วันอังคาร, ธันวาคม 12, 2566

สถานการณ์ของ ปชป. ที่ อภิสิทธิ์ ให้คำจำกัดความว่า “ยิ่งกว่าวิกฤต” เกี่ยวอะไรกับ 9 ปีภายใต้การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา?



9 ปีนอกสภาของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจำใจลาประชาธิปัตย์ในยุค “ยิ่งกว่าวิกฤต”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค กลางที่ประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ เมื่อ 9 ธ.ค.

“ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดผมมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณีที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์รับใช้บ้านเมืองต่อไป” อภิสิทธิ์ ชายผู้สังกัดพรรคการเมืองเดียวตลอดชีวิตการเมือง 30 ปี กล่าวต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และได้นำข้อความเดียวกันนี้มาโพสต์ซ้ำในเฟซบุ๊กส่วนตัว วันนี้ (11 ธ.ค.)

การจำใจจาก “บ้าน” ที่มอบชีวิตที่ 2 ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 7 ทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมาอย่างต่อเนื่อง

ผ่านมา 2 วัน มีอดีต สส. ทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้วอย่างน้อย 4 คน ประกอบด้วย สาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.ระยอง, สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม., อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. และ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรัง

หากคำอภิปรายกลางสภาของ ชวน หลีกภัย สส.ตรัง เมื่อปี 2518 ทำให้ ด.ช.อภิสิทธิ์ วัย 11 ขวบ ตัดสินใจว่า “ผมจะเป็นนักการเมืองในนามของพรรคประชาธิปัตย์”

17 ปีต่อมา อภิสิทธิ์ลงสมัคร สส.กทม. ในการเลือกตั้ง 2535 และได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนราษฎรสมัยแรกด้วยวัยเพียง 27 ปี ซึ่งถือเป็นนักการเมืองอายุน้อยที่สุดของสภา (ในเวลานั้น) และยังเป็น สส.กทม. เพียงหนึ่งเดียวของ ปชป.


แฟนคลับประชาธิปัตย์โชว์จดหมายหาเสียงของพรรคเมื่อปี 2535 ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงสมัคร สส.กทม. เป็นสมัยแรก ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 7 ในเวลาต่อมา

ในวันสุดท้ายของการเป็นสมาชิกพรรคสีฟ้า ก็เป็นชวนนั่นเองที่เสนอชื่ออภิสิทธิ์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ด้อยกว่าหัวหน้าพรรคคนไหนในประเทศไทยที่มีในขณะนี้ เชื่อว่าจะนำพรรคไปสู่แนวทางประชาธิปไตย ฟื้นสู่แนวทางที่พรรคเติบโตขึ้นมาได้”

ทว่านอกจากอภิสิทธิ์จะถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ผู้นำพรรค ยังลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

สถานการณ์ของ ปชป. ที่ อภิสิทธิ์ ให้คำจำกัดความว่า “ยิ่งกว่าวิกฤต” เกี่ยวอะไรกับ 9 ปีภายใต้การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา?

วันสุดท้าย: “เรามาอยู่ที่จุดนี้ได้อย่างไร”

ในระหว่างกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมพรรค ปชป. เมื่อ 9 ธ.ค. อภิสิทธิ์ตระหนักดีกว่าเขาถูกกล่าวถึง-พาดพิงทั้งในทางลับและทางแจ้งจากการแสดงจุดยืนที่ไม่ตรงกับพรรค เรื่องการร่วมรัฐบาล หรือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“หลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจและสะเทือนใจก็คือ เราที่อยู่ในห้องนี้ตระหนักกันแค่ไหนว่าพรรคอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘ยิ่งกว่าวิกฤต’… หลายท่านที่มีประสบการณ์ก็บอก พรรคเราเคยตกต่ำก็คืนกลับมาได้ การเมืองมีขึ้นมีลง ผมก็บอกว่ามีขึ้นมีลงแน่นอน แต่มีลงไม่ได้แปลว่าจะมีขึ้น ถ้าเราไม่เรียนรู้ ถ้าเราไม่มาสรุปบทเรียนกันอย่างชัดเจน”

“เราคิดกันจริงจังหรือยังว่าเรามาอยู่ที่จุดนี้ได้อย่างไร” เขาโยนคำถามใส่แกนนำและสมาชิกพรรคให้ฉุกคิด

