“วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใส จิตใจเบิกบาน” เนื้อเพลงว่างั้น แต่นับจากวันนี้ไปตลอด ๒๕๖๗ จะยัง ‘ใส’ และ ‘บาน’ อยู่อีกหรือไม่ คงต้องดูที่ความคาดหวังต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก
ทั้งที่รัฐบาลพร่ำบอกกรอกหูว่าดีแน่ แต่เมื่อหาอ่านจากผู้รู้บางราย ยังเชื่อไม่ได้ว่าสภาพ ‘เศรษฐี’ จะมีมาเหมือน ‘เศรษฐา’ และเมื่อเจาะจงที่เรื่อง ‘จีดีพี’ คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์รายนี้บอกว่า ที่คาดหมายกันไว้นั้นแค่ ‘ฝันเฟื่อง’
ดร.ชาติชัย พาราสุข จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ เขียนบทความล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่แล้วว่า “ถ้าใครคิดว่าปี ๖๖ ไม่ค่อยจะดีนักในเรื่องเศรษฐกิจ...ปี ๖๗ จะแย่กว่า” เนื่องจากปัญหาความเสี่ยง ๓ อย่าง ได้แก่สภาพ (ไม่) คล่อง น้ำมันแพง และค่าไฟพุ่ง
“ปัจจัยลบทั้งสามอย่าง จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าขยายตัว” เขาว่าธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการเติบโตของจีดีพีปีนี้ไว้ที่ ๓.๒% และอาจจะโตถึง ๓.๘% ได้ ถ้ารัฐบาลทำโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล
แต่ ดร.ชาติชัยบอกว่าอย่าเพิ่งฝันเฟื่อง แนะให้ดูตัวอย่างเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ ตอนนั้นพวกกูรูเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้สูงลิบ ไม่เอาปัจจัยลบเข้าไปคำนึง เสร็จแล้วจึงพังไม่เป็นท่า ตอนนี้ก็เช่นกัน ดูเฉพาะเรื่องปัญหาสภาพคล่อง
ช่วงปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจเอาตัวรอดได้จากปัญหาสภาพคล่อง เพราะตอนไตรมาสสี่ปลายปี ๖๕ หนี้นอกระบบมีถึง ๔๐% ของจีดีพี (หรือราว ๗ ล้านล้านบาท) มาถึงไตรมาสสองของปีที่แล้ว สภาพคล่องขาดไป ๙ ล้านล้านบาท
พอมาดูด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (หรือ ‘เอฟดีไอ’) ซึ่งไทยประสบปัญหามาตลอดปีที่แล้ว โดนเวียดนามแซงหน้าไปไกล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายอมรับว่า การลงทุนต่างชาติลดลงไป ๑๕% เป็นปัญหาเดียวกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ย้อนไปที่ข้อวิจารณ์ของ ดร.ชาติชัย ประเทศไทยยุคเศรษฐีเศรษฐา ประชากรแก่ไว ไม่ผลิตแล้วยังขี้บ่น เรียกร้องมากจากลูกหลาน เหมือนพวกรัฐมนตรีรุ่นเก๋าๆ ของพรรคเพื่อไทยบางคน ไม่ยอมรับว่าบ้านเมืองมีปัญหา เรื่องขาดแคลนแรงงานหนึ่งละ
ไหนจะราคาน้ำมันคุมอย่างไรก็ไม่อยู่ เพราะรัฐบาลเกรงใจเจ้าสัว พวกเศรษฐีด้วยกัน ค่าไฟสูงปรี๊ด ติดโน่นติดนี่ลดไม่ได้ ดร.ชาติชัยว่าถ้าจะให้จีดีพีโตสูงถึง ๕% ละก็ ต้องทำอะไรที่มันหยิกเล็บเจ็บเนื้อเสียแล้วละ อาจต้องลดค่าเงินบาท
และแน่ๆ ต้องหาอุตสาหกรรมชนิดใหม่ขึ้นมาแทนการท่องเที่ยวที่หดหายไปแล้วไม่กลับมา ส่วนที่กำลังใช้วิธีตัดที่ขายให้ชาวประชามหามิตรภาคตะวันออก มาจับจองเป็นเจ้าของแผ่นดินไท้กั่ว จะได้เอาเงินหยวนมาจับจ่ายนั้นอย่าหวังมากนัก
ดู สปป.ลาวเป็นตัวอย่าง พวกเจ้าสัวจีนเข้าไปลงทุน แต่กิน ใช้ จ่าย รับ ครบวงจรในวงของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาบริการท้องที่แม้แต่นิด
(https://www.bangkokpost.com/opinion/postbag/2715264/debt-doldrums, https://www.worldfinance.com/inward-investment/thai-investment-down-the-plughole-as-conflict-ensues และ https://www.facebook.com/ThaiPublica/posts/735fYVQYaQ)