https://tlhr2014.com/archives/63182
“วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์เพื่อให้อยู่ในหลักการ ปชต.”: เปิดคำให้การพยานคดี 112 “อานนท์ นำภา” โพสต์ 3 ข้อความ ต้นปี 64
16/01/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในวันที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” จากกรณีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ย้อนดูเหตุแห่งคดี
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์หรือ ศชอ. ได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” หลังตรวจพบว่า โพสต์ 3 ข้อความ ในวันที่ 1 และ 3 ม.ค. 2564 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
จากนั้น พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ออกหมายเรียกอานนท์ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยระบุถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด ดังนี้
ข้อความแรกและข้อความที่ 2 โพสต์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 ในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
“เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผม ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว”
“ตํารวจบอกว่าการทําให้คนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิด 112 ถ้าผมบอกว่า “กษัตริย์คนนี้ทําตัวขัด กับหลักการประชาธิปไตย เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย” แบบนี้คนใดได้ยินได้ฟังย่อมเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์อย่างแน่นอน แต่ !! แบบนี้ ผมควรมีโทษจําคุก 3 – 15 ปี หรือ ? สังคมไม่ควรสยบยอมให้ 112 มาปิดปากการพูดถึงกษัตริย์ในแง่ไม่ดี ถ้าเรื่องนั้นเป็นความจริง และเป็น เรื่องสาธารณะ คนย่อมสามารถพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ได้ และด่าได้ด้วย การยืนตัวตรง พูดความจริงคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เข้าใจตรงกัน !!”
ข้อความที่ 3 โพสต์เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์
“ฝ่ายที่ออกมาต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้เขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเราจริงๆ หรือเป็นเพราะพอเป็น ความคิดของฝ่ายเราเขาก็จะไม่เอาด้วยทุกเรื่อง ถ้าเรารณรงค์ให้คนสวมหน้ากากป้องกันโควิด พวกเขาจะรณรงค์ สวนให้คนไม่ใส่หน้ากากมั้ย ? ผมว่าแทบจะเป็นข้อยุติแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กําลังมีปัญหาและสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการใช้ชีวิตของคนในสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินของรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่าย (ลองนึกภาพดูว่าถ้านายกหรือข้าราชการคนใดไปพักไปเช่าที่พักที่ทํางานอยู่เยอรมัน แล้วบินไปกลับ ขนคนไปรับใช้ที่นั่น แบบนี้สังคมจะยอมรับได้มั้ย ?) แต่ฝ่ายนั้นก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ และคอยเล่นงานคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่ ปีนี้เราต้องทํางานให้หนักขึ้น ทั้งข้อมูลและเนื้อหาของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ ปีนี้ ช่วยๆ กันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นและศรัทธา อานนท์ นําภา 3 มกราคม 2564”
ชั้นสอบสวนอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การเพิ่มเติมว่า เป็นผู้โพสต์ทั้ง 3 ข้อความจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องอานนท์ต่อศาลอาญาในทั้งสองข้อหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 โดยบรรยายฟ้องว่า ข้อความทั้งหมด เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ย้อนอ่านคำฟ้อง>> อัยการสั่งฟ้อง ม.112-พ.ร.บ. คอมฯ ‘อานนท์’ จาก 3 โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการใช้ ม.112
.
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาโพสต์ทั้งสาม เจตนามุ่งหมายถึ ร. 10 ด้านจำเลยยืนยันเพียงโพสต์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์โดยสุจริต เพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม
การสืบพยานในคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 903 ในวันที่ 20-21 เม.ย., 21-23 พ.ย. 2566 สำหรับการสืบพยานวันแรก อานนท์เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ โดยทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าขอเลื่อนคดีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากศาลยังไม่ได้ออกหมายเรียกเอกสารสำคัญที่ระบุในบัญชีพยานของจำเลย ซึ่งต้องใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ เอกสารสำคัญดังกล่าวคือ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และงบประมาณของสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ศาลให้สืบพยานไปก่อน โดยให้พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามโจทก์ไป และทนายจำเลยค่อยซักค้านในประเด็นดังกล่าวภายหลัง แต่ทนายจำเลยแย้งว่า เนื่องจากผู้กล่าวหาได้ไปแจ้งความคดีนี้ โดยบอกว่าเป็นการบิดเบือน ใส่ร้าย และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทางจำเลยต้องการพิสูจน์ว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีเอกสารมาหักล้างผู้กล่าวหา จะให้สืบพยานโจทก์ไปก่อน ถามค้านทีหลังไม่ได้
ศาลระบุว่า เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารมาตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่มาขอวันนี้ มันจะไม่เป็นไปตามกระบวนการพิจารณา ด้านทนายจำเลยชี้แจงว่า ขณะที่มีนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยติดคุกอยู่ ไม่สามารถออกมาจากเรือนจำเพื่อขอหมายเรียกได้ ซึ่งหากศาลจะออกหมายเรียกภายในวันนี้ก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าว เพราะเห็นว่าจำเลยควรขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว รวมทั้งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป โดยให้ดำเนินการสืบพยานต่อไปตามที่นัดไว้ ทั้งนี้ ศาลย้ำว่า “ศาลทำไปตามหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม”
สำหรับบรรยากาศการสืบพยานคดีนี้ มีญาติ ประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าว เจ้าหน้าที่สถานทูตจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมัน มาสังเกตการณ์คดี โดยการพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนทุกคนสามารถเข้าฟังได้
ทั้งนี้ โจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา, นักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านโพสต์รวม 4 ปาก และพนักงานสอบสวน อีก 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 4 ปาก ได้แก่ อานนท์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, สถาบันกษัตริย์ และการบังคับใช้มาตรา 112
อัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจใส่ร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ติชมอย่างสุจริตตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ โพสต์ทั้งสามของจำเลยกล่าวถึงคนในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงกษัตริย์องค์ใด โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง, บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
ผู้กล่าวหา ประธาน ศชอ. เบิกความ โพสต์ของอานนท์ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ – กล่าวร้ายรัชกาลที่ 10 แต่รับว่า ไม่ทราบว่า สิ่งที่โพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 พยานกำลังเปิดเฟซบุ๊กและอ่านข่าวการเมือง ก่อนจะเห็นฟีดเฟซบุ๊กเด้งบัญชี “อานนท์ นำภา” ขึ้นมา พยานจึงได้เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกตกใจมาก เนื่องจากบรรยายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และกล่าวร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานในฐานะที่เป็นคนไทยรู้สึกรับไม่ได้
พยานเห็นว่า ข้อความ “เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผม ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” หมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะรัชกาลที่ 9 สวรรคตไปแล้ว
โพสต์ดังกล่าวมีคนกดถูกใจเป็นหมื่นคน แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามาอ่านเชื่อในสิ่งที่อานนท์เขียน และมีการแชร์เกินหลักร้อย เป็นการเผยแพร่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแบบที่อานนท์พูดไว้ ทั้งมีคนมาแสดงความคิดเห็นในด้านลบ จูงใจให้เชื่อตามที่จำเลยโพสต์ ตั้งค่าการเผยแพร่เป็นสาธารณะ
ต่อมา วันเดียวกันตอนค่ำ พยานพบอีกโพสต์ (ข้อความที่ 2) พยานเห็นว่า คำว่า “กษัตริย์” หมายถึง รัชกาลที่ 10 ประโยคที่บอกว่า “กษัตริย์ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” เป็นการกล่าวหาว่า กษัตริย์เป็นคนขี้โกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เบียดบังเอาเงินของประเทศไปใช้ คนที่เข้าไปกดไลค์โพสต์น่าจะมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับจำเลย จำนวนแชร์โพสต์หลักหมื่น ตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีการแสดงความเห็นในลักษณะประณามพฤติกรรมของรัชกาลที่ 10
นอกจากนี้ พยานยังพบข้อความที่ 3 อีกในวันเดียวกัน ตั้งค่าเผยแพร่เป็นสาธารณะ มีคนกดถูกใจหลักหมื่น มีการแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พยานรู้สึกแปลกใจ ไม่เข้าใจในความคิดของอานนท์ เพราะพยานเป็นคนไทย เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และมาตรา 112 ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำไมอานนท์จึงโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าวซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกลียดชังสถาบันกษัตริย์อย่างมาก
พยานย้ำว่า ถ้าเราอยู่กันเฉย ๆ ไม่ทำอะไร ก็คงไม่โดนมาตรา 112 พยานรู้สึกโกรธและเสียใจเพราะว่าต้นตระกูลมาจากจีน ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภาร ดูแลอย่างดี
พยานเห็นว่า ข้อความทั้งสามส่งผลเสีย ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเกลียดชัง จึงเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของอานนท์มีผู้ติดตามประมาณ 100,000 คน ส่วนตัวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ผู้กล่าวหารับว่า เคยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มาก่อน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) แต่อย่างใด
พยานตอบทนายจำเลยรับอีกว่า เคยไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาคัดค้านการที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวเพนกวิน ผู้ต้องหา 112 ไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก รวมถึงไม่เห็นด้วยกับอานนท์ นำภา
พยานยังเคยไปแจ้งความที่ ปอท. ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน แต่ไม่ถึง 1,000 คน ที่มีการลงข่าวว่าพยานไปแจ้งความกว่า 1,000 คนนั้น เป็นเพียงการสร้างคอนเทนต์ข่าว
แน่งน้อยเบิกความตอบคำถามค้านต่อว่า ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วหรือไม่ แต่สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากจะแก้ไขกฎหมาย จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา
พยานทราบว่า ใน ปี 2559 หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำทูลเกล้าให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่า ในหลวงได้สั่งให้แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ทราบด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการแก้ไขไปจากฉบับที่ลงประชามติหรือไม่ และในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
แน่งน้อยรับกับทนายจำเลยว่าไม่ทราบว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และไม่ทราบว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วมีการแก้ไขเป็น จะมีการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ หรือไม่ตั้งก็ได้
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์มีจํานวนเท่าใด แม้เรื่องดังกล่าวสามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ต
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด เมื่อไหร่ กับบุคคลใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากพยานไม่จําเป็นต้องไปสอดรู้สอดเห็น
อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ไม่ทราบว่า ภายหลังปี 2560 มีการโอนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ฯ และปูนซีเมนต์ไทยไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า การโอนหุ้นลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือไม่ และสิ่งที่จําเลยโพสต์เป็นความจริงหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีการโอนกําลังพลของกองทัพไปสังกัดหน่วยราชการส่วนพระองค์หรือไม่ แต่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการออกพระราชกําหนดโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งในต่างประเทศที่มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีการโอนกําลังพลไปเป็นข้าราชการในหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ แต่ในความเห็นของพยานการโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์สามารถทําได้
พยานยังตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบจํานวนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 และไม่ทราบว่ามีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนรัชกาล ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะตกทอดอย่างไร รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 ลานพระบรมรูปทรงม้า วัดพระแก้ว สนามหลวง และสวนสัตว์เขาดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และขณะประทับที่ประเทศเยอรมนีมีการใช้พระราชอํานาจหรือไม่ รวมถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจในขณะประทับที่ประเทศเยอรมนี
พยานเห็นว่าคําว่า พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ไม่รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ไม่ทราบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
.
