วันอังคาร, พฤศจิกายน 21, 2566

ศิริกัญญา ตันสกุล อธิบาย เหตุที่GDP ไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะฝั่งการผลิต คือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -4% เลยดึง GDP ของไทยโตต่ำ (เพราะฉะนั้น คงเห็นกันชัดๆแล้วใช่ไหมว่า การจะแก้ปัญหา Economic Slowdown ของเศรษฐกิจไทยนั้นต้องแก้ที่ไหน?)

.....
Sirikanya Tansakun @SirikanyaTansa1

GDP ไตรมาส 3 โต 1.5% วิกฤตรึยัง?

คงต้องย้ำอีกครั้งว่า เราจะไม่ต้องมาเถียงเรื่อง "วิกฤต" หรือ "ไม่วิกฤต" กันเลย ถ้ารัฐบาลไม่เลือกใช้วิธีการ "ออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท" เพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะการที่จะออก พ.ร.บ. เงินกู้ได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้โดยชัดเจนว่า ตอนนี้มี "ความจำเป็น เร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤตอย่างต่อเนื่อง และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน" จริงหรือไม่

ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย "วิกฤต" รึยัง?

วันนี้มีตัวเลขออกมาจากสภาพัฒน์ฯ ว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวเลข GDP นั้น วัดได้จากทั้งฝั่งรายจ่าย (expenditure) และฝั่งการผลิต (production) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน

ฝั่งการผลิตอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -4% เลยดึงใน GDP ของไทยโตต่ำ ที่ติดลบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรม "เพื่อการส่งออก" โดยเฉพาะ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก ในด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8%

ส่วนฝั่งรายจ่ายที่เราคุ้นเคย คำนวณได้ตามสูตร C+I+G+X-M (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) จากตัวเลขวันนี้ เราจะเห็นว่าตัวเลขภาคเอกชนโตขึ้นถึง "8.1%" การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่ stock สินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค -4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (จากการที่ปีก่อนมีการเบิกค่ารักษาโควิด แต่ปีนี้ไม่มี จึงหดตัว) การลงทุนภาครัฐก็หดตัว -2.6% และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าก็หดตัวแรงที่ -10.2%

สรุปก็คือ ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ "วิกฤตเศรษฐกิจ" อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว (ซึ่งก็แปลกดี เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศไหนอยากจะให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ หรือมีท่าทีดีใจที่เห็น GDP โตต่ำ)
 
คำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า 8%