วันพุธ, ธันวาคม 06, 2566

กฎหมายไร้สาระ ปรักปรำ เอนเอียง กฎหมายย่ำแย่ เข้าข้าง กลั่นแกล้ง เป็นประโยคมากล้นทางความรู้สึกของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ วัย 32 ปี ซึ่งถูกฟ้องตาม #ม112 เหตุจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 ข้อความ และโพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” จำนวน 2 ข้อความ



ขายของออนไลน์อยู่ดี ๆ ก็โดน ม.112 : สำรวจความรู้สึกหลังห้องพิจารณาคดีที่ 402 ของ “จิรวัฒน์” จำเลยคดีมาตรา 112

04/12/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


กฎหมายไร้สาระ ปรักปรำ เอนเอียง

กฎหมายย่ำแย่ เข้าข้าง กลั่นแกล้ง

เป็นประโยคมากล้นทางความรู้สึกของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ วัย 32 ปี ซึ่งถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 ข้อความ และโพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” จำนวน 2 ข้อความ

เขาเล่าว่าตั้งแต่โดนคดีนี้มา ตลอดกระบวนการพิจารณาสร้างความปวดร้าวทางจิตใจให้กับทั้งตัวเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก

สงสัย หวานระแวง รนราน กลัว ประหม่า ไม่ได้ตั้งรับ

จิรวัฒน์บอกว่าตัวเองมักจะนั่งหลังเหยียดตรงเสมอในห้องพิจารณาคดี เก็บรายละเอียกทุกคำพูดกล่าวหาจากพยานโจทก์ โดยมีเด็กผู้หญิงตัวน้อยและครอบครัวเคียงข้างเสมอในทุกวันของการสืบพยาน แต่กระนั้น ในทุก ๆ วันที่ผ่านไป กลับคล้ายนาฬิกานับถอยหลัง

“ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าของบริษัท ถ้าผมต้องติดคุก ทุกอย่างจะล้มทั้งหมด” จิรวัฒน์เผยความหวาดกลัวในใจ เขากล่าวว่าคดีนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบแค่กับตัวเขาในฐานะจำเลย แต่กับทั้งครอบครัวเองก็กำลังเผชิญหน้ากับวันเวลาที่นับถอยหลังนี้ด้วย

เขาเล่าต่อว่าทุกคนไม่ได้ตั้งรับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ การคาดเดามากมายเกิดขึ้นในหัวของจิรวัฒน์ และยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าในวันฟังคำพิพากษา หัวหน้าครอบครัวคนนี้จะได้กลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกคนอื่น ๆ หรือไม่

ในวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาของจิรวัฒน์

ผมเป็นผู้ติดเชื้อโควิดรายแรก ๆ ของประเทศ

จิรวัฒน์เริ่มต้นเล่าว่าพื้นเพของเขาพอมีอันจะกินแบบไม่ขัดสนเงินทองมากนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เขาละเลยหรือไม่สนใจเรื่องราวทางสังคมและการเมือง

“ผมสนใจเรื่องการเมืองมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยไปชุมนุม นปช. ปี 2553” จิรวัฒน์เล่าย้อนกลับไปในสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น แต่เขาก็รับรู้ได้ถึงความคุกรุ่นทางการเมืองในสมัยที่รัฐบาลภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศอยู่

จิรวัฒน์นึกย้อนจากความทรงจำของการชุมนุมในช่วงเวลานั้นว่ามีประชาชนล้มตายไม่ต่างกัน และสาเหตุทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องการจัดการของภาครัฐที่ย่ำแย่

“ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นบริษัทพ่อผมกำลังรุ่งเรืองเลย แต่พอมีการรัฐประหาร ทุกอย่างมันแย่หมด เศรษฐกิจพัง พ่อผมแทบเจ๊งเลยนะ คือแทนที่ประเทศมันจะก้าวกระโดด แต่มันดันถอยหลัง” จิรวัฒน์ในเวลานั้นถือได้ว่าเป็นคนหนุ่มชนชั้นกลาง แต่การปิดตายประเทศของคณะรัฐประหาร ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประชาชนทุกย่อมหญ้า

“ตอนนั้นที่ผมแชร์ข้อความเรื่องโควิด ก็เพราะมันไม่ยุติธรรม ผมเป็นคนแรก ๆ ที่ติดโควิด ยอดในประเทศไทยตอนนั้นยังไม่ถึง 5,000 คนเลยมั้ง” จิรวัฒน์เผยว่าเขาเป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ติดเชื้อดังกล่าว และในช่วงเวลานั้นก็ขาดแคลนวัคซีน ไม่มีโรงพยาบาลไหนเลยที่พอจะขายให้กับเขาได้

