วันพุธ, กรกฎาคม 13, 2565

เปิดตัวตน “ปัญจพล เสน่ห์สังคม” เจ้าของวาทะ “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”!


Atukkit Sawangsuk
3h

ปัญจพล เสน่ห์สังคม
“ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”
:
ผู้พิพากษาท่านนี้ อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน คนจนถูกจับใบกระท่อม ให้ได้รับสิทธิประกันตัว
แต่ตอนนั้น ท่านอุทิศสิ่งที่ทำแด่ “พระเจ้าอยู่หัว”
:
ลงมาจากศาล พบผู้หญิงคนหนึ่งนั่งร้องไห้ แม่กับน้องชายถูกฟ้องฐานมีใบกระท่อม ถูกปรับคนละ 7,500 บาท ไปยืมเงินมาได้ 6,000 บาท ไม่พอค่าปรับ จะถูกจำคุก ผู้พิพากษาปัญจพลจึงบอกให้เอาเงิน 6,000 มาเป็นเงินประกัน
“ศาลปิดทำการแล้ว ผมบอกว่ายังไม่ปิด เธอเถียงว่าปิดแล้วก็เจ้าหน้าที่บอก ผมบอกว่าเดี๋ยวผมสั่งเปิดให้ดู”
:
เศร้านะครับ ท่านตระหนักในสิทธิเสรีภาพ เห็นว่าจะไม่ยุติธรรม หากคุมขังโดยไม่ได้สิทธิประกันตัว
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9580000089171
.....
เปิดตัวตน “ปัญจพล เสน่ห์สังคม” เจ้าของวาทะ “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”!

เผยแพร่: 7 ส.ค. 2558 11:46 โดย: MGR Online

“ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”
ถ้อยคำดังกล่าวนี้ กลายเป็นที่ประทับอกประทับใจของผู้ที่ได้รับรู้ ผ่านสื่อออนไลน์ที่มีการแชร์ข้อความกันอย่างกึกก้องในชั่วเวลาข้ามคืน พร้อมเสียงสรรเสริญเยินยอในเกียรติยศแห่งผู้พิทักษ์ความยุติธรรมของผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี...

"วันนี้ตอนเย็นประมาณ 5 โมง ผมเดินลงมาจะกลับบ้าน เจ้าหน้าเรือนจำกำลังตรวจรายชื่อผู้ต้องขัง รถเรือนจำติดเครื่องรอขนผู้ต้องขังไปเรือนจำ มีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งร้องไห้ สอบถามได้ความว่าแม่กับน้องชายถูกฟ้องฐานมีพืชใบกระท่อม ศาลปรับคนละ 7,500 บาท จะประกันตัวต่อก็ไม่มีเงินจ่ายนายประกันอาชีพ เลยกลับบ้านไปหยิบยืมเงินญาติมาได้ 6,000 บาท ไม่พอเสียค่าปรับ นายประกันอาชีพก็ไม่ช่วย แถมบอกว่าถ้าจะให้ช่วยต้องไปหาคนมาค้ำประกัน จึงจะยอมยื่นประกันชั้นอุทธรณ์ให้ เธอหมดหนทางที่จะช่วยแม่และน้อง ได้แต่นั่งร้องไห้โทษตัวเองว่าช่วยแม่ไม่ได้

“ผมบอกว่าให้ยื่นคำร้องขอประกันตัว เพื่อออกไปหาค่าปรับมาชำระสิ เงิน 6,000 บาทที่มีอยู่ก็ให้เอาเป็นเงินประกัน ผู้หญิงคนนี้บอกว่า ศาลปิดทำการแล้ว ผมบอกว่ายังไม่ปิด เธอเถียงว่าปิดแล้วก็เจ้าหน้าที่บอก ผมบอกว่าเดี๋ยวผมสั่งเปิดให้ดู แล้วหันไปบอกคุณเล็กว่า จัดการเรื่องนี้ให้เค้าหน่อย เดี๋ยวผมสั่งปล่อยเอง คุณเล็กจัดการให้เสร็จ แล้วก็ปล่อยคุณแม่เธอ ผู้หญิงคนนี้ยกมือไหว้หลายครั้ง ผมบอกเธอว่า ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว"
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นนั้น เป็นคำบอกเล่าของ “ปัญจพล เสน่ห์สังคม” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดปัตตานี ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายเข้ามาประจำการที่ศาลจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่านเขียนข้อความนี้ไว้เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา ครั้งปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี

