The People
21h·
นูจูด อาลี: เด็กสาวที่ถูกสามีข่มขืน และฟ้องหย่าตอนอายุ 10 ขวบ
.
“ฉันหนีออกจากบ้าน ไปที่ศาล และขอหย่ากับชายที่ข่มขืนฉัน”
.
“อายุเท่าไหร่ถึงควรแต่งงาน ?” บางคนอาจรู้สึกว่าอายุ 25 ก็แต่งได้แล้ว หลายคนมองว่าสัก 30 ต้น ๆ อีกคนบอก 30 ปลาย ๆ ก็ยังไม่สาย แต่ในโลกแห่งความจริงมีเด็กหญิงอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเลือกคำตอบนี้ให้ตัวเองได้ เหมือนกับเด็กสาวชาวเยเมนคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้แต่งงานด้วยวัยเพียงแค่ 9 ขวบเท่านั้น
.
ช่วงเที่ยงในวันเปิดเทอม เด็ก ๆ ทุกคนออกจากห้องเรียนมุ่งตรงมายังโรงอาหาร พวกเขารู้สึกหิว ซื้อข้าวมานั่งกินร่วมกับเพื่อน ๆ พูดคุยถึงสิ่งที่เพิ่งเรียน เล่าถึงคนที่แอบชอบ แลกเปลี่ยนแฟชั่นที่สนใจ ยิ้มหัวเราะกันอย่างมีความสุข แต่ นูจูด อาลี (Nujood Ali) ไม่มีโอกาสทำทุกอย่างที่กล่าวมา แทนที่จะได้นั่งอยู่ตรงโต๊ะสักตัวในโรงอาหารแต่เธอกลับต้องใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ทำกับข้าว ดูแลสามี
.
นูจูด อาลี เป็นเด็กผู้หญิงที่เกิดในปี 1998 เติบโตมาในครอบครัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าชีวิตของอาลีต้องเจอกับเรื่องสาหัสตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 9 ขวบ พ่อบังคับให้เธอแต่งงานกับ ฟายา อาลี ทาห์มะ (Faez Ali Thamer) พนักงานไปรษณีย์วัยสามสิบที่ต้องการซื้อตัวเจ้าสาวในราคา 750 ดอลลาร์ (ประมาณ 24,000 บาท) เขามอบแหวนแต่งงานราคา 20 ดอลลาร์ให้อาลี และยืนยันกับพ่อแม่ฝั่งว่าที่เจ้าสาวว่าจะไม่แตะต้องเธอจนกว่าบรรลุนิติภาวะ
.
แต่สิ่งที่น่าหดหู่ได้เกิดขึ้นเมื่อเธอถูกข่มขืนตั้งแต่คืนแรกของการแต่งงาน ที่ตลกร้ายกว่านั้น สามีของอาลีขอแหวนแต่งงานที่เคยให้ไว้คืน เพื่อเอาไปจำนำแล้วซื้อเสื้อผ้าให้ตัวเอง
.
ไม่รู้ว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทนมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาลีได้อย่างไร เธอถูกข่มขืนและโดนทุบตีทุกครั้งเมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจสามี ภรรยาคนที่สองของพ่อรู้สึกรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเข้ามาพูดคุย ถามว่าเป็นอย่างไร มีอะไรพอจะให้ช่วยได้บ้าง คุยไปคุยมาภรรยาคนดังกล่าวของพ่อตัดสินใจบอกให้อาลีหนีไปให้ไกลจากที่นี่ แต่ถ้าไม่รู้จะหนีไปไหนก็ให้ไปที่ศาลแล้วฟ้องหย่าเสีย
.