“ผมรู้สึกว่าทำไมเราต้องรอ ในเมื่อประชาชนมีเงินซื้อ ถ้าประเทศให้ฟรีไม่ได้ ผมไม่ว่าเลย แต่อย่ากีดกันประชาชนที่เขาต้องการทางเลือก เพราะผมต้องการวัคซีน สุดท้ายพอผมเป็นโควิดจริง ๆ ก็เกือบเอาตัวไม่รอดเพราะหาวัคซีนไม่ได้” จิรวัฒน์เล่าออกมาอย่างหมดความอดทนอดกลั้น เขาบอกว่าในตอนนั้นซูบผอมลงเกือบ 10 กิโล และยังจำความยากลำบากในช่วงนั้นได้อยู่ขึ้นใจ

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกีดกัน ในเมื่อเรื่องนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคน”

“คนไทยตายไปตั้งกี่หมื่น ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิได้รับวัคซีนดี ๆ คนที่ตายไปเขาอาจจะมีกำลังซื้อก็ได้ แต่ทำไมเขาต้องมาตายเพราะเข้าไม่ถึงวัคซีน” จิรวัฒน์ตั้งคำถามและพยายามทำความเข้าใจถึงการจัดการกะทันหัน ฉุกละหุกของรัฐ เขาทราบดีถึงความขาดแคลนยารักษา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตทั่วทั้งโลก

กระนั้น ชายหนุ่มได้เล่าถึงการจัดการของรัฐบาลในตอนนั้นว่า แม้ทางโรงพยาบาลเอกชนจะขอนำวัคซีนเข้ามาเอง และตัวเขาจะได้กว้านซื้อกับโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง แต่เมื่อถึงกำหนดนัดรับวัคซีน กลับไม่มีที่ใดเลยที่จะให้เขาได้

“ผมก็อยากถามรัฐบาลในตอนนั้นว่าคุณรับผิดชอบเขาไหวไหม แล้วประชาชนต้องมานั่งรับผิดชอบกันเอง มันคุ้มไหมเนี่ย”

เมื่อถามถึงโพสต์เรื่องตั๋วช้างกับคำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี จิรวัฒน์กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับเขาสุด ๆ เพราะประเด็นดังกล่าวได้ถูกพูดถึงในรัฐสภาซึ่งเป็นพื้นที่ของเหล่าผู้แทนปวงชน และการตั้งคำถามของแกนนำคนดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับสถาบันกษัตริย์

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้มันผิดยังไง เพื่อนผมแชร์มาลงหน้าเฟซตัวเอง คือทำไมเขาแชร์ได้ แต่ผมแชร์แล้วผิดกฎหมาย กลายเป็นผมคนเดียวที่โดน ม.112 ” จิรวัฒน์เล่าด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยกล่าวอธิบายในเรื่องโพสต์เรื่องตั๋วช้างของรังสิมันต์ โรม ที่เป็นข่าวอึกทึกในบ้านเมืองนี้ สำนักข่าวหลายแห่ง สื่อออนไลน์มากหน้าหลายตาประดังข่าวนำเสนอต่อมวลชนอย่างครึกโครม แต่มีเพียงเขาคนเดียวที่เหมือนถูกโดดเดี่ยวกับข้อกฎหมายนี้

ที่หลังห้องพิจารณาคดีกับมาตรา 112

จิรวัฒน์ไม่เคยคิดว่าในฐานะประชาชนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง เขาอาจตกเป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ไม่เคยคิดอยากพัวพันกับการกระทำผิดหรือการมีคดีความอาญาติดตัว ชีวิตของพ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และครอบครัว คิดเพียงแต่อยากจะใช้ชีวิตดำเนินไปตามครรลองอย่างที่ใคร ๆ ก็เป็นกันในสังคมนี้

“กฎหมายข้อนี้อะนะ สำหรับผมเลยนะครับ ที่ใคร ๆ ก็ชอบพูดว่าเป็นกฎหมายกลั่นแกล้งกัน เชื่อไหม คดีผมเนี่ยกลั่นแกล้งที่สุดแล้ว เพราะคนแจ้งเป็นญาติเมียผม” เมื่อขอให้จิรวัฒน์ขยายความ เขาก็ได้เล่าให้ฟังว่าครอบครัวของเขามีปัญหากันมานานก่อนหน้านี้ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ก็มีเรื่องกับภรรยาของเขามาตลอด

