วันอาทิตย์, ธันวาคม 24, 2566

ก้าวไกลยัน รัฐธรรมนูญใหม่ควรถูกร่างโดย สสร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด พริษฐ์แนะสูตรเลือกตั้ง สสร. ให้มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ



ก้าวไกลยัน รัฐธรรมนูญใหม่ควรถูกร่างโดย สสร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด พริษฐ์แนะสูตรเลือกตั้ง สสร. ให้มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ

23.12.2023
The Standard

วันนี้ (23 ธันวาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี นิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ของรัฐบาล ระบุมีข้อเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทั้งหมด 100 คน แบ่งเป็น 77 คนมาจากการเลือกตั้ง (จังหวัดละ 1 คน) และ 23 คนที่คัดเลือกโดยรัฐสภา จากกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ กลุ่มความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้เป็น สสร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

พริษฐ์กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรถูกร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะทำให้กระบวนการมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด รวมถึงเปิดกว้างมากที่สุดต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม

เราเห็นต่างกันได้ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แต่ตนคิดว่าต้องตั้งหลักกันให้ชัดว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดกับการมี สสร. ที่มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และกลุ่มความหลากหลาย เพราะเราสามารถมีทั้งสองอย่างได้ (หากเราต้องการ) ผ่านการออกแบบระบบเลือกตั้ง

ถึงแม้เรายอมเดินหน้าตามสมมติฐานว่าเราต้องรับประกันพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และกลุ่มความหลากหลาย ใน สสร. ทั้งที่ความจริงสมมติฐานนี้ยังมีคนที่มีความเห็นที่แตกต่าง เช่น บางคนมองว่าผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน สสร. แต่ให้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการยกร่าง / บางคนมองว่ากลุ่มดังกล่าวก็ควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านกระบวนการเดียวกับคนทั่วไป เราสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยยังคงหลักการว่า สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

กรอบคิดสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความเป็นไปได้คือ การมองว่า สสร. ไม่จำเป็นต้องมี สสร. ประเภทเดียว แต่อาจประกอบไปด้วย สสร. ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภทที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง (คล้ายกับ สส. ที่ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ สส. แบบแบ่งเขต และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ)

โดยทางเลือกหนึ่งคือการแบ่ง สสร. ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
  • ประเภท ก. = สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่
  • ประเภท ข. = สสร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ (เช่น นักวิชาการด้านกฎหมาย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์การเมืองในระบบ และผู้มีประสบการณ์การเมืองภาคประชาชน)
  • ประเภท ค. = สสร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย (เช่น เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนพิการ)
โดย สสร. ทั้ง 3 ประเภทนั้นมาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด โดยใช้วิธีให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนมีบัตรเลือกตั้งทั้งหมด 3 ใบ ได้แก่
  • บัตรเลือกตั้ง ก. = เลือก สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่ โดยอาจใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
  • บัตรเลือกตั้ง ข. = เลือก สสร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ที่สนใจเป็น สสร. และผ่านคุณสมบัติที่กำหนดสมัครเข้ามา เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์เป็นตัวแทนของเขาในฐานะ สสร. ประเภท ข.
  • บัตรเลือกตั้ง ค. = เลือก สสร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเป็น สสร. ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย สมัครเข้ามาโดยระบุในกระบวนการสมัครและการรณรงค์หาเสียงว่าตนเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายกลุ่มใดหรือในมิติใด (โดยจะกำหนดหมวดหมู่ต่างๆ เป็นการเฉพาะหรือไม่ก็ได้) เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้สมัครคนใดเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ ในฐานะ สสร. ประเภท ค.
ระบบเลือกตั้งแบบนี้เป็นเพียงระบบหรือวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามี สสร. ที่มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และกลุ่มความหลากหลายได้ โดยที่ สสร. ทุกคนยังคงมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายระบบหรือวิธีที่เป็นไปได้เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการภายใต้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน (ซึ่งเคยเชิญนิกรและตัวแทนคณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลมาร่วมประชุมก่อนหน้านี้) ได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ รวมทั้งกำลังเรียบเรียงเป็นรายงานเพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และประชาชน พิจารณาอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคม

พริษฐ์กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าเรามีจุดยืนที่ต่างกันได้ว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งความจริงพรรคก้าวไกลเสนอให้เป็นหนึ่งคำถามรองในการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจโดยตรง แต่โปรดอย่าใช้เหตุผลว่าเราต้องมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และกลุ่มความหลากหลาย ใน สสร. มาเป็นเหตุผลในการบอกว่าเราไม่ควรมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

เพราะหากเราออกแบบระบบเลือกตั้งกันอย่างรอบคอบ เราสามารถมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดที่ยังคงมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และกลุ่มความหลากหลายได้ (หากเราประสงค์ให้มี) โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง