วันจันทร์, มกราคม 22, 2567

ทำไมคนไทยศรัทธา "อาจารย์น้องไนซ์" กับอิทธิพลโซเชียลมีเดียต่อการกำเนิดกลุ่ม "บูชาเด็ก"

ด.ช.นิรมิต หรือน้องไนซ์ ที่สอนธรรม

ทำไมคนไทยศรัทธา "อาจารย์น้องไนซ์" กับอิทธิพลโซเชียลมีเดียต่อการกำเนิดกลุ่ม "บูชาเด็ก"

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
3 มกราคม 2024
ปรับปรุงแล้ว 21 มกราคม 2024

*หมายเหตุ: เนื้อหามีประเด็นเรื่องเด็ก ความเชื่อและศาสนา ที่ต้องใช้วิจารณญาณ บีบีซีไทยได้ขออนุญาต และได้รับความยินยอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ตลอดการผลิตเนื้อหา

เมื่อถามว่า พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา สิ่งใดสำคัญกว่ากัน เด็กชายวัย 8 ขวบ จ้องหน้าคนถาม แล้วตอบด้วยสายตาไม่ล่อกแล่กว่า “พระพุทธเจ้าสำคัญกว่า เพราะพระพุทธเจ้า เป็นคนเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเป็นคนสอน”

บีบีซีไทย นั่งคุยกับเด็กชายนัยน์ตาคม ผมสีดำขลับ ในห้องนอนขนาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา และตุ๊กตุ่นตัวการ์ตูนเรื่องดัง เขาเป็นเด็กชายที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจ และเป็นข่าวใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากการสอนธรรมะให้ผู้ใหญ่หลักร้อยหลักพันคนผ่านสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะติ๊กตอกและเฟซบุ๊ก ในชื่อบัญชี “นิรมิตเทวาจุติ”

ห่างออกไปไม่ไกล พิชญะ ผู้เป็นบิดา และ นัฐพร มารดา นั่งสังเกตการณ์การให้สัมภาษณ์สื่อของบุตรชายอยู่ไม่ห่าง พวกเขายืนกรานว่า แม้จะทำหน้าที่พ่อแม่สอนสั่งลูกในทางโลก แต่ ด.ช.ไนซ์ คือ อาจารย์ในทางธรรมของพวกเขา ตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ

“น้องทำให้เรายอมรับโดยศิโรราบ เขารู้ธรรมะมากกว่าเราจริง ๆ” มารดา วัย 48 ปี กล่าว

“สิ่งที่ลูกทำก็เพื่อมวลมนุษยชาติ ให้เขาเป็นคนดี” บิดา อายุ 53 ปี กล่าวต่อ “พ่อแม่จึงขอปวารณาตน เพื่อช่วยงานพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนกงล้อธรรมจักรให้ไปข้างหน้า”


นัฐพร (ซ้าย) มารดา และ พิชญะ (ขวา) บิดา ทั้งคู่มีชื่อเล่นว่า "นก" เหล่าญาติธรรมมักเรียกว่า "พ่อนก" และ "แม่นก"

ภาพผู้ใหญ่แสดงความเคารพ ก้มกราบ และไหว้ รวมถึงอิริยาบถของเด็กชายวัย 8 ขวบ ต่อผู้ศรัทธาที่เป็นผู้ใหญ่ อาทิ เทน้ำรดหัว การเป็นวิทยากร และกิจกรรม “เชื่อมจิต” ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไทย-สื่อไทย ทั้งเรื่องความเหมาะสม การบิดเบือนพระพุทธศาสนา จนถึงการหาประโยชน์จากเด็ก

ในทางศาสนวิทยา ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอาจเข้าข่าย “การบูชาเด็ก” (Child Worship) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏจริงโดยเฉพาะในศาสนาพุทธ อาทิ ในทิเบตที่ต้อง “นิมิตสรรหา” องค์ศาสดา (ดาไลลามะ) คนต่อไป หรือ การสักการะเทพธิดา “กุมารี” ในเนปาล

