วันอาทิตย์, มกราคม 07, 2567

การแสดงอัตลักษณ์มลายู เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมหรือมีนัยยะทางการเมือง

(https://www.bbc.com/thai/articles/clk984znlxeo)

การแสดงอัตลักษณ์มลายู เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมหรือมีนัยยะทางการเมือง

19 สิงหาคม 2022
ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ภาพการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนชายชาวมุสลิมนับหมื่นคนในชุดการแต่งกายแบบชาวมลายู ที่เป็นชุดประจำถิ่นของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนไม่น้อย เพราะนี่เป็นการรวมตัวของเยาวชนชายชาวมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แต่ในส่วนของหน่วยงานความมั่นคง ภาพที่ปรากฏถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะถึงแม้ผู้จัดงานจะมีวัตถุประสงค์หลักในการรวมพลังเพื่อแสดงออกทางวัฒนธรรมมลายูเท่านั้น แต่หน่วยงานความมั่นคงสงสัยว่า การรวมตัวครั้งนี้อาจเกิดการแทรกแซงจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่แฝงตัวเข้ามาปลุกระดมด้วยหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงก็จับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความไม่สงบตามมา แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เริ่มมีกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายก่อความไม่สงบขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่อย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า แสดงความกังวลต่อกิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในขณะที่ผู้จัดกิจกรรมยืนยันว่ากิจกรรมไม่ได้มีอะไรเกินเลยไปกว่าการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่นักวิชาการมองว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นการต่อสู้ทางการเมือง
 


รวมตัวแสดงอัตลักษณ์มลายู


กิจกรรมที่จัดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความสนใจจากสื่อทั้งภายในและนอกพื้นที่ เป็นกิจกรรมที่มีเยาวชนชายชาวมุสลิมจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมกว่า13,000 คน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่ ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565

การรวมตัวของเยาวชนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ดังกล่าว มีชื่อเรียกในภาษาภาษามลายูว่า “เปอร์มูดอ” ภายใต้กิจกรรม Perhimpunan Malays RAYA 2022 โดยมีการรวมตัวเปอร์มูดอจากทั้งสามจังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

งานนี้จัดโดยสำนักงานกรรมการกีฬา ประจำจังหวัดยะลา เป็นการจัดงานโดยองค์กรศาสนา เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ของอิสลาม ซึ่งเรียกว่า “ฮิจเราะห์ศักราช” ปีอิสลาม ปีนี้เป็นปีที่ 1444 ซึ่งมีการจัดงานทุกปี โดยในงานมีการแสดง การบรรยาย นิทรรศการ เป็นมหกรรมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นถึงสองวันสองคืน

นายฮาซัน ยามาดีบุ อายุ 34 ปี ประธานกลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา จ.ยะลา และเลขาธิการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จัดงานนี้ขึ้นมาได้เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่างานที่เห็นผ่านสื่อดังกล่าวเป็นการจัดครั้งที่สามแล้ว แต่งานที่จัดก่อนหน้าไม่มีคนมาเข้าร่วมกิจกรรมเยอะขนาดปีนี้

“ปีแรก 3,000 คน ปีที่สอง 5,000 คน พอมาปีนี้ประมาณ 13,000 – 14,000 คน” ฮาซัน อธิบาย

“วัตถุประสงค์ในการจัดงานก็เป็นการรวมตัวกันในการแต่งกายชุดท้องถิ่นชุดมลายู ซึ่งคือปกติเราจะแต่งตัวแบบนี้ในโอกาสงานสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองงานมงคล โดยกิจกรรมที่เราจัดหลัก ๆ ก็จะเป็นการร้องรำทำเพลงเพื่อชีวิตเป็นภาษาถิ่นหมดเลย”



ถูกจับตามอง


นอกจากชาวมุสลิมในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ถึงอย่างไรกิจกรรมก็เป็นไปตามปกติและไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ฮาซันรู้สึกว่าพวกเขาถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา

“ไม่ว่าเราจะรวมตัวทำอะไรก็ตาม รัฐจะตั้งแง่ไว้ก่อนเลยตลอด ทุกอย่างก็ต้องขออนุญาต ถ้าใครที่อยู่ที่นี่จริง ๆ จะรู้ว่ามันเหมือนกรงเล็ก ๆ ขนาดจะจัดงานเลี้ยงเราก็ต้องไปแจ้งที่อำเภอ ว่าเราจะล้มวัวกี่ตัว จัดงานวันไหน ทั้ง ๆ มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องบอกก็ได้ แต่เราต้องรายงานหมด” ฮาซัน กล่าว

“มีมือที่สามมาทำข่าวในแง่ที่ไม่ดีด้วย พวกเขามาแปลข้อความที่เราพูดเป็นคนละเรื่องเลย แล้วก็มีการปล่อยข่าวว่าพวกเรากำลังรวมตัวกันทำนู่นทำนี่ ที่แย่กว่านั้นคือมีคนปล่อยข่าวว่าพวกเรารวมตัวกันประกาศเอกราช รวมตัวกันประกาศจะต่อต้านประยุทธ์ ต่าง ๆ นานา พอข้อมูลถูกส่งต่อ ๆ กัน มันทำให้กลายเป็นกระแสหนักมาก”

อย่างไรก็ตาม การถูกจับตามองสำหรับฮาซันไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องด้วยการทำงานในภาคประชาสังคมของเขามามากกว่า 10 ปี ทำให้เขาเป็นที่สนใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่ทางภาครัฐทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น เพราะเขาไม่เคยทำผิดกฎหมาย

“แต่พอมาครั้งนี้หนักนิดหนึ่งตรงที่มันเป็นการรวมตัวคนจำนวนมาก…ถ้าผมจะเดินทางข้ามประเทศก็ต้องถูกซักถามตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง รู้มาว่ามีหลายคนที่เจอแบบนี้ กอ.รมน. เขาให้ ตม. บันทึกว่า จะไปไหนกลับวันไหน ไปทำอะไร พูดง่าย ๆ คือมันริดรอนสิทธิเรามากเลย”


ฮาซัน ยามาดีบุ เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานกิจกรรมการรวมตัวของเยาวชนมุสลิม

ส่งเสริมและสนับสนุนพหุวัฒนธรรม


พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับบีบีซีไทยในประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวในเวทีต่าง ๆ ทั้งในเวทีสาธารณะระดับพื้นที่ การเปิดเวทีใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการขึ้นไปพูดคุยในเวทีการเมืองในกรุงเทพฯ ของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางภาคสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

พล.ต.ปราโมทย์ อธิบายว่านายฮาซัน ยามาดีบุ ได้ไปพูดในการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในลักษณะที่ว่าคนมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกดทับทางวัฒนธรรม ถูกรัฐเข้ามากดทับไม่ให้โอกาส ทั้งในเรื่องของการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และเขายังไปเปิดเวทีในวงต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ ในเรื่องของการถูกกีดกันทางวัฒนธรรม

“อันนี้ก็คือในเรื่องของสภาพปัญหาที่เราเผชิญ ในข้อเท็จจริงในประเด็นของอัตลักษณ์ ลองไปเปิดดูนโยบายแห่งรัฐ ทั้งในเรื่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือว่าในเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นความมั่นคง ลองไปดูในเรื่องของแผนปฏิบัติการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลองไปดูในเรื่องของนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นแผนแม่บทหลักที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” พล.ต.ปราโมทย์ อธิบาย

“ในเรื่องของการส่งเสริมการสนับสนุนอัตลักษณ์และขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่รัฐดำเนินการไม่ต่างจากในพื้นที่อื่น ๆ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีพี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม”

“เพราะฉะนั้นจากนโยบายแห่งรัฐและการปฏิบัติของภาครัฐจริง ๆ มันไม่เคยมีมุมไหนหรือตรงไหนเลยที่บ่งชี้ว่า เราเข้าไปกดทับหรือไปกีดกันขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม แต่สิ่งที่ทางกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่พยายามที่จะไปชูประเด็นก็คือ เป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อคนมลายู”