“คดีคนอื่นผมไม่รู้นะว่าเป็นยังไง แต่ของผมมันชัดมาก แล้วมันก็ทำให้เราเห็นจุดบกพร่องของกฎหมายนี้ คือใครมันจะแจ้งความใส่กันก็ได้” ชายหนุ่มขยายความ เขาบอกว่าการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้รู้เลยทันทีว่าแค่เราอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง เป็นญาติ เป็นเพื่อนกัน หากเรามีเฟซบุ๊กของกันและกัน ถ้ามีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันก็สามารถใช้แจ้งความกฎหมายข้อนี้ได้เลย

เมื่อถามความรู้สึกตลอดการนั่งฟังการพิจารณาคดีของตัวเอง ในฐานะจำเลย เขารู้สึกอย่างไรบ้าง จิรวัฒน์นิ่งเงียบไปครู่หนึ่งคล้ายทบทวนความรู้สึกของตัวเอง ก่อนพูดออกมาว่า “ผมรู้สึกว่า เราถูกเอาเปรียบมากในคดีนี้ โคตรเอาเปรียบเลย”

“…”

“อย่างแรก คนที่เขาเอามาเป็นพยานโจทก์ควรจะเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่มีความคิดเอนเอียง มันกลับกลายเป็นว่าเขาเลือกเฉพาะคนมาเลย คือเอาคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองสุดโต่งมา”

“ผมก็คิดนะ เขามองเราว่าผิดตั้งแต่เดินเข้าศาลแล้วหรือเปล่า แบบ เฮ้ย คดีนี้มันไม่ใช่คดีฆ่าคนตายนะที่มันจะมีพยานหลักฐาน มีนิติวิทยาศาสตร์มัดตัวได้ คือคดีนี้มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นการตีความกันทางความคิดของคน”

“แค่เล่นมือถืออะ มันจะติดคุกเลยเหรอวะ ผมว่ามันเกินไปนะ เกินไปจริง ๆ”

ทั้งนี้ เขาได้ตั้งคำถามไปถึงศาลและอัยการว่าทำไมคดีนี้ถึงเกิดขึ้นกับเขาเพียงคนเดียว ชายหนุ่มเรียกตัวเองว่าประชาชนปลายแถว เขาไม่ได้เป็นใครเลยในสังคม ทำไมรัฐถึงได้ขนาดมองว่าการกระทำของเขาถึงผิดกฎหมายความมั่นคงได้ขนาดนี้

“พูดตรง ๆ นะครับ โพสต์ที่ผมแชร์ทั้งหมด คนคอมเม้นท์กันเป็นแสน คือคนพวกนั้นเขาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา แต่ผมที่แชร์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรด้วยซ้ำ ทำไมถึงมีแต่ผมล่ะที่โดนฟ้องคดี” จิรวัฒน์ปิดท้าย
 
ขอสู้ต่อไป ไหน ๆ ก็มาถึงจุดนี้แล้ว

จากสถิติคดีมาตรา 112 ผู้ที่ตกเป็นจำเลยมักจะถูกศาลถามเพื่อให้เสี่ยงเลือกชะตากรรมของตัวเอง บางรายรับสารภาพเพื่อไม่ต้องมีการสืบพยานเกิดขึ้นในชั้นศาล และรอวันชี้ชะตาในวันพิพากษาทีเดียว เพราะอย่างน้อยกระบวนการดังกล่าวก็อาจลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาตามนัดหมายของศาล

จิรวัฒน์ตอบกลับว่าก็เลือกที่จะสู้มาแล้ว “ผมอยากยืนยันว่าโพสต์ทั้งหมดมันไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากผม ถ้ามันเป็นผมโพสต์เอง หรือแสดงความคิดเห็น ป่านนี้ผมคงยอมรับสารภาพไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมยอมไม่ได้ เพราะผมอยากถามกระบวนการยุติธรรมว่า คุณรู้เจตนาของผมได้ยังไง?”