นักวิชาการนิติศาสตร์ชี้ โพสต์ทั้งสามเป็นการกล่าวหาลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐาน เข้าองค์ประกอบหมิ่นประมาทกษัตริย์ แม้เป็นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยรวม – ม.112 ไม่ระบุถึงสถาบันกษัตริย์
คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เบิกความว่า ตนจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท นิติศาสตร์ กฎหมายมหาชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เชี่ยวชาญกฎหมายการปกครองพิเศษ และเคยสอนหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ความเห็น
สำหรับข้อความแรก พยานรู้สึกว่า เนื้อหาไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใคร แต่เดาว่าเป็นรัชกาลที่ 10 ส่วนข้อความที่ 2 สื่อถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันว่ามีการนำทรัพย์สินประเทศไปใช้ส่วนตัว มีความประพฤติที่เสื่อมเสีย
และข้อความที่ 3 พยานเห็นว่า จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์และองคาพยพทั้งหมด โดยคำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารที่อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ แต่พยานอ่านแล้ว เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียว
คมสันเบิกความอีกว่า ในความเห็นของพยาน การแสดงความคิดเห็นวิจารณ์พระมหากษัตริย์สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้กษัตริย์เสียหาย การกล่าวหาลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานนั้นทำไม่ได้ ซึ่งในโพสต์ตามฟ้องก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาแสดง หากประชาชนทั่วไปพบเห็น ย่อมอาจทำให้เกิดความเสียหายและความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ พยานจึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
คมสันเบิกความตอบทนายจำเลยว่า โพสต์ที่ 3 เป็นการโพสต์คนละวันกับ 2 โพสต์แรก ระหว่างโพสต์ทั้งสามจำเลยจะมีการโพสต์อีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ และในทั้งสามโพสต์จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยรวม ไม่ได้มีการกล่าวเจาะจงว่าเป็นรัชกาลที่ 10 แต่พยานอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ตั้งใจสื่อถึงรัชกาลที่ 10
พยานเห็นว่า กษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ในมาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึง สถาบันกษัตริย์
พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม และพยานเคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
พยานเคยขึ้นปราศรัยในเวที กปปส. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รู้จักอานนท์เป็นการส่วนตัว แต่รู้จักว่าเป็นแกนนำกลุ่มราษฎรตามบทสัมภาษณ์ในสื่อ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยกับอานนท์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
พยานเคยไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 กว่า 40 คดี โดยครึ่งหนึ่งพยานให้การว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ทำไมพนักงานสอบสวนถึงเลือกตนให้เป็นพยาน
คมสันตอบทนายจำเลยอีกว่า เคยฟังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ซึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้ และไม่ควรใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้กษัตริย์เดือดร้อน ซึ่งหากเรื่องที่พูดเป็นความจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะก็ย่อมพูดได้ และไม่เป็นความผิด
พยานเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกันของกษัตรย์และประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่อาจขัดแย้งกับ หยุด แสงอุทัย, ไพโรจน์ ชัยนาม และมีชัย ฤชุพันธุ์ พยานเห็นว่า กษัตริย์อาจท้วงติงให้แก้ไขได้ ซึ่งเป็นประเพณีการปกครอง แม้ไม่ได้ระบุในรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นประเทศอังกฤษ กษัตริย์สามารถใช้อำนาจ veto รัฐธรรมนูญได้
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2557 มีการแก้ไขมากกว่า 4 ครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกระแสรับสั่ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสั่งในลักษณะนี้มาก่อน
พยานทราบว่า ในรัชกาลที่ 10 มีการออก พ.ร.ก.โอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า เคยมีประเทศไหนทำในลักษณะนี้
พยานทราบว่า ปี 2560 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงวัดพระแก้ว สนามหลวง โดยพระมหากษัตริย์สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ “ตามพระราชอัธยาศัย” ทั้งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มาก่อน
พยานไม่ทราบว่า ส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานมายืนยัน ทั้งนี้ พยานไม่เคยทราบข่าวเรื่องการโอนหุ้นไทยพาณิชย์และปูนซีเมนต์ไทยแต่อย่างใด
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด นำข้าราชการบริพารไปด้วยหรือไม่ ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษี
พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และเคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจนอกราชอาณาจักร ซึ่งตามหลักการ กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรได้ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การสื่อสารข้ามแดนได้ การจะรู้ว่ามีการใช้อำนาจนอกพระราชอาณาจักรหรือไม่ ต้องมีหลักฐานมายืนยัน
พยานไม่ทราบด้วยว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณปีละเท่าไหร่ และจำนวนดังกล่าวจะมากหรือน้อย แต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องมีรายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย หากใช้อย่างเหมาะสมก็ถือว่าไม่มาก
ทนายจำเลยถามว่า หากจำเลยนำหลักฐานเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์มาแสดง ความเห็นของพยานที่ว่า จำเลยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เปลี่ยน เพราะขณะโพสต์ไม่มีหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ซึ่งกระทบสิทธิส่วนบุคคล แม้คดีหมิ่นประมาทจะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล
พยานระบุว่า ตนไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์ว่า ที่จำเลยโพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แค่ดูข้อความว่า หมิ่นประมาทหรือไม่ โดยในชั้นสอบสวนพยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
ตอบอัยการถามติง
คมสันเบิกความตอบอัยการว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์ แต่เจตนารมย์ของกฎหมายคือปกป้องสถาบันกษัตริย์ และข้อความก็สื่อถึงกษัตริย์ในนัยยะที่เข้าใจได้
พยานเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
.
อาจารย์กฎหมายมหาชนเบิกความ ‘สถาบันกษัตริย์’ หมายถึงกษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ โพสต์ทั้งสามจึงเจตนาหมายถึง ร.10 แต่รับว่า ร.10 เคยประกาศให้สมาชิกราชวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ด้านกฎหมาย เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เชิญพยานไปดูโพสต์ข้อความของอานนท์และให้ความเห็น
พยานเห็นว่า ข้อความแรกมีการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ที่ไม่ดี ข้อความที่ 2 เป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความรู้สึกไม่ดีว่ากษัตริย์เอาภาษีไปใช้ที่เยอรมัน และข้อความที่ 3 คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึงกษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่ง
บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือประชาชนทั่วไป และมาตรา 112 ก็คุ้มครอง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประชาชนสามารถพูดถึงได้ แต่ต้องดูเจตนาและข้อความที่โพสต์ว่าทำให้เสื่อมเสียหรือไม่
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
กิตติพงศ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของพยานเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
พยานเคยไปให้การในคดีมาตรา 112 มาทั้งหมด 30 คดี โดยมีความเห็นว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 เกือบทุกคดี
พยานเคยไปเป็นพยานให้การในคดี 112 ของ ทิวากร วิถีตน ที่ศาลจังหวัดลำปาง กรณีใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันแล้ว” ทิวากรใส่ชุดดังกล่าวแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี แต่พยานไม่ทราบว่าเหตุดังกล่าวเป็นมูลเหตุให้อานนท์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่พยานทราบว่า คดีทิวากรดังกล่าวมีการยกฟ้องมาตรา 112 ไป
พยานทราบจากข่าวสารที่ปรากฏทั่วไปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่ได้มีการปิดบัง เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีการโอนทรัพย์สินตามกฎหมาย
พยานเห็นว่า เรื่องการไปประทับที่ประเทศเยอรมนี เป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า พระองค์ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษีประชาชน
ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นการกล่าวถึงตำแหน่งประมุข ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์เดียว ส่วน ราชวงศ์ จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ต้องดูในหลายๆ นัยยะ ไม่สามารถจำกัดคำนิยามได้ ทั้งต้องดูพฤติการณ์ประกอบว่าสื่อถึงอะไร และ องคมนตรี เป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า รัชกาลที่ 10 เคยประกาศว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ทูลกระหม่อมหญิงจะสละฐานนันดรแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ และคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีการให้คำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน
กิตติพงศ์รับว่า เคยเขียนบทความไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการ และพยานไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม รวมถึงไม่เคยตีพิมพ์วารสารระดับประเทศและบทความในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับมาตรา 112
มีนักวิชาการหลายคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรา 112 เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112
สาเหตุที่พนักงานสอบสวนเชิญพยานไปให้การที่ บก.ปอท. ในคดีมาตรา 112 เพราะมาตรา 112 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน
.
สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เห็นว่า ถ้อยคำที่อานนท์โพสต์ด้อยค่า ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ร.10 โดยพยานไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
นพคุณ ทองถิ่น สมาชิก ศปปส. เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานกับกลุ่ม ศปปส. ได้ไปยื่นหนังสือกับกระทรวงดิจิตัลฯ ให้กวดขันการโพสต์หมิ่นประมาทในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่เอาโพสต์ข้อความของอานนท์มาให้พยานอ่านและให้ความเห็น พยานไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยใด แต่ได้ไปให้ความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวในฐานะประชาชนกับคณะพนักงานสอบสวน
พยานเห็นว่า โพสต์แรกสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่ากดหัวประชาชนโดยใช้มาตรา 112 หากใครได้อ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าเคารพศรัทธา
โพสต์ที่ 2 สื่อว่า รัชกาลที่ 10 ใช้เงินภาษีประชาชน เป็นการกล่าวหาด้อยค่าสถาบันกษัตริย์โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลมายืนยัน หากใครอ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าศรัทธา สร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ และโพสต์ที่ 3 โดยรวมสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อได้อ่านทั้งสามข้อความแล้วจะเข้าใจว่า กษัตริย์ใช้ภาษีประชาชนไปทำเรื่องส่วนตัว
พยานมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นทำได้ แต่ไม่ควรด้อยค่า
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
นพคุณเบิกความตอบทนายจำเลยว่า สมาชิก ศปปส.มีหลายคน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือสมาคมตามกฎหมาย
พยานไม่ได้เกลียดชังอานนท์ นำภา แต่ยอมรับว่า กลุ่ม ศปปส. เคยขอให้ศาลเพิกถอนประกันอานนท์ ทั้งยังเคยตั้งเวทีคู่ขนานกับอานนท์แล้วมีการกระทบกระทั่งกัน แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
พยานทราบข่าวว่า รัชกาลที่ 10 มีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 แต่ไม่ทราบว่า ช่วงปี 2560-2563 มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีประชาชนหรือไม่ และไม่ทราบว่า ในช่วงดังกล่าว มีสมาชิก ศปปส. ไปแจ้งความที่ บก.ปอท. แต่ บก.ปอท.ไม่รับแจ้ง
พยานไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีการโอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบเรื่องการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และไม่เห็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หากสถาบันกษัตริย์ทำไม่ถูกต้อง พยานก็ไม่สนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้นพยานไม่ทราบ ที่อานนท์โพสต์ก็ไม่มีหลักฐาน หากโพสต์โดยไม่มีหลักฐานก็ถือเป็นการกล่าวหา
พยานไม่ทราบเรื่องการโอนหุ้น การประทับที่เยอรมัน รวมถึงงบประมาณที่รัชกาลที่ 10 ในแต่ละปีด้วย
ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และอดีตกษัตริย์ด้วย
.
ประชาชนทั่วไปให้ความเห็น พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งสูง ไม่ควรแสดงความคิดเห็นละเมิด แต่รับว่าโพสต์ของอานนท์ไม่มีข้อความระบุถึง ร.10
พัลลภา เขียนทอง ประชาชนทั่วไป เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ไปทำธุระที่ บก.ปอท. ก่อนมีตำรวจเรียกไปให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ โดยไม่ได้มีหมายเรียกพยานแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พยานดูข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กรวม 3 ข้อความ พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งที่สูง ประชาชนทั่วไปไม่ควรละเมิด
พยานไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าว
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พยานเคยถูกออกหมายจับกรณีไม่มาเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ของ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เหตุที่พยานไม่มาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากป่วย และไม่เคยได้รับหมายเรียก
พยายเคยไปเป็นพยานคดี 112 ทั้งหมด 2 คดี ได้แก่ คดีของภาณุพงศ์และคดีนี้
พยานไม่ทราบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่พยานมองว่า ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับกษัตริย์
สำหรับข้อความแรกพยานอ่านแล้วพบว่า ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 กล่าวถึงเพียงระบอบกษัตริย์ ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึง พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ ประชาชน และกฎหมาย จึงไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล อีกทั้งมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม
เมื่อพยานอ่านข้อความทั้งสามโพสต์แล้วเข้าใจว่าหมายถึง รัชกาลที่ 10
พยานเข้าใจว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายเดียวกับสถาบันกษัตริย์ โดยสถาบันกษัตริย์หมายรวมถึงพระราชินี อดีตพระมหากษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตรัชทายาท แต่ไม่รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และหากพูดถึงระบอบกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 10 ย่อมหมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10
ทนายจำเลยถามว่า หากพบคำว่า ระบอบกษัตริย์ในหนังสือต่าง ๆ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 จะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบ
พยานมองว่า โพสต์ทั้งสามของจำเลยไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดกัน
พยานรับว่า ในการให้การกับพนักงานสอบสวน พยานไม่ได้มอบหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า โพสต์ของจำเลยเป็นความจริงหรือไม่
พยานทราบว่า ในปี 2560 รัฐบาลประยุทธ์ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ให้โอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบรายละเอียด และเห็นว่า ข้อความว่า เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตน ไม่น่าจะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พยานไม่ทราบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการพูดโดยอ้างอิงกับกฎหมายหรือไม่
พยานยังทราบว่า หลังออกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยพยานเข้าใจว่า เป็นการโอนเพื่อให้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ทราบว่าเรื่องการเสียภาษีมีระบุอยู่ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ หรือไม่ และในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่เยอรมัน แต่ไม่ทราบว่า ใช้งบประมาณแผ่นดินเท่าไหร่
พยานไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณกองทัพไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ไม่ทราบด้วยว่า เคยมีประเทศใดออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว หรือในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า การออกกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นการขัดหลักการในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ตามความเข้าใจของพยาน หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ต้องผ่านรัฐสภา ทั้งนี้ พยานไม่เคยเห็นข่าวที่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติแล้ว หากข่าวดังกล่าวเป็นจริงก็ถือเป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
.
พนักงานสอบสวนระบุ คณะ พงส.มีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 แต่รับว่าโพสต์ของจำเลยไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด
ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีนี้
เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อยได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นำภา” ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา ต่อมา ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งพยานให้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
จากนั้นพยานได้ให้ฝ่ายสืบสวนไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นำภา และพบว่าเป็นบัญชีของอานนท์จริง ชั้นสอบสวน จำเลยจะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากการตรวจสอบของกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมพบว่า จำเลยมีประวัติถูกดำเนินคดีหลายคดี
หลังสอบปากคำพยานหลายปาก คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปความเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ร.ต.อ.บูรฉัตร เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ผู้บังคับบัญชาให้พยานสอบปากคำ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และคมสัน โพธ์คง ไว้เป็นพยาน อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้สอบปากคำพยานทั้งสองในประเด็นว่า มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ในส่วนของนพคุณ ทองถิ่น และพัลลภา เขียนทอง เคยมาแจ้งความคดีซื้อของออนไลน์ พยานจึงออกหมายเรียกมาให้การเป็นพยาน โดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการเลือกพยานแต่อย่างใด
พยานรับว่า ตนและคณะพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบว่า ข้อความที่อานนท์โพสต์เป็นความจริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ มาเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ พยานเพียงแต่สอบปากคำพยานหลายคนที่ให้การเป็นความเห็น และคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ พยานไม่ได้สอบในประเด็นว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายอย่างไร แต่ตามความเข้าใจของพยาน ระบอบกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์แยกออกจากกัน สถาบันกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์ก็แยกออกจากกันเช่นกัน และพยานเห็นว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะที่ละเมิดไม่ได้ ไม่สมควรกล่าวหาให้เสื่อมเสีย
พยานอ่านโพสต์ที่ 1 แล้วพบว่า มีคำว่า ระบอบกษัตริย์ มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะยกตัวอย่างและเปรียบเทียบ และโพสต์ที่ 3 เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ และไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด มีลักษณะตั้งคำถามและแสดงทัศนะของผู้เขียน
พยานรับด้วยว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหา พยานไม่ได้ระบุว่า ข้อความไหนมีลักษณะดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายอย่างไร
ตอบอัยการโจทก์ถามติง
ร.ต.อ.บูรฉัตร ตอบโตทก์ว่า สาเหตุที่สอบกิตติพงศ์และคมสันเป็นพยานความเห็น เพราะทั้งสองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย
ในความเข้าใจของพยาน คำว่า ระบอบกษัตริย์ ประกอบคำให้การของพยานต่าง ๆ หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และทั้งสามโพสต์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
.
“อานนท์” เบิกความ โพสต์วิจารณ์คนในกระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์โดยรวม เพื่อให้อยู่ในหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข
อานนท์เบิกความต่อสู้คดีในฐานะพยานจำเลย โดยเกริ่นว่า ก่อนหน้าที่จะโพสต์ทั้งสามข้อความดังกล่าว ในปี 2563 มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาจึงได้โพสต์ข้อความทั้งสาม โดยเจาะจงไปยังกลุ่มคนที่ไม่ปรับตัวต่อความปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ หากคนที่อ่านโพสต์แล้วไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ย่อมเห็นด้วยว่าสิ่งที่โพสต์เป็นความจริง ส่วนบางคนไม่ไปหาข้อเท็จจริงก็ด่าทอ หรืออ่านแล้วไปหาข้อเท็จจริงแต่รับไม่ได้ และใช้ศักยภาพตนเองปิดปากไม่ให้คนอื่นพูดความจริง เช่น คนที่แจ้งความ เจ้าหน้าที่รัฐ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่บกพร่องทางสามัญสำนึก ซึ่งจะมีลักษณะปฏิเสธข้อมูลใหม่ที่จะลบล้างความเชื่อเดิม
ก่อนพยานจะโพสต์ข้อความตามฟ้อง ทิวากร วิถีตน ได้สกรีนเสื้อและโพสต์ข้อความ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ และถูกดำเนินคดี พยานเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากความศรัทธาเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ต่อมาคดีนี้ศาลได้ยกฟ้อง เห็นว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ ไม่รวมถึงสถาบันกษัตริย์ และระบอบกษัตริย์
ในโพสต์ที่หนึ่ง พยานตั้งคำถามไปยังจิตสำนึกของผู้อ่าน ข้อความที่ระบุว่า “หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” พยานหมายถึง บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ถ้าพยานจะวิจารณ์ในหลวงก็จะวิจารณ์ตรง ๆ โดยระบุชื่อไปเลย แต่ข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานวิจารณ์พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ที่เป็นคนเอามาตรา 112 มาใช้
สำหรับโพสต์ที่ 2 อานนท์เบิกความว่า เหตุที่โพสต์เนื่องจากพยานเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการเมืองในหลาย ๆ ครั้ง ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
อานนท์ระบุว่า เขาเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ขยับออกห่างจากประชาธิปไตย เช่น หลังรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่องตุลาการภิวัฒน์ นำไปสู่การใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคไทยรักไทย และอีกหลายพรรค, บทบาทขององคมนตรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูดเรื่อง ‘เจ้าของม้า’ เปรียบทหารเป็นม้า ส่วนรัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ แต่เจ้าของม้าคือ ชาติและกษัตริย์ ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 ซึ่งหลังรัฐประหารก็มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ และวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ 2557 แต่ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557 เพื่อให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ โดยพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และ 16 มีการแก้ไขไปจากร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อความว่า “เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง” นั้น มาจากแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 7 คำว่า เบียดบัง เป็นภาษากฎหมาย หมายถึง การครอบครอง เอามา เขาไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือกษัตริย์องค์ใด ก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 7 ก็เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้อง ในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 200 ล้านบาท มอบให้พระวรชายา (ยศขณะนั้น) ศรีรัศมิ์
แต่ที่คนอ่านแล้วเข้าใจว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10 ก็เนื่องจากมีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยให้นำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้กษัตริย์ดำเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามอัธยาศัย อันทำให้ทรัพย์สินส่วนของราชบัลลังก์ซึ่งจะตกทอดไปยังกษัตริย์องค์ต่อไป เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า สวนสัตว์ดุสิต ไม่มีเหลืออยู่
