วันอาทิตย์, สิงหาคม 11, 2567

“มันเป็นบล็อกที่ใหญ่มาก” แสดงตัวใส่เสื้อสีเหมือนกัน ลงคะแนนเหมือนกัน 140-150 คน ถ้าจะต่อรอง(กฏหมายสำคัญ)ให้ผ่าน ต้องมาคุยกับคนที่คุม สว. สีน้ำเงิน” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว


บีบีซีไทย - BBC Thai
11 hours ago
·
“มันเป็นบล็อกที่ใหญ่มาก ๆ แสดงตัวใส่เสื้อสีเหมือนกัน ลงคะแนนเหมือนกัน 140-150 คน ถามว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร ก็คือเพื่อบอกว่า สว. ต้องคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าจะต่อรองให้ผ่าน ต้องมาคุยกับคนที่คุม สว. สีน้ำเงิน” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว
.
อ่านได้ที่นี่ https://bbc.in/4dAEcEm
.....

“มันเป็นบล็อกที่ใหญ่มาก” มองมติวุฒิสภาในสัปดาห์แรกของการทำหน้าที่


สว. กลุ่มใหญ่เลือกสวมใส่ชุดสีน้ำเงินเข้าร่วมประชุมวุฒิสภาเมื่อ 6 ส.ค.Article informationAuthor,หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
10 สิงหาคม 2024

การประชุมวุฒิสภาชุดใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว 3 นัด โดย สว. ที่ถูกเรียกขานว่ากลุ่ม “สีน้ำเงิน” รักษาระดับคะแนนเสียงในการลงมติเอาไว้ได้แบบคงเส้นคงวา และสามารถยึดกุมเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) 3 ชุดแรกเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นว่า การบล็อกโหวตไม่ได้เพิ่งเห็นในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 5 ส.ค. เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) และประธานศาลปกครองสูงสุด แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ในคราวประชุมวุฒิสภาเมื่อ 23 ก.ค. เพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา

“เขาใส่เสื้อสีเดียวกันมาอย่างพร้อมเพรียง พอลงมติทีก็ได้ 140-150 เสียงพรึ่บ คือเขาความพยายามบอกว่าเขามีอยู่เท่านี้ และมาวันที่ 5 ก็ยิ่งตอกย้ำใหญ่เลยว่าใครคือผู้คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา คือสีไหน” ปุรวิชญ์ กล่าวกับบีบีซีไทย


ผลการเลือกประธานวุฒิสภา เมื่อ 23 ก.ค.

วอล์กเอาต์ VS บล็อกใหญ่

ภาพ สว. ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “พันธุ์ใหม่” “สีขาว” และ “อิสระ” พร้อมใจกันเดินออกจากห้องประชุม หรือวอล์กเอาต์ ก่อนลงมติตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติ อสส. เมื่อ 5 ส.ค. ทำให้นักวิชาการผู้ศึกษาระบบวุฒิสภาของไทย หวนนึกถึง สว. ในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้การวอล์กเอาต์เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร-สะท้อนปัญหาของวุฒิสภาต่อสังคมภายนอก

ในช่วงแรก ๆ ของการทำหน้าที่ของ สว. ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 จำนวน 200 คน ปุรวิชญ์ บอกว่า วุฒิสภาถูกมองว่าเป็น “สีฟ้า” เนื่องจากกลุ่มที่มีอำนาจนำในสภาสูงมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร สว.สระบุรี และประธานวุฒิสภา (2544-2547) มีความแนบแน่นกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. กระทั่งมีการเปลี่ยนตัวประธานสูงเป็น สุชน ชาลีเครือ (2547-2549) สีของสมาชิกก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็น “สว. สีแดง”

“ขณะนั้น สว. สีแดง ไม่ได้บล็อกชัดเจนตั้งแต่วันแรก และสีก็ไม่ได้เข้มข้นตั้งแต่ต้น แต่ค่อย ๆ เข้มขึ้น ค่อย ๆ บล็อก จนพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ถูกครหาว่าแทรกแซงกลไกองค์กรอิสระผ่านวุฒิสภา”

