หนึ่งปีหลังจาก กสทช.ไฟเขียวให้เจ้าสัวผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ต ‘ทรู’ ควบรวมกับ ‘ดีแท็ค’ ได้แล้ว จนป่านนี้ “ยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบอย่างเต็มที่” Sirikanya Tansakun ขุดคุ้ยจากงานวิจัยเอามารายงานประชาชน
“งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้ พบว่าแม้การควบรวมจะเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า ๖ เดือน แต่ยังมีหลายมาตรการเฉพาะที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เช่น การเพิ่มผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน” และอีก “หลายมาตรการมีความคลุมเครือ
เช่น การลดค่าบริการลง ๑๒% ที่ผู้ให้บริการบอกว่าค่าโทรศัพท์ลดลงแล้ว ๑๕% ค่าเน็ตลดลง ๘๐% แต่ชุดข้อมูลกลับมีข้อน่าสงสัยว่ามีการเพิ่มแพ็คเกจขึ้นมามากกว่า ๓ เท่าหลังควบรวมกิจการ โดยแพ็คเกจที่เพิ่มขึ้นมา คือเพิ่มการใช้งานฟรีที่ไม่ได้ใช้จริง”
เช่นนี้ผลจริงๆ ก็คือ “ทำให้ค่าบริการเฉลี่ยลดลง แต่ลูกค้าใช้งานเท่าเดิม ที่แย่ไปกว่านั้น จากแบบสำรวจผู้บริโภคและข้อมูลอื่นๆ พบว่าผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้นและพบปัญหาด้านสัญญาณและการบริการจากเครือข่ายของผู้ควบรวมมากขึ้น”
นั่นคือเนื้อๆ ของข้อเสียหาย ซึ่งศิริกัญญาบอกเป็นข่าวร้าย หลังจากแจ้งถึงข่าวดี ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รับฟ้อง คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ปีนี้ โดยศาลปกครองสูงสุดบอกว่าไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี
แม้มาตรา ๔๙ พรบ.จัดตั้งศาลปกครอง จะระบุระยะเวลาให้ฟ้องคดี “แต่บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน” และมีผู้ประกอบการน้อยราย ลักษณะ ‘กึ่งผูกขาด’ การควบรวมกระทบการแข่งขันเสรี
“จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง” สั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีเข้าสู่การพิจารณา โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นปฏิเสธรับการฟ้องคดี แล้วทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอุทธรณ์
(https://ch3plus.com/news/social/ch3onlinenews/372429 และ https://101pub.org/true-dtac-merger-monitoring/IwAR34z)