“เพราะศาสนาพุทธโดยเนื้อแท้ เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด... ทำให้คนเปิดใจว่า เด็กบางคนจะมีองค์ศาสดา พระอรหันต์ หรือพระอริยะในอดีต กลับมาเกิดใหม่ได้” นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ ระบุ ก่อนเสริมว่า ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยหรือต่อต้านกลุ่มผู้ศรัทธา ด.ช.ไนซ์ เพราะถือเป็นเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ



บรรยากาศพิธี "เชื่อมจิต" ที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อ 21 ม.ค. 2567

แต่ในมุมของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เตือนถึงผู้ปกครองของเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปีทุกคน ไม่เพียง ด.ช.ไนซ์ ว่า “ต้องระมัดระวังที่จะนำภาพ-เนื้อหาต่าง ๆ ของลูกลงสู่ดิจิทัลฟุตพรินต์ (ร่องรอยดิจิทัล) เพราะในวันที่เขาโตขึ้นแล้วหวนกลับมาดู มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวังเลยก็ได้”

“แม้ตอนนั้น ลูกอาจจะยินยอม” แต่ด้วยวุฒิภาวะของเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ “มันอาจเป็นบาปของเราเองด้วยซ้ำที่เราใช้วิจารณญาณของเราตัดสินเผื่อแทนเด็กไป แล้วอย่าลืมว่า เด็กอายุน้อย ๆ เขาทำตามที่พ่อแม่รัก เขาก็อยากเป็นที่รักของพ่อแม่” เขาเสริม

สื่อสังคมออนไลน์กำลังมีส่วนช่วยให้กำเนิดปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดและอาจเข้าข่าย “การบูชาเด็ก” ในยุคแห่งเทคโนโลยีหรือไม่ บีบีซีไทยชวนผู้อ่านสำรวจเรื่องนี้ ผ่านชีวิตจริงของครอบครัว “อาจารย์น้องไนซ์” ศรัทธาของผู้เลื่อมใส และความเห็นของนักวิชาการ

นิรมิตเทวาจุติ

ด.ช.นิรมิต (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่เหล่าผู้เลื่อมใสนับถือเรียกติดปากว่า “อาจารย์น้องไนซ์” อาศัยอยู่ในบ้านที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคฤหาสน์ริมแม่น้ำใน จ.สุราษฎร์ธานี

เวลา 7.00 น. ของเช้าวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เด็กชายวัย 8 ขวบ อยู่ในชุดนักเรียน มือถือกล่องนม สายตาจ้องไปที่โทรทัศน์ที่เปิดช่องยูทิวบ์แคสเกมอย่างใจจดใจจ่อ ห้องของเด็กชาย นอกเหนือจากตุ๊กตานับสิบตัวแล้ว ก็ยังมีภาพวาดเด็กชายในวัยโต ด้านหลังเป็นพญานาค 9 เศียร ประดับอยู่เด่นชัด


เด็กชายไนซ์แต่งตัว ทานอาหารเช้า และดื่มนม ก่อนไปโรงเรียน

ด.ช.ไนซ์ เก่งวิชาคณิตศาสตร์ และสนใจในวิทยาศาสตร์ แต่เขาไม่ต้องการถลำลึกมากนัก ด้วยเหตุผลว่า “วิทยาศาสตร์ หากสนใจมากก็จะถูกดึงลึกลงไปให้ศึกษาเพิ่ม” จนกินเวลาทำภารกิจที่เขาเชื่อ นั่นคือ “ช่วยคนให้ปฏิบัติธรรม ไปสู่ยุคพระศรีอาริย์ (พระศรีอริยเมตไตรย)” หรือยุคหลังการเสื่อมถอยของมนุษยชาติ ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา

“ไปโรงเรียนกันเถอะน้องไนซ์” เสียงของ นัฐพร มารดาที่มีเชื้อสายอินเดีย ดังขึ้น ก่อนพาบุตรชายขึ้นรถสำหรับครอบครัวคันใหญ่ โดยมี พิชญะ บิดา เป็นผู้ขับเพื่อไปโรงเรียนเอกชน 2 ภาษาชื่อดังในตัวเมือง

ระหว่างทาง มารดาอ่านข้อความจากไลน์โอเพนแชท (LINE Open Chat) ที่มีสมาชิกกว่า 6,300 คน โดยผู้ติดตามสูงวัยคนหนึ่งสอบถามว่า “ครั้งหนึ่งระหว่างฟังพระสวด ได้มีความสงสัยในใจว่า หากเราต้องการนิพพานในชาตินี้จะทำอย่างไร แล้วจู่ ๆ ก็มีความรู้สึกเป็นคำตอบมาจากทางด้านบนศีรษะ... ขอถามอาจารย์น้องไนซ์ว่า ใครเป็นคนส่งคำตอบนี้มา”

“เป็นการสอนในจิต” ด.ช.ไนซ์ ส่งข้อความเสียงกลับไปทางไลน์สั้น ๆ และหลังตอบ “ปริศนาธรรม” ระหว่างไปโรงเรียนอีก 3-4 คำถาม ก็เป็นการประชุมสายกับทีมแอดมิน เรื่องการทำใบโปรยสำหรับการไลฟ์สด “ตอบข้อธรรมะ” เวลา 19.00 น. และ “ให้ดำเนินคดีเรื่องที่น้องไนซ์เป็นอวตารพระพุทธเจ้า เพราะเป็นการบิดเบือน” ด.ช.ไนซ์ บอกทีมแอดมินทางโทรศัพท์


ตอบปริศนาธรรมระหว่างทางไปโรงเรียน

ในวันเดียวกัน (21 ธ.ค.) ทนายของครอบครัว และกลุ่มผู้สนับสนุน ด.ช.ไนซ์ ได้เดินทางไปร้องทุกข์ที่ กสทช. เพื่อตรวจสอบรายการโทรทัศน์ 4 รายการ ที่มองว่านำเสนอข่าวจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “อาจารย์น้องไนซ์” รวมถึงรายการ “โหนกระแส” ที่พาดหัวในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ว่า “ดรามาเดือด!! ก้มกราบเด็ก 8 ขวบ อ้างตัวเป็นพระพุทธเจ้า สอนธรรมะ ด้วยการเชื่อมจิต”

พ่อแม่ของ ด.ช.ไนซ์ ทำอาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก และเคยทำธุรกิจสบู่แบรนด์ “นิรมิต” ช่วงที่ลูกชายยังอายุไม่มาก ก่อนจะระงับไป หลังพบว่าลูกชายต้องการเดินเส้นทางสายธรรมะ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยชื่อ “นิรมิต” นั้น บิดาเป็นคนตั้ง แต่คำว่า “เทวาจุติ” พิชญะ อ้างว่า บุตรชายตั้งเอง

“เราดูแลลูกเหมือนแก้วตาดวงใจ ชีวิตประจำวันก็เหมือนเด็กทั่วไป” ผู้เป็นบิดากล่าว “ที่แตกต่างคือน้องจะมีการสอนธรรมมากขึ้น เสาร์-อาทิตย์บางเดือน น้องจะไปเป็นวิทยากร ช่วยเผยแผ่ธรรม”

ในช่วงแรกเริ่ม นัฐพร อ้างว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ลูกชายสอนธรรมะ เพราะมองว่า “มีความรู้สึกว่าลูกต้องเป็นสมบัติของพี่... แล้วเนื้อหามันเข้าสู่สาธารณะ ในโลกโซเชียล” แต่ท้ายสุด “มันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถฝืนและปฏิเสธได้”


หน้า LINE Open Chat "นิรมิตเทวาจุติ" ที่มีผู้ติดตามกว่า 6,300 คน

การสนับสนุนของพิชญะ-นัฐพร เริ่มจากการสร้างไลน์ โอเพนแชท ในหมู่เพื่อนและคนรู้จักเมื่อไม่กี่ปีก่อน แล้วขยับมาเป็นการเปิดช่องติ๊กตอก เมื่อคลิปสอนธรรมะมีผู้ชมเป็นจำนวนมากถึงหลักล้านวิว จึงเปิดเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทิวบ์ในเวลาต่อมา

เปิดใจผู้ศรัทธา

แม้จะเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ ด.ช.ไนซ์ ยังเดินหน้าเป็นวิทยากรในพิธี “เชื่อมจิต ต่อยอด ขจัด เคลียร์” ที่จัดขึ้นเมื่อ 21 ม.ค. จ.สมุทรปราการ

บีบีซีไทยได้สังเกตการณ์พิธีดังกล่าว พบว่า มีการวิปัสนากรรมฐาน และ ด.ช.ไนซ์ เดินสลับวิ่งใช้นิ้วมือจิ้มศีรษะผู้เข้าร่วมรายคน ซึ่งทางครอบครัวและ ด.ช.ไนซ์ อ้างว่า เป็นการ “เชื่อมจิต” หรือสอนธรรมในสมาธิ โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีราว 400-500 คน

ตลอดพิธีในช่วงต่าง ๆ มีภาพการยกมือไหว้ แสดงความเคารพ ด.ช.ไนซ์ อายุ 8 ขวบ พร้อมการกล่าวเปิดใจของผู้เข้าร่วมพิธีหลายคน บางคนจบปริญญาโท ที่ระบุถึงเหตุผลที่มาศรัทนา ด.ช.ไนซ์ ว่าช่วยให้บำเพ็ญจิตได้จริงอย่างไร


พิธีในวันที่ 21 ม.ค. มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 400 คน

ไม่นานมานี้ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการเผยแพร่ตัดต่อใบหน้า ด.ช.ไนซ์ สวมทับรูปพระพุทธเจ้า ทำให้กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ญาติธรรมรวมพลังปกป้องอาจารย์น้องไนซ์” ออกมายื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ให้ดำเนินการกับขบวนการที่หวังทำลายชื่อเสียง และละเมิดสิทธิของเด็กชายอายุไม่ถึง 10 ขวบ

หนึ่งในนั้นคือ คณินทรา ชัยมูลมั่ง วัย 45 ปี หรือ “แอดมินสาว” ผู้อยู่เบื้องหลังการโพสต์คอนเทนต์ -ไลฟ์สด บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ “นิรมิตเทวาจุติ” ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566

อดีตเจ้าหน้าที่ไอที-นักวิเคราะห์ระบบ อายุงาน 17 ปี ที่ปัจจุบันเป็นแม่บ้าน เล่าว่า เริ่มศรัทธาในตัว “อาจารย์น้องไนซ์” ผ่านโพสต์สอนธรรมะบนติ๊กตอก ก่อนเสนอตัว-ได้รับการชักชวน เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมแอดมิน ที่มีอยู่รวม 60 คนทั่วประเทศ

“เด็กอายุไม่กี่ขวบ ทำไมพูดเรื่องในพระไตรปิฎกได้ หรือแม่เขาสอนนะ เราก็เลยติดตาม เซฟคำสอนทุกคลิปในติ๊กตอก ฟังมา 3-4 เดือนเลย แล้วทำตามด้วย” คณินทรา บอกกับบีบีซีไทย


ภาพตัดต่อหน้า ด.ช.ไนซ์ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่ทางครอบครัวยื่นฟ้องคดีต่อ "ขบวนการมาร" ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของ อ.น้องไนซ์

สำหรับเธอ ด.ช.ไนซ์ “เป็นทั้งครู อาจารย์ เป็นทุก ๆ อย่าง เพราะว่าไม่ได้สอนแค่ทางธรรม” แต่ “ชีวิตเราเปลี่ยนไป ครอบครัวก็เปลี่ยนไป ทุกคนไปนั่งสมาธิ ไปวัดไปวา ทำบุญกันหมดเลย”

