วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 14, 2566

การเรียกร้องสิทธิประกันรายบุคคลอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดี 112 ด้วย - รัฐบาลสลายขั้วเอาไงต่อ? เมื่อจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเก่า = ไม่ต้องปรองดองแล้ว ??


May Poonsukcharoen
13h·
การเรียกร้องสิทธิประกันรายบุคคลอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดี 112 ด้วย

Decode.plus
1d
·
‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’
‘ความปรองดองในระยะก่อนเข้ารัฐสภา’ เวลานี้มีเพียงร่างกฎหมายของประชาชนและของพรรคก้าวไกล
Q : รัฐบาลสลายขั้วเอาไงต่อ?
A : เมื่อการจับมือร่วมรัฐบาล (ไม่)เท่ากับ ความปรองดอง
.
เกือบ 20 ปี ที่สังคมไทยตามหา แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ แต่จากศึกษาในมิตินิติศาสตร์ภาคประชาชน พบว่า การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองของประชาชน คือ กุญแจดอกแรกของประตูปรองดอง
และความเห็นต่างทางการเมือง คือความปกติในเส้นทางประชาธิปไตย
มองคดีการเมืองที่ประชาชนควรได้รับความเป็นธรรมจากมุมมอง ทนายพูนสุข พูนสุขเจริญ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และค้นหาความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ได้ที่ : https://decode.plus/20231209-public-amnesty/
.
“การสู้คดีมันเหนื่อย คนที่โดนคดีต้องเสียเงิน เสียเวลา และหลายคดีที่ไม่ควรจะถูกฟ้อง ทั้งหมดมันคือการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือการสูญเสียหน้าที่การเงินและการใช้ชีวิต”
“สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเพราะอำนาจยังไม่เป็นของประชาชนจริง ๆ ในการนิรโทษกรรมกับประชาชน 3 ครั้งที่ผ่านมา(14 ตุลาฯ-6 ตุลาฯ-พฤษภาทมิฬ) ก็เป็นการเจรจาผลประโยชน์กันของผู้มีอำนาจ นั่นทำให้ครั้งที่ผ่าน ๆ มา เรายังสืบหาความจริงกันได้ไม่ครบถ้วน”
“การที่เราอยู่ในสภาพการเมืองที่ย่ำแย่ มันส่งให้มิติอื่น ๆ ในสังคมแย่ไปตามกัน อารมณ์ของสังคมมันเชื่อมโยงกันทุกด้าน และเราเชื่อว่านิรโทษกรรมนี่แหละจะเป็นก้าวแรกที่พาสังคมไทยเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
.
การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยเดินมาถึง แต่เป็นก้าวแรกในรอบ 20 ปีที่เราถูกบังคับให้ถอยร่นตลอดมา
เพราะการนิรโทษกรรมแก่ประชาชน มีความหมายว่าประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะที่พึงจะมีของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
.
.
#Decode #CrackandCraft #ร่างพรบนิรโทษกรรมประชาชน #นิรโทษกรรม #ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน #สิทธิมนุษยชน #ประชาธิปไตย

.....
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การแสวงหาความปรองดองทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้ยุคการเมืองหลากสี ยุคกปปส. มาจนถึงกลุ่มเยาวชนปลดแอกและม็อบราษฏร ทว่า การปรองดองดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นจริง ยังมีประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง มีเพียงคณะรัฐประหารเท่านั้นที่ได้รับการนิรโทษกรรม นับตั้งแต่ปี 2549

เมื่อการนิรโทษกรรมอาจเป็นทางออกสำคัญที่จะพาเราไปให้ถึงความปรองดอง การลดความขัดแย้งในสังคมที่ต้องเกิดจากการที่ทุกฝ่ายมองร่วมกันว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
.
.
“รากของปัญหานี้มันเกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั่นจึงทำให้เห็นว่าการนิรโทษกรรมแม้จะเป็นประชาชนจากหลากหลายกลุ่มก็ล้วนโดนคดีซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในร่างนี้เครือข่ายที่จัดทำจึงเสนอให้ครอบคลุมคดีทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 หรือวันที่คมช.ทำรัฐประหาร”

ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการรีเซ็ตคดีความทางการเมืองต่าง ๆ การนิรโทษกรรมเป็นเพียงก้าวแรกเพื่อนำไปสู่การป้องกันรัฐประหาร และการค้นหาความจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบในทุกยุคสมัย และเมื่อความจริงปรากฎขึ้นสังคมไทยอาจสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง

ทางตรงไป ไม่ใช่ ‘สุดซอย’