นอกจากนี้ หลังออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นและทรัพย์สินอื่น ๆ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้ฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ถือครองทรัพย์สินก็อาจถูกฟ้องร้องในทางแพ่งได้ กระทบต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งยังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณไปเป็นของหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งอานนท์เห็นว่า ขัดหลักการประชาธิปไตย กำลังทหารในระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อานนท์เบิกความย้ำว่า เขาเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ เข้าใจทั้งคนที่อายุมากและคนรุ่นใหม่ว่า คิดอะไร เชื่ออย่างไร ซึ่งมีความต่างกัน เขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ และจำเป็นต้องพูดกัน เขาจึงโพสต์ข้อความทั้งสามโพสต์เพื่อให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาของระบอบที่เป็นอยู่ นำไปสู่การหาทางออกและแก้ไขปัญหา ถ้าทุกคนเข้าใจว่ามันมีปัญหา จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยรัชกาลที่ 9
ตอบอัยการถามค้าน
อานนท์ตอบคำถามอัยการว่า ขณะที่โพสต์ข้อความตามฟ้อง ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงครองราชย์อยู่ และตามหลักการ พระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด (The King can do no wrong) ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ในการดำเนินการทุกอย่างของกษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ
อัยการถามว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และมีนายกฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ในหลวงไม่ได้มีการยับยั้ง แต่ท่านจะไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ได้
อัยการถามอีกว่า พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขหลังผ่านการลงประชามติแล้ว ก็ล้วนผ่านการพิจารณาของสภา และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้นใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า เราไม่ได้พูดว่ามันผิดกฎหมาย แต่มันขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ผู้จัดการ iLaw ชี้การบังคับใช้ ม.112 ผกผันตามสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว-ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตนสำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณทิต ตลอดเวลาที่ทำงาน iLaw ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมาตรา 112
จากการติดตามมากว่า 10 ปี พบว่า มีการใช้มาตรา 112 เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง เช่น ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 มีการบังคับใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ, ช่วงปี 2561-2563 ไม่มีการบังคับใช้ ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลายแห่ง เช่น TPBS ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 โดยช่วงแรกหลังจากที่ให้สัมภาษณ์ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง และในวันรุ่งขึ้นก็เริ่มมีการออกหมายเรียกไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม จากที่พยานติดตามรวบรวมข้อมูล ในช่วงปี 2563-2565 มีผู้ถูกออกหมายเรียกและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากกว่า 280 คน เป็นสถิติที่สูงสุดในประวัติศาสตร์
พยานได้ดูข้อความที่จำเลยโพสต์ 3 ข้อความแล้ว เห็นว่า เนื้อหาไม่ได้มุ่งหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือให้ร้ายสถาบันกษัตริย์หรือสมาชิกในสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เช่น โพสต์ที่ 1 ขณะนั้นมีประชาชนชื่อ ทิวากร วิถีตน ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะใส่เสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” พยานจึงเข้าใจว่า จำเลยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจที่ดำเนินคดีทิวากร
ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจและอัตราโทษของมาตรา 112 และโพสต์ที่ 3 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนั้น
ตอบอัยการถามค้าน
ยิ่งชีพเบิกความตอบอัยการว่า พยานเคยกล่าวปราศรัยในเวที ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 และในกิจกรรม #ยืนหยุดขัง112ชั่วโมง ตรงทางเชื่อม MBK เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566
พยานไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า เหตุที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่รุนแรง
สำหรับโพสต์ทั้งสาม ยิ่งชีพเบิกความว่า โพสต์แรกไม่มีข้อความตรง ๆ ที่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนข้อความว่า ระบอบกษัตริย์ พยานเข้าใจว่า ประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวัง พยานไม่ทราบว่า หากมีคำเฉพาะคำว่า กษัตริย์ จะสื่อความหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด
ในส่วนโพสต์ที่ 2 ข้อความ “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” พยานไม่ทราบว่า สื่อถึงกษัตริย์พระองค์ใด พยานเข้าใจว่า เป็นการยกประโยคตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่จะเข้าข่ายมาตรา 112 จึงต้องยกตัวอย่างเช่นนั้น ซึ่งพยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด
สุดท้ายโพสต์ที่ 3 ที่มีคำว่า สถาบันกษัตริย์ พยานเห็นว่า มีความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงองค์มนตรี คนทำงานในสำนักราชวัง และข้าราชบริพารคนอื่น ๆ ด้วย ส่วนข้อความว่า “ที่ทำงานอยู่เยอรมัน” ขณะนั้นในสังคมมีความเห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน พยานไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่เมื่ออ่านข้อความโดยรวมแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการที่อยู่ประเทศเยอรมัน
ตอบทนายจำเลยถามติง
ยิ่งชีพเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เหตุที่พยานต้องขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 มีปัญหา ก่อนปี 2519 มาตรา 112 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ พอปี 2519 คณะรัฐประหารก็แก้โทษจำคุกเป็น 3-15 ปี ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2478 มาตรา 112 มีข้อยกเว้นว่า หากแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างเช่นปี 2553 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก หลังรัฐประหารปี 2557 รวมถึงปัจจุบันก็มีการใช้มาตรา 112 อย่างหนัก ในลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ
รัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งว่า การใช้มาตรา 112 ไม่ดีกับสถาบันกษัติรย์ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะมีรับสั่งไม่ให้ใช้ แต่ประยุทธ์ก็ได้มีการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตรย์ห่างเหินกัน และประชาชนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อมาตรา 112
สิ่งที่ระบุในแถลงการณ์นายกฯ ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากก่อนออกแถลงการณ์มีการสลายการชุมนุม และประชาชนไม่พอใจที่สภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน จึงชุมนุมต่อเนื่องที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุให้นายกฯ ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ข้อความทั้งสามโพสต์เป็นการพูดถึงระบอบกษัตริย์เป็นภาพรวม ไม่ได้เจาะจงบุคคลใด
.
บก.ฟ้าเดียวกันระบุ โพสต์ของ “อานนท์” ชี้ถึงความผิดปกติของการออกกฎหมาย เป็นการรักษาหลักการประชาธิปไตย และทำหน้าที่ของประชาชน
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานเคยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ และสถาบันกษัตริย์ มากว่า 20 ปี
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ประมาณ 50 เล่ม ตัวอย่างเช่น หนังสือ “พระพรหมช่วยอำนวยให้ชุ่มฉ่ำ” เป็นเรื่องจัดการพระราชทรัพย์ของกษัตริย์ ตีพิมพ์ ปี 2557 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่ 2 โดยกล่าวถึงตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กษัตริย์ไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามพระราชประสงค์ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันกษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์กล่าวว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย รัชกาลที่ 7 เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้องในคดี “ยึดพระราชทรัพย์” ให้โอนทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่โอนไปโดยมิชอบกลับคืนมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ต่อมา ในปี 2560 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นการยกเลิกอำนาจบริหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลเอง เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 จึงเป็นเหตุให้อานนท์โพสต์เรื่องดังกล่าว
ในส่วนข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อีกทั้งยังถูกต้องตามตรรกะแล้ว เพราะมันเป็นความผิดปกติและขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีออกกฎหมายให้โอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของรัชกาลที่ 10 โดยตรง หากวิญญูชนพบเห็นก็ต้องแสดงออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำ
สำหรับโพสต์ที่ 2 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่มีลักษณะกล่าวด้วยความปรารถนาดี
ส่วนโพสต์ที่ 3 พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เป็นลักษณะของการเปรียบเปรยและยกตัวอย่าง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำรงอยู่ได้
ธนาพลเบิกความว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมายทั้งกว้างและแคบ ไม่ได้มีคำเฉพาะเจาะจง และในพจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานก็ไม่ได้ระบุความหมายไว้
ส่วนคำว่า “ระบอบกษัตริย์” มีความหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น องคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ
ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน
เมื่อปี 2549 พยานเคยถูกแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าผิด และนี่เป็นปัญหามาตรา 112 ที่ใครก็สามารถถูกดำเนินคดีได้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกค้นเกี่ยวกับหนังสือสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่เป็นคำปราศรัยของจำเลย อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว
.
นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ชี้ สามโพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง – การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล
อิสระ ชูศรี อาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาภาษาศาสตร์ และเป็นอาจารย์สาขาวิชาภาษาศาสตร์มาเป็นเวลาประมาณ 13 ปี
พยานเห็นว่า โพสต์ที่ 1 มีลักษณะตั้งคำถาม ในตอนท้ายมีลักษณะเป็นประโยคบอกเล่าที่เป็นคำตอบของคำถามข้างต้น และเมื่ออ่านข้อความโดยรวม ไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงบุคคลใด สังเกตได้จากคำว่า ระบอบ มีลักษณะเป็นคำถามเกี่ยวกับระบอบการปกครอง
ข้อความในโพสต์ที่ 2 มีลักษณะเป็นการยกตัวอย่าง ซึ่งเป็นประโยคเงื่อนไข และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโทษของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยเห็นว่าไม่ควรมีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี ในตอนท้ายมีลักษณะแสดงความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้โดยไม่มีโทษ เมื่ออ่านโดยรวมมีลักษณะเป็นการเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์พิจารณ์ และยกตัวอย่าง โดยไม่ได้เจาะจงถึงตัวบุคคล
สำหรับโพสต์ที่ 3 มีทั้งประโยคบอกเล่าที่กล่าวถึงความขัดแย้งทางความคิดและยกตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อความที่กล่าวถึงฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปด้วยกัน
ข้อความทั้งสามโพสต์โดยรวมเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองในปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้โพสต์เจาะจงตัวบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคลเช่นกัน
ตอบอัยการถามค้าน
อิสระเบิกความตอบอัยการว่า พยานเห็นว่า ข้อความในโพสต์ที่ 2 “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” ไม่ได้มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคล ในการตีความทางภาษา ตามหลักวิชาการจะใช้กับข้อความที่กำกวม ซึ่งสามารถตีความได้หลายแบบ แต่เมื่อตีความแล้วก็ต้องเลือกความหมายใดความหมายหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับข้อความ ไม่ใช่เลือกตีความตามความคิดเห็นส่วนตัว
“วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์เพื่อให้อยู่ในหลักการ ปชต.”: เปิดคำให้การพยานคดี 112 “อานนท์ นำภา” โพสต์ 3 ข้อความ ต้นปี 64
16/01/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในวันที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” จากกรณีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ย้อนดูเหตุแห่งคดี
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์หรือ ศชอ. ได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” หลังตรวจพบว่า โพสต์ 3 ข้อความ ในวันที่ 1 และ 3 ม.ค. 2564 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
จากนั้น พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ออกหมายเรียกอานนท์ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยระบุถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด ดังนี้
ข้อความแรกและข้อความที่ 2 โพสต์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 ในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
“เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผม ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว”
“ตํารวจบอกว่าการทําให้คนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิด 112 ถ้าผมบอกว่า “กษัตริย์คนนี้ทําตัวขัด กับหลักการประชาธิปไตย เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย” แบบนี้คนใดได้ยินได้ฟังย่อมเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์อย่างแน่นอน แต่ !! แบบนี้ ผมควรมีโทษจําคุก 3 – 15 ปี หรือ ? สังคมไม่ควรสยบยอมให้ 112 มาปิดปากการพูดถึงกษัตริย์ในแง่ไม่ดี ถ้าเรื่องนั้นเป็นความจริง และเป็น เรื่องสาธารณะ คนย่อมสามารถพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ได้ และด่าได้ด้วย การยืนตัวตรง พูดความจริงคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เข้าใจตรงกัน !!”
ข้อความที่ 3 โพสต์เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์
“ฝ่ายที่ออกมาต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้เขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเราจริงๆ หรือเป็นเพราะพอเป็น ความคิดของฝ่ายเราเขาก็จะไม่เอาด้วยทุกเรื่อง ถ้าเรารณรงค์ให้คนสวมหน้ากากป้องกันโควิด พวกเขาจะรณรงค์ สวนให้คนไม่ใส่หน้ากากมั้ย ? ผมว่าแทบจะเป็นข้อยุติแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กําลังมีปัญหาและสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการใช้ชีวิตของคนในสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินของรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่าย (ลองนึกภาพดูว่าถ้านายกหรือข้าราชการคนใดไปพักไปเช่าที่พักที่ทํางานอยู่เยอรมัน แล้วบินไปกลับ ขนคนไปรับใช้ที่นั่น แบบนี้สังคมจะยอมรับได้มั้ย ?) แต่ฝ่ายนั้นก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ และคอยเล่นงานคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่ ปีนี้เราต้องทํางานให้หนักขึ้น ทั้งข้อมูลและเนื้อหาของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ ปีนี้ ช่วยๆ กันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นและศรัทธา อานนท์ นําภา 3 มกราคม 2564”
ชั้นสอบสวนอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การเพิ่มเติมว่า เป็นผู้โพสต์ทั้ง 3 ข้อความจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องอานนท์ต่อศาลอาญาในทั้งสองข้อหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 โดยบรรยายฟ้องว่า ข้อความทั้งหมด เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ย้อนอ่านคำฟ้อง>> อัยการสั่งฟ้อง ม.112-พ.ร.บ. คอมฯ ‘อานนท์’ จาก 3 โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการใช้ ม.112
.
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาโพสต์ทั้งสาม เจตนามุ่งหมายถึ ร. 10 ด้านจำเลยยืนยันเพียงโพสต์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์โดยสุจริต เพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม
การสืบพยานในคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 903 ในวันที่ 20-21 เม.ย., 21-23 พ.ย. 2566 สำหรับการสืบพยานวันแรก อานนท์เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ โดยทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าขอเลื่อนคดีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากศาลยังไม่ได้ออกหมายเรียกเอกสารสำคัญที่ระบุในบัญชีพยานของจำเลย ซึ่งต้องใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ เอกสารสำคัญดังกล่าวคือ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และงบประมาณของสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ศาลให้สืบพยานไปก่อน โดยให้พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามโจทก์ไป และทนายจำเลยค่อยซักค้านในประเด็นดังกล่าวภายหลัง แต่ทนายจำเลยแย้งว่า เนื่องจากผู้กล่าวหาได้ไปแจ้งความคดีนี้ โดยบอกว่าเป็นการบิดเบือน ใส่ร้าย และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทางจำเลยต้องการพิสูจน์ว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีเอกสารมาหักล้างผู้กล่าวหา จะให้สืบพยานโจทก์ไปก่อน ถามค้านทีหลังไม่ได้
ศาลระบุว่า เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารมาตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่มาขอวันนี้ มันจะไม่เป็นไปตามกระบวนการพิจารณา ด้านทนายจำเลยชี้แจงว่า ขณะที่มีนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยติดคุกอยู่ ไม่สามารถออกมาจากเรือนจำเพื่อขอหมายเรียกได้ ซึ่งหากศาลจะออกหมายเรียกภายในวันนี้ก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าว เพราะเห็นว่าจำเลยควรขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว รวมทั้งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป โดยให้ดำเนินการสืบพยานต่อไปตามที่นัดไว้ ทั้งนี้ ศาลย้ำว่า “ศาลทำไปตามหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม”
สำหรับบรรยากาศการสืบพยานคดีนี้ มีญาติ ประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าว เจ้าหน้าที่สถานทูตจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมัน มาสังเกตการณ์คดี โดยการพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนทุกคนสามารถเข้าฟังได้
ทั้งนี้ โจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา, นักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านโพสต์รวม 4 ปาก และพนักงานสอบสวน อีก 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 4 ปาก ได้แก่ อานนท์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, สถาบันกษัตริย์ และการบังคับใช้มาตรา 112
อัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจใส่ร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ติชมอย่างสุจริตตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ โพสต์ทั้งสามของจำเลยกล่าวถึงคนในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงกษัตริย์องค์ใด โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง, บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
ผู้กล่าวหา ประธาน ศชอ. เบิกความ โพสต์ของอานนท์ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ – กล่าวร้ายรัชกาลที่ 10 แต่รับว่า ไม่ทราบว่า สิ่งที่โพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 พยานกำลังเปิดเฟซบุ๊กและอ่านข่าวการเมือง ก่อนจะเห็นฟีดเฟซบุ๊กเด้งบัญชี “อานนท์ นำภา” ขึ้นมา พยานจึงได้เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกตกใจมาก เนื่องจากบรรยายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และกล่าวร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานในฐานะที่เป็นคนไทยรู้สึกรับไม่ได้
พยานเห็นว่า ข้อความ “เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผม ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” หมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะรัชกาลที่ 9 สวรรคตไปแล้ว
โพสต์ดังกล่าวมีคนกดถูกใจเป็นหมื่นคน แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามาอ่านเชื่อในสิ่งที่อานนท์เขียน และมีการแชร์เกินหลักร้อย เป็นการเผยแพร่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแบบที่อานนท์พูดไว้ ทั้งมีคนมาแสดงความคิดเห็นในด้านลบ จูงใจให้เชื่อตามที่จำเลยโพสต์ ตั้งค่าการเผยแพร่เป็นสาธารณะ
ต่อมา วันเดียวกันตอนค่ำ พยานพบอีกโพสต์ (ข้อความที่ 2) พยานเห็นว่า คำว่า “กษัตริย์” หมายถึง รัชกาลที่ 10 ประโยคที่บอกว่า “กษัตริย์ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” เป็นการกล่าวหาว่า กษัตริย์เป็นคนขี้โกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เบียดบังเอาเงินของประเทศไปใช้ คนที่เข้าไปกดไลค์โพสต์น่าจะมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับจำเลย จำนวนแชร์โพสต์หลักหมื่น ตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีการแสดงความเห็นในลักษณะประณามพฤติกรรมของรัชกาลที่ 10
นอกจากนี้ พยานยังพบข้อความที่ 3 อีกในวันเดียวกัน ตั้งค่าเผยแพร่เป็นสาธารณะ มีคนกดถูกใจหลักหมื่น มีการแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พยานรู้สึกแปลกใจ ไม่เข้าใจในความคิดของอานนท์ เพราะพยานเป็นคนไทย เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และมาตรา 112 ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำไมอานนท์จึงโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าวซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกลียดชังสถาบันกษัตริย์อย่างมาก
พยานย้ำว่า ถ้าเราอยู่กันเฉย ๆ ไม่ทำอะไร ก็คงไม่โดนมาตรา 112 พยานรู้สึกโกรธและเสียใจเพราะว่าต้นตระกูลมาจากจีน ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภาร ดูแลอย่างดี
พยานเห็นว่า ข้อความทั้งสามส่งผลเสีย ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเกลียดชัง จึงเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของอานนท์มีผู้ติดตามประมาณ 100,000 คน ส่วนตัวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ผู้กล่าวหารับว่า เคยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มาก่อน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) แต่อย่างใด
พยานตอบทนายจำเลยรับอีกว่า เคยไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาคัดค้านการที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวเพนกวิน ผู้ต้องหา 112 ไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก รวมถึงไม่เห็นด้วยกับอานนท์ นำภา
พยานยังเคยไปแจ้งความที่ ปอท. ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน แต่ไม่ถึง 1,000 คน ที่มีการลงข่าวว่าพยานไปแจ้งความกว่า 1,000 คนนั้น เป็นเพียงการสร้างคอนเทนต์ข่าว
แน่งน้อยเบิกความตอบคำถามค้านต่อว่า ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วหรือไม่ แต่สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากจะแก้ไขกฎหมาย จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา
พยานทราบว่า ใน ปี 2559 หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำทูลเกล้าให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่า ในหลวงได้สั่งให้แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ทราบด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการแก้ไขไปจากฉบับที่ลงประชามติหรือไม่ และในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
แน่งน้อยรับกับทนายจำเลยว่าไม่ทราบว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และไม่ทราบว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วมีการแก้ไขเป็น จะมีการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ หรือไม่ตั้งก็ได้
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์มีจํานวนเท่าใด แม้เรื่องดังกล่าวสามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ต
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด เมื่อไหร่ กับบุคคลใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากพยานไม่จําเป็นต้องไปสอดรู้สอดเห็น
อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ไม่ทราบว่า ภายหลังปี 2560 มีการโอนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ฯ และปูนซีเมนต์ไทยไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า การโอนหุ้นลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือไม่ และสิ่งที่จําเลยโพสต์เป็นความจริงหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีการโอนกําลังพลของกองทัพไปสังกัดหน่วยราชการส่วนพระองค์หรือไม่ แต่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการออกพระราชกําหนดโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งในต่างประเทศที่มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีการโอนกําลังพลไปเป็นข้าราชการในหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ แต่ในความเห็นของพยานการโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์สามารถทําได้
พยานยังตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบจํานวนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 และไม่ทราบว่ามีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนรัชกาล ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะตกทอดอย่างไร รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 ลานพระบรมรูปทรงม้า วัดพระแก้ว สนามหลวง และสวนสัตว์เขาดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และขณะประทับที่ประเทศเยอรมนีมีการใช้พระราชอํานาจหรือไม่ รวมถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจในขณะประทับที่ประเทศเยอรมนี
พยานเห็นว่าคําว่า พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ไม่รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ไม่ทราบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
.
นักวิชาการนิติศาสตร์ชี้ โพสต์ทั้งสามเป็นการกล่าวหาลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐาน เข้าองค์ประกอบหมิ่นประมาทกษัตริย์ แม้เป็นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยรวม – ม.112 ไม่ระบุถึงสถาบันกษัตริย์
คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เบิกความว่า ตนจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท นิติศาสตร์ กฎหมายมหาชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เชี่ยวชาญกฎหมายการปกครองพิเศษ และเคยสอนหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ความเห็น
สำหรับข้อความแรก พยานรู้สึกว่า เนื้อหาไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใคร แต่เดาว่าเป็นรัชกาลที่ 10 ส่วนข้อความที่ 2 สื่อถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันว่ามีการนำทรัพย์สินประเทศไปใช้ส่วนตัว มีความประพฤติที่เสื่อมเสีย
และข้อความที่ 3 พยานเห็นว่า จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์และองคาพยพทั้งหมด โดยคำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารที่อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ แต่พยานอ่านแล้ว เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียว
คมสันเบิกความอีกว่า ในความเห็นของพยาน การแสดงความคิดเห็นวิจารณ์พระมหากษัตริย์สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้กษัตริย์เสียหาย การกล่าวหาลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานนั้นทำไม่ได้ ซึ่งในโพสต์ตามฟ้องก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาแสดง หากประชาชนทั่วไปพบเห็น ย่อมอาจทำให้เกิดความเสียหายและความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ พยานจึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
คมสันเบิกความตอบทนายจำเลยว่า โพสต์ที่ 3 เป็นการโพสต์คนละวันกับ 2 โพสต์แรก ระหว่างโพสต์ทั้งสามจำเลยจะมีการโพสต์อีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ และในทั้งสามโพสต์จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยรวม ไม่ได้มีการกล่าวเจาะจงว่าเป็นรัชกาลที่ 10 แต่พยานอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ตั้งใจสื่อถึงรัชกาลที่ 10
พยานเห็นว่า กษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ในมาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึง สถาบันกษัตริย์
พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม และพยานเคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
พยานเคยขึ้นปราศรัยในเวที กปปส. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รู้จักอานนท์เป็นการส่วนตัว แต่รู้จักว่าเป็นแกนนำกลุ่มราษฎรตามบทสัมภาษณ์ในสื่อ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยกับอานนท์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
พยานเคยไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 กว่า 40 คดี โดยครึ่งหนึ่งพยานให้การว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ทำไมพนักงานสอบสวนถึงเลือกตนให้เป็นพยาน
คมสันตอบทนายจำเลยอีกว่า เคยฟังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ซึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้ และไม่ควรใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้กษัตริย์เดือดร้อน ซึ่งหากเรื่องที่พูดเป็นความจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะก็ย่อมพูดได้ และไม่เป็นความผิด
พยานเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกันของกษัตรย์และประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่อาจขัดแย้งกับ หยุด แสงอุทัย, ไพโรจน์ ชัยนาม และมีชัย ฤชุพันธุ์ พยานเห็นว่า กษัตริย์อาจท้วงติงให้แก้ไขได้ ซึ่งเป็นประเพณีการปกครอง แม้ไม่ได้ระบุในรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นประเทศอังกฤษ กษัตริย์สามารถใช้อำนาจ veto รัฐธรรมนูญได้
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2557 มีการแก้ไขมากกว่า 4 ครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกระแสรับสั่ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสั่งในลักษณะนี้มาก่อน
พยานทราบว่า ในรัชกาลที่ 10 มีการออก พ.ร.ก.โอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า เคยมีประเทศไหนทำในลักษณะนี้
พยานทราบว่า ปี 2560 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงวัดพระแก้ว สนามหลวง โดยพระมหากษัตริย์สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ “ตามพระราชอัธยาศัย” ทั้งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มาก่อน
พยานไม่ทราบว่า ส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานมายืนยัน ทั้งนี้ พยานไม่เคยทราบข่าวเรื่องการโอนหุ้นไทยพาณิชย์และปูนซีเมนต์ไทยแต่อย่างใด
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด นำข้าราชการบริพารไปด้วยหรือไม่ ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษี
พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และเคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจนอกราชอาณาจักร ซึ่งตามหลักการ กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรได้ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การสื่อสารข้ามแดนได้ การจะรู้ว่ามีการใช้อำนาจนอกพระราชอาณาจักรหรือไม่ ต้องมีหลักฐานมายืนยัน
พยานไม่ทราบด้วยว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณปีละเท่าไหร่ และจำนวนดังกล่าวจะมากหรือน้อย แต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องมีรายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย หากใช้อย่างเหมาะสมก็ถือว่าไม่มาก
ทนายจำเลยถามว่า หากจำเลยนำหลักฐานเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์มาแสดง ความเห็นของพยานที่ว่า จำเลยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เปลี่ยน เพราะขณะโพสต์ไม่มีหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ซึ่งกระทบสิทธิส่วนบุคคล แม้คดีหมิ่นประมาทจะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล
พยานระบุว่า ตนไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์ว่า ที่จำเลยโพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แค่ดูข้อความว่า หมิ่นประมาทหรือไม่ โดยในชั้นสอบสวนพยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
ตอบอัยการถามติง
คมสันเบิกความตอบอัยการว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์ แต่เจตนารมย์ของกฎหมายคือปกป้องสถาบันกษัตริย์ และข้อความก็สื่อถึงกษัตริย์ในนัยยะที่เข้าใจได้
พยานเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
.
อาจารย์กฎหมายมหาชนเบิกความ ‘สถาบันกษัตริย์’ หมายถึงกษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ โพสต์ทั้งสามจึงเจตนาหมายถึง ร.10 แต่รับว่า ร.10 เคยประกาศให้สมาชิกราชวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ด้านกฎหมาย เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เชิญพยานไปดูโพสต์ข้อความของอานนท์และให้ความเห็น
พยานเห็นว่า ข้อความแรกมีการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ที่ไม่ดี ข้อความที่ 2 เป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความรู้สึกไม่ดีว่ากษัตริย์เอาภาษีไปใช้ที่เยอรมัน และข้อความที่ 3 คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึงกษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่ง
บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือประชาชนทั่วไป และมาตรา 112 ก็คุ้มครอง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประชาชนสามารถพูดถึงได้ แต่ต้องดูเจตนาและข้อความที่โพสต์ว่าทำให้เสื่อมเสียหรือไม่
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
กิตติพงศ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของพยานเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
พยานเคยไปให้การในคดีมาตรา 112 มาทั้งหมด 30 คดี โดยมีความเห็นว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 เกือบทุกคดี
พยานเคยไปเป็นพยานให้การในคดี 112 ของ ทิวากร วิถีตน ที่ศาลจังหวัดลำปาง กรณีใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันแล้ว” ทิวากรใส่ชุดดังกล่าวแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี แต่พยานไม่ทราบว่าเหตุดังกล่าวเป็นมูลเหตุให้อานนท์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่พยานทราบว่า คดีทิวากรดังกล่าวมีการยกฟ้องมาตรา 112 ไป
พยานทราบจากข่าวสารที่ปรากฏทั่วไปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่ได้มีการปิดบัง เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีการโอนทรัพย์สินตามกฎหมาย
พยานเห็นว่า เรื่องการไปประทับที่ประเทศเยอรมนี เป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า พระองค์ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษีประชาชน
ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นการกล่าวถึงตำแหน่งประมุข ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์เดียว ส่วน ราชวงศ์ จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ต้องดูในหลายๆ นัยยะ ไม่สามารถจำกัดคำนิยามได้ ทั้งต้องดูพฤติการณ์ประกอบว่าสื่อถึงอะไร และ องคมนตรี เป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า รัชกาลที่ 10 เคยประกาศว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ทูลกระหม่อมหญิงจะสละฐานนันดรแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ และคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีการให้คำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน
กิตติพงศ์รับว่า เคยเขียนบทความไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการ และพยานไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม รวมถึงไม่เคยตีพิมพ์วารสารระดับประเทศและบทความในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับมาตรา 112
มีนักวิชาการหลายคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรา 112 เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112
สาเหตุที่พนักงานสอบสวนเชิญพยานไปให้การที่ บก.ปอท. ในคดีมาตรา 112 เพราะมาตรา 112 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน
.
สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เห็นว่า ถ้อยคำที่อานนท์โพสต์ด้อยค่า ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ร.10 โดยพยานไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
นพคุณ ทองถิ่น สมาชิก ศปปส. เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานกับกลุ่ม ศปปส. ได้ไปยื่นหนังสือกับกระทรวงดิจิตัลฯ ให้กวดขันการโพสต์หมิ่นประมาทในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่เอาโพสต์ข้อความของอานนท์มาให้พยานอ่านและให้ความเห็น พยานไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยใด แต่ได้ไปให้ความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวในฐานะประชาชนกับคณะพนักงานสอบสวน
พยานเห็นว่า โพสต์แรกสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่ากดหัวประชาชนโดยใช้มาตรา 112 หากใครได้อ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าเคารพศรัทธา
โพสต์ที่ 2 สื่อว่า รัชกาลที่ 10 ใช้เงินภาษีประชาชน เป็นการกล่าวหาด้อยค่าสถาบันกษัตริย์โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลมายืนยัน หากใครอ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าศรัทธา สร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ และโพสต์ที่ 3 โดยรวมสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อได้อ่านทั้งสามข้อความแล้วจะเข้าใจว่า กษัตริย์ใช้ภาษีประชาชนไปทำเรื่องส่วนตัว
พยานมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นทำได้ แต่ไม่ควรด้อยค่า
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
นพคุณเบิกความตอบทนายจำเลยว่า สมาชิก ศปปส.มีหลายคน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือสมาคมตามกฎหมาย
พยานไม่ได้เกลียดชังอานนท์ นำภา แต่ยอมรับว่า กลุ่ม ศปปส. เคยขอให้ศาลเพิกถอนประกันอานนท์ ทั้งยังเคยตั้งเวทีคู่ขนานกับอานนท์แล้วมีการกระทบกระทั่งกัน แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
พยานทราบข่าวว่า รัชกาลที่ 10 มีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 แต่ไม่ทราบว่า ช่วงปี 2560-2563 มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีประชาชนหรือไม่ และไม่ทราบว่า ในช่วงดังกล่าว มีสมาชิก ศปปส. ไปแจ้งความที่ บก.ปอท. แต่ บก.ปอท.ไม่รับแจ้ง
พยานไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีการโอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่
นอกจากนี้ พยานไม่ทราบเรื่องการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และไม่เห็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หากสถาบันกษัตริย์ทำไม่ถูกต้อง พยานก็ไม่สนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้นพยานไม่ทราบ ที่อานนท์โพสต์ก็ไม่มีหลักฐาน หากโพสต์โดยไม่มีหลักฐานก็ถือเป็นการกล่าวหา
พยานไม่ทราบเรื่องการโอนหุ้น การประทับที่เยอรมัน รวมถึงงบประมาณที่รัชกาลที่ 10 ในแต่ละปีด้วย
ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และอดีตกษัตริย์ด้วย
.