ญาติธรรมอีกคน ชื่อ “จอม” ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ให้เหตุผลคล้ายกันว่า เริ่มจากได้เห็นคลิปธรรมะของ “อาจารย์น้องไนซ์” ในติ๊กต่อก แล้วรู้สึกแปลกใจที่เด็กอายุยังน้อย แต่พูดธรรมได้น่าฟัง

“อย่างเช่นสอนเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน... นั่งสมาธิกรรมฐาน หรืออานาปานสติ คิดว่าเก่งจังเลย เด็กตัวแค่นี้ทำไมถึงรู้ธรรม” เขาเล่าต่อ

จากการติดตามในสังคมออนไลน์ ขยับขึ้นมาเป็นการร่วมกิจกรรมออฟไลน์ครั้งแรกที่ จ.สุราษฏร์ธานี และ “การเชื่อมจิตออนไลน์” ที่ จอม ทำผ่านการไลฟ์สดบนติ๊กตอก “ผมก็นั่งสมาธิตาม แล้วเข้าสมาธิได้เลยตอนนั้น”


กลุ่มญาติธรรม และทนายธรรมราช ที่บีบีซีไทยได้พูดคุยว่า ทำไมถึงศรัทธาและเลื่อมใสใน "อาจารย์น้องไนซ์"

บีบีซีไทยสอบถาม ด.ช.ไนซ์ ว่า “การเชื่อมจิต” คืออะไร เขาอธิบายว่า “การเชื่อมระหว่างจิตเทพและจิตมนุษย์” เพื่อสอนธรรมะในสมาธิ ทีมข่าวถามต่อว่า แล้วท่าจรดนิ้วชี้และนิ้วกลางลงบนหน้าผาก ทำไปเพื่ออะไร “(เชื่อมจิต) ใช้ท่าอื่นก็ได้ แต่ท่านี้กินพลังงานน้อยสุด” เด็กชายวัย 8 ขวบกล่าว

เลียนแบบ หรือ ถ่องแท้ในธรรม ?

บริษัท ByteDance บริษัทแม่ของติ๊กตอก (TikTok) รายงานว่า ประเทศไทย ถือว่ามีผู้ใช้ติ๊กตอกมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก ถึง 40.28 ล้านผู้ใช้ โดยช่วงปี 2565-66 มีผู้ใช้แอปพลิเคชันในไทยเพิ่ม 4.5 ล้านผู้ใช้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขของทางบริษัท ไม่ได้ระบุว่า มีผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี มากเท่าใด

เว็บไซต์ของติ๊กตอก ประเทศไทย ระบุว่า “ประชาชนต้องมีอายุ 13 ปีหรือมากกว่าจึงจะสร้างบัญชีได้” โดยการใช้บริการ ผู้ใช้จะต้องยืนยันว่า มีอายุครบตามที่ระบุไว้ หากติ๊กตอก พบว่า ผู้ใดที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ข้างต้นและกำลังใช้บริการ "จะทำการยกเลิกบัญชีของผู้ใช้รายนั้นทันที"

บีบีซีไทยเข้าใจว่า ผู้ปกครองของเด็กชายเป็นผู้เปิดบัญชี และนำเข้าเนื้อหาลงแพลตฟอร์ม

บีบีซีไทยได้ตรวจสอบบัญชี “นิรมิตเทวาจุติ” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 30,000 คนบนติ๊กตอก พบว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่ปรากฏภาพ ด.ช.ไนซ์ ในหลากอิริยาบถ รวมถึงการไลฟ์ที่ทำโดยมี นัฐพร นั่งอยู่ด้วยตลอด

เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของติ๊กตอก ประเทศไทย ระบุว่า มีการกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำสำหรับการไลฟ์ โดยผู้ใช้จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถทำการไลฟ์ได้ ในกรณีนี้ถือว่า มีผู้ปกครองทางกฎหมายคอยดูแลตลอดเวลา