แม้ว่าการนิรโทษกรรมจะดูเป็นของแสลงสำหรับสังคมไทย นับตั้งแต่เกิดร่างนิรโทษกรรมสุดซอย/นิรโทษกรรมเหมาเข่งหรือ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 จนนำไปสู่ม็อบ กปปส.ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลายเป็นเหตุให้ คสช.เข้ายึดอำนาจ

กล่าวคือ การนิรโทษกรรมประชาชน 3 เหตุการณ์ใหญ่อย่าง 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ และ พฤษภาทมิฬ มาจนถึงนิรโทษกรรมสุดซอยที่จะนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มพันธมิตรและกลุ่ม นปช.คำนิยามของการสุดซอยที่คล้ายกันทั้ง 4 ฉบับ คือการลบล้างคดีอย่างเหมารวมโดยที่ความจริงอย่างมีข้อขัดแย้ง

ตามการนิรโทษกรรมซึ่งมีเหตุจากการชุมนุมทางการเมืองนี้กลับเอื้อผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นชนวนความขัดแย้ง เช่นในนิรโทษกรรมสุดซอยมีการให้นิรโทษกรรมต่อ ทักษิณ ชินวัตร-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและสังคมมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามของชนวนความขัดแย้งทางการเมืองไทยนับทศวรรษ



ทว่า สิ่งสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดย พรรคก้าวไกล มีหัวใจสำคัญเหมือนกัน เพราะในการนิรโทษกรรมนี้จะนิรโทษกรรมประชาชนผู้ต้องคดี แต่ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐและการล้มล้างการปกครอง ซึ่งจะไม่เหมือนกับนิรโทษกรรมสุดซอยเมื่ออดีต

พูนสุขกล่าวว่า ทั้งร่าง 2 ฉบับนี้เป็นการผลักดันคู่ขนานของภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองที่เห็นว่าคดีทางการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย ที่ต่างฝ่ายต่างผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อดีตได้รับความเป็นธรรม

โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลและฉบับประชาชน มีคณะกรรมการฯเหมือนกัน ต่างกันที่ร่างนิรโทษกรรมประชาชนไม่มีการแยกฐานความผิด(ดูมูลเหตุจูงใจ) และมีผู้เสียหายและภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมด้วย

“ถ้าหากถามว่าสังคมยังมองนิรโทษกรรมเหมือนสมัยก่อนไหม เรามองว่าสังคมเดินมาไกลกว่าจุดนั้นมากแล้ว โดยเฉพาะร่างของเราที่ยังมีสัดส่วนของผู้เสียหายในแต่ละช่วงและภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการ มันเป็นจุดร่วมกันของหลายฝ่ายมากกว่าที่เล็งเห็นว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการรีเซ็ตคดีความที่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันมันจะไปสู่การค้นหาความจริงด้วย

มันไม่ใช่ก้าวแรกที่สังคมเดินทางมาถึง แต่เป็นก้าวแรกอีกครั้งในรอบ 20 ปี”



ซึ่งร่างนิรโทษกรรมประชาชน แบ่งเกณฑ์หลัก ๆ ในการนิรโทษกรรมอยู่ 2 แบบใน มาตรา 5 ซึ่งมีการฟ้องร้องเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน

แบบที่ 1 : ควรได้รับนิรโทษกรรมที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ
คดีความที่ขึ้นสู่การพิจารณาในศาลทหาร/หรือเกิดจากคำสั่ง คสช.ซึ่งมีอยู่ ประมาณ 2,400 คน คดีมาตรา 112 ราว 300 คน คดีที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1,400 คน

แบบที่ 2 : คดีที่ต้องพิจารณาของคณะกรรมการ (19 คน ประกอบด้วย ส.ส. และตัวแทนผู้เสียหาย หรือคนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงเหตุการณ์ และองค์กรที่ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม)
คือ คดีที่เกี่ยวกับ พรบ.ชุมนุม ที่ต้องผ่านพิจารณาของคณะกรรมการ เพราะต้องพิจารณาว่า คดีนั้น ๆ เกิดขึ้นเพราะการแสดงออกทางการเมือง หรือ เกิดจากแรงจูงใจ/หวังผล ทางการเมือง

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะสามารถร้องขอให้กรรมการพิจารณากรณีของตนเองได้เท่านั้น ในร่างยังได้เปิด “ให้บุคคลผู้กระทำการนั้น หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลผู้กระทำการนั้น อาจยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการกระทำนั้นด้วยได้” เพื่อเปิดโอกาสให้กับคดีที่อาจตกหล่นไป

