จาก ฌอน บูรณะหิรัญ สู่ Pigkaploy ทำไมภาพลักษณ์ทหารไทยถึงถูกคนไทยตั้งคำถาม
19 มกราคม 2024
บีบีซีไทย
ชีวิตของทหารบริเวณชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย คือเรื่องราวที่ปรากฏในคลิปของยูทูปเบอร์สายท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Pigkaploy หรือ พลอย-พลอยไพลิน ตั้งประภาพร
คลิปดังกล่าวที่ถูกลบไปจากช่องแล้ว ได้ฉายภาพเล่าเรื่องถึงการเดินทาง 3 วัน 2 คืนเพื่อไปเกาะติดชีวิตของทหารไทยที่ฐานปฏิบัติการห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงราย และฐานปฏิบัติการสุบรรณ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยฐานปฏิบัติการทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา
เกิดอะไรขึ้นกับคลิป “ทหารมีไว้ทำไม"
คลิปดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 คลิปที่เจ้าของช่องเตรียมเผยแพร่ในซีรีส์เรื่องราวชีวิตของทหารชายแดน
“สิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นในวิดีโอหลังจากนี้จะเป็นการถ่ายทอดตามมุมมอง ข้อสงสัย และคำถามที่เกิดขึ้นจริงจากเราเท่านั้น และได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่จากกองทัพบกเรียบร้อย แต่ภาพบางเหตุการณ์ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หวังว่าซีรีส์ทั้งสามตอนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวทหารชายแดนไปพร้อม ๆ กัน” นี่คือข้อความที่ช่อง Pigkaploy ระบุว่าไว้ในช่วงต้นของคลิปที่ถูกลบไปแล้ว
คลิปดังกล่าวถูกนำเสนอด้วยภาพปกพร้อมคำว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ซึ่งประโยคดังกล่าวเคยเป็นประเด็นข้อถกเถียงกันทางการเมือง ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทของกองทัพ โดยเฉพาะบทบาทของนายทหารระดับสูง
เรื่องดราม่าเกิดขึ้นหลังจากที่คลิปถูกเผยแพร่ออกไป โดยมีเว็บไซต์ของรัฐบาลไทย รวมถึงบัญชีเฟซบุ๊กของหน่วยงานภายใต้กองทัพบก เช่น “เพจโฆษกกระทรวงกลาโหม” “กองทัพบก Royal Thai Army” และ “กองพลทหารปืนใหญ่” นำเนื้อหาจากคลิปวิดีโอดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม
เว็บไซต์รัฐบาลไทย และเพจเฟซบุ๊กโฆษกกระทรวงกลาโหม คือหน่วยงานส่วนหนึ่งที่นำเนื้อหาจากช่อง Pigkaploy ไปประชาสัมพันธ์ต่อ
คู่ขนานไปกับคอมเมนต์ในคลิปดังกล่าวบนช่องทางยูทิวบ์ ที่เกิดวิวาทะโต้เถียงระหว่างผู้คนในโลกออนไลน์ถึงวิวาทะ “ทหารมีไว้ทำไม” ขณะที่บางคนคอมเมนต์ขอบคุณเจ้าของช่องที่ช่วย “ปกป้องทหาร”
ในเวลาต่อมา ช่อง Pigkaploy ชี้แจงถึงประโยค “ทหารมีไว้ทำไม” ว่าเป็นความผิดพลาดของเธอเองที่ถ่ายทอดออกมาให้เกิดความเข้าใจไปในหลายรูปแบบ รวมถึงเรื่องราวทางการเมือง พร้อมกับยืนยันว่า การจัดทำคลิปวิดีโอดังกล่าว “ไม่มีการรับบรีฟจากกองทัพ มีเพียงได้รับการสนับสนุนในการถ่ายทำ” ในการเข้าไปภายในพื้นที่ชายแดน และเธอได้เปลี่ยนคำว่า “ทหารมีไว้ทำไม” เป็น “ตามติดชีวิตทหารชายแดน” เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดแล้ว
อย่างไรก็ดี คลิปดังกล่าวถูกลบออกไปจากช่อง Pigkaploy ในเวลาต่อมา
จากดราม่า ฌอน บูรณะหิรัญ สู่ Pigkaploy
ฌอน บูรณะหิรัญ อดีตนักพูดชื่อดังกับคลิป "ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร"
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดข้อถกเถียงเรื่องยูทิวบ์เบอร์ไทยที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับกองทัพ พร้อมปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง”
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2563 ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง เคยเผยแพร่คลิปบนเฟซบุ๊กชื่อว่า “ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร” โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งคือการที่เขาได้ร่วมปลูกต้นไม้ในกิจกรรมเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
“เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราเห็นในรูปภาพที่อยู่ในมีม ที่เขาหลับและภาพจะออกมาแบบดูร้ายหน่อย แต่พอได้เห็นตัวจริง เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ทำให้ผมนึกออกว่าสิ่งที่เราเห็นในสื่อ เขาก็มีเจตนาที่จะทำให้เราคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราได้เจอตัวเขาจริง ๆ ได้คุยกับเขาและสัมผัสกับเขา” คำกล่าวของฌอน ส่งผลให้เกิดข้อวิจารณ์มากมาย ยอดผู้ติดตามของเขาลดเป็นหลักแสนรายในชั่วข้ามคืน
คลิปดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และทำให้แฮชแท็ก #ฌอนบูรณะหิรัญ ขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์
ทำไมภาพลักษณ์ทหารไทยมักถูกตั้งคำถาม
เหตุการณ์นี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” กับยูทิวบ์เบอร์ที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของทหารไทย
ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก บอกกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ของกองทัพไทยกำลังอยู่ในสถานะ “ติดลบ” จนทำให้ประชาชนจำนวนมากมักจะสงสัยอยู่เสมอว่า กิจกรรมใด ๆ ที่เหล่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์เข้าไปมีส่วนร่วมกับกองทัพนั้น เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นกิจกรรมที่ถูกว่าจ้างกันแน่
ในมุมของ ดร.นันทนา มองว่า สถานะภาพลักษณ์ติดลบของกองทัพเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือ การที่นายทหารระดับสูงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยผ่านการรัฐประหาร การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และการที่กองทัพมีจำนวนนายพลมากเกินไป
“พอเวลาที่มีกิจกรรม หรือเป็นเรื่องการสื่อสารที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของทหารเป็นบวก คนก็จะตั้งคำถามว่า มันเกิดขึ้นโดยเป็นธรรมชาติ หรือเป็นการจัดกระทำเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกขึ้นมา” นักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง กล่าว
นอกจากนี้ ดร.นันทนา ยังชี้ว่า ภาพลักษณ์ของทหารสามารถมองได้เป็นสองส่วน คือภาพลักษณ์ของนายทหารระดับสูง และภาพลักษณ์ของนายทหารระดับปฏิบัติการ ซึ่งนักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า ปัญหาที่กองทัพกำลังเผชิญ คือภาพลักษณ์เชิงลบที่เกิดจากนายทหารระดับสูง มากกว่านายทหารฝ่ายปฏิบัติการ หรือที่เรียกกว่าทหารชั้นผู้น้อย
“ที่มีปัญหาคือภาพลักษณ์ของนายทหารระดับสูงที่เข้ามาพัวพันทางการเมือง ตรงนี้มันจึงทำให้คนมีความรู้สึกว่า อะไรที่ถูกสื่อสารออกมาเป็นเชิงบวก คนก็จะตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า นี่คือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่าไอโอหรือไม่”
ดร.นันทนา นันทวโรภาส ประเมินภาพลักษณ์กองทัพไทยว่าอยู่ในภาวะติดลบ
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ยังระบุด้วยว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ที่ติดลบของทหารไทยได้ ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำและการลงมือทำจริง ๆ เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกภายในกองทัพ ว่าปัญหาทั้งเรื่องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การปรับขนาดของกองทัพ และนโยบายทุ่มงบเพื่อซื้ออาวุธโดยเกินจำเป็น กำลังจะถูกแก้ไขในเร็ววัน