นัฐพร เตรียมความพร้อมไลฟ์สดผ่านติ๊กตอก และถ่ายทอดสัญญาณไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ


ระหว่างรอมารดาเรียกให้ไปไลฟ์สด ด.ช.ไนซ์ ชมยูทิวบ์บนโทรทัศน์อยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา

“หมอคิดว่าเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ เขายังไม่มีวิธีตัดสินใจบนฐานข้อมูลด้วยตัวของเขา เขาไม่ควรเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใด ๆ” รศ.ดร.สุริยเดว หรือ “หมอเดว” กล่าว

“เพราะมันจะรบกวนความเป็นเด็ก รบกวนธรรมชาติการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ และรบกวนอีกหลายอย่างที่คุณอาจรู้ไม่เท่าทัน แล้วเราไม่รู้เลยว่า ดิจิทัล ฟุตพรินต์ พวกนี้ ที่ปรากฏและถาวร จะแว้งกลับมาเล่นงานเขาเองในภายภาคหน้าอย่างไร”

บีบีซีไทยถามผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ต่อว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สามารถสอนธรรมะกับผู้ใหญ่ได้หรือไม่

“เป็นไปไม่ได้โดยส่วนใหญ่ ยกเว้นว่า จะบอกว่ามันมีกลุ่มอัจฉริยะบางประเภท ที่มีความเข้าใจ แต่ถึงจะมีจริง ในวุฒิภาวะก็ย่อมไม่เท่าผู้ใหญ่” ยกตัวอย่าง “เรื่องบาปบุญคุณโทษ ชาตินี้ ชาติหน้า เขาไม่เข้าใจ เพราะเขา (เด็ก) ต้องการอะไรที่เป็นรูปธรรม”

เมื่อถามต่อว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ สามารถตอบคำถามด้วยศัพท์ที่สลับซับซ้อนได้หรือไม่ หมอเดว ให้ข้อมูลต่อว่า “สมมติว่าเขามีแรงบันดาลใจ อยากรู้อยากเห็นกับข้อมูลลักษณะนี้ สืบค้นมันเยอะ แล้วซึมซับข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วกล่าวตาม มันเกิดขึ้นได้”

“แต่ถามว่าเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในแง่ที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตที่เราเรียกว่า วุฒิภาวะ อันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ครับ” รศ.ดร.สุริยะเดว ระบุ


"ถ้าพ่อแม่หัวเราะได้ พ่อแม่มีพื้นที่ยืนในสังคมได้ และเขามีความรู้สึกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่หัวเราะและยิ้มได้ ภาพบวกต่อบวกแบบนี้ เราเรียกว่าแรงเสริมบวก พฤติกรรมแบบนี้มันจะเกิดขึ้นซ้ำเดิมต่อเนื่องกัน" รศ.ดร.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าว

ด้าน นัฐพร มารดาของ ด.ช.ไนซ์ ยืนกรานกับบีบีซีไทยว่า ไม่มีหนังสือธรรมะในบ้าน และไม่เคยเปิดยูทิวบ์เกี่ยวกับธรรมะให้บุตรชายรับชม “ถ้าเปิดให้ดูแล้วน้องซึมซับ แล้วน้องพูดมันไม่แปลก แต่นี่คือสิ่งที่น้องพูด สิ่งที่แม่กับพ่อก็ไม่รู้ แล้วไม่เคยเปิดให้ลูกดู เลยมองว่าเป็นเรื่องแปลก”

“มาร” ในไลฟ์ TikTok

“วันนี้ไม่มีเชื่อมจิตนะครับ” ด.ช.ไนซ์ ทักทายผู้คนที่เข้ามาชมไลฟ์สดผ่านติ๊กตอก และลิงก์สัญญาณสดพร้อมกันในสังคมออนไลน์อื่น ๆ รวม 7 แพลตฟอร์ม เมื่อคืนวันที่ 21 ธ.ค. 2566