วันที่ 2 เมษายน 2008 คือการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเด็กที่เพิ่งจะอายุได้ 10 ปี อาลีหนีออกจากบ้านหลังแต่งงานได้ 2 เดือน เอาเงินที่ภรรยาของพ่อแอบให้ไว้มาเป็นค่ารถประจำทางและค่าแท็กซี่ เดินทางไปยังศาลเพื่อฟ้องหย่า ทว่าเมื่อมาถึงเธอกลับไม่รู้ว่าต้องเริ่มตรงไหนจึงนั่งอยู่หน้าศาล จนกระทั่งผู้พิพากษาที่มาทำงานสังเกตเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ นั่งอยู่คนเดียวจึงเข้าไปถามไถ่ว่าหลงทางหรือมาหาใคร แต่คำตอบที่ได้กลับเกินคาดเมื่ออาลีบอกว่า “ฉันต้องการหย่า” ภาพตรงหน้าสร้างความตกตะลึงปนสะเทือนใจให้ผู้พบเห็นไม่น้อย
.
กฎหมายของเยเมนระบุไว้ชัดเจนว่า เด็กสาวชาวเยเมนจะแต่งงานได้เมื่อมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ชาวบ้านหลายคนมักจับลูกหลานของตัวเองแต่งงานตั้งแต่ยังเล็กโดยไม่รอให้ถึง 15 ปี โดยอ้างว่าแต่งกันไปก่อนแต่บ่าวสาวจะยังไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนถึงครบกำหนดอายุ แต่อาลีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำต้องถูกจับแต่งงาน ซ้ำเจ้าสาวคนนี้ยังเดินมายื่นคำร้องฟ้องหย่าด้วยตัวคนเดียวอีก ผู้พิพากษาจึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุมตัว อาลี มูฮัมหมัด อาดัล (Ali Mohamed Ahdal) ผู้เป็นพ่อ รวมถึงสามีมาไต่สวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น
.
เรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่ฟ้องหย่าสามีถูกพูดถึงในหมู่นักกฎหมาย จนไปถึงหูของ ซาดา นัสเซอร์ (Shada Nasser) ทนายความผู้มีชื่อเสียงเรื่องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เธอเป็นทนายความหญิงคนแรกในสำนักงานกฎหมายของเยเมน แถมยังเป็นเฟมินิสต์ตัวแม่ และเคยสร้างชื่อด้วยการปกป้องหญิงสาววัย 16 ปี ไม่ให้โดนโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาฆาตกรรมสามีตัวเอง ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันชัดเจนว่าภรรยาเป็นคนทำแต่ศาลกลับพิพากษาความตายให้เธอ
.
เมื่อนัสเซอร์ได้ยินเรื่องราวของอาลี เธอจึงเดินทางมาพูดคุยกับเด็กสาวจนทราบถึงเรื่องราวร้ายที่สุดในชีวิตที่เด็กตัวเล็ก ๆ เจอมา จึงตัดสินใจว่าความโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและให้พักอยู่กับเธอไปก่อน หลังจากนั้นนัสเซอร์โทรศัพท์หาสื่อเจ้าดัง Yeman Times ที่ทำข่าวภาษาอังกฤษในเยเมน เล่าเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่เดินทางมายังศาลเพื่อขอฟ้องหย่าจากสามีที่ข่มขืนและทำร้ายร่างกาย ในเวลาไม่นานเรื่องของอาลีถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
.
ทนายนัสเซอร์กล่าวต่อหน้าศาลว่าอาลีถูกข่มขืน โดนบุพการีขายลูกสาวให้กับใครก็ตามที่ต้องการซื้อแลกกับเงินเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ นอกจากนี้เธอยังรู้ว่าพี่สาวของอาลีถูกข่มขืนและโดนลักพาตัว โดยที่ผู้เป็นพ่อไม่ยี่หระกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเขาแทบไม่มีเงินแต่มีลูกมากถึง 16 คน ส่วนแม่ก็ไม่มีสิทธิค้านอะไรเพราะคนที่ตัดสินใจทุกอย่างต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แต่ถ้าศาลต้องการคุยแค่กรณีของอาลี ผลที่ออกมาก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะทั้งหมดเกิดจากความไม่ยินยอม และเด็กวัย 9 ขวบ ยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้
.