พูนสุขชวนมองไปข้างหน้าอีกก้าว หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้สำเร็จ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแต่ละคดีว่าถูกใช้ความรุนแรงจากรัฐในนิติสงคราม ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากร่างกายและมิติอื่น ๆ และความรุนแรงจากรัฐนี้เองจะถูกค้นหาความจริงให้ต้องดำเนินคดีจากความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2565 เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามหลักการสากล เป็นจำนวนทั้งสิ้น 70 ครั้ง ในจำนวนนี้ 60 ครั้งเกิดขึ้นในการชุมนุมปี 2564 และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 134 คน ผู้บาดเจ็บกว่า 3,400 ราย นี่เป็นตัวเลขที่ผู้กระทำยังคงลอยนวลและยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ความรุนแรงได้เกิดขึ้นกับประชาชนและยังไม่มีการเยียวยา


“สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเพราะอำนาจยังไม่เป็นของประชาชนจริง ๆ ในการนิรโทษกรรมกับประชาชน 3 ครั้งที่ผ่านมา(14 ตุลาฯ-6 ตุลาฯ-พฤษภาทมิฬ) ก็เป็นการเจรจาผลประโยชน์กันของผู้มีอำนาจ นั่นทำให้ครั้งที่ผ่าน ๆ มา เรายังสืบหาความจริงกันได้ไม่ครบถ้วน”

นั่นทำให้สิ่งที่สังคมไทยต้องก้าวไปให้ถึงจริง ๆ คือการรื้อระบบโครงสร้างความยุติธรรม ทั้งหมดทั้งมวลของนิติสงครามนี้คือความบิดเบี้ยวของระบบตุลาการ พูนสุขกล่าวว่าระบบตุลาการของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ การดำเนินใช้กฎหมายไปจนถึงบทลงโทษถูกทำให้ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐถูกลงโทษ และผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อยกเลิกมรดกเผด็จการและคืนอำนาจอธิปไตยสู่ประชาชน

“แม้ว่ามาตรา 112 จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการเมืองไทยในตอนนี้ ทว่า การเรียกร้องเรื่องมาตรา 112 และการนิรโทษกรรมเป็นคนละส่วน แต่ปลายทางที่เราเรียกร้องจริง ๆ คือปัญหาของมาตรา 112 เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องถูกแก้ไข ซึ่งจริง ๆ มันคือเรื่องเดียวกันของการรื้อโครงสร้างความยุติธรรมไทย ในวันนี้นอกจากการนิรโทษกรรมเรายังอีกหลายเครื่องมือ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น

แต่สำคัญที่สุดเรามองว่าการผลักดัน การเคลียร์ความผิด และการค้นหาความจริงความผิดมันเดินไปด้วยกันได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จก่อน ท้ายที่สุดทั้งหมดนี้จะนำไปสู่วันที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ไม่ใช่คณะรัฐประหารไหนก็ตาม” พูนสุข กล่าว

เหลือง-แดง-นกหวีด-สามกีบ การเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม

“ที่ผ่านมาเรามองว่าสังคมไทยยังไม่เคยเปลี่ยนผ่านทางความยุติธรรมเลยด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาเรานิรโทษกรรมแล้วลืม ๆ มันไป แม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริง แต่ก็ยังไม่มีครั้งไหนค้นหาความจริงจนนำไปสู่ข้อยุติที่ไม่มีข้อขัดแย้ง มันเป็นการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายแล้วก็ลืม ๆ มันไปแต่ไม่มีการเยียวยาผู้เสียหาย”



ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงล้วนเกิดจากกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกใช้โดยผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะจากเผด็จการ คณะรัฐประหาร

การนิรโทษกรรมแก่ประชาชน จึงมีความหมายว่าประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะที่พึงจะมีของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

พูนสุข ให้คำนิยามของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยว่า หลังจากนี้คือการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร เผด็จการ และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง การสร้างความยุติธรรมนี้เองคือการรื้อโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ประชาชน โดยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาพยายามมาถึง แต่เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาเราถูกบังคับให้ถอยร่นไปเรื่อย ๆ

“นอกจากปัญหาของมาตรา 112 มีอีกหลายสิ่งที่มันเกิดขึ้นเพื่อให้เผด็จการปราบปรามประชาชน อย่าง กำไล EM ในปี 2558 ยังถูกใช้เพื่อควบคุมตัวนักโทษคดียาเสพติด แต่ในปี 2561 มีผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองโดนใส่กำไล EM หลังประกันตัวถึง 80 คน