“แต่ สว. ชุดนี้สีเข้มตั้งวันแรกเลย และชัดเจนมากว่าบล็อก มันเป็นบล็อกที่ใหญ่มาก ๆ แสดงตัวใส่เสื้อสีเหมือนกัน ลงคะแนนเหมือนกัน 140-150 คน ถามว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร ก็คือเพื่อบอกว่า สว. ต้องคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าจะต่อรองให้ผ่าน ต้องมาคุยกับคนที่คุม สว. สีน้ำเงิน” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว


มงคล สุระสัจจะ ขึ้นทำหน้าที่บนบัลลังก์ครั้งแรกเมื่อ 5 ส.ค.

หากถามว่า การตัดสินใจวอล์กเอาต์ของ สว. เสียงข้างน้อย ตั้งแต่วันแรกที่ทำหน้าที่ในสภา ถือเป็นการ “ออกอาวุธ” เดียวที่มีในมือเร็วเกินไปหรือไม่ ปุรวิชญ์ มองว่า เป็นปฏิกิริยาที่เข้าใจได้ เพราะเล่นรวบรัดกันขนาดนั้น

“เขาไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าไม่วอล์กเอาต์ ก็ไม่เป็นกระแส ไม่ได้ขยายวงความคิดออกสู่สังคม อยู่แต่ในห้องประชุม หรือเต็มที่ก็แค่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่การวอล์กเอาต์ทำให้รู้ว่ามีคลื่นความไม่พอใจอยู่ ตอน 40 สว. (ชุดรัฐธรรมนูญ 2540) เขาก็ใช้วิธีเดินเข้า ๆ ออก ๆ ห้องประชุมอย่างนี้ เพียงแต่รูปการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเทอมของ สว. ชุดปี 2540 มาเกิดกับ สว. ชุดนี้ตั้งแต่วันแรกเลย” ปุรวิชญ์ กล่าว

จากการสังเกตปฏิกิริยาของสังคมต่อการทำหน้าที่ของ 200 สว. ในสัปดาห์แรก ปุรวิชญ์ พบว่า คนไม่ได้มองว่า สว. พันธุ์ใหม่-อิสระ ไม่ยอมทำหน้าที่ แต่พุ่งเป้าวิจารณ์ สว. สีน้ำเงินที่ใช้วิธีรวบรัดตัดความ


นันทนา ปัญญาวโรภาส สว. "พันธุ์ใหม่" ยกมือขอใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น หลังมีผู้เสนอชื่อ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ อสส. เป็นแพ็กเกจ 15 คน เมื่อ 5 ส.ค.

สว. สีน้ำเงินตัดพ้อ “อย่าด้อยค่า-ไม่ได้เอาหัวตั้งบนบ่าไว้อย่างเดียว”

พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเข้าสภาด้วยคะแนนสูงสุดของกลุ่ม ปฏิเสธจะวิจารณ์แท็กติกวอล์กเอาต์ของ สว. เสียงข้างน้อย โดยให้เหตุผลว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคนที่มิอาจก้าวล่วง แต่คิดว่าหลังจากนี้ไม่น่าเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นอีก เพราะประชาชนจ้องมองอยู่

ในการประชุมวุฒิสภา 3 นัดแรก สว. จากสุรินทร์ ผู้มีดีกรีเป็นอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 คล้ายถูกกำหนดให้เล่นบท “ตัวเปิดเกม” โดยเป็นคนแรก ๆ ที่ลุกขึ้นเสนอความเห็นกลางสภา

“ผมเป็นคนเปิดเกมให้ทุกคน ขึ้นต้นให้ จุดประกายแนวคิดให้ แล้วให้ทุกคนคิดกันต่อ ก็เลยต้องไปถึงแต่เช้าเลยเพื่อขอลงชื่อเป็นคนแรก ประธานจะได้ชี้ให้พูดก่อน” พล.ต.บุญจันทร์ กล่าวกับบีบีซีไทย

