็นเด็กถือกระเป๋าให้กับ ถนัด คอมันตร์” ซึ่งต่างกันอย่างลิบลับกับธีรยุทธ์ที่ “ยังเชียร์รัฐประหารอย่างหัวปักหัวปำ ว่าจะแก้ปัญหาการเมืองได้”

ที่รวมความแล้วเป็นมิติแห่ง ‘ความเจ้าเล่ห์ของอานันท์ ปันยารชุน กับความไร้เดียงสา ของธีรยุทธ บุญมี’

(https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/918460818220758)

ส่วนเจษฏ์ โทณะวณิก นั่นน่าจะอยู่ระหว่างสองแคมไม่รู้ตรงจุดไหน เจ้าเล่ห์หรือไร้เดียงสา แต่ไม่ออกนอกกรอบกะลาใบนี้แน่