วันเสาร์, พฤศจิกายน 18, 2566

อยากให้อ่าน SCB EIC เต็มๆ - คาดการณ์ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตเร่งขึ้นที่ 3.5% ไม่ใช่จะวิกฤติ - digital wallet อาจกระตุ้นให้ขยายเกิน 5% ได้แค่ 2 ปี แต่จะสร้างภาระและผลกระทบทางการคลังไป 10 ปี


ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

วาฬฮีลใจ @iwhale
อยากให้อ่าน SCB EIC เต็มๆนะครับ
- คาดการณ์ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตเร่งขึ้นที่ 3.5% ไม่ใช่จะวิกฤติ
- digital wallet อาจกระตุ้นให้ขยายเกิน 5% ได้แค่ 2 ปี แต่จะสร้างภาระและผลกระทบทางการคลังไป 10 ปี
- ดร. แนะนำให้ใช้เงินลงทุนสองด้านในบทความจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากกว่าครับ https://moneyandbanking.co.th/2023/61271/

SCB EIC คาด “Digital wallet” กระตุ้นจีดีพีปี 67 โตเกิน 5% แต่หนี้สาธารณะจะแตะเพดาน 70% เร็วขึ้น 2 ปี

13 กันยายน 2023
Money and Banking

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 3.1% จากเดิม 3.9% เนื่อง จากข้อมูลจริงไตรมาส 2 ที่ต่ำกว่าคาดมากและการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

สำหรับมุมมองปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว

“เราปรับประมาณการปีนี้ลงค่อนข้างเยอะ เนื่องจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 และ 2 อ่อนแรงมาก แต่ในอนาคตมองว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ที่ 3.5% ”

ดร.สมประวิณ เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการของภาครัฐที่ออกมาล่าสุด เป็นมาตรการที่ช่วยเรื่องภาระของประชาชน ส่วนมาตรการฟรีวีซ่าคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้บ้างแต่ไม่มาก

โดยมาตรการที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากคือ Digital wallet โดยเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจขยายตัวได้เกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังในระยะยาว โดยการใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพีเร็วขึ้นประมาณ 2 ปี ซึ่งอาจจะกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้

“จีดีพี 3.5% ที่มองไว้ยังไม่รวมผลของมาตรการ Digital wallet เนื่องจากต้องการรอให้ความชัดเจนของนโยบายออกมาก่อน โดยหากรวมเข้ามาจีดีพีอาจโตเพิ่มเป็น 5-6% แต่ภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหนี้สาธารณะจะแตะเพดาน 70% เร็วขึ้น 2 ปี จากเดิม 10 ปี เหลือ 8 ปี”

ดร. สมประวิณ เปิดเผยว่า SCB EIC มองนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะยาว ได้แก่

(1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลจริงของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ และผลักดันให้ไทยเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการมากขึ้นและเพิ่มความสำคัญบนห่วงโซ่อุปทานโลก

(2) การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีที่บิดเบือนแรงจูงใจของภาคธุรกิจและครัวเรือน

“โดยรวมเรามองว่ามาตรการ Digital wallet จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ให้เศรษฐกิจโตได้ในปี 2567 และกระตุ้นได้ยาวไปถึง 2 ปี แต่ผลกระทบจากภาระทางการคลังจะลากยาวไปถึง 10 ปี ตอนนี้เราไม่กังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่กังวลเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว โดยจีดีพีไทยอาจโตเต็มที่ได้ที่ 3.5% น้อยกว่าที่ผ่านมาที่โตเต็มที่ได้ถึง 6% ในระยะยาว”

ดร. สมประวิณ เปิดเผยต่อว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะมีแนวโน้มเร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 1.7% และ 2% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวที่ 1.4% และ 1.5% ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ

ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วงปลายเดือน ก.ย. สู่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ย (Terminal rate) รอบนี้ที่ 2.5% ตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ และเงินเฟ้อที่ยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกได้ ช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวจากการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) โดยในปี 2566 SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.4% และจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมในปีหน้า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่จะมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องถึงปีหน้าจากผลของเงินเฟ้อสูงและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันการฟื้นตัว

โดยวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักใกล้สิ้นสุดลงในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกอาจมีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังอยูในระดับสูง ตามตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งผลต่อแรงกดดันค่าจ้าง ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.5% ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 ปี 2567 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกไม่มากในช่วงที่เหลือของปีนี้และคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะก่อนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับลดลง สำหรับธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายลงจากมุมมองเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) จากแรงกดดันสำคัญ อาทิ

(1) เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง กระทบการส่งออกไทยบางกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อ FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง และอาจกระทบกำลังซื้อจากจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยบาง Segments

(2) วิกฤติภัยแล้ง ในกรณีฐานภัยแล้งจะเกิดรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อยมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากผลผลิตที่ลดลงได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ประเมินว่าภัยแล้งในกรณีฐานจะทำให้ GDP ไทยลดลง -0.14 pp ในปี 2566 และ -0.36 pp ในปี 2567 และเงินเฟ้อสูงขึ้น +0.18 pp ในปี 2566 และ +0.45 pp ในปี 2567

“ผลกระทบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่โตเท่าที่คาดไว้มาจาก 4 ปัจจัย คือเศรษฐกิจจีน ภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และนโยบายภาครัฐซึ่งอาจเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้น”