“ในประเทศของเราผู้ชายจะออกคำสั่ง และผู้หญิงต้องทำตามคำสั่งนั้น” – นูจูด อาลี
.
ด้านบุพการีกล่าวว่าที่พวกเขาต้องขายลูกเพราะจะได้ไม่ต้องโดนลักตัวไปเหมือนกับพี่สาว เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ในชุมชนถูกใจเด็กสาวคนไหนจะไปสู่ขอ แต่ถ้าปฏิเสธเขาจะมาลักตัวไปทีหลัง ทั้งหมดทำไปเพราะต้องการปกป้องอาลี ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังก็รู้สึกว่าเหตุผลมันช่างเบาบางเสียเหลือเกินที่ทำให้พ่อแม่ยอมขายลูกตัวเอง ยอมดูลูกถูกทุบตี และถูกข่มขืน
.
ผู้พิพากษาพยายามไกล่เกลี่ยด้วยการถามว่าอาลีต้องการกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับสามีอีกครั้งหรือไม่ เด็กสาวยืนยันหนักแน่นว่าไม่ สิ่งเดียวที่ต้องการคือการหย่า
.
เธอเล่าให้ผู้พิพากษาและลูกขุนฟังว่า “ในคืนแรกของการแต่งงาน เขาพยายามขอมีเซ็กซ์ด้วย ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจวิ่งหนีออกจากห้องไปหาพ่อแม่ แต่พวกเขาช่วยอะไรไม่ได้เลย ในคืนต่อ ๆ มา ฉันขอร้องไม่ให้เขานอนข้าง ๆ แต่เขาปฏิเสธแล้วบอกว่าพ่อยกฉันให้เขาแล้ว เขาจะทำอะไรก็ได้ แล้วทำไมคุณถึงต้องการให้ฉันกลับไปอยู่กับผู้ชายคนนี้อีก”
.
การฟ้องหย่าของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนชาวเยเมนจำนวนมาก พวกเขาติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทุกคนต่างรับรู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครกล้าออกมาพูดตรง ๆ เท่าไหร่นัก
.
“ฉันเกลียดผู้ชายคนนี้ ฉันเกลียดการแต่งงานครั้งนี้ ฉันแค่อยากชีวิตที่เลือกเองและได้ไปโรงเรียนก็เท่านั้น”
.
วันที่ 15 เมษายน 2008 ศาลตัดสินให้ นูจูด อาลี หย่าขาดจากสามีได้ ถือเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์เยเมนที่เด็กสาวยังไม่บรรลุนิติภาวะฟ้องหย่าแล้วได้หย่า ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ในเวลาต่อมามีเด็กผู้หญิงหลายคนยื่นเรื่องฟ้องหย่าแบบเดียวกับที่อาลีทำ
.
ส่วนพ่อกับอดีตสามีถูกจำคุกในเวลาสั้น ๆ ฐานสมรู้ร่วมคิดโกหกปกปิดศาลเรื่องอายุเยาวชน (หากเป็นประเทศอื่นคงโดนโทษหนักกว่านี้มาก) ทางด้านอาลีที่ถูกสื่อรุมสัมภาษณ์ก็ยืนยันเหมือนทุกครั้งที่ถูกถามว่าการหย่าคือความต้องการแท้จริง ตอนนี้เธอยังไม่สามารถทำหน้าที่แม่ที่ดีได้เพราะอายุแค่ 10 ขวบ
.
หลังการฟ้องร้องจบลงด้วยการหย่า อาลีต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเพราะเป็นเยาวชน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเธอได้กลับไปเรียนอีกครั้ง ได้วางแผนชีวิตตัวเองพร้อมตั้งเป้าว่าโตขึ้นจะเป็นทนายความ ทนายนัสเซอร์เคยถามอาลีว่าหลังคดีนี้จบลงเธอต้องการพบจิตแพทย์หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไปเพราะประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้แข็งแกร่งและฉลาดขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ แถมตอนนี้ยังรู้สึกสบายดีและตื่นเต้นที่จะได้มีชีวิตใหม่
.
