วันศุกร์, มกราคม 19, 2567

อำนาจเป็นพิษ - คดีฆาตกรรม "ป้าบัวผัน" สะท้อนทัศนคติ "เป็นลูกตำรวจทำอะไรก็ไม่ผิด"

พบศพนางบัวผันบริเวณบ่อน้ำข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

คดี “ป้าบัวผัน” สะท้อนปัญหางานสอบสวนตำรวจไทย และทัศนคติ “เป็นลูกตำรวจทำอะไรก็ไม่ผิด” หรือไม่

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
17 มกราคม 2024

คดีฆาตกรรมนางบัวผัน ตันสุ เกือบทำให้นายปัญญา คงแสนคำ ผู้เป็นสามีตกเป็นแพะในคดีนี้ หากไม่มีภาพกล้องวงจรปิดเผยแพร่ภาพเหตุการณ์คืนวันเกิดเหตุออกมาเสียก่อน ซึ่งพบว่าผู้ลงมือคือเยาวชนจำนวน 5 คน โดย 2 คนในกลุ่มนี้เป็นลูกตำรวจใน จ.สระแก้ว

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตผู้กำกับ สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่าคดีนี้สะท้อนปัญหาระบบงานสอบสวนของตำรวจไทย และสื่อถึงทัศนคติของลูกตำรวจบางนายที่อาจมองว่า “ทำอะไรก็ไม่ผิด” เพราะถูกส่งต่อแนวคิดนี้จากพ่อแม่มาอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากภาวะ “อำนาจเป็นพิษ” ในโครงสร้างองค์กรตำรวจที่ฝ่ายสอบสวนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไป และไร้การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจจากภาคส่วนอื่น ๆ

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ไม่พบประเด็นการช่วยเหลือกันของตำรวจ และขั้นตอนการสอบสวนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

คดีฆาตกรรมนางบัวผันที่สามีเกือบเป็นแพะ

คดีฆาตกรรมนางบัวผัน ตันสุ หญิงสติไม่ดี วัย 47 ปี หรือที่ถูกกล่าวถึงในชื่อว่า “ป้าบัวผัน” หรือ “ป้ากบ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังพบศพนางบัวผันบริเวณบ่อน้ำข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยต่อมานายปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ผู้เป็นสามีอายุ 56 ปี รับสารภาพกับตำรวจว่าใช้เก้าอี้ทุบหัวนางบัวผัน เนื่องจากเมาแล้วทะเลาะวิวาทกัน ก่อนนำศพไปทิ้ง เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศจึงควบคุมตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พร้อมกับนำตัวนายปัญญาไปฝากขังที่ศาลเพื่อส่งตัวเข้าเรือนจำ จ.สระแก้ว

แต่นายณัฐดนัย นะราช ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ได้เปิดเผยภาพกล้องวงจรปิดหลายจุดที่บันทึกภาพตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค. เป็นต้นมา และพบว่านางบัวผันถูกทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มเยาวชน

อายุประมาณ 13-16 ปี จำนวน 5 คน เหตุเกิดที่หน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ภายในซอยบำรุงราษฎร์ เขตเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ โดยพบว่า 2 ใน 5 คน เป็นลูกของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่

รายละเอียดจากภาพกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่านางบัวผันพยายามขัดขืนและป้องกันตนเอง แต่สุดท้ายก็ถูกพาขึ้นรถจักรยานยนต์ของกลุ่มเยาวชน และต่อมาภาพจากกล้องวงจรปิดช่วงเวลาประมาณ 02.40 น. ของร้านล้างรถหยอดเหรียญซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดพบศพ ยังปรากฎภาพเยาวชนล้างรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าใช้ก่อเหตุ พร้อมกับบทสนทนาที่สอบถามกันเองภายในกลุ่มว่า กล้องวงจรปิดหน้าร้านสะดวกซื้อจะจับภาพเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไว้ได้หรือไม่

หลังภาพวงจรปิดถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ส่งผลให้รูปคดีพลิก ตำรวจนำตัวเยาวชนทั้ง 5 คนมาสอบปากคำ ซึ่งทั้งหมดยอมรับสารภาพว่าร่วมกันก่อเหตุ นายปัญญาสามีนางบัวผันซึ่งเกือบตกเป็นแพะในคดีนี้จึงพ้นผิด เนื่องจากไม่ใช่ผู้ก่อเหตุที่แท้จริง ส่วนกลุ่มเยาวชนถูกนำตัวส่งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