แม้เพิ่งเข้าสภาเป็นครั้งแรก แต่อดีตนายพลตำรวจเล่าว่า เคยเป็นวิทยากรบรรยายโครงการป้องกันอาชญากรรมและยาเสพติดในสมัยรับราชการ โดยเน้นป้องกันและป้องปรามเอาไว้ก่อนดีกว่าเกิดเหตุ “สไตล์ผมชอบป้องกัน เลยมีทักษะเปิดประเด็น ก็พยายามพูดชักชวนแนะนำเพื่อนสมาชิก เรียกว่าถนัดเปิดประเด็น”

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธว่าไม่มีใครคอยบอกบท-กำหนดทิศทางอยู่ข้างหลังหรือข้างนอกห้องประชุม แต่คิดเรื่องที่จะพูดอยู่เอาไว้ในหัวแล้วก็สื่อสารออกมา แต่ต่อไปถ้าเพื่อนร่วมสภาเริ่มทำงานคล่องแล้ว ก็จะผันตัวเองไปเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์

ส่วนที่นักวิชาการมองทะลุการลงมติวุฒิสภาแล้วเห็น “บล็อกที่ใหญ่มาก” พล.ต.ท.บุญจันทร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน สว. สีน้ำเงิน หัวเราะร่อน ก่อนบอกว่า ไม่ต้องห่วง ไม่มีใครมาชี้นำ สั่งการให้ซ้ายหันขวาหันได้ เพราะ สว. แต่คนคนมาจากหลายกลุ่มอาชีพ มีองค์ความรู้ มีแนวคิดของตัวเอง แต่ละคนนั่งฟังการอภิปรายแล้วก็ตัดสินใจด้วยตนเอง

“ถึงเวลาลงมติ เราเป็นอิสระ ทุกคนที่มา ไม่ได้เอาหัวตั้งบนบ่าไว้อย่างเดียว ทุกคนก็มีความเห็น มีแนวคิด ผมไม่สามารถไปชี้นำคนข้าง ๆ ได้ แต่เรามาจากจังหวัดใกล้กัน เราคุยกัน รู้จักกัน ซึ่งเป็นปกตินิสัยคนไทยที่จะมีการพูดจาปรึกษาหารือกันบ้าง” พล.ต.ท.บุญจันทร์ กล่าว

“ได้โปรดอย่าด้อยค่า สว.” เขาตัดพ้อ


พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย เจ้าของวาทะ “อย่าด้อยค่า สว.”

สว. บุญจันทร์ เคยพูดประโยคนี้ในระหว่างประชุมวุฒิสภาเมื่อ 5 ส.ค. หลังฝ่ายเสียงข้างน้อยนำโดย เปรมศักดิ์ เพียยุระ และ นันทนา ปัญญาวโรภาส นำทีมค้านการเสนอชื่อ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ อสส. เป็นแพ็กเกจ 15 คนรวด โดยวิจารณ์ว่าเป็น “สภารีโมต” “สภาใบสั่ง” “เสียงข้างมากลากไป”

เขาเล่าว่า หลังการประชุมนัดดังกล่าว มีเพื่อน สว. มาคุยด้วยบอกว่าพูดแทนใจ เพราะ สว. ชุดนี้มีคนที่อายุเกิน 60 ปีเป็นร้อยคน หลายคนบอกว่า “ต้องไว้ลายเพื่อชาติ ก่อนจะจากโลกนี้ไป เราไม่ได้อยากจากไปแล้วมีคนมาด่าตามหลัง ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี ดูแลประชาชน ทำงานให้ประเทศชาติ ตอนจากไป ใคร ๆ ก็อยากให้มีเสียงสรรเสริญตามหลังทั้งนั้น” พร้อมยืนยันว่า วุฒิสภาชุดนี้ไม่มีบล็อกโหวต

“ถ้าย้อนดูผลการลงมติจะเห็นได้ชัดเจนว่าคะแนนมีขึ้นมีลง คะแนนไม่เท่ากันเลย ขนาดตอนโหวตประธานและรองฯ คะแนนยังออกมาไม่เท่ากัน จะบล็อกโหวตได้ยังไง มันไม่ได้เป๊ะ ๆ ถ้าบล็อกต้องเป๊ะ ๆ ร้อย ๆ เท่ากันเลย” สว. ตัวเปิดประเด็น แจกแจง