ในทัศนะของอภิสิทธิ์ เหตุที่พรรค 77 ปีมาถึงจุดนี้ เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า ปชป. มีจุดยืนหรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไรในยุคการเมือง 2 ขั้ว

ขั้วหนึ่งถูกเรียกว่าฝ่ายอนุรักษนิยม ปชป. ไม่ใช่คำตอบ แต่คำตอบคือ พล.อ.ประยุทธ์

อีกขั้วที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ปชป. ก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะ “เราร่วมอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์”

“หลายองค์กรไม่ได้ประเมินพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรคในแนวทางประชาธิปไตยแล้ว” เขาเล่าให้เพื่อนร่วมพรรคฟัง


ประชามติ 59: คว่ำ รธน. เพื่อ “ยืนยันในอุดมการณ์พรรค”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บทเด่น” ของพรรค ปชป. ภายใต้การนำของผู้นำพรรคคนที่ 7 (2548-2562) คือการตรวจสอบ-ต่อสู้กับ “พรรคทักษิณ” โดยอภิสิทธิ์รับบทผู้นำฝ่ายค้านในสภา 3 สมัย ตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท .)

เขายืนยันว่า ไม่มีเรื่องความแค้นส่วนตัวกับใคร แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดในสิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องความถูกต้องของบ้านเมือง ในห้วงเวลานั้น ดูเหมือนสมาชิกพรรคสีฟ้าจะมองภาพเดียวกัน-มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

กระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 ที่อำนาจเปลี่ยนขั้ว-ย้ายข้าง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ การแสดงจุดยืนของหัวหน้าพรรค ปชป. ในหลายกรรมหลายวาระดูจะสวนทางกับความต้องการของลูกพรรคบางส่วน

โดยเฉพาะในสนามประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 2559 ที่อภิสิทธิ์ยก 3 เหตุผล ประกาศจุดยืนในนามพรรค “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

อดีตกรรมการบริหารพรรค ปชป. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ เล่าว่า อภิสิทธิ์ใช้เวลา 2 เดือนในการคิดและพูดคุยกับแกนนำพรรค โดยขอรอประเมินท่าทีสุดท้ายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คสช. ก่อนประกาศจุดยืน

“นี่เป็นเกมใหญ่ หัวหน้าจำเป็นต้องบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งในนามส่วนตนและประวัติศาสตร์ของพรรคที่แบกเอาไว้ แน่นอนว่าจุดยืนที่บันทึกต้องยืนเคียงฝ่ายประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเคลียร์กับผู้ใหญ่ ที่สุดแล้วคุณชวน หลีกภัย คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็เอาด้วย ท่าทีพรรคเลยชัดว่าไม่รับร่างฯ”


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 ส.ค. 2559

อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์อ้างว่าไม่ได้คิดถึงเรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ให้เหตุผลว่า “ผมเป็นหัวหน้าขององค์กรซึ่งเป็นสถาบัน มีที่มาที่ไป และมีการประกาศอุดมการณ์ชัด ผมก็ต้องยืนยันในจุดนั้น” ซึ่งในวันแถลงจุดยืนพรรคเมื่อ 27 ก.ค. 2559 อภิสิทธิ์ย้ำว่าเป็นความเห็นชอบตามอุดมการณ์ของพรรคตั้งแต่ปี 2489

สำหรับอุดมการณ์ ปชป. ในวันก่อตั้งพรรค 6 เม.ย. 2489 ข้อ 4 ระบุว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด ๆ”

แม้มีแกนนำ ปชป. อย่างน้อย 7 คน พร้อมใจกันโพสต์เฟซบุ๊กประกาศจุดยืนไม่รับร่างฯ ตามถ้อยแถลงของผู้นำพรรค แต่ลูกพรรคบางส่วนแจ้งหัวหน้าว่าขอโหวตรับร่างฯ โดยอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ กติกาและระบบจะพูดในมาตรฐานปกติไม่ได้ ทว่าเหตุผลแท้จริงที่รับรู้ในหมู่นักเลือกตั้งคือความหวาดวิตกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นประชามติ อาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ไม่ว่าแกนนำในส่วนกลางจะแสดงออกอย่างไร แต่นักการเมืองในพื้นที่ไม่ได้ขับเคลื่อน-สื่อสารต่อตามทิศทางใหญ่ของพรรค จึงไม่แปลกหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. จะผ่านประชามติด้วยคะแนนเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง ทั้ง ๆ ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่คือ พท. และ ปชป. ซึ่งมีฐานปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 27 ล้านเสียง (ข้อมูลจากการเลือกตั้ง 2554) ประกาศไม่รับร่างฯ ก็ตาม