ตำรวจปัดจับแพะ

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการจับแพะ รวมถึงเกิดข้อสงสัยว่ามีการปกป้องลูกตำรวจ 2 คนที่อยู่ในกลุ่มเยาวชนหรือไม่ ทำให้วานนี้ (16 ม.ค. 2567) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมายัง สภ.อรัญประเทศเพื่อรับฟังความคืบหน้าของคดี พร้อมกับสอบถามนายปัญญาว่าทำไมยอมรับสารภาพทั้งที่ไม่ได้ทำ โดยเขาบอกว่าเสียใจที่ภรรยาเสียชีวิต และถูกชาวบ้านมองว่าเป็นคนทำ จึงยอมรับสารภาพเพื่อยุติปัญหา ไม่ได้ถูกใครสั่งหรือบอกให้รับสารภาพ และเมื่อตำรวจยื่นเก้าอี้ให้ตอนทำแผนประกอบคำสารภาพ ก็คิดเอาเองว่าต้องใช้ตี

ขณะที่ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ชี้แจงว่าตำรวจในพื้นที่รู้จักนายปัญญาและนางบัวผันเป็นอย่างดี มีข้อมูลว่านายปัญญามักทำร้ายภรรยา ดังนั้น เมื่อนางบัวผันเสียชีวิตจึงนำตัวนายปัญญามาสอบปากคำแล้วเขาก็รับสารภาพ ประกอบกับมีรอยเปื้อนเลือดที่กางเกง ตำรวจจึงเชื่อว่านายปัญญาเข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ไม่ได้ปักใจเชื่อเสียทีเดียว

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำกางเกงส่งตรวจสอบสารพันธุกรรมหรือ DNA และระหว่างรอผลก็ไล่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด พร้อมกับนำตัวนายปัญญาส่งตัวฝากขัง โดยยืนยันว่าไม่มีการว่าจ้างให้นายปัญญาสารภาพยอมรับผิดแทนใคร ตำรวจทำคดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างตำรวจด้วยกันเอง พ่อของเด็กที่เป็นตำรวจไม่รู้เรื่องดังกล่าว และทราบว่าเป็นตำรวจน้ำดี

ทำไมสังคมเคลือบแคลงการทำงานของตำรวจ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตนายตำรวจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกกับบีบีซีไทยว่า ถึงแม้หากกรณีนี้เป็นการจับแพะโดยสุจริต แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่ากรณีการฆาตกรรมนางบัวผัน ไม่ได้เข้าข่ายการจับแพะโดยสุจริต เนื่องจากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทำให้เชื่อว่าอาจมีการพยายามปกป้องผู้กระทำความผิด

เขามองว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) ซึ่งเป็นแม่บทของการสอบสวนได้กำหนดขั้นตอนการสอบสวนไว้หมดแล้ว “แต่ปัญหาคือพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำตามนั้น” และเมื่อย้อนดูคดีนี้ก็พบว่าหลายขั้นตอนการทำงานของตำรวจมีปัญหาและก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมตามมา

“ตั้งแต่การแจ้งข้อหา ทาง ป.วิอาญาฯ กำหนดไว้ว่าต้องมีพยานหลักฐานตามสมควร มีหลักฐานตามสมควรตามความหมายของตำรวจที่รับผิดชอบคืออะไร? เลือด 2 จุดบนขากางเกงหรือ? ถ้าคิดแบบนี้ก็โง่เง่าเต็มประดาแล้ว ไม่สมควรเป็นตำรวจ ไม่สมควรเป็นพนักงานสอบสวน”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อว่านายปัญญาอาจไม่ได้เป็นผู้ลงมือ “แต่ทำไมตั้งข้อหาแล้วเอาไปทำแผนฯ มันย้อนแย้ง” โดยเขามองว่าแผนประกอบคำรับสารภาพก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงยิ่งทำให้คนตั้งคำถามกับการทำงานของตำรวจมากขึ้น และทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้คือผู้บังคับบัญชาควรเลิกให้เหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ กับสังคม เพราะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

“คำว่าหลักฐานตามสมควรมันต้องมีน้ำหนัก ไม่ใช่เป็นคนละเรื่องกันแบบนี้ เป็นคนละคนกันแบบนี้ คุณใช้หลักฐานอะไร ลองบอกหน่อย คำรับสารภาพของเขาหรือ ซึ่งคนก็สงสัยว่ามันวิปริต คนเราจะอยู่ดี ๆ แล้วเดินไปรับสารภาพว่าฆ่าเมียซึ่งมีโทษประหารชีวิตเหรอ มันผิดปกติไหมล่ะ หรืออาศัยไม่รู้หนังสือ ความมึนเมาของเขา ถ้าตำรวจดี ๆ มีสามัญสำนึก ท่านต้องคิดว่าคำพูดเช่นนี้มันเชื่อได้แค่ไหน ก็อย่าเพิ่งไปแจ้งข้อหา แต่นี่กลับแจ้งข้อหา พาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และพิรุธก็คือว่าเก้าอี้ที่เอาตีมันก็ตรงกับเหตุการณ์ที่พวกคนร้ายตัวจริงใช้ด้วย” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว


เจ้าหน้าที่งมเก้าอี้ได้จากใต้น้ำ คาดว่าเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ก่อเหตุทำร้ายนางบัวผัน

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเพิ่มเติมวันนี้ (17 ม.ค.) ว่า จากการไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์และดูข้อเท็จจริงทั้งหมด เขาขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานถูกต้องตามขั้นตอนและไม่มีพฤติการณ์ปกป้องผู้กระทำความผิดตัวจริง ซึ่งเป็นลูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 1 คน และลูกของตำรวจชุดสืบสวน จ.สระแก้ว 1 คน

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า เหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. แต่จากบันทึกการใช้โทรศัพท์ของเยาวชนที่เป็นลูกตำรวจพบรายการโทรออกหาพ่อในช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. วันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุฆาตกรรม แต่หลังลงมือกลับไม่ติดต่อหาพ่อผู้เป็นตำรวจเลย เพราะกลัวว่าพ่อจะรู้

ต่อมาวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. พ่อชวนลูกไปเที่ยวปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยไม่ทราบว่าลูกชายเป็นหนึ่งในผู้ลงมือฆาตกรรมนางบัวผัน มารู้เมื่อทาง สภ.อรัญประเทศติดต่อเข้ามาว่าจับกุมเพื่อนอีก 4 คนได้แล้ว ถึงได้ทราบว่าลูกชายตกเป็นผู้ต้องหา จึงนำตัวลูกชายเข้ามอบตัวด้วยตนเองในเวลาต่อมา

“ศาลปล่อยตัวลุงเปี๊ยกเวลาบ่ายสองกว่า ๆ ของวันจันทร์ (15 ม.ค.) ผมไล่ไทม์ไลน์แล้วนะครับ [ตำรวจ] ก็นำตัวลุงเปี๊ยกมาสอบปากคำต่อที่โรงพัก พอเสร็จแล้วนายอำเภอก็ขอให้ตำรวจไปส่งลุงเปี๊ยกที่บ้านพี่สะใภ้ ถึงบ้านประมาณทุ่มนึง พี่สะใภ้เขาก็รับตัวไว้ เพราะว่าบ้านญาติลุงเปี๊ยกที่ จ.สุรินทร์ไม่อยากรับลุงเปี๊ยกไว้เนื่องจากมีอาการติดเหล้าเป็น alcoholism จากนั้นผมก็เอาลุงเปี๊ยกกับพี่สะใภ้มาสอบเองว่า พอถึงบ้านแล้วมีตำรวจเข้าไปตระเตรียมหรือเตรียมการอะไรไหม พี่สะใภ้ก็บอกว่าไม่มีตำรวจเลย แต่ถามว่าที่ชาวบ้านเค้าไม่เชื่อมั่นตำรวจมันเกิดจากอะไร ผมได้ต่อว่าตำรวจ ต่อว่าผู้กำกับฯ ต่อว่าผู้การฯ เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ทั้งวัน นักข่าวติดต่อผู้กำกับพื้นที่ไม่ได้ ไม่รับสาย แล้วนักข่าวก็มีความพยายาม อันนี้ผมก็ขอชมเชยที่ไปหาภาพกล้องวงจรปิดมาได้ ปัญหาคืออะไรครับ ปัญหาคือทั้งผู้การฯ และผู้กำกับฯ ไม่ยอมบอกนักข่าวให้ทราบ”

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชี้แจงต่อว่า คำรับสารภาพของนายปัญญาก็ไม่ได้ตรงกับเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ลงมือทำจริงเสียทั้งหมด มีแค่เรื่องเดียวที่ตรงกันคือการยอมรับว่าใช้เก้าอี้ตีนางบัวผัน แต่จุดไหน อย่างไร ให้รายละเอียดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “ส่วนที่นำชี้ก็เป็นคนละจุดกันเลย ลุงเปี๊ยกก็มั่วเป็นตุเป็นตะไป” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ ตนเองจึงขอยืนยันว่าไม่มีประเด็นการช่วยเหลือกันของตำรวจและขั้นตอนการสอบสวนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

อำนาจเป็นพิษ

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังมองว่าทัศนคติในทำนองว่า “เป็นลูกตำรวจทำอะไรก็ไม่ผิด” เป็นผลมาจากภาวะ “อำนาจเป็นพิษ” ซึ่งส่งต่อมายังทายาทและครอบครัวของตำรวจเองด้วย และไม่มีใครคิดจะแก้ไขปัญหานี้ทั้งที่ “เป็นพฤติกรรมชั่วร้ายในองค์กรราชการ”