เปรียบเฟ้นองค์กรอิสระ เหมือนเช็กลิสต์นางงาม

พล.ต.ท.บุญจันทร์ เป็น 1 ใน 15 กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ อสส. และประธานศาลปกครองสูงสุด

ต่อมาที่ประชุม กมธ. วันที่ 6 ส.ค. มีมติเลือก พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เป็นประธาน

เขายืนยันว่า สว. ไม่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้ง อสส. ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือแม้แต่กรรมการองค์กรอิสระที่จะต้องคัดกรองในอนาคตได้ เพราะกว่าแต่ละชื่อจะมาถึงวุฒิสภาได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วหลายชั้น กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ เพียงแต่ช่วยดูอีกชั้นหนึ่ง ดูว่ามีใครโต้แย้งในประเด็นใดหรือไม่

“มันเหมือนประกวดนางงาม มีคนเช็กลิสต์ ลงมติให้นางสาว ก ได้เป็นนางงามแล้ว เราก็แค่ตรวจดูว่ามีคุณสมบัติตรงตามลิสต์ไหม กรองอีกรอบหนึ่ง เมื่อกรองได้แล้วก็เสนอที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่มีสิทธิไปแทรกแซง ดังนั้นขอให้ประชาชนสบายใจได้” พล.ต.ท.บุญจันทร์ กล่าว


พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี (คนขวา) สว. ผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นประธาน กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ อสส. และประธานศาลปกครองสูงสุด

สีนี้เน้น “ปฏิบัตินิยม”

อย่างไรก็ตามอาจารย์ปุรวิชญ์เชื่อว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะเป็น “สนามประลองกำลัง” ที่สำคัญระหว่าง สว. เสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย ถึงแม้ สว. พันธุ์ใหม่-อิสระ ไม่มีโอกาสโหวตชนะกลางสภาเลยก็ตาม

นักรัฐศาสตร์สำนักท่าพระจันทร์วิเคราะห์ว่า ขั้วใหญ่มีเสียงในวุฒิสภามากพอ จนไม่ต้องแคร์เสียงจากภายนอก ไม่ต้องแคร์เรื่องภาพลักษณ์ อีกทั้งแนวทางการทำงานของสีนี้เน้น “ปฏิบัตินิยม” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่วันเลือกประธานว่าต้องการให้สังคมรู้ว่ามีเสียงอยู่เท่านี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ความเชื่อมั่นของสังคมต่อ 200 สว. ที่มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ไม่ต่างจาก 250 สว. ชุดก่อนที่เลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือทำให้คนไม่เชื่อมั่นต่อระบบการเมืองนี้ และเกิดคำถามตามมาว่า สว. มีไว้ทำไม

จากการตรวจสอบของบีบีซีไทยพบว่า ภายในปี 2567 จะมีกรรมการองค์กรอิสระหมดวาระลง 12 คน จาก 4 องค์กร โดย 200 สว. ต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง ประกอบด้วย กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 6 คน จากทั้งหมด 7 คน, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน จากทั้งหมด 9 คน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน จากทั้งหมด 3 คน และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 คน จากทั้งหมด 9 คน


ปุรวิชญ์ เป็นผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ “The Politics and Institutional Change in the Senate of Thailand” (การเมืองกับการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันของวุฒิสภาในประเทศไทย)

ย้อนวิกฤตศรัทธาวุฒิสภาในอดีต

การคัดกรองผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งถูก “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล” เข้าแทรกซึม-แทรกแซง เคยเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อวุฒิสภามาแล้ว

หนังสือ “ผ่า สว. ที่พึ่งหรือผู้พังประชาธิปไตย (สำนักพิมพ์มติชน, 2549) บันทึกเหตุการณ์สำคัญในรอบ 6 ปีของการทำหน้าที่ สว. เลือกตั้งชุดแรก และสัมภาษณ์นักกฎหมายหลายคน ในจำนวนนี้คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ที่มองว่า ความผิดพลาดของ สว. ชุดเลือกตั้ง “เกิดขึ้นจากการขาดความสำเหนียกในฐานะและการทำหน้าที่ ความจริง สว. ที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทสูง และเป็นบทบาทคนละบทบาทกับ สส.”

มีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแยกบทบาท สส. และ สว. ออกจากกัน แต่บังเอิญไปนึกสนุกกับบทบาทของอีกองค์กร จึงไปทำอย่าง สส. ไปเล่นบทบาทนั้น เห็นเขามีกระทู้ก็อยากจะมีกระทู้ทุกวัน เห็นเขาทำกฎหมายก็อยากจะทำกับเขาบ้าง เห็นเขาตั้ง กมธ. ก็อยากจะไปสอบมันทุกเรื่อง หน้าที่หลักของ สว. คือการสรรหาคน คนตั้งความหวังกับองค์กรนี้ไว้มากว่าจะสามารถสรรหาคนดีมาได้”

“วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับองค์กรวุฒิสภามาจากการที่ไม่มีใครนึกถึงองค์กร หลายเรื่องที่เกิดขึ้น และกลายเป็นวิกฤต ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นว่ามันมาจากวุฒิสภาเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การสรรหาผู้ว่า สตง. ป.ป.ช. และ กกต.” มีชัย กล่าวไว้เมื่อปี 2549

อดีตประธานวุฒิสภาบอกด้วยว่า ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้ความเห็นว่า ถ้าให้ สว. มาจากการเลือกตั้ง ต่อไป สว. ก็จะทำอย่างเดียวกับ สส. ถึงจุดหนึ่งก็จะบอกว่าแล้วจะมี สว. ไปทำไม

ด้าน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” อดีต สว. ทั้งชุดแต่งตั้งและเลือกตั้ง เคยให้ความเห็นว่า “คดีซุกหุ้นนายกฯ (ทักษิณ ชินวัตร) มีผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการล็อบบี้ เพราะถ้าตั้งคนบางคนไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ รัฐบาลก็หนาวแล้ว”

ในทัศนะของ สว.กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2543 ในช่วง 2 ปีแรกของการทำหน้าที่ “ทำงานได้ดีที่สุด เพราะยังไม่ถูกครอบงำ ทุกคนมาด้วยไฟ มาทำงานโดยแบกเสียงประชาชนมา” ตอนเลือกกรรมการ ป.ป.ช. จะเห็นว่าเลือกได้ดีมาก พอชื่อออกมาประชาชนก็ปรบมือให้ แต่หลังจากนั้น เริ่ม “ไม่แคร์ประชาชน ไปแคร์บางคนในรัฐบาล”

วัลลภ ระบุว่า มีการวางระบบเข้าไปยึด กมธ. ชุดต่าง ๆ เพราะมีผลต่อรัฐบาลโดยตรง ถ้าพูดในที่ประชุมใหญ่ไม่ได้ ก็ใช้ กมธ. ตรวจสอบ จึงมีการหาเสียงเข้าไปเป็น กมธ. ทุกคณะ สู้กันหนัก กลไกการล็อบบี้หนักมาก

“การล็อบบี้ในช่วงแรกไม่เป็นระบบ มีโผแจกเป็นแผ่น ๆ จึงถูกวิจารณ์หนัก แต่มาระยะหลังการล็อบบี้เป็นระบบมากขึ้น มีการแบ่งสัดส่วนการคุมคน เช่น สว. 1 คน ดูแล สว. 10 คน ไม่มีโผให้เห็น” ครูหยุยเล่าถึงบรรยากาศวุฒิสภาชุดปี 2543 ซึ่งเขาเป็น สว. เสียงข้างน้อยที่ถูกคนในรัฐบาลไทยรักไทยเรียกว่า “สว. ขาประจำ”

สำหรับ สว. เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะมี สว. ได้กี่คนนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร โดยสัดส่วนเบื้องต้นอยู่ที่ 1 สว. ต่อประชาชนราว 3 แสนคน