จิรวัฒน์นึกถึงคำฟ้องของอัยการ ตัวหนังสือเรียงรายหลายสิบแผ่น บรรยายคำฟ้องกล่าวถึงความผิด ตีความลักษณะประโยคว่าจำเลยอย่างเขากำลังจาบจ้วงเบื้องสูง

“ถ้าศาลเป็นกลางจริงอย่างที่เขาบอกกับผม ศาลต้องหาเจตนาของผมให้เจอ สิ่งที่ผมทำ ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ผมแค่ต้องการให้คดีนี้มันเป็นตัวอย่างให้ประเทศชาติรับรู้ว่า ผู้มีอำนาจมันเอาเปรียบประชาชนอย่างเรายังไง”

เมื่อถามว่าเขากลัวคำพิพากษาที่ใกล้จะออกมาบ้างหรือไม่ จิรวัฒน์ตอบว่าความกลัวของเขามีอยู่เต็มหัวใจ “ผมยอมรับเลยว่ากลัว แต่ในความกลัวมันมีคำหนึ่งในหัวว่าถ้าเราไม่สู้แล้วใครจะสู้ ถ้าเราไม่ยอมเสียสละบ้าง ชัยชนะก็คงไม่เกิด” ชายหนุ่มกล่าวว่าเขาพูดย้ำกับตัวเองในใจเสมอตั้งแต่ที่เข้าสู่กระบวนการของศาล เพราะถ้าต้องยอมอยู่ร่ำไป ผลลัพธ์ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม จะเป็นแบบนั้นตลอดไป

“คุณรู้ไหม ที่ผมสู้เพราะจริง ๆ ก็เพราะทนายอานนท์ด้วย ผมมองเห็นเขาแล้ว ก็ได้แต่คิดว่าคนคนนี้เสียสละมาเยอะ เขาโดน 112 คนเดียวไปกี่รอบแล้ว เขาเองก็ไม่ได้อยากติดคุก เขาเองก็มีลูกมีครอบครัวเหมือนผม อนาคตเขาดีจะตาย แต่เขาเอาตัวเองมาอยู่ตรงนี้ จริง ๆ เขาจะไม่แคร์อะไรเลยก็ได้ แต่ทำไมเขาถึงทำ เพราะเขารู้ไงว่าคงจะตาสว่างได้จากสิ่งที่เขาพูด”

“ถ้าในปี 2563 ไม่มีเขา ทุกวันนี้คนจะได้เห็นไหมว่าประเทศชาติมันโดนกดขี่ยังไง ประชาชนจะลืมตาอ้าปากพูดอะไรได้ไหมว่าผู้มีอำนาจกำลังเอาเปรียบเราแค่ไหน ผมแค่รู้สึกว่าถึงผมจะเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ แต่ผมก็มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครเหมือนกัน”

จิรวัฒน์กล่าวถึงความคาดหวังต่อคำพิพากษาว่า อย่างน้อยที่สุดถ้าการเลือกต่อสู้คดีของเขาเป็นความกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงในบ้านเมืองนี้ ก็ขอให้ศาลเปิดทางและให้โอกาสให้เขาได้ต่อสู้ในศาลสูงต่อไป

“นี่ไม่ใช่คดีฆ่าคนตาย การประกันตัวเป็นสิทธิที่ผมควรได้รับ ถ้าผมสู้ไปถึงที่สุดแล้ว ศาลยังเห็นว่าการกระทำของผมเป็นสิ่งที่ผิด ผมก็จะยอมรับไว้ แต่นี่แค่ชั้นต้น ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ผมจะไม่ไปต่อ”

นิรโทษกรรมเท่านั้น

จิรวัฒน์กล่าวว่าเขาได้รับทราบข่าวคราวจากทางฝั่งภาคประชาสังคมว่าเริ่มมีการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแล้ว โดยเขาเห็นว่าอย่างน้อยการเคลื่อนไหวของประชาชนในครั้งนี้ก็ยังมีความหวังอยู่บ้างในรัฐบาลพลเรือน

“ผมรู้ว่ารัฐบาลกำลังพยายามผลักดันนิรโทษกรรมอยู่เหมือนกัน มันเป็นหนึ่งในนโยบายทางด้านกระบวนการยุติธรรมของเขา แต่เขาต้องฉีกรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งก่อนเลย”

จิรวัฒน์บอกว่าเขาไม่เคยเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังบังคับใช้อยู่

“ผมแค่อยากจะบอกว่า ทั้งหมดที่ผมพูด มันเป็นความรู้สึกของผมจริง ๆ โดยเฉพาะในคำว่าแชร์เท่ากับเห็นด้วย อันนี้มันไม่เป็นข้อเท็จจริง คุณบิดเบือนเจตนาของผมมากเลยนะ”