ระหว่างที่จำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลายพัน มือของเด็กชายวัย 8 ปี ก็ระวิงอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟน พร้อมพูดเป็นระยะ ๆ ว่า “มาร นี่ก็มาร อันนี้เป็นมาร” เด็กชายหมายถึงผู้คนที่เข้ามาคอมเมนต์วิจารณ์การสอนและตัวเขา จึงกดลบบัญชีเหล่านี้ออกไปจากการไลฟ์สด



“น้องไนซ์บอกกับทุกคนที่ไลฟ์สดว่า เขามาเพื่อกรองเพชรในกองทราย แล้วทรายก็เปลี่ยนเป็นเพชรได้... เพื่อพาดวงจิตไปสู่ยุคพระศรีอาริย์” พิชญะ บิดา อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวของบุตรชาย

นัฐพร เสริมต่อว่า “เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องมาเชื่อ อย่างที่น้องบอกว่า ธรรมะไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะกัน ถ้าคลิกไม่ติดก็ปล่อยเขาไป สิ่งที่เผยแผ่ตอนนี้ คือการที่น้องต้องการให้คนที่คลิกกันติด ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาธรรม”

ด้าน นักวิชาการด้านศาสนวิทยา มองกรณี “อาจารย์น้องไนซ์” คล้ายประเด็น “ครูกายแก้ว” ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2566 ว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ ในหลักคิดว่า “ทุกคนมีสิทธิจะพูดสอน สร้างหลักธรรม ตีความสอนพุทธ สร้างศาสนาในแนวของตัวเอง... และเป็นสิทธิเสรีที่คนอยากจะเชื่อก็เชื่อได้” ดร.ศิลป์ชัย กล่าว

ส่วนการใช้สังคมออนไลน์เพื่อเผยแผ่คำสอน ก็ต้องมองว่า สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือการสื่อสาร คนที่ใช้เป็นและกล้าใช้ก็จะได้ประโยชน์ในการเข้าถึงคนหมู่มาก



"ศาสนาพุทธโดยเนื้อแท้ เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด... ทำให้คนเปิดใจว่า เด็กบางคนจะมีองค์ศาสดา พระอรหันต์ หรือพระอริยะในอดีต กลับมาเกิดใหม่ได้” ดร.ศิลป์ชัย กล่าว

ดร.ศิลป์ชัย ยังเห็นตรงกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ชี้ว่า การสอนธรรมะของ ดช.ไนซ์ ไม่มีการกระทำผิดทางกฎหมาย แต่สิ่งที่รัฐและสังคมควรตรวจสอบคือ มีการหลอกลวงเกิดขึ้นหรือไม่

“ต้องดูจากสิ่งที่เขาปฏิบัติเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สอนให้รักษาศีล แต่ตัวเองไม่ถือปฏิบัติเลย ก็ถือว่าหลอกลวง เหมือนพระ กลางวันนุ่งจีวรบิณฑบาต พอตกกลางคืนเปลี่ยนชุดไปสถานบันเทิง” เขายกตัวอย่าง

แต่ “ผมก็อยากให้ความเป็นธรรมกับน้องไนซ์ ต้องยุติธรรมกับเขาว่า สิ่งที่น้องไนซ์สอนกับเจ้าอื่นสอน ต่างกันแน่ไหม พวกดูดวง หมอดู ทำยิ่งกว่าด้วยซ้ำ และเรียกผลประโยชน์มากกว่า ถ้าจะจัดการน้องไนซ์ ก็ต้องจัดการให้เสมอหน้า” นักวิชาการด้านศาสนวิทยาระบุ

ผลประโยชน์ และ อนาคตจากนี้



“คุณพ่อกับคุณแม่ยืนยันไหมครับว่า ไม่มีการรับผลประโยชน์” บีบีซีไทย ถาม

“เราเคยพูดและยกมือไหว้ต่อหน้าพระพุทธเจ้ามาแล้วว่า ผลประโยชน์ต่าง ๆ เราไม่มี น้องบอกไม่ให้รับ หน้าที่เผยแผ่ธรรม ห้ามรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น” พิชญะ ตอบ