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง สว. ชุดที่ 2 ในปี 2549 ได้ปรากฏชื่อลูก-เมีย-ญาติพี่น้องของ สส. ชนะเลือกตั้งจากการโดยสารฐานเสียงเดียวกับผู้แทนราษฎร ทว่าพวกเขายังไม่ทันได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง เพราะอยู่ระหว่างรอการรับรองจาก กกต. ก็เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เสียก่อน

หนึ่งในเหตุผลที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร คือ “หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ”

หลังจากนั้นก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปลี่ยนระบบเลือก สว. ใหม่

11 มติสำคัญจากวุฒิสภาชุดใหม่


กระบวนการการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา 3 ตำแหน่งใช้เวลากว่า 8 ชม.

การประชุมวุฒิสภาชุดที่ 13 เกิดขึ้นมาแล้ว 3 นัด ได้แก่ วันที่ 23 ก.ค., 5 ส.ค., 6 ส.ค. มีการลงมติสำคัญ 11 ครั้ง

ผลปรากฏว่า การส่ง บุญส่ง น้อยโสภณ ขึ้นแท่นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นมติที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากสมาชิกถึง 167 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 200 เสียง

ส่วนร่างกฎหมายฉบับแรกที่เข้าสู่การพิจารณาของ สว. ชุดนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านความเห็นชอบไปด้วยคะแนน 139 เสียง

ขณะเดียวกันมีการตั้ง กมธ. ไปแล้ว 3 ชุด โดย สว. สีน้ำเงินยึดเก้าอี้ประธานทั้งหมด โดย กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา มี ธวัช สุระบาล สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เป็นประธาน ส่วน กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติฯ อสส. และ กมธ.สามัญตรงจสอบประวัติฯ ประธานศาลปกครองสูงสุด มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว. กลุ่มอื่น ๆ เป็นประธาน

บีบีซีไทยสรุปข้อมูลการมติทั้ง 11 ครั้งเอาไว้ ดังนี้

ครั้งที่ 1 เลือกประธานวุฒิสภา

มติ: เห็นชอบให้ มงคล สุระสัจจะ สว. กลุ่ม 1 (กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง) ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนน 159 เสียง

ส่วนแคนดิเดตอีก 2 คนคือ นันทนา นันทวโรภาส ได้ 19 เสียง และ เปรมศักดิ์ เพียยุระ ได้ 14 เสียง


สมาชิกร่วมแสดงความยินดีกับ มงคล สุระสัจจะ หลังได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภาเมื่อ 23 ก.ค.

ครั้งที่ 2 เลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1

มติ: เห็นชอบให้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. กลุ่ม 1 (กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง) ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ด้วยคะแนน 150 เสียง

ส่วนแคนดิเดตอีก 3 คนคือ นพดล อินนา ได้ 27 เสียง, แล ดิลกวิทยรัตน์ ได้ 15 เสียง, ปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 5 เสียง

ครั้งที่ 3 เลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2

มติ: เห็นชอบให้ บุญส่ง น้อยโสภณ สว. กลุ่ม 2 (กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม) ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ด้วยคะแนน 167 เสียง

ส่วนแคนดิเดตอีก 3 คนคือ อังคณา นีละไพจิตร ได้ 18 เสียง, พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต ได้ 8 เสียง, ปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 5 เสียง

ก่อนโหวตเลือก 3 ตำแหน่งประมุขสภาสูง สว. ทั้ง 200 คนมีโอกาสใช้สิทธิโหวตเป็นครั้งแรกว่าจะเปิดให้แคนดิเดตแสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที ตามข้อเสนอของตัวแทน สว. สีน้ำเงิน หรือ 7 นาที ตามข้อเสนอของตัวแทน สว. พันธุ์ใหม่ ซึ่งปรากฏว่าผลออกมาตามทิศทางของกลุ่มใหญ่ โดยเห็นชอบให้แคนดิเดตแสดงวิสัยทัศน์ 7 นาที ด้วยคะแนน 143:54 งดออกเสียง 3 เสียง