จากข้อมูลที่หาได้ พบว่า ผู้พิพากษาท่านนี้ พื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ เกิดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางชีวิตเหมือนได้รับลิขิตให้ย่างหมากชีวิตบนเส้นทางนักกฎหมาย ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ อีกทั้งจบกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทยจากสำนักอบรมและศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ลุยงานด้านกฎหมายมาทั่วสารทิศ นับตั้งแต่การเป็นทนายความ ก่อนขยับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแขวงสงขลา ศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลจังหวัดปัตตานี ก่อนจะมาประจำอยู่ศาลจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน

“ชีวิตของผมเกิดมาในชาติภพหนึ่ง ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง
แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็อยากจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด”

นั่นคือคติธรรมนำชีวิตและการทำงานของผู้พิพากษาท่านนี้ ที่ในครั้งหนึ่งนั้น ถึงกับเคยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมกับพี่น้องประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นที่จดจำกันในนาม “พฤษภาทมิฬ”

“เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ได้เข้าร่วมกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ชุมนุมประท้วงพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจนถูกทหารใช้อาวุธปืน M 16 ยิง กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าท้องทะลุหลัง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผมถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์รักษาช่วยชีวิตไว้ได้ทัน แต่ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาแรมปี ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานของเยี่ยม พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ ผู้แทนพระองค์ขอให้สัญญาว่า เมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้ว ให้สอบมาเป็นผู้พิพากษาเพื่อดูแลประชาชนของพระองค์ท่านในเรื่องคดีความ เมื่อรักษาตัวหายก็ไปเรียนเนติบัณฑิตในปี 2537 ใช้เวลา 1 ปีจบ รุ่งปีต่อมาก็สอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้”

และเพราะเหตุนี้เอง ถ้อยคำที่ว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” จึงติดตรึงอยู่ในความนึกคิดและเป็นเข็มทิศให้แก่ชีวิตการทำงานนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะสำนึกเสมอว่า ที่ได้มาทุกวันนี้ เพราะพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระราชินี
นอกจากนี้ ในการทำหน้าที่ตัดสินคดีความคดีหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังกลายเป็นที่มาของคำคำหนึ่งซึ่งกลายเป็นเสมือนหลักชัยให้กับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความยุติธรรมของประชาชนคนธรรมดาผู้หาเช้ากินค่ำ อย่างคำว่า “ตุลาการภิวัตน์”

“ตุลาการภิวัตน์ คำนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ผู้รับสัมปทานขึ้นที่บ้านกรูด (บ้านหินกรูด) ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ปัญจพล เสน่ห์สังคม บอกกล่าวเล่าไว้ในบางบัญชร

“ตอนนั้น นางจินตนา แก้วขาว กับชาวบ้านบ้านหินกรูดลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อวิถีชุมชน วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ต่อมาทางบริษัทจัดงานเลี้ยงฉลอง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปใช้น้ำปลาวาฬหมักซึ่งมีกลิ่นเหม็นมากเข้าไปเทใส่โต๊ะจีนในงานเลี้ยง บริษัทแจ้งความดำเนินคดีกับนางจินตนาในข้อหาร่วมกันบุกรุกที่ส่วนตัว พนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางจินตนาต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางจินตนาให้การปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดและที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่สาธารณะ”

ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งมีนายปัญจพล เสน่ห์สังคม เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และนางสาวศิริพร นันทนฤมิตร ผู้พิพากษาองค์คณะ มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548 นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความเรื่อง "คำพิพากษาคดีจินตนา แก้วขาว” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ถัดมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 นายเกษียร เตชะพีระ นำคดีนี้มาเขียนเป็นบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนอีกครั้งในหัวข้อ “ตุลาการภิวัตน์ภาคประชาชน”


ในส่วนของคดีนั้น โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกนางจินตนา นางจินตนายื่นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยเชื่อว่านางจินตนาบุกรุกเข้าไปในที่ดินส่วนตัวของบริษัทจริง พิพากษาให้จำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา คดีนี้ นางจินตนาต่อสู้มาตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิดและที่ดินบริเวณงานเลี้ยงเป็นที่สาธารณะแต่ถูกบริษัทกับเจ้าพนักงานที่ดินทุจริตออกโฉนดทับที่สาธารณะ ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยนายวิชา มหาคุณ ได้ลงพื้นที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการทุจริตออกโฉนดทับที่สาธารณะที่มีอยู่เดิมจริง มีมติชี้มูลความผิดเจ้าพนักงานที่ดินและมีการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินแปลงนี้เสีย