เลือกตั้ง 62: ลาออกหัวหน้าพรรค-หันหลังให้สภา

การลงสนามเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ภายใต้กติกาที่ไม่ได้เลือก ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่อภิสิทธิ์นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายเป็นภารกิจสุดท้ายในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ครองอำนาจยาวนานเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของพรรค รวมเวลาเกือบ 14 ปี

ภายหลังผลการนับคะแนนเลือกตั้ง สส. อย่างไม่เป็นทางการชี้ว่า ปชป. ตกที่นั่ง "พรรคต่ำร้อย" อภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ว่าพร้อมแสดงรับผิดชอบหากทำให้พรรคถดถอย-กลายเป็น "พรรคต่ำร้อย"

นี่ถือเป็นผลงานที่แย่ที่สุดสำหรับหัวหน้าพรรครายนี้ เพราะในการเลือกตั้ง 2550 เขานำผู้แทนฯ เข้าสภาได้ 165 คน แพ้ พปช. ที่ได้ สส. 233 คน และในการเลือกตั้ง 2554 ปชป. มี สส. 159 คน แพ้ พท. ที่ได้ สส. 265 คน แต่กับการเลือกตั้ง 2562 ปชป. ตกที่นั่งพรรคอันดับ 4 ของสภา เหลือ สส. เพียง 53 คนเท่านั้น



ทว่านั่นยังไม่ใช่สถานะเดียวที่อภิสิทธิ์เสียไป เขายังลาออกจากการเป็น สส. เมื่อ 5 มิ.ย. 2562 หลังพรรคต้นสังกัดของเขามีมติสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่ง พล.อ.ประยุทธ์เข้าทำเนียบฯ เป็นสมัยที่ 2

"จะให้ผมเดินเข้าไปแล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีกคือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ" อภิสิทธิ์เปิดแถลงข่าวในเวลา 1 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมายประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ

ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ประกาศ "ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ" จนถูก "อดีตคนเคยรัก" ที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. และผู้จัดการรัฐบาลที่ทำให้อภิสิทธิ์ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้นายกฯ คนที่ 27 ก่อนพลิกมาสวมบท “กองหนุนลุงตู่” ตั้งคำถามว่า "ตกลงอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่ไหม”

อภิสิทธิ์ย้ำ-ยืนยันว่า ยังยึดมั่นในจุดยืนเดิม เขาเห็นว่าการ "สืบทอดอำนาจ" ไม่ใช่เรื่องของวาทกรรม แต่คือความเป็นจริง และเป็นความเป็นจริงที่ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ในวันที่เขายืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ซึ่งมีพฤติกรรมหลายอย่างเหมือนกัน

เขายอมรับว่า "ได้ใช้ความพยายามโน้มน้าวอย่างหนัก" ว่า ปชป. ควรเลือกเส้นทางใด แต่เมื่อพรรคมีมติออกมาแล้ว สมาชิกพรรคก็ควรปฏิบัติเช่นนั้น ไม่มีการไปฝ่าฝืนมติพรรค

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถึงวันนี้เหลือทางเดียวเพื่อจะรักษาเกียรติภูมิ ไม่เฉพาะของตัวเขา แต่เกียรติภูมิในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. พรรคที่มีคำขวัญว่า "‎สจฺจํเว อมตา วาจา" ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน

"คานธีเคยส่งจดหมายให้กับหลานครับ พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจาก สส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" สส. 9 สมัย กล่าวทิ้งท้ายการแถลงข่าว ก่อนเดินออกจากสภา


ส.ส. ปชป. และพรรคอื่น ๆ ร่วมรับฟังคำแถลงลาออกจากการเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 5 มิ.ย. 2562

เลือกตั้ง 66: ลาออกสมาชิกพรรค

ภายหลังโหวตเลือก “นายกฯ หน้าเดิม” ปชป. ภายใต้การนำของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 8 และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ตามคาด รับโควต้ารัฐมนตรี 7 คน 8 ตำแหน่ง มาจัดสรรให้บุคลากรค่ายสีฟ้าและทำงานร่วมกันจนเกือบครบวาระ 4 ปี

