วันอังคาร, มกราคม 09, 2567

เสียงเตือนจากปีเก่า ไฮไลต์จากการสัมภาษณ์นักคิด-นักวิชาการ-ปัญญาชนหลายท่าน จากมติชนทีวี ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มาตัดรวมกัน ณ ช่วงส่งท้ายปีเก่า



เสียงเตือนจากปีเก่า

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 มกราคม 2567
คอลัมน์ ของดีมีอยู่
วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ.2567

เพิ่งได้ดูคลิปวิดีโอที่ช่องยูทูบมติชนทีวีนำไฮไลต์จากการสัมภาษณ์นักคิด-นักวิชาการ-ปัญญาชนหลายท่าน ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มาตัดรวมกัน ณ ช่วงส่งท้ายปีเก่า

ฟังๆ แล้ว ก็พบว่าแง่คิดมุมมองที่ปรากฏผ่านคลิปดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ในปัจจุบัน และเป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับอนาคต

ดังตัวอย่างความเห็นของปัญญาชนทั้งสามท่านต่อไปนี้


“ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นว่าเราช้าเกินไปแยะทีเดียว คนจำนวนมากที่เลือกพรรคก้าวไกลในเวลานี้ ที่ผมวิตก คือเขาอาจจะนึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่แรงกว่าที่พรรคก้าวไกลคิดด้วยซ้ำไป เราปล่อยให้ประเทศมันถูกแช่แข็ง โดยกลุ่มทหารยึดอำนาจเอาไว้ 8-9 ปี เสียจนกระทั่งคนมันถูก radicalized ถูกทำให้คิดถึงการถอนรากถอนโคนมากขึ้น”

นิธิ เอียวศรีวงศ์



“สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เรื่องใหญ่ๆ ก็เช่นการกลายเป็นเมืองมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นข้อเท็จจริงทางสังคมวิทยา-ประชากรศาสตร์แล้วว่าคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในเมือง มันไม่ใช่ชุมชนชนบทแบบเก่าที่จะใช้การเมืองอุปถัมภ์แบบเก่า

“มีการเปลี่ยนในแง่รุ่นคน ก็คือกลุ่มคนที่โตขึ้นมาในช่วง 9 ปีของคุณประยุทธ์ มันมีการเปลี่ยนรุ่นคนในหมู่ประชากรกลุ่มก้อนใหญ่พอสมควร

“แล้วก็มีสิ่งที่ผมคิดว่า อาจจะเรียกว่า media saturation ก็คือสังคมที่ท่วมท้นล้นไปด้วยสื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคม-โซเชียลมีเดียกับคนหนุ่มสาว คือเป็นชีวิตของสังคมและชีวิตทางการเมืองที่ดำเนินไปโดยอิทธิพลและกลมกลืนไปกับสื่อเยอะพอสมควร

“ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้น? ในแง่วัฒนธรรมการเมือง ผมคิดว่าอำนาจนำเก่า ก็คืออำนาจที่ทำให้คนเชื่อและทำตามได้โดยไม่ต้องบังคับ มันเสื่อมถอยลง เกิดโครงสร้างความรู้สึกใหม่ กล่าวคือ อำนาจนำเก่าไม่ได้อธิบายโลกอย่างที่คุณเห็น คุณเกิดความรู้สึกแบบใหม่ที่ไม่ตรงกับที่อำนาจนำเก่าบอก (และ) อยากจะให้ (คุณ) รู้สึก แทนที่จะซาบซึ้งกลับสงสัย แทนที่จะตื้นตันกลับหมั่นไส้ เป็นต้น…

“ในที่สุด ก็นำมาสู่ผลลงเอยของมัน ก็คือเกิดอำนาจนำทวนกระแส มันไม่ได้มีอำนาจนำเดียวในสังคม มีอีกอำนาจหนึ่ง ที่เขาไม่ต้องเที่ยวไปบังคับใคร คนก็อยากจะเดินตามเขาอย่างสมัครใจ เพราะเชื่อในแนวทางของเขา

“ก็คือสังคมมันขยับเปลี่ยน วัฒนธรรมขยับเปลี่ยน แต่ว่าการเมืองเป็นอย่างไร? คือโครงสร้างของสังคมการเมืองเรา ระบบการเมืองเรา ยังเป็นโครงสร้างต่อต้านเสียงข้างมาก

“คือถ้าคุณได้คะแนนเสียงข้างมากมาในสังคม ในหมู่ผู้แทนฯ มันมีอุปสรรคเยอะแยะไปหมดในการที่จะทำตามมติเสียงข้างมาก

“ขณะเดียวกัน ในโครงสร้างอันนี้ ชัยชนะของก้าวไกลคือกระแสปฏิรูปจากเบื้องล่าง มันปะทะกันแน่ (ระหว่าง) โครงสร้างแบบเก่าที่ต่อต้านเสียงข้างมากของการเมือง กับกระแสปฏิรูปจากเบื้องล่างที่กระเพื่อมขึ้นมายังสังคม แล้วก็มาปรากฏตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้”

เกษียร เตชะพีระ



“นี่คือต้นทุนของความเหลื่อมล้ำ-ความไม่เป็นธรรม ที่สะสมในสังคมไทยมาเป็นรอบร้อยปี เมื่อมันสะสมมาเป็นรอบร้อยปี มันไม่มีการเปลี่ยนผ่านโดยราบรื่น ทุกสังคมในโลกนี้มันเจ็บปวด การเกิดมันเจ็บปวดทั้งนั้น กว่าแม่จะคลอดลูกออกมาได้มันเจ็บปวด

“ประเด็นคือว่าสังคมโดยรวมจะมีวุฒิภาวะ มีสติแค่ไหน ที่จะทำให้ความเจ็บปวดนี้ มันน้อยที่สุด จ่ายต้นทุนต่ำที่สุด

“เราไม่สามารถจะรู้ได้หรอกว่าชนชั้นนำคราวนี้ ซึ่งในทรรศนะผม เผชิญกับความท้าทายที่อาจจะยิ่งใหญ่ที่สุด มากกว่า 14 ตุลาด้วยซ้ำไป ตอนนี้บอลอยู่ในขาเขาแล้ว เขาจะเตะซ้ายหรือเตะขวา

“เขารัฐประหารใหม่เขาก็ทำได้ มันจะเป็นเทียนอันเหมินก็ได้ มันจะเป็นแบบพม่าก็ได้ หรืออาจจะกลายเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแบบเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านสำเร็จในทศวรรษ 1980 มันเกิดได้หมด

“ถึงบอกว่ามันเป็นจุดพลิกผัน จุดเปลี่ยน มันเป็นจุดที่อึดอัด ณ ปัจจุบัน แต่เราต้องตระหนักรู้ มันเป็นราคาที่สังคมเราต้องจ่าย”

อภิชาต สถิตนิรามัย 

ที่มา
(https://www.matichonweekly.com/kongdee/article_737801)