และก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2546 ศาตราจารย์ ดร.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (OHCHR) ได้นำคำพิพากษาของนายปัญจพล เสน่ห์สังคม ไปอภิปรายในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลไทยนำกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของประชาชนมาวินิจฉัยคุ้มครอง และนั่นก็นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานของผู้พิพากษาท่านนี้


“เวลาพิจารณาคดี ผมจะคิดไว้ในใจก่อนว่า ทั้งโจทก์และจำเลยเป็นญาติของเรา ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการความยุติธรรมเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า แม้กระทั่งมหาโจรก็ยังต้องการความยุติธรรม ดังนั้น สิ่งที่เราพึงกระทำในแต่ละการพิจารณาตัดสินคดี ก็คือ

“หนึ่ง เราต้องค้นหาความจริงให้เจอก่อน
“สอง เราต้องค้นหาคุณธรรมให้พบแล้วจึงค่อยเอากฎหมายเข้าไปจับ ตรงนี้ก็คือการพิจารณาดูว่าความผิดที่เขากระทำนั้น มันยังพอที่จะให้อภัยให้ได้หรือเปล่า เพราะบ่อยครั้ง เราจะพบว่าความผิดที่เขากระทำผิด มันก็ไม่ได้ชั่วถึงขั้นที่ว่าจะต้องจับเข้าคุก ไม่ใช่ว่าเอะอะก็จะจับเข้าคุก เพราะมันเป็นเรื่องของกฎหมายและคุณธรรม ไม่ใช่เรื่องตามอำเภอใจ”

และในฐานะที่เคยไปปฏิบัติงานยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านผู้พิพากษาปัญจพล เสน่ห์สังคม เคยให้ความเห็นไว้ว่า ไม่มีความกลัวแต่อย่างใด เพราะ...

“ผมเอาความเป็นธรรมไปให้ชาวปัตตานี ปืนราชการก็ไม่เอา
เพราะผมไม่มีหน้าที่ต้องไปฆ่าหรือทำร้ายใคร”

“รอดตายจากพฤษภาทมิฬมาแล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้วครับ”
และ...
“ผมเชื่อว่า สงครามไม่มีวันจบหรือถึงวันสงบด้วยปลายกระบอกปืน
แต่ต้องได้มาด้วยการเจรจากันเท่านั้น”

ถ้อยคำที่กล่าว นับว่าเหมาะสมยิ่งแล้วกับตำแหน่งของผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน
และยิ่งเสริมส่งให้ถ้อยคำว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” เรืองรองผ่องงามในความรู้สึกของผู้คน...


ประวัติโดยย่อ

ชื่อ : นายปัญจพล เสน่ห์สังคม (นามสกุลเดิม "สุขแก้ว")

เกิด : 20 ธันวาคม 2508

• ปี 2557 ได้รับเชิญจากองค์กรนักกฎหมายภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติให้เข้าร่วมประชุมนักกฎหมายอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย
• ปี 2539 เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายรัฐธรรมนูญชุดของนายประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
• ปี 2541-2542 เสนอให้มีการตั้งคณะจัดการคดีพิเศษขึ้นในศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นครั้งแรก
• ปี 2546 ตัดสินคดีนางจินตนา แก้วขาว กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุกงานเลี้ยงของโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านหินกรูด ที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตัดสินยกฟ้องโจทก์)
• ปี 2547 ตัดสินคดีวัดเขาตะเกียบ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตัดสินให้วัดชนะ)
• ปี 2548 ตัดสินคดีแพทย์ฟ้องผู้ป่วยว่าหมิ่นประมาท ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี (ตัดสินยกฟ้องโจทก์)
• ปี 2552-53 ตัดสินคดีหญิงท้องแก่วิ่งราวสร้อยคอทองคำของร้านทอง ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ตัดสินว่าหญิงท้องมีความผิด แต่ทำไปด้วยความจำเป็นต้องการเงินไปซื้อนมให้ลูก จึงให้รอลงอาญา)
• ปี 2554 ตัดสินคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิง ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี (ตัดสินประหารชีวิต แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่ลดโทษให้)
• ปี 2557-2558 ตัดสินคดีความมั่นคงเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนหลายคดีที่ศาลจังหวัดปัตตานี
• ปัจจุบัน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดปทุมธานี
• อื่นๆ : อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่