หรืออย่างสิทธิการประกันตัวโดยเฉพาะทนายอานนท์หรืออีกหลาย ๆ คดี ศาลเองก็เห็นว่าเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะหลบหนี แต่ศาลกลับไม่ให้สิทธิการประกันตัว เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นความปกติในความยุติธรรมที่ผิดปกติ”

พูนสุขย้ำว่า ในฐานะของคนที่ทำงานในด้านนี้ การต่อสู้ การผลักดัน ยังคงสร้างความอ่อนล้าและเหนื่อยกับการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าเมื่อเทียบกับอดีต สังคมไทยย่อมก้าวไปข้างหน้ากว่าเก่า ในความหมดหวังยังคงมีหวังเล็ก ๆ ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเต็มใบยิ่งขึ้น


สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมสำเร็จ พูนสุขกล่าวว่า ประการแรกคือคนที่โดนคดีทางการเมืองจะพ้นผิด หลายคนจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาและดำเนินชีวิตต่อไปได้

ประการที่สองคือสังคมจะตระหนักรู้กับการคุกคามทางการเมืองและความรุนแรงจากรัฐมากยิ่งขึ้น พูนสุขหวังจะเห็นการพูดคุยกันในสังคมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะนับตั้งแต่ปี 2549 เราจะเห็นว่าประชาชนทุกฝ่ายย่อมเป็นเหยื่อของเผด็จการได้ทั้งสิ้น การคืนอำนาจสู่ประชาชน จะทำให้เราก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองเดิมได้

แม้ว่าหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้สำเร็จ มีผู้ถูกคุมขังจากคดีเสรีภาพการแสดงออก รวม 35 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.2566 จำนวน 6 ราย แบ่งเป็น มาตรา 112 จำนวน 13 ราย และคดีอื่น ๆ รวม 22 ราย แต่พูนสุขเชื่อว่าหากการนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้นจริง นั่นจะเป็นข้อดีต่อรัฐบาลชุดนี้ ที่นอกจากจะลดความตึงเครียดทางการเมือง ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลอีกด้วย

“การที่เราอยู่ในสภาพการเมืองที่ย่ำแย่ มันส่งให้มิติอื่น ๆ ในสังคมแย่ไปตามกัน อารมณ์ของสังคมมันเชื่อมโยงกันทุกด้าน และเราเชื่อว่านิรโทษกรรมนี่แหละจะเป็นก้าวแรกที่พาสังคมไทยเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านไปในทิศทางที่ดีขึ้น” พูนสุข กล่าว




ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนฉบับนี้ มีแผนที่จะยื่นเข้าสู่สภาในเดือนมกราคม 2567 เรายังคงต้องติดตามกันต่อไปถึง ‘การสร้างความปรองดอง’ ของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ ว่าท้ายที่สุดบนยอดเจดีย์สูงริมรัฐสภาจะมุ่งเน้นลดความขัดแย้งอย่างแท้จริง หรือจะลืม ๆ มันไปเหมือนการนิรโทษกรรมหลายครั้งที่ผ่านมา

ทว่า การมีอยู่ของร่างนิรโทษกรรมทั้ง 2 ฉบับ ชี้ให้เราเห็นแล้วว่าประชาชนไม่ได้นิ่งเฉยเหมือนอย่างเคย ดังเช่นการเปิดให้ลงชื่อของ iLaw เพื่อเสนอประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพียงแค่ไม่กี่วันรายชื่อหลักแสนของประชาชนก็พร้อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าภายในสภาจะเห็นชอบหรือไม่ นี่คือความจริงที่ประชาชนต้องการจะสื่อถึง และการนิรโทษกรรมประชาชนครั้งนี้ก็คือความจริงที่ความเจ็บปวด การสูญเสียของประชาชนต้องได้รับการเยียวยา ไปจนถึงค้นหาความจริงจากความรุนแรงจากรัฐและการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย

การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยเดินมาถึง แต่เป็นก้าวแรกในรอบ 20 ปีที่เราถูกบังคับให้ถอยร่นตลอดมาและตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านไป ปรากฏการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ได้ส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ เผด็จการและองคาพยพ ว่าวันนี้สังคมไทยไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

ที่มา Decode.Plus
นิรโทษกรรม ตรงไป…ไม่สุดซอย ‘ไม่ใช่ก้าวแรกที่สังคมเดินทางมาถึง’ แต่เป็นก้าวแรก(อีกครั้ง)ในรอบ 20 ปี
author
นทธร เกตุชู
ภาณุพัฒน์ บุญรื่น