“การสื่อสารที่ดีที่สุดคือการกระทำ” นักวิชาการผู้นี้กล่าว “ภาพลักษณ์ที่เป็นบวก มันจะเกิดขึ้นได้จากการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง การออกมาแค่พูด หรือแค่ทําคลิป ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร”
อินฟลูเอนเซอร์-ยูทิวบ์เบอร์ มีส่วนช่วยพูดปัญหาได้
ดร.นันทนา กล่าวว่า บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในยุคปัจจุบัน สามารถเลือกพูดทั้งด้านบวกและลบของประเด็นที่พวกเขาสนใจได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีข้อพิพาททางการเมืองอย่างกองทัพ
“ถ้าทำด้านเดียว คนก็จะสงสัยอยู่แล้วว่าเป็นการรับบรีฟรึเปล่า เพราะเคยมีตัวอย่างกรณีคุณฌอนอยู่แล้ว ก็จะทำให้คนตั้งข้อสงสัยได้ บรรดายูทูวบ์เบอร์ต้องทำให้คนมีความเชื่อมั่น ทำทุกอย่างที่โปร่งใส ทำให้ครบทั้งด้านบวกและลบ ให้คนเชื่อในสิ่งที่เราทำ ว่าเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ไอโอ หรือโปรโมทหน่วยงาน เพราะสิ่งนี้จะเป็นผลในระยะยาวต่อภาพลักษณ์ของยูทิวบ์เบอร์ไปตลอด”
นอกจากนี้ ดร.นันทนา ยังมองว่า ความเป็นจริงคือทุกอย่างล้วนมีทั้งด้านดีและด้านลบ ดังนั้นอินฟลูเอนเซอร์ที่สามารถนำเสนอทั้งสองแง่มุมได้ครบถ้วน ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของพวกเขาได้ในระยะยาว
“ทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้านเสมอ การนำเสนอภารกิจเกี่ยวกับทหาร ต้องทำให้ครบวงจร ด้านบวกก็ต้องทำ ด้านลบคุณก็ต้องกล้าทำ เพื่อทำให้คนเชื่อว่าสิ่งที่คุณทำเป็นความบริสุทธิ์ใจ และทำตามหลักการทางวิชาชีพของคุณ” ดร.นันทนา กล่าว
ดร.นันทนา ชี้ว่าภาพลักษณ์ที่ติดลบของกองทัพไทย สามารถถูกแก้ไขได้ผ่านการลงมือแก้ไขปัญหา มากกว่าการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์
นักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง ระบุด้วยว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย และเข้าถึงข้อมูลได้เยอะมากขึ้น รวมถึงสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากสิ่งที่พวกเขาได้เสพบนโลกออนไลน์
สุดท้ายแล้ว ดร.นันทนา มองว่า ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ทำให้ผู้คนไม่ได้หลงเชื่อในเนื้อหาต่าง ๆ ในทันทีที่เขาได้พบเห็น นี่จึงเป็นความท้าทายต่อทุกฝ่ายว่า การสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์จะต้องไม่ทำในลักษณะที่ผิวเผินอีกต่อไป
โฆษกกลาโหมยืนยันคลิป “ทหารมีไว้ทำไม” ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ
ไทยพีบีเอสรายงานถึงคำชี้แจงจาก จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง กรณีคลิปทหารมีไว้ทำไมของช่อง Pigkaploy ว่า การที่มีผู้ทำเนื้อหาในลักษณะถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของทหารเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นลักษณะของการทำโฆษณาชวนเชื่อ
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ผู้ที่ทำคลิปในลักษณะที่ต้องการมาเรียนรู้การดำรงชีพของทหารต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสื่อสารเรื่องราวของหน่วยซีลกองทัพเรือ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอากาศยานของกองทัพอากาศ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
ที่มา (https://www.bbc.com/thai/articles/c4nynn9r7v9o)