เมื่ออาลีถูกถามว่าอะไรที่ทำให้ยิ้มได้ เธอนึกตามอยู่ชั่วครู่ ยิ้มอย่างเขินอายพร้อมตอบว่า “ทอม แอนด์ เจอร์รี่ และการหย่าร้างของฉัน”
.
เรื่องของนูจูด อาลี กลายเป็นข่าวดังทั่วโลก นักเขียนและนักข่าวชื่อดัง เดลฟีน มีนุย (Delphine Minoui) เดินทางจากฝรั่งเศสไปยังเยเมนเพื่อสัมภาษณ์และพูดคุยกับอาลี เพื่อนำเรื่องราวชีวิตไปเขียนหนังสือชื่อว่า ‘ฉันชื่อนูจูด อายุ 10 ขวบ และผ่านการหย่าร้างมาแล้ว’ (I Am Nujood, Age 10 and Divorced) ผลงานดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในปี 2009 แปลไปกว่า 16 ภาษา และจำหน่ายมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก
.
รายได้จากการขายส่วนหนึ่งนำมาช่วยเหลือค่าเล่าเรียนของอาลี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยเมนมองว่าเนื้อหาในหนังสือสร้างภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ให้กับประเทศ จึงสั่งแบนหนังสือพร้อมกับยึดหนังสือเดินทางของอาลี ทำให้เธอไม่สามารถไปร่วมงาน Woman’s World Award ที่จัดขึ้นในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลของงานนี้
.
มีคนตั้งข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับรายได้ของหนังสือว่าถูกส่งไปถึงอาลีจริงหรือไม่ ทางสำนักพิมพ์ออกมากล่าวว่าตอนนี้อาลีกับครอบครัวย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่แล้ว เป็นอาคารสองชั้น ด้านล่างเปิดร้านขายของชำ ตอนนี้เธอกับน้องสาว ไฮฟา อาลี (Haifa Ali) กำลังย้ายไปเรียนในโรงเรียนเอกชน แต่เนื่องจากทางสำนักพิมพ์ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับอาลีโดยตรง เพราะขัดกับกฎหมายของประเทศเยเมน พวกเขาจึงต้องส่งเงินให้ผู้เป็นพ่อเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 31,000 บาท) ไปจนกว่าอายุครบ 18 ปี ถึงจะเป็นผู้รับเงินโดยตรงได้อย่างถูกกฎหมาย
.
แม้การฟ้องร้องสามีตัวเองผ่านมานานแล้ว แต่ความขุ่นเคืองใจยังคงตกตะกอนอยู่ในครอบครัว ในปี 2013 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าอาลีถูกพ่อบังคับให้ออกจากบ้าน และระงับเงินที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้ ซ้ำยังจับน้องสาวแต่งงานกับผู้ชายวัยกลางคนอีกครั้งเหมือนกับหนังฉายซ้ำวนไปไม่รู้จบ และก่อนระงับเงินจากสำนักพิมพ์ เขาเอารายได้รายเดือนนี้ไปใช้จ่ายอย่างเริงร่ากับภรรยาใหม่สองคน บางเดือนเขาแบ่งเงินให้อาลีแค่ 50 ดอลลาร์ (ราว 1,500 บาท) ส่วนเงินชดเชยที่อดีตสามีต้องจ่าย เขาจ่ายแค่เพียงเดือนละ 30 ดอลลาร์เท่านั้น แถมตอนหลังก็จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง
.
“ตอนแรกฉันก็ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินมาจากไหน แต่สุดท้ายนึกขึ้นได้ว่า ฉันทำให้เขามีเงินซื้อภรรยาใหม่ถึงสองคน” - นูจูด อาลี พูดถึงพ่อของเธอ
.