ประชาชนทั่วไปให้ความเห็น พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งสูง ไม่ควรแสดงความคิดเห็นละเมิด แต่รับว่าโพสต์ของอานนท์ไม่มีข้อความระบุถึง ร.10
พัลลภา เขียนทอง ประชาชนทั่วไป เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ไปทำธุระที่ บก.ปอท. ก่อนมีตำรวจเรียกไปให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ โดยไม่ได้มีหมายเรียกพยานแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พยานดูข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กรวม 3 ข้อความ พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งที่สูง ประชาชนทั่วไปไม่ควรละเมิด
พยานไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าว
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พยานเคยถูกออกหมายจับกรณีไม่มาเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ของ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เหตุที่พยานไม่มาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากป่วย และไม่เคยได้รับหมายเรียก
พยายเคยไปเป็นพยานคดี 112 ทั้งหมด 2 คดี ได้แก่ คดีของภาณุพงศ์และคดีนี้
พยานไม่ทราบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่พยานมองว่า ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับกษัตริย์
สำหรับข้อความแรกพยานอ่านแล้วพบว่า ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 กล่าวถึงเพียงระบอบกษัตริย์ ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึง พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ ประชาชน และกฎหมาย จึงไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล อีกทั้งมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม
เมื่อพยานอ่านข้อความทั้งสามโพสต์แล้วเข้าใจว่าหมายถึง รัชกาลที่ 10
พยานเข้าใจว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายเดียวกับสถาบันกษัตริย์ โดยสถาบันกษัตริย์หมายรวมถึงพระราชินี อดีตพระมหากษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตรัชทายาท แต่ไม่รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และหากพูดถึงระบอบกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 10 ย่อมหมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10
ทนายจำเลยถามว่า หากพบคำว่า ระบอบกษัตริย์ในหนังสือต่าง ๆ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 จะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบ
พยานมองว่า โพสต์ทั้งสามของจำเลยไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดกัน
พยานรับว่า ในการให้การกับพนักงานสอบสวน พยานไม่ได้มอบหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า โพสต์ของจำเลยเป็นความจริงหรือไม่
พยานทราบว่า ในปี 2560 รัฐบาลประยุทธ์ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ให้โอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบรายละเอียด และเห็นว่า ข้อความว่า เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตน ไม่น่าจะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พยานไม่ทราบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการพูดโดยอ้างอิงกับกฎหมายหรือไม่
พยานยังทราบว่า หลังออกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยพยานเข้าใจว่า เป็นการโอนเพื่อให้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ทราบว่าเรื่องการเสียภาษีมีระบุอยู่ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ หรือไม่ และในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่เยอรมัน แต่ไม่ทราบว่า ใช้งบประมาณแผ่นดินเท่าไหร่
พยานไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณกองทัพไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ไม่ทราบด้วยว่า เคยมีประเทศใดออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว หรือในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า การออกกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นการขัดหลักการในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ตามความเข้าใจของพยาน หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ต้องผ่านรัฐสภา ทั้งนี้ พยานไม่เคยเห็นข่าวที่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติแล้ว หากข่าวดังกล่าวเป็นจริงก็ถือเป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
.
พนักงานสอบสวนระบุ คณะ พงส.มีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 แต่รับว่าโพสต์ของจำเลยไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด
ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีนี้
เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อยได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นำภา” ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา ต่อมา ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งพยานให้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
จากนั้นพยานได้ให้ฝ่ายสืบสวนไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นำภา และพบว่าเป็นบัญชีของอานนท์จริง ชั้นสอบสวน จำเลยจะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากการตรวจสอบของกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมพบว่า จำเลยมีประวัติถูกดำเนินคดีหลายคดี
หลังสอบปากคำพยานหลายปาก คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปความเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ร.ต.อ.บูรฉัตร เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ผู้บังคับบัญชาให้พยานสอบปากคำ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และคมสัน โพธ์คง ไว้เป็นพยาน อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้สอบปากคำพยานทั้งสองในประเด็นว่า มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ในส่วนของนพคุณ ทองถิ่น และพัลลภา เขียนทอง เคยมาแจ้งความคดีซื้อของออนไลน์ พยานจึงออกหมายเรียกมาให้การเป็นพยาน โดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการเลือกพยานแต่อย่างใด
พยานรับว่า ตนและคณะพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบว่า ข้อความที่อานนท์โพสต์เป็นความจริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ มาเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ พยานเพียงแต่สอบปากคำพยานหลายคนที่ให้การเป็นความเห็น และคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ พยานไม่ได้สอบในประเด็นว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายอย่างไร แต่ตามความเข้าใจของพยาน ระบอบกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์แยกออกจากกัน สถาบันกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์ก็แยกออกจากกันเช่นกัน และพยานเห็นว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะที่ละเมิดไม่ได้ ไม่สมควรกล่าวหาให้เสื่อมเสีย
พยานอ่านโพสต์ที่ 1 แล้วพบว่า มีคำว่า ระบอบกษัตริย์ มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะยกตัวอย่างและเปรียบเทียบ และโพสต์ที่ 3 เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ และไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด มีลักษณะตั้งคำถามและแสดงทัศนะของผู้เขียน
พยานรับด้วยว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหา พยานไม่ได้ระบุว่า ข้อความไหนมีลักษณะดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายอย่างไร
ตอบอัยการโจทก์ถามติง
ร.ต.อ.บูรฉัตร ตอบโตทก์ว่า สาเหตุที่สอบกิตติพงศ์และคมสันเป็นพยานความเห็น เพราะทั้งสองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย
ในความเข้าใจของพยาน คำว่า ระบอบกษัตริย์ ประกอบคำให้การของพยานต่าง ๆ หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และทั้งสามโพสต์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
.
“อานนท์” เบิกความ โพสต์วิจารณ์คนในกระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์โดยรวม เพื่อให้อยู่ในหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข
อานนท์เบิกความต่อสู้คดีในฐานะพยานจำเลย โดยเกริ่นว่า ก่อนหน้าที่จะโพสต์ทั้งสามข้อความดังกล่าว ในปี 2563 มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาจึงได้โพสต์ข้อความทั้งสาม โดยเจาะจงไปยังกลุ่มคนที่ไม่ปรับตัวต่อความปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ หากคนที่อ่านโพสต์แล้วไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ย่อมเห็นด้วยว่าสิ่งที่โพสต์เป็นความจริง ส่วนบางคนไม่ไปหาข้อเท็จจริงก็ด่าทอ หรืออ่านแล้วไปหาข้อเท็จจริงแต่รับไม่ได้ และใช้ศักยภาพตนเองปิดปากไม่ให้คนอื่นพูดความจริง เช่น คนที่แจ้งความ เจ้าหน้าที่รัฐ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่บกพร่องทางสามัญสำนึก ซึ่งจะมีลักษณะปฏิเสธข้อมูลใหม่ที่จะลบล้างความเชื่อเดิม
ก่อนพยานจะโพสต์ข้อความตามฟ้อง ทิวากร วิถีตน ได้สกรีนเสื้อและโพสต์ข้อความ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ และถูกดำเนินคดี พยานเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากความศรัทธาเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ต่อมาคดีนี้ศาลได้ยกฟ้อง เห็นว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ ไม่รวมถึงสถาบันกษัตริย์ และระบอบกษัตริย์
ในโพสต์ที่หนึ่ง พยานตั้งคำถามไปยังจิตสำนึกของผู้อ่าน ข้อความที่ระบุว่า “หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” พยานหมายถึง บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ถ้าพยานจะวิจารณ์ในหลวงก็จะวิจารณ์ตรง ๆ โดยระบุชื่อไปเลย แต่ข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานวิจารณ์พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ที่เป็นคนเอามาตรา 112 มาใช้
สำหรับโพสต์ที่ 2 อานนท์เบิกความว่า เหตุที่โพสต์เนื่องจากพยานเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการเมืองในหลาย ๆ ครั้ง ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
อานนท์ระบุว่า เขาเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ขยับออกห่างจากประชาธิปไตย เช่น หลังรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่องตุลาการภิวัฒน์ นำไปสู่การใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคไทยรักไทย และอีกหลายพรรค, บทบาทขององคมนตรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูดเรื่อง ‘เจ้าของม้า’ เปรียบทหารเป็นม้า ส่วนรัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ แต่เจ้าของม้าคือ ชาติและกษัตริย์ ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 ซึ่งหลังรัฐประหารก็มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ และวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ 2557 แต่ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557 เพื่อให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ โดยพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และ 16 มีการแก้ไขไปจากร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อความว่า “เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง” นั้น มาจากแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 7 คำว่า เบียดบัง เป็นภาษากฎหมาย หมายถึง การครอบครอง เอามา เขาไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือกษัตริย์องค์ใด ก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 7 ก็เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้อง ในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 200 ล้านบาท มอบให้พระวรชายา (ยศขณะนั้น) ศรีรัศมิ์
แต่ที่คนอ่านแล้วเข้าใจว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10 ก็เนื่องจากมีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยให้นำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้กษัตริย์ดำเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามอัธยาศัย อันทำให้ทรัพย์สินส่วนของราชบัลลังก์ซึ่งจะตกทอดไปยังกษัตริย์องค์ต่อไป เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า สวนสัตว์ดุสิต ไม่มีเหลืออยู่
