วันอาทิตย์, มกราคม 07, 2567

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับต้นไผ่ ในปรัชญาจีน


จิวเวลรี่เซต
December 29·

ต้นไผ่ปรากฏอยู่ในหลักปรัชญาจีนมากมาย โดยเฉพาะแนวคิดสำคัญ ๒ แนวคิด ได้แก่ “สามสหายแห่งเหมันต์ หรือต้นไม้สามประเภทที่สามารถเจริญเติบโตได้ในฤดูหนาว คือ ต้นสน ต้นไผ่ และต้นบ๊วย อันเปรียบเสมือนคำอวยพรให้มีจิตใจเข้มแข็ง ทระนง องอาจ กล้าต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความสามัคคี และมิตรภาพที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน แนวคิดที่สอง คือ “สี่สุภาพบุรุษ (四君子, Sìjunzi)” หรือต้นไม้ประจำฤดูกาล ๔ ชนิด ได้แก่ ต้นบ๊วย (ฤดูหนาว) ดอกกล้วยไม้ (ฤดูใบไม้ผลิ) ต้นไผ่ (ฤดูร้อน) และดอกเบญจมาศ (ฤดูใบไม้ร่วง) โดยถือเป็นตัวแทนคุณลักษณะของบัณฑิตตามคติของขงจื๊อ ในภายหลังแนวคิดทั้งสองนี้ได้รับการส่งต่อให้กับวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ไม่เพียงเท่านั้น ไผ่ยังถูกใช้ทำกลองวิเศษของจางกว่อเหล่า (張果老, Zhang Guo Lao) ๑ ในแปดเซียนที่เป็นที่เคารพนับถือกันทั่วไป อีกทั้งชาวจีนโบราณยังเชื่อกันว่าต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ความทระนง ความซื่อตรง ความยืดหยุ่น และอายุขัยที่ยืนยาว ไม่คด เขียวชอุ่มตลอดทั้งปีแม้ในหน้าหนาว และถึงจะพบกับลมพายุก็เพียงโค้งงอไปตามสายลมแต่ไม่หักโค่นลงไป ต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ของการอวยพร ทั้งยังเชื่อกันอีกว่าเสียงแตกของไม้ไผ่ในกองไฟสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจได้ ชาวจีนจึงนิยมนำไม้ไผ่มาทำประทัดเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจดังกล่าว
ไผ่จึงถือเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มักพบในงานศิลปะของจีนหลายแขนง อาทิ บทกลอน ภาพวาด หรือแม้แต่ลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาก็มีการตกแต่งด้วยลายต้นไผ่ ไม่ว่าจะเป็นภาพต้นไผ่ตามแนวคิดทั้งสอง ภาพต้นไผ่เพียงอย่างเดียว หรือภาพต้นไผ่กับลวดลายมงคลอื่น ๆ ก่อให้เกิดความหมายใหม่ เช่น ไผ่กับนกกระเรียน หมายถึง การอวยพรให้มีอายุยืนยาว ไผ่สื่อถึงความร่ำรวย มีเงินทอง โดยนอกจากจะเป็นการประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ภาพของต้นไผ่บนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ผู้พบเห็นตระหนักและยึดถือคุณธรรม.

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=706424841630631&id=100067893633529&ref=embed_post)