ขณะที่ “นักการเมืองนอกสภา” อย่างอภิสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรค ปชป. บ้างเป็นครั้งคราว และช่วยรณรงค์หาเสียงตามที่พรรค-พวกร้องขอ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งซ่อม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. 2565 รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. 2566

ทว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งแรกที่อภิสิทธิ์ไม่ลงสมัคร สส. หลัง 4 หัวหน้าพรรค ได้แก่ ชวน หัวหน้าพรรคคนที่ 5, บัญญัติ หัวหน้าพรรคคนที่ 6, อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 และจุรินทร์ หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ปิดห้องคุย-เคลียร์กันเมื่อ 20 มี.ค. 2566

อภิสิทธิ์ให้เหตุผลว่า แนวคิดของเขาในหลายเรื่องในระยะหลังไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของพรรคมากนัก หากลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเกิดความสับสน ไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีกับพรรค

“เรื่องที่เหมาะสมลงตัวที่สุดคือผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง” อดีต สส. 9 สมัยกล่าวกับเนชั่นทีวีถึงสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจ “เว้นวรรค” การเมือง หลังอยู่นอกสภามาแล้ว 9 ปีนับจากรัฐประหาร 2557


อภิสิทธิ์ กับ เฉลิมชัย ไม่ได้ลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้ง 2566 แต่ทั้งคู่ลงพื้นที่ช่วยเพื่อนร่วมพรรคหาเสียง

แต่แล้วเมื่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมาว่า ปชป. ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์-ตกที่นั่ง “พรรคเสี้ยวร้อย” ได้ สส. เพียง 25 คนเท่านั้น จุรินทร์จึงแจ้งลูกพรรคผ่านห้องสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ว่า ขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้ ปชป. ตกอยู่ในสภาพ “พรรคไร้หัว” มา 7 เดือน

ในระหว่างนี้ มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอย่างต่อเนื่องว่า “ขั้วอำนาจใหม่” ใน ปชป. พยายามเดินเกมเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. โดย เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ไม่ปฏิเสธข่าวเดินทางไปพบ ทักษิณ ชินวัตร ที่เกาะฮ่องกง และยังทอดไมตรีให้ “พรรคคู่แข่ง-คู้แค้น” อย่างไม่ปิดบังสะท้อนผ่านเสียง 16 สส. ปชป. ที่ร่วมโหวตสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 22 ส.ค. ทั้งที่ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมรัฐบาล

ขณะที่ “ขั้วอำนาจเก่า” คาดหวังจะเห็นการเร่งฟื้นฟูพรรค ทำให้ชื่ออภิสิทธิ์ถูกโยนขึ้นมาหลายครั้ง-หลายวง และเป็นที่มาของคำวิจารณ์เขาว่า “เห็นแก่ตัว” ไม่ยอมกลับมาช่วยกอบกู้พรรคพรรค

“โจทย์ของกรรมการบริหารชุดใหม่ เขาไม่ได้จะฟื้นฟูพรรค แต่จะเอาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ปัญหาคือเพื่อไทยตกลงเอาพรรคภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐเข้าร่วมไปแล้ว เสียงของประชาธิปัตย์จึงไม่จำเป็น” แหล่งข่าวกล่าวอ้างคำพูดของอภิสิทธิ์ที่วิเคราะห์กับคนใกล้ชิด หลังถูกตามตัวกลับไปเป็นผู้นำพรรคอีกครั้ง

เมื่อมีการเสนอชื่ออดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคอีกครั้ง อภิสิทธิ์-เฉลิมชัย จึงขอปิดห้องคุยกัน ก่อนที่อภิสิทธิ์จะประกาศขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร และลาออกจากสมาชิกพรรค ท่ามกลางความตกใจของเพื่อนร่วมพรรค

เขาถูกผู้สื่อข่าวถามว่าที่ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะฝ่ายบริหารชุดใหม่จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือเปล่า แต่อภิสิทธิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้

มีเพียงคำยืนยันจากเฉลิมชัย หัวหน้าพรรคคนที่ 9 ที่เพิ่งรับตำแหน่งหมาด ๆ ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”


อภิสิทธิ์ชี้ว่า ปชป. ต้องฟื้นฟูพรรคถ้าคิดจะกลับมา “เราไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่หลายพรรคเป็นได้แค่พรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล แต่เราไม่ใช่”


เฉลิมชัย หัวหน้าพรรค ปชป. คนใหม่ ยืนยันว่า “ผมกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่เป็นสีอื่นเลย”

หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559" (คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)