นอกจากนี้ หลังออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นและทรัพย์สินอื่น ๆ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้ฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ถือครองทรัพย์สินก็อาจถูกฟ้องร้องในทางแพ่งได้ กระทบต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งยังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณไปเป็นของหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งอานนท์เห็นว่า ขัดหลักการประชาธิปไตย กำลังทหารในระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อานนท์เบิกความย้ำว่า เขาเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ เข้าใจทั้งคนที่อายุมากและคนรุ่นใหม่ว่า คิดอะไร เชื่ออย่างไร ซึ่งมีความต่างกัน เขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ และจำเป็นต้องพูดกัน เขาจึงโพสต์ข้อความทั้งสามโพสต์เพื่อให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาของระบอบที่เป็นอยู่ นำไปสู่การหาทางออกและแก้ไขปัญหา ถ้าทุกคนเข้าใจว่ามันมีปัญหา จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยรัชกาลที่ 9
ตอบอัยการถามค้าน
อานนท์ตอบคำถามอัยการว่า ขณะที่โพสต์ข้อความตามฟ้อง ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงครองราชย์อยู่ และตามหลักการ พระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด (The King can do no wrong) ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ในการดำเนินการทุกอย่างของกษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ
อัยการถามว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และมีนายกฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ในหลวงไม่ได้มีการยับยั้ง แต่ท่านจะไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ได้
อัยการถามอีกว่า พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขหลังผ่านการลงประชามติแล้ว ก็ล้วนผ่านการพิจารณาของสภา และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้นใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า เราไม่ได้พูดว่ามันผิดกฎหมาย แต่มันขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ผู้จัดการ iLaw ชี้การบังคับใช้ ม.112 ผกผันตามสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว-ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตนสำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณทิต ตลอดเวลาที่ทำงาน iLaw ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมาตรา 112
จากการติดตามมากว่า 10 ปี พบว่า มีการใช้มาตรา 112 เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง เช่น ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 มีการบังคับใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ, ช่วงปี 2561-2563 ไม่มีการบังคับใช้ ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลายแห่ง เช่น TPBS ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 โดยช่วงแรกหลังจากที่ให้สัมภาษณ์ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง และในวันรุ่งขึ้นก็เริ่มมีการออกหมายเรียกไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม จากที่พยานติดตามรวบรวมข้อมูล ในช่วงปี 2563-2565 มีผู้ถูกออกหมายเรียกและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากกว่า 280 คน เป็นสถิติที่สูงสุดในประวัติศาสตร์
พยานได้ดูข้อความที่จำเลยโพสต์ 3 ข้อความแล้ว เห็นว่า เนื้อหาไม่ได้มุ่งหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือให้ร้ายสถาบันกษัตริย์หรือสมาชิกในสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เช่น โพสต์ที่ 1 ขณะนั้นมีประชาชนชื่อ ทิวากร วิถีตน ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะใส่เสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” พยานจึงเข้าใจว่า จำเลยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจที่ดำเนินคดีทิวากร
ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจและอัตราโทษของมาตรา 112 และโพสต์ที่ 3 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนั้น
ตอบอัยการถามค้าน
ยิ่งชีพเบิกความตอบอัยการว่า พยานเคยกล่าวปราศรัยในเวที ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 และในกิจกรรม #ยืนหยุดขัง112ชั่วโมง ตรงทางเชื่อม MBK เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566
พยานไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า เหตุที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่รุนแรง
สำหรับโพสต์ทั้งสาม ยิ่งชีพเบิกความว่า โพสต์แรกไม่มีข้อความตรง ๆ ที่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนข้อความว่า ระบอบกษัตริย์ พยานเข้าใจว่า ประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวัง พยานไม่ทราบว่า หากมีคำเฉพาะคำว่า กษัตริย์ จะสื่อความหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด
ในส่วนโพสต์ที่ 2 ข้อความ “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” พยานไม่ทราบว่า สื่อถึงกษัตริย์พระองค์ใด พยานเข้าใจว่า เป็นการยกประโยคตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่จะเข้าข่ายมาตรา 112 จึงต้องยกตัวอย่างเช่นนั้น ซึ่งพยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด
สุดท้ายโพสต์ที่ 3 ที่มีคำว่า สถาบันกษัตริย์ พยานเห็นว่า มีความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงองค์มนตรี คนทำงานในสำนักราชวัง และข้าราชบริพารคนอื่น ๆ ด้วย ส่วนข้อความว่า “ที่ทำงานอยู่เยอรมัน” ขณะนั้นในสังคมมีความเห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน พยานไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่เมื่ออ่านข้อความโดยรวมแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการที่อยู่ประเทศเยอรมัน
ตอบทนายจำเลยถามติง
ยิ่งชีพเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เหตุที่พยานต้องขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 มีปัญหา ก่อนปี 2519 มาตรา 112 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ พอปี 2519 คณะรัฐประหารก็แก้โทษจำคุกเป็น 3-15 ปี ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2478 มาตรา 112 มีข้อยกเว้นว่า หากแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างเช่นปี 2553 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก หลังรัฐประหารปี 2557 รวมถึงปัจจุบันก็มีการใช้มาตรา 112 อย่างหนัก ในลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ
รัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งว่า การใช้มาตรา 112 ไม่ดีกับสถาบันกษัติรย์ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะมีรับสั่งไม่ให้ใช้ แต่ประยุทธ์ก็ได้มีการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตรย์ห่างเหินกัน และประชาชนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อมาตรา 112
สิ่งที่ระบุในแถลงการณ์นายกฯ ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากก่อนออกแถลงการณ์มีการสลายการชุมนุม และประชาชนไม่พอใจที่สภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน จึงชุมนุมต่อเนื่องที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุให้นายกฯ ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ข้อความทั้งสามโพสต์เป็นการพูดถึงระบอบกษัตริย์เป็นภาพรวม ไม่ได้เจาะจงบุคคลใด
.
บก.ฟ้าเดียวกันระบุ โพสต์ของ “อานนท์” ชี้ถึงความผิดปกติของการออกกฎหมาย เป็นการรักษาหลักการประชาธิปไตย และทำหน้าที่ของประชาชน
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานเคยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ และสถาบันกษัตริย์ มากว่า 20 ปี
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ประมาณ 50 เล่ม ตัวอย่างเช่น หนังสือ “พระพรหมช่วยอำนวยให้ชุ่มฉ่ำ” เป็นเรื่องจัดการพระราชทรัพย์ของกษัตริย์ ตีพิมพ์ ปี 2557 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่ 2 โดยกล่าวถึงตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กษัตริย์ไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามพระราชประสงค์ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันกษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์กล่าวว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย รัชกาลที่ 7 เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้องในคดี “ยึดพระราชทรัพย์” ให้โอนทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่โอนไปโดยมิชอบกลับคืนมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ต่อมา ในปี 2560 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นการยกเลิกอำนาจบริหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลเอง เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 จึงเป็นเหตุให้อานนท์โพสต์เรื่องดังกล่าว
ในส่วนข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อีกทั้งยังถูกต้องตามตรรกะแล้ว เพราะมันเป็นความผิดปกติและขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีออกกฎหมายให้โอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของรัชกาลที่ 10 โดยตรง หากวิญญูชนพบเห็นก็ต้องแสดงออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำ
สำหรับโพสต์ที่ 2 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่มีลักษณะกล่าวด้วยความปรารถนาดี
ส่วนโพสต์ที่ 3 พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เป็นลักษณะของการเปรียบเปรยและยกตัวอย่าง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำรงอยู่ได้
ธนาพลเบิกความว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมายทั้งกว้างและแคบ ไม่ได้มีคำเฉพาะเจาะจง และในพจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานก็ไม่ได้ระบุความหมายไว้
ส่วนคำว่า “ระบอบกษัตริย์” มีความหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น องคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ
ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน
เมื่อปี 2549 พยานเคยถูกแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าผิด และนี่เป็นปัญหามาตรา 112 ที่ใครก็สามารถถูกดำเนินคดีได้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกค้นเกี่ยวกับหนังสือสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่เป็นคำปราศรัยของจำเลย อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว
.
นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ชี้ สามโพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง – การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล
อิสระ ชูศรี อาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาภาษาศาสตร์ และเป็นอาจารย์สาขาวิชาภาษาศาสตร์มาเป็นเวลาประมาณ 13 ปี
พยานเห็นว่า โพสต์ที่ 1 มีลักษณะตั้งคำถาม ในตอนท้ายมีลักษณะเป็นประโยคบอกเล่าที่เป็นคำตอบของคำถามข้างต้น และเมื่ออ่านข้อความโดยรวม ไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงบุคคลใด สังเกตได้จากคำว่า ระบอบ มีลักษณะเป็นคำถามเกี่ยวกับระบอบการปกครอง
ข้อความในโพสต์ที่ 2 มีลักษณะเป็นการยกตัวอย่าง ซึ่งเป็นประโยคเงื่อนไข และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโทษของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยเห็นว่าไม่ควรมีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี ในตอนท้ายมีลักษณะแสดงความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้โดยไม่มีโทษ เมื่ออ่านโดยรวมมีลักษณะเป็นการเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์พิจารณ์ และยกตัวอย่าง โดยไม่ได้เจาะจงถึงตัวบุคคล
สำหรับโพสต์ที่ 3 มีทั้งประโยคบอกเล่าที่กล่าวถึงความขัดแย้งทางความคิดและยกตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อความที่กล่าวถึงฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปด้วยกัน
ข้อความทั้งสามโพสต์โดยรวมเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองในปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้โพสต์เจาะจงตัวบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคลเช่นกัน
ตอบอัยการถามค้าน
อิสระเบิกความตอบอัยการว่า พยานเห็นว่า ข้อความในโพสต์ที่ 2 “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” ไม่ได้มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคล ในการตีความทางภาษา ตามหลักวิชาการจะใช้กับข้อความที่กำกวม ซึ่งสามารถตีความได้หลายแบบ แต่เมื่อตีความแล้วก็ต้องเลือกความหมายใดความหมายหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับข้อความ ไม่ใช่เลือกตีความตามความคิดเห็นส่วนตัว
ที่มา (https://tlhr2014.com/archives/63182)
(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=786244070012732&set=a.656922399611567&type=3&ref=embed_post)