วันพฤหัสบดี, มกราคม 11, 2567

คำว่าเอื้อนายทุนเป็นวาทะกรรมแตกแยกเมื่อไหร่ไม่ทราบ??

ภาพจาก เดลินิวส์
Apiwat Ratanawaraha
19h
·

ผังเมืองเอื้อนายทุน?
ส่วนตัวดีใจทุกครั้งที่เรื่องผังเมืองกลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อมวลชน แม้ว่าต้องหนักใจแทนกัลยาณมิตรร่วมวงการ เพราะต้องเป็นหนังหน้าไฟ แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ในอดีตที่ผ่านมา เรื่องผังเมืองไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักการเมือง สื่อมวลชน และคนทั่วไปเท่าไหร่ การถกเถียงในระดับสาธารณะจึงมีอยู่น้อยมาก ก็หวังว่าการอภิปรายกันอย่างที่เป็นอยู่ในเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพฯ จะมีต่อไป และเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะผังเมืองที่ดีไม่ได้อยู่ที่ตัวผังที่เป็นผลลัพธ์ แต่อยู่ที่กระบวนการในการเจรจาต่อรองที่เปิดเผยและโปร่งใส ไม่จำเป็นต้องเรียนหรือทำงานผังเมืองมาก็สามารถวิพากษ์ได้ตามข้อมูลและความคิดเห็นที่แต่ละคนมีอยู่
ประเด็นหนึ่งที่ถกกันคือผังเมืองรวมเอื้อต่อนายทุนหรือไม่ ถ้าคำตอบแบบเรียกแขกและหิวแสงก็คือใช่ ทั้งแนวคิดและเครื่องมือที่เป็นอยู่ตอนนี้เกือบทั้งหมด ไม่เพียงเฉพาะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แต่รวมถึงทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทยก็คือเอื้อต่อนายทุนเป็นหลัก ในความหมายว่านายทุนได้ประโยชน์มากกว่าคนกลุ่มอื่น เอาเข้าจริงแล้ว นโยบายสาธารณะไทยในแทบทุกด้านก็เอื้อต่อนายทุนทั้งนั้น นโยบายด้านการเงินการคลังของไทยที่เป็นดราม่าอยู่ก็เช่นกัน
ดังนั้น ผังเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่เพียงเฉพาะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แต่ทุกๆ ที่ก็เอื้อต่อนายทุนแทบทั้งสิ้น เพราะผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเมืองนั้นมักตกเป็นของเจ้าของที่ดินและเจ้าของทุน โดยเฉพาะการตัดถนนและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น แม้กระทั่งการสร้างสวนสาธารณะก็เอื้อต่อนายทุนได้เช่นกัน
ประเด็นหลักจึงอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเครื่องมือโดยเบื้องต้นเอื้อต่อนายทุนเจ้าของที่ดิน แล้วเรามีเครื่องมือป้องกันและเยียวยาอะไรให้กับคนอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแต่ไม่ได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบหรือไม่ หรือในบางพื้นที่มีหลักการอย่างอื่นหรือไม่ในเชิงภูมิศาสตร์หรือในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทำให้จำเป็นต้องกำหนดความหนาแน่นแบบนั้นดังในกรณีของการกำหนดพื้นที่รับน้ำท่วมหรือฟลัดเวย์ และมีเครื่องมืออย่างอื่นเช่นภาษีที่ดินที่ใช้บังคับให้นายทุนเจ้าของที่ดินต้องจ่ายคืนให้กับสังคมหรือไม่
เครื่องมือหลักประการหนึ่งของผังเมืองคือมาตรการเพิ่มลดความหนาแน่นในการพัฒนา พื้นที่ไหนที่ได้รับอนุญาตให้สร้างหนาแน่นขึ้น ก็ทำให้โอกาสในการพัฒนาสูงขึ้น ที่ดินก็จะแพงขึ้น เจ้าของที่ดินก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ด้วยเครื่องมือนี้ นายทุนก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม
ดังนั้น ผังเมืองที่เอื้อต่อนายทุนจึงไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองและรอบสถานีรถไฟฟ้า แต่การเรียกร้องให้มีพื้นที่สีแดงในเขตชานเมืองก็ถือว่าเป็นการเอื้อนายทุน หรือแม้แต่การเรียกร้องให้เพิ่มความหนาแน่นได้ในพื้นที่ฟลัดเวย์สำหรับน้ำท่วม ก็ถือว่าเอื้อนายทุนได้เช่นกัน เพราะผลประโยชน์จากการกำหนดให้มีพื้นที่ที่หนาแน่นขึ้นมักจะตกกับเจ้าของที่ดินแถวนั้นเป็นส่วนใหญ่ คนทั่วไปได้รับผลกระทบมากกว่าจากการพัฒนานั้น เช่น รถติดมากขึ้น ความวุ่นวายเพิ่มขึ้น ค่าเช่าบ้านแพงขึ้น ฯลฯ
ถ้าคนด้อยโอกาสยังไงก็ไม่ได้ประโยชน์จากผังเมืองในปัจจุบันอยู่แล้ว คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ผังเมือง(รวม)เอื้อนายทุนบางคนมากกว่าคนอื่นหรือไม่ ประเด็นนี้ก็คงต้องวิเคราะห์กันเป็นกรณีไปว่า พื้นที่ตรงนั้นมีการปรับระดับความหนาแน่นเพิ่มขึ้นด้วยหลักการอะไรเป็นที่ตั้ง แล้วสมเหตุสมผลไหมกับผลกระทบและประโยชน์ส่วนอื่นที่คนทั่วไปจะได้รับ ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานวางผังที่ต้องอธิบายเป็นส่วนๆ ไป
สิ่งที่ต้องระวังในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนคือ เจ้าของที่่ดินมักส่งเสียงดังกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและได้รับผลกระทบในรูปแบบอื่น เราจึงมักได้ยินเหตุผลในการคัดค้านว่า ข้อกำหนดผังเมืองทำให้เจ้าของที่ดินขายที่ดินไม่ได้ อันนี้สังคมก็ต้องตัดสินใจว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับในเหตุผลนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุผลอื่นที่ใช้ในการควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่นั้นจนขายที่ได้ไม่ได้ราคาอย่างที่ต้องการ
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องฟังหูไว้หูคือ เจ้าของที่ดินที่ตนเองได้ประโยชน์ไปแล้วจากการพัฒนาเมือง และได้รับลาภลอยจากที่ดินที่ราคาสูงขึ้น และที่ผ่านมาไม่ต้องเสียภาษีที่ดินอะไรมากมาย แต่ตอนนี้ใช้เหตุผลเรื่องความเป็นชุมชนและเรื่องสิ่งแวดล้อมในการต่อต้านการเพิ่มความหนาแน่นในพื้นที่กลางเมือง เพียงเพราะไม่อยากมีคอนโดอยู่ใกล้บ้าน คนกลุ่มนี้ในด้านหนึ่งไม่ได้ผิดอะไร เพราะก็ต้องการชีวิตที่สุขสงบ แต่ในด้านหนึ่งก็ถือว่าขึ้นเรือนแล้วชักบันได
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่มีการถกเถียงในที่สาธารณะ ถูกผิดอย่างไรก็เอาข้อมูลและหลักการมาถกกัน ผังเมืองไทยดำเนินการมาโดยข้าราชการและผู้เชียวชาญอย่างเดียวมานานเกินไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่รวมไปถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ต้องปรับแนวคิดและกระบวนการให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วด้วยเช่นกัน

(https://www.facebook.com/rapiwat/posts/10161407924222421?ref=embed_post)
.....