ครั้งที่ 4 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เสนอโดย เปรมศักดิ์ เพียยุระ จากกลุ่ม “สว. สีขาว”

มติ: ไม่เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 137:48 งดออกเสียง 11 เสียง

ครั้งที่ 5 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เสนอโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากกลุ่ม “สว. พันธุ์ใหม่”

มติ: ไม่เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 143 :42 งดออกเสียง เสียง 11


เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. เสียงข้างน้อย เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ก่อนพ่ายโหวตกลางสภาเหมือนกับร่างอื่น ๆ อีก 4 ร่าง มีเพียงร่างของ สว. สีน้ำเงินฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อ 5 ส.ค.

ครั้งที่ 6 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เสนอโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย จากกลุ่ม “สว. พันธุ์ใหม่”

มติ: ไม่เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 147:38 งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ครั้งที่ 7 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เสนอโดย เอกชัย เรื่องรัตน์ จากกลุ่ม “สว. อิสระ”

มติ: ไม่เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 142:42 งดออกเสียง 13 เสียง

ครั้งที่ 8 ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เสนอโดย พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี จากกลุ่ม “สว. สีน้ำเงิน”

มติ: เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 148:39 งดออกเสียง 13 เสียง

ครั้งที่ 9 เลือก กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

มีผู้เสนอชื่อ กมธ. จำนวน 33 คน แต่ต้องลงคะแนนเลือกให้เหลือ 15 คน โดยตัวแทน สว. สีน้ำเงินเสนอชื่อมาเป็นแพ็ก 15 คนรวด ขณะที่ สว. พันธุ์ใหม่เสนอชื่อสมาชิกในกลุ่มแข่ง 10 คน และมี สว. อิสระเสนอชื่อตัวเองและชื่อสมาชิกคนอื่น ประปราย

มติ: สว. 14 คนในกลุ่มสีน้ำเงิน ได้รับเลือกให้เป็น กมธ. ด้วยคะแนนตั้งแต่ 134-142 เสียง โดย พล.ต.ต.สุนทร ขวัญเพ็ชร ต้องหลุดจากโผ กมธ. เนื่องจากได้คะแนน 36 เสียง ส่วนคนที่เบียดเข้ามาแทนเป็น สว. ชื่อเดียวกันแต่อยู่นอกกลุ่มใหญ่คือ สุนทร เชาว์กิจค้า ได้คะแนน 109 เสียง

ก่อนลงมติปรากฏว่า สว. กลุ่มพันธุ์ใหม่-อิสระ บางส่วนได้วอล์กเอาต์จากห้องประชุม โดยมีองค์ประชุม 168 คน


สว. กลุ่มพันธุ์ใหม่ (จากซ้ายไปขวา) มณีรัฐ เขมะวงศ์, นรเศรษฐ์ ปรัชญากร, อังคณา นีละไพจิตร หารือกันกลางห้องประชุมวุฒิสภา

ครั้งที่ 10 เลือก กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

มติ: เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 150:8 งดออกเสียง 8 เสียง โดยให้งดใช้ข้อบังคับเป็นการชั่วคราว และมอบหมายให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ อสส. ทั้ง 15 คน ทำหน้าที่ กมธ. ชุดนี้ ตามข้อเสนอของ สว. สีน้ำเงิน

ก่อนลงมติปรากฏว่า สว. กลุ่มพันธุ์ใหม่-อิสระ ที่วอล์กเอาต์ไปยังไม่ได้กลับเข้าห้องประชุม โดยมีองค์ประชุม 166 คน

ครั้งที่ 11 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งสภาผู้แทนฯ เห็นชอบแล้ว เสนอโดย ครม.

มติ: เห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 139:38 งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง


สว. แดง กองมา อดีตแม่ค้า ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมปี 2567 ที่ใช้ทำโครงการดิจิทัลวลอลเล็ต เธอเป็นผู้ทำให้ประธานวุฒิสภาถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความตื้นตันใจเอาไว้ไม่อยู่ที่ “ชาวบ้านได้เข้ามาทำหน้าที่ สว.”