พล.ต.ปราโมทย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่านโยบายแห่งรัฐ นอกจากจะส่งเสริมเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภาครัฐยังสนับสนุนเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย ด้วยเหตุนั้นทำให้ พล.ต.ปราโมทย์ ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรเลยในเรื่องของการเคลื่อนไหวการชูประเด็นในเรื่องของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ของกลุ่มใด ๆ



มีนัยยะทางการเมือง


ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ บอกกับบีบีซีไทยว่าเจตนาที่ทางกลุ่มตั้งใจจากการจัดกิจกรรมคงเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสนับสนุนเรื่องอัตลักษณ์มลายู ตามที่ได้เห็นว่ามีการรณรงค์ให้มีการแต่งตัวแบบชนพื้นเมืองมลายู

แต่ว่าการส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูนั้นอาจมีนัยยะทางการเมืองอยู่เหมือนกัน โดยถึงแม้ไม่ใช่การแอบแฝง แต่การกระทำดังกล่าวก็มีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง

“ไม่ได้ระบุว่ากลุ่มคนที่มาเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) แต่ว่าในเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเองก็มีการชูธงเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของคนปัตตานี มีส่วนหนึ่งของการต่อสู้ก็มีเรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูอยู่ด้วย” ดร.รุ่งรวี อธิบาย

“เพราะฉะนั้น ไม่ได้บอกว่าเยาวชนกลุ่มนี้เป็นหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของขบวนการ แต่มันก็มีความเกี่ยวพันกันอยู่ในความประสงค์ที่จะฟื้นฟูอัตลักษณ์มลายู”
 

นอกจากการรวมตัวของเยาวชนชาย ก็มีการจัดกิจกรรมในกลุ่มสตรีด้วยในสัปดาห์ถัดมา

การแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในงาน


ก่อนหน้าที่จะมีการจัดงานรวมตัวกัน ได้มีกิจกรรมการประกวดประกวดซุ้มประตู และการประกวดเครื่องแต่งกายแบบมลายู ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบการประกวดอย่างชัดเจน โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์เรื่องการแต่งกายในวันออกบวชหรือตรุษอีดิลฟิฏร์ ซึ่งพี่น้องมุสลิมจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ ไปเฉลิมฉลองไปท่องเที่ยว

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่าภาครัฐให้การสนับสนุนสนับสนุนในเรื่องการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ความเป็นมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นช่วงแรกของกิจกรรม

ในส่วนของกิจกรรมในช่วงที่สองก็คือวันที่ 4 และ 10 พ.ค. มีการจัดกิจกรรมเยาวชนแสงแห่งสันติภาพ โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. มีการรวมกลุ่มเยาวชนผู้ชายที่หาดวาสุกรี จ.ปัตตานี วันที่ 10 พ.ค. เป็นการรวมกลุ่มเยาวชนผู้หญิงที่ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามที่ จ.นราธิวาส

“ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูลึก ๆ ของกิจกรรม กิจกรรมการส่งเสริมอัตลักษณ์และศิลปะวัฒนธรรมเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยทุกเชื้อชาติทุกศาสนา มันเป็นสิ่งที่ดีงามและเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้วในเรื่องของขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ แต่สิ่งที่ทำให้กิจกรรมมันผิดเพี้ยนไป เนื่องจากมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาเติมแต่งให้กิจกรรมมันเปลี่ยนไป” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าว


พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ อธิบายว่าภาครัฐสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม

พอย้อนมองไปตั้งแต่การประกวดซุ้มประตูเพื่อรับเงินรางวัล พล.ต.ปราโมทย์ พบว่าในหลายพื้นที่ก็มีการดำเนินการที่ผิดเพี้ยนไป เช่น มีการนำธงชาติของปาเลสไตน์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยกับธงบีอาร์เอ็นมาประดับที่ซุ้มของหมู่บ้าน มีอยู่หลายหมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไปตรวจพบ

“อันนี้คือผมไม่อยากมองให้โลกสวยมาก ที่ผมพยายามเท้าความความเป็นมาตั้งแต่แรกว่าพื้นที่ตรงนี้มีปัญหา มันมีการต่อสู้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ มีการใช้กลไกและการต่อสู้ทางการเมืองที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่เขาต้องการ” พล.ต.ปราโมทย์ อธิบาย

“เราต้องไปดูตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญต่อการกิจกรรมในครั้งนี้ ผมไม่ได้กล่าวหาว่าเขาเป็นแนวร่วมของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น เพียงแต่รูปแบบและกิจกรรม ลักษณะของการดำเนินกิจกรรมมันล้วนสอดคล้องและสอดรับกับแนวความคิดของกลุ่มกระบวนการ ที่เราเองก็ทราบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเยาวชน การปลุกระดมเยาวชน”

นอกเหนือจากนั้น ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นการ ออกคำสั่งทางทหาร การชูนิ้วหนึ่งนิ้วเพื่อแสดงออกถึงนโยบาย “ซาตูปัตตานี” หรือปัตตานีเดียว ที่ยึดถือจากประวัติศาสตร์ในพื้นที่ว่าสามจังหวัดชายแดนใต้เคยเป็นรัฐเดียวกันมาก่อน

“การออกคำสั่งทางทหารผมถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกดี…เช่นสั่งแถวตรงแล้วก็ปฏิบัติได้อย่างพร้อมเพียงกัน เหมือนการมีเหมือนการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อันนี้เป็นข้อสังเกตเฉย ๆ นะครับ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือในเนื้อหาของกิจกรรมที่มันผิดเพี้ยนไป ก็คือในการปลุกระดมในรูปแบบต่าง ๆ” พล.ต.ปราโมทย์ ตั้งข้อสังเกต



“นักการเมืองบางคนออกมาป่าวประกาศว่า รัฐไประแวงไปแปลความหมายผิด ไม่ผิดหรอกครับเราใช้ผู้เชี่ยวชาญมาแปลให้หมดแล้ว มันมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไปจริง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเลยคือตัวพิธีกร พิธีกรบอกว่าเรามาในวันนี้ เพื่อมาต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติมลายู เขาพูดแบบนี้เลย กอบกู้เอกราชของชาติมลายูปัตตานี”

“โดยเฉพาะในบทเพลง 3 เพลงที่เขาขับร้องกัน ก็เป็นเพลงปลุกใจเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางเอกราชทั้งนั้นเลย การพูดของแกนนำหลายคน เมื่อแปลความหมายตรง ๆ ไปแล้วก็นำไปสู่ในทางนี้หมดเลย แล้วก็นำไปสู่การปฏิญาณตน ซึ่งการปฏิญาณตนก็เป็นเรื่องปกติ มันทำได้หมด มันเป็นในการเรื่องใช้ซอฟต์พาวเวอร์มากกว่า ในการแสดงออกในเชิงอัตลักษณ์”

“อันนี้ผมมองในมิติงานด้านความมั่นคง งานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่อยากให้มองในภาพด้านเดียว ก็คือจะมีอะไรแค่คนแต่งตัวทางอัตลักษณ์มันไม่ใช่แค่นั้น ผมอยากให้แยกเป็น 2 ภาพ ภาพของอัตลักษณ์และขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งที่ทุกคนให้การส่งเสริมและสนับสนุน แต่การมาทำให้กิจกรรมมันผิดเพี้ยนไปจากกลุ่มอื่น ๆ เป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้าไปทำการตรวจสอบเช่นเดียวกัน”

ดร.รุ่งรวี เห็นว่ามีหลายเรื่องที่ทางฝ่ายความมั่นคงได้หยิบขึ้นมาและแสดงความกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชูธงบีอาร์เอ็นในงาน เรื่องของการทำวันทยาหัตถ์ ซึ่งเคยถูกใช้มาก่อนหน้านี้ เช่นในพิธีศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม

แต่ในมุมของผู้จัดงาน ได้มีการอธิบายว่าการทำวันทยาหัตถ์ในช่วงนี้เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถ “สลาม” หรือทำการทักทายกันของชาวมุสลิมที่ต้องมีการจับมือกันได้ ก็เลยใช้วิธีการทำทำวันทยหัตถ์ในการทำความเคารพ ไม่ได้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ใด ๆ



“ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงมีความเชื่อว่าได้มีผู้เข้าร่วมที่ผ่านการระดมพลจากบีอาร์เอ็นแฝงตัวมาเข้าร่วมงาน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ชัดเจน” ดร.รุ่งรวีอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ในงานดังกล่าวได้มีสัญลักษณ์บางอย่างที่ปรากฏชัดเจน เช่น ธงบีอาร์เอ็นที่มีผู้เข้าร่วมชูอยู่ภายในงาน ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อฝ่ายความมั่นคง และมีการตีความกันไปว่านี่คือกิจกรรมที่บีอาร์เอ็นเป็นคนรวบรวมคนมา

นอกจากนี้ ยังมีธงของปาเลสไตน์ และธงสัญลักษณ์ของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ปรากฏให้เห็นในงานด้วย แต่ก็มีคำอธิบายจากผู้ร่วมงานว่ากลุ่มไอเอสก็นำธงที่มีสัญลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของอิสลามอีกที ซึ่งการนำธงนั้นมาใช้ในงานไม่ได้เป็นการสนับสนุนกลุ่มไอเอสแต่อย่างใด

ต้องอาศัยเวลา


ดร.รุ่งรวี เห็นว่ากระบวนสันติภาพเป็นกระบวนการระยะยาว และต้องอาศัยความใจเย็น เมื่อเรานำคนที่มีประวัติศาสตร์ มีความเห็นไม่ตรงกัน มีความขัดแย้งกันจนนำไปสู่การต่อสู้และเสียชีวิตของคนหลายพันคนมาอย่างยาวนาน ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง การที่จะมานั่งคุยกันเรื่องสันติภาพก็คงมีประเด็นมากพอสมควรที่ยังตกลงกันไม่ได้

“เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าระหว่างการที่มีการพูดคุย ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงจะยุติลงโดยอัตโนมัติ” ดร.รุ่งรวี กล่าว

“แน่นอนว่าจะต้องมีประเด็นที่ยังคุยกันไม่ลงตัว ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันในสองฝ่าย ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีประเด็นที่คุยกันไม่ลงตัวอยู่ อย่างเช่นเรื่องที่กลุ่มบีอาร์เอ็นก็ยื่นเรื่องขอเข้ามาในประเทศไทยเพื่อที่จะเข้ามารับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้โดยที่ไม่ถูกดำเนินคดีทางอาญา”



“แต่ฝั่งไทยยังไม่สามารถให้ตามข้อเสนอนั้นได้ เพราะติดมาตรากฎหมายอยู่ ซึ่งฝ่ายไทยถูกมองว่าไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง”

ด้านนายฮาซันเห็นว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของคนในพื้นที่เอง ดังนั้นสันติภาพที่นี่มันยังไม่เกิด เพราะสันติภาพก็คือการที่คนในพื้นที่ออกมาบอกเองเอามาพูดเองว่าความสงบสุขที่แท้จริงของพื้นที่มันเป็นอย่างไร มีรูปแบบเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการออกแบบมันต้องเป็นขั้นตอนที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมด้วย

“ที่จริงแล้วเหตุการณ์ความไม่สงบบ้านเรามันเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดแล้วที่ต้องแก้ นอกจากเรื่องการเมืองที่มันไม่มีเสถียรภาพ แต่เรื่องนี้มันเป็นการเรื่องการยิง การระเบิด คนตาย การเมืองมันเป็นเรื่องแค่ความขัดแย้งในอุดมการเท่านั้น”

“แต่รัฐก็พยายามใช้คำว่าสันติสุข ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมใจชุมชนพัฒนา ซึ่งที่จริงแล้วรู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ได้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพมาก แต่ก็พยามที่จะทำ” ฮาซัน ทิ้งท้าย