วันอังคาร, มกราคม 23, 2567

122 ส.ส.#เพื่อไทย ยึดแนวทางถูกต้อง กล้าสวนรบ. ชงร่างแก้ไขรธน.


Matichon Online
 @MatichonOnline

ยิ่งชีพ #ไอลอว์ ขอบคุณ 122 ส.ส.#เพื่อไทย ยึดแนวทางถูกต้อง กล้าสวนรบ. ชงร่างแก้ไขรธน. 
22 มกราคม - ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้โพสต์ผ่าน X แสดงความคิดเห็นกรณีที่ พรรคเพื่อไทย นำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค แถลงนำ 122 ส.ส.เพื่อไทย ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. … ต่อให้รัฐสภาแก้ไขมาตรา 256 พร้อมทำประชามติ 2 จาก 3 ครั้ง เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลานั้น 

โดยระบุว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย 122 คน ช่วยกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. โดยข้ามขั้นตอนประชามติครั้งแรกไปเลย ขอบคุณที่กล้าสวนแนวทางของรัฐบาลที่อาจจะพาเราไปหาทางตัน 

ขอบคุณที่กล้าบอกรัฐบาลว่า ถ้าทำประชามติด้วยคำถามที่เป็นปัญหา ไม่ต้องทำจะดีกว่า 

มีอีกหลายทางที่จะเดินไปได้ มาเดินกัน 

แม้ส.ส.ของเพื่อไทยจะยึดแนวทางเดิม คือ ล็อกหมวด 1-2 แต่ก็เสนอให้ไปล็อกในขั้นตอนการแก้ไขม.256 ให้ตัดสินใจโดยสภา ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามระบบที่มีอยู่ ไม่ใช่มาล็อกในการตั้งคำถามประชามติ ที่จะทำให้คนไปออกเสียงไม่มีทางเลือก 

หลังจากพยายามคัดค้านคำถามประชามติมาหลายเดือน และพยายามบอกว่า ถ้าจะทำประชามติด้วยคำถามที่มีสองประเด็น ก็ไม่ต้องทำก็ได้ ก็โดนผู้สนับสนุนรัฐบาลจำนวนไม่น้อยมองผมในแง่ร้าย 

วันนี้ ส.ส.ของพรรคเอง ก็เสนอแนวทางไม่ต่างจากที่ผมพูดวนไปวนมาหลายครั้งหลายหนแล้ว อย่าให้มันแย่กว่านี้เลยครับ" 
.....


เพื่อไทยยื่นขอแก้ไขม.256ลดจำนวนครั้งทำประชามติประหยัดงบฯ

22 มกราคม 2567
Post Today

'ชูศักดิ์ ศิรินิล'นำ122สส.เพื่อไทยเข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภา ขอแก้ไขรธน.มาตรา 256 เปิดช่องลดจำนวนครั้งทำประชาชมติ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงหลังนำสส.พรรคเข้าชื่อ122คน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทาในฐานะประธานรัฐสภาว่า เนื่องจาก คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกำลังจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่้งมีการเสนอให้ จัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งสอบถามประชาชนก่อนที่จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภาว่า สมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่ 2 สอบถามเมื่อมีร่างแก้ไขมาตรา 256 เสนอต่อรัฐสภา และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และครั้งที่ 3 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแล้ว

แต่คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย เห็นว่า สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าให้ถามประชาชนก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องถามในขั้นตอนใดซึ่งอาจตีความได้ว่า สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญและเพิ่มเติมหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการ สสร.ไปก่อนได้และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ3แล้ว จึงไปทำประชามติ สอบถามประชาชนได้ว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พร้อมกับเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 หรือไม่ ซึ่งหากสามารถทำได้ ก็จะสามารถลดทอนขั้นตอนและงบประมาณในการจัดการออกเสียงประชามติได้ เหลือเพียง 2 ครั้ง และลดภาระงบประมาณได้ 3,000 – 4,000 ล้านบาท

นายชูศักดิ์ ยังมั่นใจด้วยว่า กระบวนการดังกล่าว หลัง สส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาแล้ว จะเกิดปัญหาการตีความทางกฎหมายขึ้น เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมาเคยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า จะต้องสอบถามประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติก่อน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรนูญครั้งนี้ไปอีกครั้ง ก็จะทำให้มีช่องการตีความข้อขัดแย้งในทางปฏิบัติเกิดขึ้น ซึ่งหากยึดแนวทางที่ผ่านมา และประธานรัฐสภา ไม่บรรจุญัตติดังกล่าวตามข้อเสนอของสำนักกฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่าไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนเสียก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564

ขณะที่สส.เพื่อไทย เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา กรณีดังกล่าวก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา สส.พรรคเพื่อไทย ก็จะมีสิทธิที่จะเสนอประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยขอให้ประธานรัฐสภา ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตีความว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง

นายชูศักดิ์ ยังย้ำด้วยว่า พรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจ และเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเข้าใจถึงความสลับซับซ้อน และความเห็นที่แตกต่างในข้อกฎหมาย ดังนั้น เจตนาที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อหาข้อยุติว่า ควรทำประชามติกี่ครั้ง โดยมิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยในเรื่องนี้ ก็จะถือว่า ปัญหาการทำประชามติก็จะจบลง และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ขณะนี้ ยังมีปัญหาเสียงข้างมากซ้อน 2 ชั้น หรือ Double Majority นายชูศักดิ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะทำงานของพรรคฯ ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่า จะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งพรรคฯ ได้ยกร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะมีการแก้ไขใน 3 ประเด็น ได้แก่ การใช้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิปกติ โดยผลการออกเสียงประชามติ จะต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน พร้อมอนุญาตให้สามารถจัดการออกเสียงประชามติ พร้อมกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และเลือกตั้งท้องถิ่นได้ รวมถึงสามารถใช้รูปแบบการลงคะแนนผ่านอิเลคทรอนิกส์ หรือ ลงคะแนนทางไปรษณีย์ได้

(https://www.posttoday.com/politics/704742)
.....