“แล้วตุ๊กตา และสุนัขนี่ล่ะครับ” บีบีซีไทยชี้ไปยังห้องนอนที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา และสุนัขพันธุ์ชิวาวา ประเมินราคาหลายพันถึงหลักหมื่น ที่เหล่า “ญาติธรรม” มอบให้

“เขาส่งตุ๊กตามาให้ เสื้อผ้ามาฝากน้อง” บิดาตอบ ก่อนที่ นัฐพร มารดา จะพูดต่อว่า “สิ่งของมีค่าแบบทอง อะไรแบบนี้ เราจะไม่รับ”


"เชอร์รี" สุนัขสายพันธุ์ชิวาวา ที่ญาติธรรมมอบให้ ด.ช.ไนซ์

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบ รวมถึงในสื่อออนไลน์ ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า "อาจารย์น้องไนซ์" เรียกรับผลประโยชน์จาก "คอร์สเชื่อมจิต" ราคา 1,900-4,200 บาท

ทนายความของ ด.ช.ไนซ์ ชี้แจงว่า เงินดังกล่าวเป็นของผู้จัดงาน ในส่วนค่าใช้จ่าย คือ ค่าสถานที่ ค่าอาหาร และที่พัก ส่วน ด.ช.ไนท์ เป็นวิทยากรไม่มีค่าจ้าง ขณะที่ภาพเด็กชายรับเงินนั้น เงินดังกล่าวได้ถูกส่งต่อไปสมทบทุนการสร้างสถานปฏิบัติธรรมแล้ว



ตลอดเวลา 1 วันที่บีบีซีไทยได้สังเกตการณ์ ด.ช.ไนซ์ ระหว่างทางไปโรงเรียน และเวลาอยู่ที่บ้าน พบว่ากิจกรรมของเด็กชายเกี่ยวข้องกับสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ หากไม่ตอบ “ปริศนาธรรม” ออนไลน์ ก็จะเข้าห้องดูช่องยูทิวบ์

บีบีซีไทยถาม ด.ช.ไนซ์ ว่า ทำไมถึงต้องทำสิ่งเหล่านี้ ทำไมต้องสอนธรรมะ เขาตอบว่า “มันเป็นหน้าที่ของน้องไนซ์ แล้วมันก็มีเวลาน้อย เพราะน้องไนซ์ต้องไปโรงเรียน” นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กชายวัย 8 ขวบบอกว่า เขาตัดสินใจจะไม่เรียนต่อเมื่อศึกษาจบมัธยมศึกษาปีที่ 6

ส่วนอนาคตนั้น ด.ช.ไนซ์ มองว่า จะเป็นนักธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ต่อจากบิดา พร้อมกับเผยแผ่ธรรมะ ไม่เพียงแต่ในไทย แต่ไปไกลถึงต่างประเทศ รวมถึงรัสเซีย ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์

“น้องไนซ์จะไม่สร้างวัด... เพราะตอนนี้ ทุกอย่างมันอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต” ดังนั้น การเผยแผ่ธรรมะจึงต้องทำผ่าน “การสร้างช่องยูทิวบ์ การไลฟ์สด หรือการสร้างช่องติ๊กตอก ช่องเพจ ช่องเฟซบุ๊ก” เด็กชายวัย 8 ขวบ ตอบแบบไม่สะดุด



ทีมข่าวอยู่กับครอบครัวถึงเวลาราว 20.30 น. ก่อนเดินทางกลับ โดยภาพสุดท้ายของ ด.ช.ไนซ์ ที่บีบีซีไทยเห็น คือเด็กชายนั่งอยู่บนเตียงที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา ในห้องมืดสลัวที่ส่องสว่างด้วยแสงจากโทรทัศน์ ที่ยังเปิดช่องยูทิวบ์แคสเกมอยู่

ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/c2ly1q4j335o