“อำนาจเป็นพิษ คือ เมื่ออำนาจการสอบสวนอยู่ในมือตำรวจเบ็ดเสร็จแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ตำรวจไม่ว่าระดับใด เขาก็มีความมั่นใจว่า หากทำผิดอาญาอะไรขึ้นมา ผู้มีอำนาจสอบสวนก็เป็นผู้บังคับบัญชาเสียส่วนใหญ่ หรือเป็นตำรวจพวกเดียวกันเองถึงแม้ว่าจะต่างพื้นที่ก็ตาม ดังนั้นจะสอบสวนให้ออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ หนักเป็นเบา ทุเลาเป็นหนัก ตำรวจเขาคิดแบบนี้กันทั้งประเทศ แล้วลูกตำรวจก็คิดแบบนี้ด้วย ก็ถ่ายทอดความคิดมาจากพ่อแม่ รวมทั้งเมียตำรวจที่เราเห็นว่าชอบเล่นไพ่บ้าง ขับรถเร็วกว่ากำหนดบ้าง”

พ.ต.อ.วิรุตม์ เสนอว่าควรแก้ไข ป.วิอาญาฯ ให้การออกหมายเรียกหรือหมายจับต้องผ่านการตรวจสอบหลักฐานจากพนักงานอัยการเพื่อให้มั่นใจว่าหลักฐานและพยานมีน้ำหนักพอสำหรับส่งฟ้องศาลเพื่อเอาผิด

“มันเป็นช่องว่างของระบบงานสอบสวน ที่ปล่อยให้ตำรวจ [ทำ] แล้วเค้าจะสอบสวนออกมาให้เป็นอะไรก็ได้ และควรเลิกได้แล้วกับแนวคิดว่าทำให้พอส่งฟ้องก็พอ”

เขายังมองว่ากรณีคดีฆาตกรรมนางบัวผันได้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการทำงานตำรวจไทยที่สะสมมานาน โดยเฉพาะระบบสอบสวนซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาตัวบุคคล ปัญหาโครงสร้างองค์กรตำรวจ และความไม่มีประสิทธิภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าจะริเริ่มปฏิรูปตำรวจแล้วหรือไม่ ซึ่งในความเห็นของเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมองว่า การรอให้ตำรวจปฏิรูปตัวเองนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตำรวจมองว่าไม่ได้เดือดร้อนหากไม่ปฏิรูป เพราะยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือเช่นเดิม


งานศึกษาเผย โครงสร้างงานสอบสวนมีปัญหา ควรปฏิรูปองค์กรตำรวจทั้งระบบ

ในบทความเรื่อง "สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขโครงสร้างการบริหารองค์กรตำรวจไทยในปัจจุบัน" โดย นายชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างงานสอบสวนของตำรวจไม่มีความเป็นอิสระ สามารถถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและผู้มีอิทธิพล ทั้งในรูปแบบเป่าคดีทำให้ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การจับแพะ การบังคับทรมานเพื่อให้รับสารภาพ การจับกุมควบคุมตัว หรือการตรวจค้นที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ป.วิอาญาฯ ทำให้รูปคดีเปลี่ยนไปและอาจบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมได้ นอกจากนี้ยังพบว่างานสืบสวนของตำรวจไทยยังขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและขาดกำลังพล จนอาจสร้างข้อกังขาด้านความรอบคอบในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน จนส่งผลให้ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยติดลบตลอดมา

ผู้เขียนบทความดังกล่าวจึงเสนอให้แยกระบบงานสอบสวนออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ โดยยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสที่ตำรวจฝ่ายคดีในประเทศทำงานควบคู่กับพนักงานอัยการอย่างอิสระ โดยอาจไม่จำเป็นต้องปูนบำเหน็จชั้นยศ แต่ให้เพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ ในระดับเดียวกับพนักงานอัยการ และมอบโอกาสด้านการเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ตามหลักความรู้ความสามารถ เพื่อแยกระบบสอบสวนออกจากระบบอุปถัมภ์และป้องกันการประพฤติมิชอบในหน้าที่

งานศึกษาดังกล่าวยังแนะนำด้วยว่า องค์กรสอบสวนที่แยกอิสระออกมาเช่นนี้ควรถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยภาคประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และสอดคล้องกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งมุ่งสร้างความสงบเรียบร้อย ควบคู่ไปกับการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

พร้อมกับเสนอว่า ควรปฏิรูปโครงสร้างกิจการตำรวจให้อยู่ในรูปแบบกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเช่นปัจจุบัน รวมทั้งจัดแบ่งภาระงานตามความเชี่ยวชาญโดยให้ตำรวจปฏิบัติงานด้านคดีเท่านั้น ส่วนงานธุรการอื่น ๆ ควรมอบหมายให้เอกชนมืออาชีพดำเนินการแทน

ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/c9e2zl5534no