เมื่อสื่อถามถึงสามีเก่า เธอเล่าว่าตอนนี้เขาแต่งงานใหม่กับผู้หญิงอีก 4 คน และมีลูกทั้งหมด 14 คน ประสบการณ์การถูกจับขึ้นศาลหรือความเจ็บปวดของเธอไม่ได้ทำให้ชายคนนี้เรียนรู้อะไรเลย เมื่อการกระทำของพ่อกับอดีตสามีถูกตีข่าว ผู้คนต่างโกรธแค้นและต้องการคำอธิบาย สำนักข่าว The Guardian ต้องการพูดคุยกับพ่อของอาลี แต่เขาปฏิเสธที่จะคุยกับสื่อแต่กล่าวสั้น ๆ ว่า ตนกำลังพยายามแก้ไขปัญหามากมายนี้
.
ทางด้านทนายซาดา นัสเซอร์ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากที่อยู่เคียงข้างกับอาลีมานาน เมื่อรัฐบาลยอมคืนหนังสือเดินทางให้อาลี นัสเซอร์ร่วมเดินทางไปยังนิวยอร์กกับเด็กสาวเพื่อโปรโมตหนังสือ เธอเล่าว่าอาลีมีความสุขมากตอนไปนิวยอร์ก “แต่ฉันว่านายอาดัล (พ่อของอาลี) คงคิดว่าฉันพาเธอออกไป และต้องกลับมาพร้อมกับเงินที่อัดแน่นอยู่เต็มกระเป๋าเดินทาง เขาคิดได้แค่นี้จริง ๆ”
.
ในปี 2008 นิตยสาร Glamour อเมริกา ยกย่องอาลีและทนายคู่ใจเป็นผู้หญิงแห่งปี อาลีพบนักการเมืองหญิงชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) กับ คอนโดลีซซา ไรช์ (Condoleezza Rice) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเวลานั้น พวกเธอพูดคุยกันถึงเรื่องประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ทั้งสองยังพบกับเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาของสตรี เพราะเรื่องราวของหญิงสาวจากเยเมนสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทั่วโลกได้ไม่น้อย
.
อาลีเคยถูกญาติพี่น้องรังเกียจเพราะการฟ้องหย่าทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ในตอนนี้กลายเป็นว่าเธอคือคนที่เลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวทุกคน ตอนนี้อาลีวัย 22 ปี มีชีวิตเป็นของตัวเอง เป็นผู้มีสิทธิในเงินค่าขายหนังสือโดยไม่ต้องผ่านพ่อที่ผลาญเงินไปจำนวนมาก ได้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ตามที่หวังไว้ และเชื่อได้เลยว่าหากเธอสามารถเป็นทนายความได้จริง ๆ อาลีจะสามารถช่วยเด็กสาวจำนวนมากที่มีชะตากรรมแบบเดียวกับตัวเองไว้ได้แน่นอน
.
“เมื่อเทียบความฝันกับความจริง ความจริงโหดร้ายกว่ามาก แต่หากเปลี่ยนมุมมอง มันก็เป็นความโหดร้ายที่งดงามแบบประหลาดดี”
.
ที่มา
.
https://www.nytimes.com/2010/03/04/opinion/04kristof.html
https://www.theguardian.com/.../child-bride-father-cash...
https://www.womeninislamjournal.com/.../the-heroine-of...
https://www.newyorker.com/.../a-ten-year-olds-divorce-lawyer
https://gulfnews.com/.../nujood-ali-the-child-bride-1.40525
.
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
.
อ่าน “นูจูด อาลี: เด็กสาวที่ถูกสามีข่มขืน และฟ้องหย่าตอนอายุ 10 ขวบ” เวอร์ชันเว็บไซต์ https://thepeople.co/nujood-ali/
.
#ThePeople #Social #นูจูดอาลี #วัฒนธรรมข่มขืน #สิทธิสตรี #เยาวชน #เฟมินิสต์ #ความเท่าเทียม #ฟ้องหย่า #ล่วงละเมิดทางเพศ #เด็ก #เยเมน